เดวิด สเตร็คฟัสส์ เรื่อง 

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันแสนเจ็บปวด อย่าง การฆาตกรรมเหล่านักสู้เพื่อประชาธิปไตย รวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ทำให้จังหวัดสกลนครแตกต่างจากจังหวัดอื่นในอีสาน แม้การชุมนุมระลอกใหม่ของเหล่านักเรียนนักศึกษาจะเริ่มขึ้นช้ากว่าที่อื่น แต่จังหวัดสกลนครก็มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงอดีตแห่งการต่อสู้ในท้องถิ่นเข้ากับคลื่นประชาธิปไตยลูกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งได้พยายามหยิบเรื่องราวความยุติธรรม ซึ่งเป็นวีรกรรมอันหาญกล้าและน่าสลดใจของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยรุ่นบุกเบิกของเมืองไทยแล้วบอกเล่าให้นักศึกษาได้ฟัง 

กิตติมา ขุนทอง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นผู้จัดเสวนาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้เธอยังพานักศึกษาไปลงพื้นที่ในหมู่บ้านที่เสี่ยงจะถูกไล่ที่ เพราะอาศัยอยู่ในเขตอุทยานหรือในพื้นที่ๆ อาจมีการทำเหมือง

ส่วน วิชาญ ฤทธิธรรม เป็นผู้พานักศึกษาที่เรียนในวิชาสันติศึกษาลงพื้นที่เรียนรู้ความท้าทายกรณีปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านต้องเผชิญ หลังรัฐเพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ขณะที่เกรียงไกร ศรีโนนเรือง สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของวีรชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจังหวัดสกลนคร ถิ่นบ้านเกิด

เหล่าอาจารย์และเพื่อนๆ จึงเป็นผู้คอยสนับสนุนให้นักศึกษาที่อยากเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลร่วมขบวนกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ปะทุขึ้นทั่วประเทศ 

นักศึกษาพบปะกันภายในมหาวิทยาลัยบ่อยครั้งเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมือง เช่น การตอบโต้กรณีพรรคอนาคตใหม่ถูกสั่งยุบ รวมถึงการจัด “รำลึกอดีตวันชาติ” 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหล่านักศึกษาจะเป็นหัวขบวนนำมวลชนในจังหวัดสกลนคในการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงพลังสนับสนุนการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร

“เราได้เปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้น มันมีพื้นที่ให้เราได้แสดงความคิดเห็น”นุจรินทร์ นามุลทา นักศึกษา ม.ราชภัฏสกลนคร

ประสบการณ์ชุมนุมครั้งแรก

นุจรินทร์ นามุลทา หรือ ฝน นักศึกษา ม.ราชภัฏสกลนคร เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมชุมนุมครั้งแรกว่า 

“รู้สึกว่า ได้เปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้น มันมีพื้นที่ให้เราได้แสดงความคิดเห็นด้วย”

ฝนและคนรอบข้างเคยคิดว่า การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อติดตามข่าวการชุมนุมในกรุงเทพฯ มากขึ้นก็ทำให้รู้สึกว่า การเมืองอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่การเมืองก็กำหนดทุกอย่างรอบตัว 

นั่นจึงเป็นเหตุให้เธอออกมาเคลื่อนไหว 

ก่อนที่ฝนจะจับไมโครโฟนพูดต่อหน้าสาธารณะ เธอเคยถามตัวเองว่า “ทำไมเพื่อนคนอื่นเขาจึงลุกออกมาพูดได้ เราจะยกระดับจากคนฟังเป็นผู้จัดและเป็นคนปราศรัยอะไรแบบนี้ได้ไหม”

ฝนใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์อยู่หลายปีกว่าจะมีส่วนร่วมในการชุมนุมอย่างจริงจังได้

คนที่จุดประกายแรกให้ฝน คือ กิตติมา อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอนั่นเอง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังฝนลงทะเบียนเรียนวิชาของอาจารย์ เนื้อหาในปีแรกเป็นการปูพื้นฐานเรื่องทฤษฎี จากนั้นนักศึกษาปี 2 จะได้ลงพื้นที่จริงเพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตในชุมชนที่เสี่ยงต่อการที่รัฐจะขับไล่ที่หรือถูกข่มขู่ให้ย้ายออกโดยบริษัทเอกชน

กิตติมา ขุนทอง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

กิตติมา บอกว่า ตอนนั้นหวังเพียงให้นักศึกษาความเข้าใจและเห็นใจผู้คนมากขึ้น แต่ไม่ได้ผลักดันพวกเขามากเกิน เพราะเขายังไม่ได้ตกผลึกว่า สิทธิมนุษยชน คือ อะไร เสรีประชาธิปไตย คือ อะไร เสรีภาพมัน คือ อะไร”

เมื่อขึ้นปี 3 หลังนักศึกษาเริ่มคุ้นเคย เข้าใจทฤษฎีหรือมุมมองต่างๆ ดีพอที่จะตกผลึกความคิดของตัวเอง พวกเขาก็พร้อมที่จะแสดงตัวตนออกมา กิตติมา กล่าวว่า เมื่อนักศึกษาอย่างฝนมองภาพรวมออก พวกเขาก็จะเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไรและพร้อมที่จะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทว่ากระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจังหวัดสกลนครก็ไม่ใช่เรื่องใหม่

อีกทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตยในสกลนครก็ไม่ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์หรือมิถุนายนของปีนี้เท่านั้น เพราะเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เหล่าอาจารย์ได้เริ่มบ่มเพาะความคิดที่เป็นแรงส่งให้นักศึกษา อย่าง “ฝน” ออกมาเคลื่อนไหว 

การต่อสู้ในจังหวัดแห่งนี้มีมาแล้วหลายสิบปี ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงเหล่าบุคคลที่ต้องสิ้นชีพไประหว่างทาง


แผนที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ที่มา: วิกีพิเดีย

ภูมิศาสตร์ที่ถูกแบ่งแยก

จังหวัดส่วนใหญ่ในภาคอีสานถูกหล่อเลี้ยงโดยแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล แต่ภูมิวิทยาส่วนใหญ่ของจังหวัดสกลนครกลับอิงอยู่กับแม่น้ำสงคราม แม่น้ำสายสำคัญของแอ่งสกลนคร อันเป็นพื้นที่ๆ ถูกตัดแยกออกจากบริเวณทางตอนใต้ของภาคด้วยเทือกเขาภูพาน

พื้นที่ที่ถูกแบ่งแยกออกมาแบบนี้มีส่วนดึงดูดความสนใจของหน่วยงานความมั่นคง หากมีเสียงร่ำลือเพียงน้อยนิดเกี่ยวกับความกระด้างกระเดื่องของคนในพื้นที่ ซึ่งก็คอยออกเสียงตอบโต้ความไม่ไว้วางใจของเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ทั้งเมื่อปี 2550 และ 2559 นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ผลการเลือกตั้งจาก 17 เขตในแอ่งสกลนครแห่งนี้ มีเพียงเขตเดียวเท่านั้นที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองฝ่ายนิยมทหาร

ในขณะเดียวกัน จังหวัดต่างๆ ในอีสานยังได้รับเจียดงบประมาณเพื่อพัฒนาจากรัฐบาลเพียงน้อยนิด ค่าดัชนีความก้าวหน้าของคนชี้ว่า สกลนครมีความก้าวหน้าสูงในด้านครอบครัวและที่อยู่อาศัย ค่อนข้างสูงในด้านการจ้างงาน แต่กลับได้รับคะแนนต่ำมากในด้านสุขภาพ การศึกษา รายได้ และการขนส่ง

การถูกละเลยเช่นนี้ก็ทำให้สกลนครรอดพ้นจากโครงการพัฒนาของรัฐบางโครงการที่นำพาหายนะมาสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนต่างๆ ในขณะที่ลุ่มแม่น้ำชีมูลถูกตัดขวางด้วยเขื่อนมากมายจนถึงแม่น้ำโขง แม่น้ำสงครามเป็นลุ่มน้ำใหญ่เพียงสายเดียวที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน ซึ่งช่วยนี้พื้นที่นี้ให้ยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเอาไว้ได้

แต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็นำมาซึ่งนโยบายชุดใหม่ที่พุ่งตรงมายังทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคนี้ เมื่อปี 2558 ชาวบ้านถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ป่าภายในหลายจังหวัด นอกจากนี้รัฐบาลทหารยังใช้อำนาจพิเศษผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดนครพนมและขับไล่ชาวบ้านออกจากบริเวณดังกล่าว และเปิดทางให้บริษัทสัญชาติจีนหลายเข้าถึงแหล่งแร่ภายในจังหวัด แม้ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ เมื่อปี 2561 ชาวบ้านหลายชุมชนลุกขึ้นประท้วงโครงการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำสำคัญที่พวกเขาใช้ในการดำรงชีวิต

เมื่อปีที่แล้ว เดวิด เจเอช เบลค นักวิจัยผู้ศึกษาการขับเคลื่อนทางสังคมและการเมืองในการพัฒนาด้านชลประทานในภาคอีสาน เตือนว่า รัฐบาลกำลังผลักดันแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสงครามอย่างเงียบๆ ซึ่งเขามองว่าเป็นแผนที่จะก่อให้เกิด ความเสื่อมโทรมที่ไม่อาจแก้ไขได้และอาจสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศน์ ทั้งทางน้ำและดินของพื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมหาศาล ที่เคยอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีววิทยา ซึ่งมีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในชุมนริมรอบแม่น้ำสายนี้ 

ขบวนการเสรีไทยในสกลนคร

ประชากรส่วนใหญ่ในภาคอีสานเป็นคนเชื้อสายลาว ตั้งแต่ราวปี 2443 รัฐบาลจากส่วนกลางเริ่มออกนโยบายกดทับและลบเลือนความเป็นลาวออกไปจากพลเมืองในภูมิภาคนี้ พร้อมกับให้เรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “อีสาน” หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหมายถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงกรุงเทพฯ ไปจนถึงกำจัดนัยต่างๆ ที่สื่อถึง “ลาว” ทั้งในประวัติศาสตร์และในตำราเรียน รวมทั้งกำหนดให้การเรียนการสอนในโรงเรียนใช้ภาษาไทยกลางเท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศสยามที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ กระทั่งกลายเป็นประเทศไทยที่ดูเหมือนจะมีเพียงเชื้อชาติเดียว

แต่ก็มีช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่คนเชื้อชาติลาวดูจะมีสถานะเทียบเท่ากับคนเชื้อชาติอื่นๆ ที่อยู่ในระบบการเมืองการปกครอง โดยปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้ยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี 2475 ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยเมื่อปี 2482 เพราะเกรงว่า จะเป็นการก่อให้เกิดอุดมการณ์ชาตินิยมไทยแบบหัวรุนแรงขึ้น

ในช่วงแรกเริ่มของสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญที่สุดของเสรีไทยอยู่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “สกลนคร” 

แกนนำชาวอีสานในขบวนการเสรีไทยกลายมาเป็นนักการเมืองคนสำคัญของภูมิภาคในช่วงหลังสงคราม ภาคอีสานเป็นที่รู้จักว่า มีนักการเมืองหัวก้าวหน้าในช่วงเวลาที่ประชากรจำนวนมากในพื้นที่รู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง หลายคนถูกจับกุมและไต่สวนจากการถูกกล่าวหาว่าพยายามแบ่งแยกดินแดน ในช่วงระหว่างปี 2492-2504 นักการเมืองอีสานจำนวนมากถูกสังหารหรือจำคุก

ผู้ประสบโศกนาฏกรรมดังกล่าวที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ เตียง ศิริขันธ์ และครอง จันดาวงศ์ ทั้งคู่เป็น ส.ส.ของจังหวัดสกลนคร เตียงถูกฆาตกรรมเมื่อปี 2495 ส่วนครองถูกประหารชีวิตเมื่อปี 2504 หลังชีวิตของพวกเขาจบสิ้น ความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยผ่านระบบรัฐสภาก็ดับสูญลงไปด้วย

จากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจึงเริ่มแข็งแกร่งขึ้นและแอ่งสกลนครก็กลายเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นชื่อกระฉ่อนที่สุด หนึ่งในนักคิดนักวิชาการคนสำคัญที่สุดแห่งยุคอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เลือกที่จะหลบหนีมายังสกลนครเมื่อปี 2507 หลังถูกคุมขังถึง 7 ปี และถูกสังหารในจังหวัดแห่งนี้เมื่อปี 2509

“คนเหล่านี้ไม่ได้เลือกที่จะไปอยู่ฝั่งคอมมิวนิสต์นะ แต่เขาเลือกไม่ได้มากกว่า”เกรียงไกร ศรีโนนเรือง

ประวัติศาสตร์เก่าถูกเล่าขานใหม่

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในช่วงเวลานี้ส่วนมากถูกทำให้หายไปตามกาลเวลา หนังสือเรียนประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยไม่เคยเอ่ยถึงชื่อของ เตียง ครอง และจิตร

เกรียงไกร เคยเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองในขณะที่เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเมื่อปี 2535 เขาบ่มเพาะความรู้จนสุกงอมก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และการจัดตั้งสมัชชาคนจน

ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดบ้านเกิดของเขาก่อตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงที่เขาเป็นนักศึกษา ตอนนั้นเขาเป็นผู้ช่วยของ ปรีชา ธรรมวินทร ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ช่วยทำวิจัยเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย เกรียงไกรได้รับรู้เรื่องราวของวีรชนที่ถูกลืมในจังหวัดของเขา ต่อมาเขาและเพื่อนร่วมงานในภาควิชารัฐศาสตร์ได้กลายเป็นผู้จัดและผู้เชี่ยวชาญประจำงานกิจกรรมรำลึกต่างๆ เกี่ยวกับเหล่านักสู้เพื่อประชาธิปไตยรุ่นบุกเบิกเหล่านี้

ลาวฆ่าลาว

นอกจากคนเชื้อชาติจีนและเวียดนามจะรู้สึกไม่มั่นคงจนต้องหาวิธีปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไทยแบบสุดโต่งแล้ว คนจำนวนมากในจังหวัดสกลนครก็รู้สึกไม่สบายใจพอที่จะยอมรับความจริงที่เห็นว่า พวกเขามีเชื้อชาติลาว แต่การรับรู้นี้กลับตอกย้ำคำถามถึงประวัติศาสตร์อันน่าสลดใจในเรื่องราวของการรบราฆ่าฟันกันว่า ต่อสู้เพื่อใครและเพื่ออะไร 

เกรียงไกรรู้สึกเห็นใจผู้ที่ไปเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งดูเหมือนว่าประชาธิปไตยของเมืองไทยตอนนั้นเดินมาถึงทางตันและสภาพแวดล้อมต่างๆ ในท้องถิ่นก็กระตุ้นให้ผู้คนมองหาทางเลือกใหม่

“คนเหล่านั้นจึงเลือกที่จะเข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เลือกที่จะไปอยู่ฝั่งคอมมิวนิสต์นะ แต่เขาเลือกไม่ได้มากกว่า”เกรียงไกรแสดงความเห็น 

เกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตในจังหวัดสกลนครดำเนินไปด้วยความยากลำบาก คือ ความรู้สึกเศร้าสร้อยถึงโศกนาฏกรรมและความอยุติธรรมในอดีตที่ไม่แน่ใจว่า ความรู้สึกถูกกดทับที่สัมผัสได้อยู่ทั่วไปในจังหวัดเริ่มต้นขึ้นตอนไหน แต่มีความรู้สึกแบบนี้มาตลอดชีวิต เมื่อผู้คนถูกข่มเหงจากทั้งรัฐบาลและตำรวจผู้ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก 

“มันรู้สึกว่า ถูกกดขี่ แล้วก็ไม่มีทางเลือก ทางเลือกเดียวที่จะต่อสู้ มีวิธีเดียวก็ต้องก็คือ ต้องกับอีกฝั่งหนึ่งเพื่อที่จะจัดการมันได้”เกรียงไกรเล่าอย่างได้อารมณ์

เขาบอกอีกว่า ผู้คนที่เข้าใจเรื่องความอยุติธรรมจะรู้สึกว่า พวกเขามีหน้าที่ออกมาต่อสู้ 

“อย่าลืมว่า คนอีสานสมัยก่อนเป็นหัวหมู่ คนเหล่านี้จะมีบุคลิกเป็นนักปราชญ์ มีภูมิธรรม เป็นผู้มีศีลมีธรรมที่เป็นคนหัวก้าวหน้า”

สกลนครถูกจัดให้เป็นพื้นที่ “สีชมพู” ของการแทรกซึมโดยขบวนการคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 จนถึงปลายทศวรรษที่ 2520 ช่วงนั้นพ่อของเกรียงไกรเพิ่งกลับบ้านหลังเข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนและต้องมารบต่อกับขบวนการคอมมิวนิสต์ แถบภูเขาที่ของอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีเขตแดนติดกับจังหวัดสกลนคร

พ่อของเขาเป็นทหารบ้านๆ ที่ไม่เคยมีโอกาสไต่เต้าเอายศสูงๆ แต่ความย้อนแย้งของสถานการณ์ก็กระทบใจคนแบบเขาอยู่เช่นกัน เกรียงไกร เล่าว่า พ่อของเขาพูดอยู่ครั้งหนึ่งว่า “เอาลาวมาฆ่ากันเอง แกบอกเอาลาวกับลาวมาฆ่ากันเอง ฉลาดเนาะคนกรุงเทพฯ”

ส่วนใหญ่แล้ว แต่ละฝ่ายรู้จักข้าศึกของตัวเอง บางคนเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน คำถาม คือ พวกเขากำลังสู้กับใครและสู้กันไปเพื่ออะไรกันแน่

แม้แต่ในปัจจุบันเกรียงไกรก็ยังถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่มาพบถึงบ้าน บางครั้งก็มากินข้าวด้วย บางคนอาจจะเห็นอกเห็นใจคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องเพื่อความเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาก็ต้องทำหน้าที่ พวกเขาถามเกรียงไกรว่า นักศึกษากำลังทำอะไร มีแผนอะไร แต่ละคนอยู่ที่ไหน 

“พวกเขาขอโทษทุกครั้งที่มา แล้วก็บอกว่า จำเป็นต้องทำตามนายสั่ง ต้องรายงานให้เบื้องบนทราบ”นักวิชาการผู้นี้บอก 

จังหวัดในราชูปถัมภ์

ในช่วงเวลาที่การต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์กำลังตรึงเครียด พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2517 เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดีที่กระจัดกระจายในหมู่ผู้คนและแสดงให้เห็นว่า ราชวงศ์มีความเป็นห่วงเป็นใยพวกเขา เกรียงไกรและเพื่อนๆ เคยรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นเครื่องบินทหารล็อกฮีด ซี-130 เฮอร์คิวลีส บินผ่านเข้ามา

แม้บางชุมชนในจังหวัดอาจได้รับประโยชน์จากโครงการในพระราชดำริ แต่การสร้างพระราชวังขึ้นที่นั่นก็นำมาความยุ่งยากมากทีเดียว

ทุกๆ ครั้งที่มีสมาชิกของราชวงศ์เสด็จผ่านเข้ามา ไม่ว่าทางอากาศหรือทางบก ทางจังหวัดก็ต้องแสดงออกถึงความเคารพและซาบซึ้งใจ เมื่อมีพระองค์ใดเสด็จโดยใช้สนามบินในจังหวัดอุดรธานี เส้นทางตลอด 180 กิโลเมตรจนถึงพระราชวังก็จะถูกสั่งปิด วิทยาลัยราชภัฏถูกเปลี่ยนชื่อพร้อมๆ กันเมื่อปี 2548 และถูกยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในเครือนี้มีบทบาทในการหล่อหลอมความอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น คำว่า “ราชภัฏ” มีความหมายตรงตัวว่า “ข้าราชบริพาร”

นักศึกษาบางคนของมหาวิทยาลัยถูกกำหนดให้ต้องไป “รับเสด็จ” ในโอกาสเหล่านี้ นักศึกษาคนหนึ่งเล่าว่า เพื่อนบางคนที่ไปเรียน รด. จะถูกเรียกให้ไปตามหน้าที่ หรือบางคนก็ไปเองเพราะ “ค่าตอบแทน”

สกลนครในสองขั้ว

จังหวัดแห่งนี้มีประวัติอันยาวนานของผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นนักรบแบ่งแยกดินแดน อ่อนไหวต่อการเป็นบ่อนเซาะของขบวนการคอมมิวนิสต์และผู้มีเชื้อสายลาว ในกระแสการคัดค้านรัฐบาลระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น คนรุ่นใหม่ในสกลนครเริ่มออกมาชุมนุมกันบ้างแล้ว

แต่ในอีกทางหนึ่ง สกลนครก็ยังถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากสถาบัน ทั้งจากการดำรงอยู่ของพระราชวังที่มีเหล่าข้าราชบริพารประจำพระองค์ อาศัยอยู่ภายในจังหวัดเพื่อรอต้อนรับการเสด็จและนักศึกษาเหล่านี้เองก็ร่ำเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อแปลได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยของพระราชา

ความตึงเครียดนี้ทำให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยออกมาปรามนักศึกษาว่า อย่าพูดโจมตีรุนแรงเกินไปและพยายามห้ามผู้ชุมนุมรุ่นใหม่ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นักศึกษาคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันกับเพื่อนๆ แต่พวกเขาไม่กล้าพอที่จะลุกขึ้นไปพูดปราศรัยบนเวทีว่า “ไม่กล้าไปแตะ”

นักศึกษาคนนี้กล่าวว่า “เพิ่งมาคิดว่า อยากพูดจริงๆ แต่ก็ไม่กล้าพูด”

พรุ่งนี้ติดตามตอนที่ 2 “วีรบุรุษแห่งประชาธิปไตยในสกลนคร” 

อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่

image_pdfimage_print