“กล่าวหาว่า เราจะล้มเจ้า ล้มสถาบัน เราจะไปล้มได้อย่างไร มีวิธีเดียว คือ เจ้าเล่นป๊อกเด้ง ใช่ไหมพี่น้อง”

เป็นบันทึกข้อกล่าวหาที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ระบุว่า พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือ บอย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิก “แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย” ถูกดำเนินคดีตาม ม.112 และอีกหลายข้อหา จากการปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (SCB) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2653 

ในอีสานยังมีนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน อย่าง จตุพร แซ่อึง จากกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ถูกดำเนินคดี ด้วย ม.112 พร้อมกับเยาวชนอายุ 16 ปี ภาคีนักศึกษาศาลายา หลังใส่ชุดไทยเข้าร่วม #ม็อบแฟชั่นถนนสีลม เมื่อ 29 ตุลาคม 2563 

บันทึกข้อกล่าวหาสรุปว่า การแต่งตัวดังกล่าวเป็นการล้อเลียนพระราชินีทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชังพระราชินี 

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ใหญ่ ขอนแก่นพอกันที นักกิจกรรมทางการเมืองชาว จ.ขอนแก่น

“ครูใหญ่” ขอนแก่นพอกันที 

ส่วนอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ นักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังปราศรัยบริเวณหน้าสถานทูตเยอรมนีเพื่อขอให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบการใช้อำนาจของกษัตริย์ไทยในอาณาเขตของประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 

นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกฟ้องในลักษณะคล้ายกัน 

คดี “ทราย เจริญปุระ” และคนอื่นๆ

“ฉันคง ไม่กลับ ไปรักเธอ”  “กล้ามาก เลย นะเธอ” “ก็ตาสว่างกันหมดแล้ว” เป็นข้อความจากทวิตเตอร์ของ อินทิรา หรือ ทราย เจริญปุระ นักแสดงที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 

ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่า เกิดจากการกระทำใน #ม็อบ29พฤศจิกา หรือการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 

คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 8 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน” , ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี ทั้ง 7 คน เป็นผู้ปราศรัย มีเพียงอินทิราเท่านั้นที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนน้ำ อาหาร และห้องน้ำเท่านั้น 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานในส่วนของอินทิรา ในบันทึกคำให้การระบุว่า คําว่า “กล้ามาก” เป็นพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่เคยตรัสไว้กับพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งการนําถ้อยคําดังกล่าวมาพูดซ้ำในเชิงล้อเลียน เสียดสีจึงเป็นการทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

นอกจากนี้ยังรวมถึงการที่เธอสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม และรถห้องน้ำให้กับการชุมนุมรวมถึงการโพสต์เชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมที่ราบ 11 โดยมีข้อความว่า “เพราะทุกคนคือแกนนำ” 

หมายเรียก อินทรา หรือ ทราย เจริญปุระ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางเขน เครดิตจาก เฟซบุ๊ก Inthira Charoenpura

หรือแม้แต่การโพสต์แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับห้องน้ำและรถตู้ให้บริการประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และการโพสต์ว่า “ทีมที่ห่วงที่สุดคือทีมการ์ด” 

โดย พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี สารวัตร สอบสวน สน.บางเขน ได้บรรยายพฤติการณ์ในคดีโดยสรุปว่า 

จากการบรรยายข้างต้น อินทราจึงต้องทราบว่า วัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เป็นการชุมนุมที่เรียกร้องเพื่อพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ต้องสามารถเล็งเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ว่า อานนท์กับพวกจะต้องปราศรัยและกล่าวถ้อยคําที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายเหมือนกันทุกเวทีการปราศรัยที่ผ่านมา 

บันทึกคำให้การของนักกิจกรรมในคดี 112 

ส่วน 7 คนที่ปราศรัยบนรถเครื่องเสียงเคลื่อนที่ บันทึกคำให้การระบุ ดังนี้

1.อานนท์ปราศรัยตั้งคำถามถึงการโอนกองกำลังทหารให้ไปอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์และย้ำข้อเรียกร้องขอให้สถาบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 

2.พริษฐ์ปราศรัยว่าสถาบันไม่มีความจำเป็นต้องมีกองกำลังส่วนตัวและไม่ควรแทรกแซงอำนาจของประชาชน ทั้งสถาบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีส่วนร่วมในการอุ้มหายประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว

3.ชินวัตรปราศรัยว่า การวิจารณ์เรื่องการโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ไม่ได้หมายความว่าต้องการล้มล้างสถาบัน แต่เพราะเป็นห่วงสถาบันจึงขอให้โอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาอยู่ที่ส่วนกลาง

4.สมยศปราศรัยถึงประวัติที่มาของกองพลทหารราบที่ 11 ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีทหารเพื่อประชาชนและเรียกร้องถึงการตรวจสอบสถาบันได้อย่างโปร่งใส

5.พรหมศรปราศรัยตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงต้องมีทหารส่วนพระองค์และเหตุใดจึงต้องมีผู้แทนพระองค์แทนสำนักงานทรัพย์สิน และต้องการให้สถาบันสามารถตรวจสอบได้

6.พิมพ์สิริปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันในการทำรัฐประหารของไทย พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ย้ำว่ากฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาและควรยกเลิก 

7.ณัฎฐธิดาปราศรัยว่า “มึงยัด 112 ให้กู ซึ่งกูไม่เคยรู้เรื่อง 112 จากพวกมึงเลย” ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการกล่าวล่วงเกินต่อการทำงานของรัฐบาลที่ใช้มาตรา 112 แต่ก็มีเจตนาให้ยกเลิกเพื่อจะดำเนินการอื่นใดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้ ซึ่งไม่เหมาะสม

จากเนื้อหาคำปราศรัยข้างต้น พนักงานสอบสวนระบุว่า มีบริบทที่ทำให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูหมิ่น เกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเชื่อตามคําปราศรัยของผู้ต้องหา เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

“กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ ไม่ได้เป็นคำที่ดูหมิ่นหรือลดค่าความเป็นมนุษย์ลง”ภาวินี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เครดิตภาพ iLaw

ทนายฯ ชี้วิจารณ์โดยสุจริตไม่เข้าข่าย 112 

ด้านภาวินี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 มาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 กล่าวว่า มาตรา 112 มีปัญหามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง และมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่อยมา เช่น การเคลื่อนไหวของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ “ครก.112” เนื่องจากมาตรานี้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองและถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน 

ภาวินี ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาหลักๆ ของมาตราดังกล่าว คือ ทุกคนสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลใดก็ได้ 

“ปัญหาของมาตรา 112 ถูกตีความไปอย่างกว้างขวาง อย่างกรณีโพสต์ของ อินทิรา ที่มีข้อความว่า “กล้ามาก” แม้จะเป็นคำพูดของ ร.10 แต่ก็ไม่เข้าข่ายข้อผิดกฎหมายดังกล่าว ต้องดูบริบทของสังคม ไม่ใช่ดูแค่การโค้ดคำๆ เดียว” 

เธอยังบอกอีกว่า คำว่า “ล้อเลียน” ที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาก็ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมายมาตรา 112 เพราะในมาตรานี้กำหนดว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตรมาดร้ายพระมาหากษัตริย์ ดังนั้นคำว่า ล้อเลียนจึงไม่เข้าข่ายความผิดในข้อหาดังกล่าว  

ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ภาวินี ให้ความเห็นอีกว่า ส่วนคำว่า “ดูหมิ่น” ก็มีคำนิยามเฉพาะ ไม่ใช่การล้อเลียน คือ การดูหมิ่นทั้งหมด เช่น คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ก็ไม่ได้เป็นคำที่ดูหมิ่นหรือลดค่าความเป็นมนุษย์ลง หรือแม้แต่กฎหมายหมิ่นประมาทยังมีข้อยกเว้นว่า ถ้ากรณีที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตและเพื่อเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะย่อมสามารถทำได้ 

ในกรณีที่มีการปราศรัยเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการปราศรัยเกี่ยวกับการโยกย้ายกองกำลังทหารหรืองบประมาณสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เห็นถึงปัญหาเพื่อให้เกิดการปรับปรุง เพราะสถาบันใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน 

“กษัตริย์ถือว่า เป็นบุคคลสาธารณะ ดังนั้นประชาชนต้องสามารถวิพากวิจารณ์และต้องตรวจสอบได้ เพราะทำเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ”ทนายความฯ กล่าวอธิบาย 

image_pdfimage_print