ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี (อย่างไม่เป็นทางการ) เครดิต: เพจคนอุบลพัฒนา
ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง
ณ ตอนนี้ประชาชนในหลายจังหวัดคงได้รู้กันแล้วว่า ใครที่ได้มาเป็นนายก อบจ.และ ส.อบจ จังหวัดของตนเอง พรรคเพื่อไทยที่ส่งผู้สมัครลงในนามพรรค 25 จังหวัด ผลที่ออกมา คือ พรรคเพื่อไทยได้นายก อบจ. 9 จังหวัด ประกอบด้วยภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ในภาคอีสาน 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร และมุกดาหาร ส่วนกลุ่มก้าวหน้าที่ส่งผู้สมัครถึงแม้จะไมได้นายกอบจ. แต่ได้ ส.อบจ. ถึง 57 คน
ในจังหวัดอุบลราชธานีก็เช่นกัน ภายหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในช่วงวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ลำดับที่ 1 คือ ผู้สมัครหมายเลข 5 กานต์ กัลป์ตินันท์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้ 288,567 คะแนน ลำดับที่ 2 หมายเลข 4 เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ได้ 269,435 คะแนน ลำดับที่ 3 หมายเลข 2 สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ ได้ 131,362 คะแนน ลำดับที่ 4 หมายเลข 1 เชษฐา ไชยสัตย์ ได้ 100,164 คะแนน ลำดับที่ 5 6 และ 7 คือ หมายเลข 3 นายบัณฑิต วิลามาศ ได้ 24,904 คะแนน หมายเลข 6 ถนอม คะตะวงศ์ ได้ 10,348 คะแนน และหมายเลข 7 พรวิชัย มิ่งวงษ์ ได้ 7,189 คะแนน
ในบทความนี้ได้มีการนำคะแนน ผลคะแนนของผู้สมัครที่ลงในนามพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองมาเปรียบเทียบกับคะแนนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 การเปรียบเทียบดังกล่าวมีเหตุผลสำคัญ คือ การเลือกตั้งนายก อบจ.เป็นการเลือกตั้งที่มีเขตการเลือกตั้งทั้งจังหวัดและมีการส่งผู้สมัครลงในนามพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ตัวเลขของผู้มาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ส.ส. และนายก อบจ.เป็นภาพรวมของพรรคการเมืองในระดับจังหวัดที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่นได้
ตาราง 1.รายชื่อพรรคการเมืองและคะแนนรวมที่ได้จากการเลือก ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี 24 มีนาคม 2562
เมื่อนำผลคะแนนของผู้สมัครที่ลงในนามพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองมาเปรียบเทียบกับคะแนนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 พบว่า
1.พรรคเพื่อไทย ตอนเลือก ส.ส. จาก 10 เขต เพื่อไทยได้ 7 เขตในจังหวัดอุบลราชธานี คะแนนรวมจาก ส.ส.ทุกคนได้ 347,617 คะแนน แต่ตอนเลือกนายก อบจ.ซึ่งมีเขตการเลือกตั้งทั้งจังหวัด พรรคเพื่อไทยส่ง กานต์ กัลป์ตินันท์ หมายเลข 5 ลงรับสมัครในนามพรรคได้ 288,567 คะแนน
2.สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนรวม 112,230 คะแนน เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคฯ และสมาชิกพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ได้ตั้งกลุ่มก้าวหน้าและส่งผู้สมัครลงในนามกลุ่มได้คะแนนเสียง 100,164 คะแนน
3.สำหรับพรรคพลังประชาชารัฐ ในการเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ แม้ไม่ได้ส่งผลผู้สมัครนายก อบจ.และ ส.อบจ.อย่างเป็นทางการ แต่เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ อดีตผู้ลงสมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเขต 7 ลงในนามกลุ่มอุบลคนดี คนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีรู้กันดีว่า ผู้สมัครคนดังกล่าวเป็นกลุ่มการเมืองที่มีความสัมพันธ์อย่างดีกับทางพรรคพลังประชารัฐ ผ่าน สุพล ฟองงาม กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ผู้กองใหญ่ภาคเหนือ กลุ่มอุบลคนดี และ ส.เขมราฐ ซึ่งทำธุรกิจก่อสร้าง
พรรคพลังประชารัฐ ตอนเลือกตั้ง ส.ส. จาก 10 เขตได้ 1 เขต คะแนนรวมจากการเลือก ส.ส.ทั้งจังหวัด 257,357 คะแนน แต่เมื่อเลือกนายก อบจ. หมายเลข 4 เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ได้คะแนนรวมทั้งจังหวัด 269,435 คะแนน คะแนนของหมายเลข 4 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนรวมในการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ 12,078 คะแนน
4.สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ หมายเลข 2 จากกลุ่มคุณธรรม จากการสอบถามคนในพื้นที่พบว่า หมายเลข 2 มีเครือข่ายทางการเมืองกับทาง พรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายก อบจ.อุบลราชธานี ซึ่งถูกม.44 ให้หยุดปฏิบัติงาน และภายหลังได้เข้าปฏิบัติงานตามคำสั่ง ม.44 และ ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีต รัฐมนตรีสมัยทักษิณ ชินวัตร ภายหลังย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ
ตาราง 2.รายชื่อผู้สมัคร เครือข่ายทางการเมือง ความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองและคะแนนเลือกตั้งรวมในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี 20 ธันวาคม 2563
เมื่อผลคะแนนการเลือกตั้งออกมา ผู้เขียนมีข้อสังเกตต่อปรากฏการณ์การเลือกตั้ง อบจ.จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ 11 ประการ ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นนี้ผู้เขียนพยายามที่จะชี้ให้ถึงพลวัตและความสัมพันธ์ของการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานีกับการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นและประชาธิปไตยในระดับชาติ
ข้อสังเกตประการแรก คะแนนเสียงในภาพรวมของพรรคเพื่อไทยในการเลือกนายก อบจ.อุบลราชธานีลดลง จากคะแนนรวมตอนเลือก ส.ส. 59,050 คะแนน ระดับเกือบหกหมื่นคะแนนถือว่า ค่อนข้างเยอะมากในการเลือกตั้ง (โปรดดูตารางที่ 1 และ 2 เปรียบเทียบ)
เหตุผลที่คะแนนของพรรคเพื่อไทยหายประมาณครึ่งแสน มีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ทำให้คะแนนของเพื่อไทยหายไปมี 2 สาเหตุสำคัญ
สาเหตุแรก คือ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขต มากกว่านั้นการเลือกตั้ง นายก อบจ. ถูกจัดขึ้นระหว่างช่วงวันหยุด 2 ช่วง คือ ช่วงต้นเดือนธันวาคม (วันที่ 10-13 ธันวาคม) และช่วงปีใหม่ จากบทความเรื่อง Thailand’s 2019 Elections: A State of Democratic Dictatorship? โดย Duncan MacCargo และ Saownee T. Alaexander ได้ชี้ให้เห็นว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2562 ผู้ใช้สิทธิ์เป็นนักศึกษาและแรงงาน ส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่
การเลือกตั้งล่วงหน้าดังกล่าวมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ 19,245 คน และมีผู้ที่มาใช้สิทธิ์ล่วงหน้า 17,107 คน คิดเป็นร้อยล่ะ 86.90 (โปรดดูตารางที่ 1 และ 2 เปรียบเทียบ)
การที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งนักศึกษาที่ไปเรียนหนังสือและแรงงานที่ออกไปทำงานในจังหวัดอื่นที่ห่างไกล การเดินทางกลับมาเลือกตั้งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และที่สำคัญ วันหยุดช่วงต้นเดือนธันวาคมอาจจะเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว หรือมีแผนที่จะกลับช่วงปีใหม่ หลายคนคงไม่อยากเดินทางหลายรอบและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
สาเหตุที่ 2 การเลือกตั้ง ส.ส.และ การเลือกตั้ง อบจ.มีความแตกต่างกัน ในการเลือกตั้ง ส.ส.มีผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1,433,296 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 1,038,618 คน นับเป็นร้อยละ 72.46 ส่วนการเลือกตั้ง อบจ.มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1,439,177 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 907,073 คิดเป็นร้อยละ 63 เมื่อเปรียบเทียบผู้ที่มาใช้สิทธิ์ระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส.และ อบจ. การเลือกตั้ง อบจ.มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยลงประมาณ 131,545 คน (โปรดดูตารางที่ 1 และ 2 เปรียบเทียบ)
นอกจากความไม่สะดวกที่ไม่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การที่คนไม่เดินทางกลับมาเลือกตั้งนั้นเป็นเพราะว่า ตัวเขาที่ทำงานอยู่นอกจากจังหวัดอุบลราชธานีไม่ได้รับผลกระทบหรือเกี่ยวข้องอะไรกับการทำงานของ อบจ. ส่วนในการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น การที่เขายอมเดินทางกลับมาเลือกตั้งนั้น สาเหตุที่สำคัญ คือ จำนวน ส.ส.มีส่วนสำคัญที่จะกำหนดว่า พรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาลและกระแสการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่ร้อนแรงภายหลังการรัฐประหาร
ในช่วงท้ายของการหาเสียงของหมายเลข 5 นั้น จะมีลักษณะของการหาเสียงในรูปแบบร้องขอให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ทำงานที่อื่นเดินทางกลับมาเลือกตั้งและรูปแบบการหาเสียงอีกอย่างหนึ่ง คือ การเชิญชวนให้เลือกในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองกับพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตย
ข้อสังเกตประการที่สอง คะแนนเสียงในภาพรวมของพรรคพลังประชารัฐในการเลือก ส.ส. เมื่อเปรียบเทียบกับ หมายเลข 4 คะแนนเพิ่มขึ้น 12,078 คะแนน การที่คะแนนของหมายเลข 4 เพิ่มขึ้นนั้น (โปรดดูตารางที่ 1 และ 2 เปรียบเทียบ) มีเหตุผลสำคัญคือ
เหตุผลแรก คือ เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ เป็นนักการเมืองที่มีความสด ยังไม่มีบาดแผลทางการเมือง หรือประวัติทางการเมืองที่ไม่ดี
เหตุผลที่สอง คือ ตระกูลโภคกุลกานนท์ เป็นนักการเมืองเก่า พ่อของเขาเป็น ส.ส.ในจังหวัดอุบลราชธานีหลายสมัยและเคยเป็นรัฐมนตรีในสมัยทักษิณ ชินวัตร ทำให้มีผลงานและเครือข่ายฐานเสียงในพื้นที่
เหตุผลที่สาม คือ กลไกของรัฐและเครือข่ายทางการเมืองสนับสนุน เนื่องจากเป็นผู้สมัครที่ถือว่าเป็นคนของพรรคพลังประชารัฐที่ครองอำนาจรัฐอยู่ตอนนี้ทำให้ได้เปรียบด้านเครือข่ายในกลไกของรัฐในการเข้าถึงประชาชน
เหตุผลสุดท้าย คือ นโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยหนุนให้กับผู้สมัคร เพราะในช่วงใกล้เลือกตั้งรัฐบาลมักจะมีนโยบายการแจกหรือให้สิทธิ์กับประชาชนอย่างมาก เช่น การเลือกตั้ง อบจ.มีขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 รัฐบาลมีการเปิดลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่ง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ของประชาชน (strategic voting) ที่มองว่า เขาเป็นฝั่งเดียวกับรัฐบาล ถ้าได้เข้าไปทำงานการเมืองมีโอกาสที่จะนำงบประมาณและโครงการเข้ามาให้คนในพื้นที่มากกว่า
ข้อสังเกตประการที่สาม ความพ่ายแพ้ของผู้สมัครหมายเลข 4 เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ เกิดขึ้นจากการตัดคะแนนกันเองกับผู้สมัครหมายเลข 2 สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ ในการเลือกนายก อบจ.รอบนี้ ผู้สมัครหมายเลข 4 และผู้สมัครหมายเลข 2 ถูกมองว่า เป็นเครือข่ายของพรรคพลังประชารัฐทั้งคู่ โดยที่หมายเลข 2 นั้นไม่ได้เปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งเหมือนหมายเลข 4 จากการพูดคุยกับทีมงานของทางพรรคเพื่อไทยที่ลงหาเสียงเลือกตั้ง ทางพรรคเพื่อไทยค่อนข้างมั่นใจมากว่าทางหมายเลข 5 ที่พรรคสนับสนุนจะชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากหมายเลข 2 และหมายเลข 4 มีฐานเสียงคะแนนทับกันจะตัดคะแนนกันเองในที่สุด
ข้อสังเกตประการที่สี่ สำหรับหมายเลข 1 เชษฐา ไชยสัตย์ ที่ลงในนามกลุ่มก้าวหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนที่พรรคอนาคตใหม่ได้ ตอนเลือกตั้ง ส.ส. ลดลงประมาณ 12,066 คะแนน แต่ในภาพรวมถือว่า รักษาฐานคะแนนเสียงได้ พรรคก้าวไกลที่สืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองจากพรรคอนาคตใหม่ ถ้าสามารถรักษาฐานคะแนนตรงนี้ไว้ได้ การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าอาจจะไม่ได้ ส.ส.พื้นที่ เพราะคะแนนแต่ละพื้นที่ยังไม่สามารถสู้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และกลุ่มการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐได้ แต่คะแนนรวมที่ได้ในระดับหลักแสนสามารถทำให้ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อถึง 2 คน ดูตัวอย่างได้จาก ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ได้คะแนนรวมจากการเลือกตั้งในแบบระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) 4.5 หมื่นคะแนนแต่ยังได้รับการจัดสรรเป็น ส.ส.
เมื่อลองนำคะแนนของผู้สมัครหมายเลข 3 บัณฑิต วิลามาศ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ลงในนามกลุ่มอนาคตชาวอุบล ได้คะแนน 24,904 คะแนน ถ้าพิจารณาคะแนนของกลุ่มก้าวหน้าที่หายไปอาจจะเป็นคะแนนที่เป็นฐานเสียงส่วนบุคคลของ บัณฑิต วิลามาศ การที่ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตเป็นอีกผลหนึ่งที่ทำให้คะแนนของกลุ่มก้าวหน้าลดลง
การที่ผู้สมัครจากกลุ่มก้าวหน้าได้คะแนนถึงหลักแสนและได้คะแนนใกล้เคียงกับคะแนนรวมที่ ส.ส.อนาคตใหม่ได้รับนั้น ดร.ประเทือง ม่วงอ่อน แห่งคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลสามารถ “ตั้งมั่น” ในจังหวัดอุบลราชธานีได้แล้ว
ข้อสังเกตประการที่ห้า นายก อบจ.คนใหม่ คงต้องหาทางสร้างความสมานฉันท์ขึ้นในจังหวัดเพราะคะแนนที่ออกมาชนะกันประมาณ 20,000 คะแนน สิ่งนี้เป็นความท้าทายของนายก อบจ.คนใหม่ว่า จะมีความสามารถในการดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีเพียงใด เพราะเมื่อการเลือกตั้งจบลง นายก อบจ.ไม่ใช่ตัวแทนของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นตัวแทนของคนทั้งจังหวัดซึ่งมีหน้าที่ให้บริการและดูแลประชาชนที่อยู่ในจังหวัดอย่างทั่วถึง
โปรดติดตามตอนต่อไป…