วิทยากร โสวัตร เรื่อง 

ช่วงนี้ผมกำลังรวบรวมข้อเขียนและคำบรรยายในที่ต่างๆ มาตรวจแก้เพื่อทำเป็นหนังสือเรื่อง พระ หมอลำ และผีบุญ ในหัวข้อ (Concept) ประวัติศาสตร์อีสานและเรื่องเล่าแห่งการต่อต้านรัฐศูนย์กลาง ถือเป็นอีกหน้าหนึ่งประวัติศาสตร์อีสานและคนสองฝั่งแม่น้ำโขง

ซึ่งข้อเขียนส่วนใหญ่ก็มาจากที่เขียนลงใน The Isaan Record และก็พบว่า เรื่องหมอลำผมเขียนไว้ค่อนข้างน้อย ช่วงนี้เลยต้องรวบรวมเอกสาร ค้นคว้าเรื่องนี้เยอะหน่อยเพื่อให้งานเล่มที่ตั้งใจทำนี้จะได้สมบูรณ์และพอได้ข้อมูลหรือประเด็นที่น่าสนใจก็จะทำเป็นบทความเผยแพร่ใน The Isaan Record 

บางทีเป็นประเด็นคำถาม เพราะเกิดช่องว่างของเรื่องราวและหาข้อมูลไม่ได้ก็จะสะท้อนไว้ในบทความ เหมือนอย่างบทความตอนที่แล้ว ท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นใคร? ทั้งที่ท่านเขียนบทความที่เกี่ยวกับหมอลำ หมอแคน ที่สำคัญมากที่สุดชิ้นหนึ่งและเคยกระจายไปอย่างมากในหมู่คนอีสานผ่านพระ ผ่านคณะหมอลำ ตั้งแต่ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยาวมาถึงช่วงสงครามเย็น แต่คนที่สนใจเรื่องหมอลำยุคนี้กลับไม่ค่อยมีใครได้อ่านหรือรู้ว่ามีบทความสำคัญชิ้นนี้

และพอบทความนั้นเผยแพร่ออกไปก็มีคนอ่านส่งข้อมูลมาให้ บางคนส่งเอกสาร ส่งหนังสือมาให้ บางคนส่งลิงค์ข้อมูลมาทางกล่องข้อความ จนประเด็นคำถามของผมในบทความนั้นถูกชำระจนกระจ่างหมด อันนี้ต้องขอขอบคุณคนที่อ่าน The Isaan Record อย่างมาก

บทความนี้ก็เช่นกัน ยังคงเป็นเรื่องหมอลำและประเด็นคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นแม้แต่ในยุคที่มีการลำออกอากาศและวงการเพลงไทย-ลูกทุ่งไทย-ลูกทุ่งอีสานมีการอัดแผ่นเสียง แต่แล้วทำไมหมอลำจึงไม่มีแผ่นเสียง ?

เรามีข้อมูลที่แน่ชัดแล้วว่า ตั้งแต่ ร.4 ทรงประกาศห้ามไม่ให้เล่นลำแคน (หมอลำ-หมอแคน) ศิลปะแขนงนี้ของคนลาวและคนลาวในอีสานก็หมดไปจากภาคกลาง ซึ่งเคยได้รับความนิยมจนศิลปะการร้องลำประจำภาคของคนไทยคนสยามหมดสภาพหมดความนิยม และแทบจะไม่หลงเหลือในแผ่นดินสยามตอนนั้น อาจจะพอมีแอบเล่น แอบลำ แอบเป่ากันบ้างก็ในที่ห่างไกลในภาคอีสานและลาว 

กระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หมอลำ หมอแคนจึงได้ฟื้นกลับมามีที่อยู่ที่ยืนในแผ่นดินไทยอีกครั้ง และหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้กลับไปเป็นที่นิยมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลางอีกครั้ง โดยมีคณะหมอลำสุนทราภิรมย์เป็นศูนย์กลางทั้งในรูปแบบคณะหมอลำเองและทำหน้าที่เป็นสำนักงานหมอลำ คือ ติดต่อหมอลำจากอีสานไปเล่นตามงานต่างๆ ที่ว่าจ้างมา 

ว่ากันว่า คณะหมอลำสุนทราภิรมย์มีจำนวนสมาชิกในวงไม่ต่ำกว่า 200 คน ถ้าว่ากันตามสมัยนั้น คือ ช่วงปลาย 2490 ถึง 2500 ต้นๆ ถือว่าเป็นวงที่ใหญ่มากๆ และน่าจะครอบคลุมภาคกลางทั้งภาคได้เลย ที่สำคัญคณะนี้มีการแสดงลำออกอากาศทางทีวีและวิทยุด้วย แต่ …

เราลองคลิกชื่อ คณะหมอลำสุนทราภิรมย์ ในอินเตอร์เน็ต/Google สิ ทำไมข้อมูลมันน้อยมากเลย มากจนน่าตกใจและไม่มีรายละเอียดอะไรเลย นอกจากคลิปลำออกอากาศ ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไร ต่างจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ (ชื่อสองวงนี้เหมือนกันมากๆ) ฐานข้อมูลเยอะมากๆ ต่างจากคณะหมอลำสุนทราภิรมย์อย่างสวรรค์กับนรก

และมีข้อมูลหนึ่งที่ผมพบล่าสุด ซึ่งน่าสนใจมากๆ และต้นทางของข้อมูลน่าเชื่อถือสุดๆ คือ การให้สัมภาษณ์ของครูสุรินทร์ ภาคศิริ นักแต่งเพลงหรือในชื่อนักจัดการวิทยุภาษาลาวที่โด่งดังสุดๆ ทิดโส สุดสะแนน ใน YouTube สุรินทร์ ภาคศิริ (ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสานของศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

ครูสุรินทร์ ภาคศิริ นักแต่งเพลงหรือในชื่อนักจัดการวิทยุภาษาลาวที่โด่งดังสุดๆ ทิดโส สุดสะแนน ใน เครดิต ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสานของศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ครูสุรินทร์ เล่าว่า ปี 2514 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน หลังจากนั้นก็เสนอนายห้างแผ่นเสียงให้เช่าเวลาสถานีวิทยุ ตชด. เพื่อจัดรายการเพลงของห้าง 

นาทีที่ 32.05 ในคลิปสัมภาษณ์ ครูสุรินทร์ เล่าว่า “ฟังสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ต่อไปเป็นรายการภาคภาษาลาว หมอลำคณะสุนทราภิรมย์ คนไทยนี่แหละ แต่ว่าเป็นคำภาคภาษาลาว แก (น่าจะหมายถึงเจ้าของคณะหมอลำสุนทราภิรมย์? – ผู้เขียน) ก็จัดรายการเปิด ไม่ใช่เปิด แต่ว่าเอาหมอลำไปลำออกอากาศ แล้วประกาศงานว่า ใครต้องการหาสุนทราภิรมย์ไปแสดงที่ไหนๆ ก็เป็นการจัดหมอลำเพื่อหางานเฉยๆ”

ครูสุรินทร์ ภาคศิริ  ได้จัดรายการช่วงเวลาบ่ายสามโมงถึงบ่ายห้าโมง ชื่อรายการว่า อีสานบ้านเฮา และจัดรายการโดยใช้ภาษาลาว  นาทีที่ 38.26 – 39.04 ในคลิปสัมภาษณ์เล่าว่า

“ผมจัดรายการ อีสานบ้านเฮา นี่ผมก็มีเทคนิคในการจัดของผม ผมก็จะเปิดเพลงหนึ่งเพลง เปิดหมอลำหนึ่งกลอนตาม เพลงนำหน้าแล้วเปิดหมอลำ สมัยก่อนหมอลำ แผ่นเสียงในกรุงเทพยังไม่มี ผมต้องข้ามไปฝั่งเวียงจันทน์นะ ชวนนายห้างแผ่นเสียงไปเวียงจันทน์ไปหาซื้อแผ่นเสียงหมอลำมา ได้หมอลำเคน ดาเหลา, หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย, หมอลำอำพร สง่าจิตร พวกนี้ล่ะ หมอลำบุญชู อะไรต่ออะไร หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข ได้มาไม่กี่แผ่นหรอก มีลองเพล์อยู่สองแผ่น เปิดกลับไปกลับมาจนแผ่นจะทะลุ”

ข้อมูลจากปากคำของครูสุรินทร์ ภาคศิริ (ทิดโส สุดสะแนน) นี้น่าสนใจมาก คือ ตอนที่แกจัดรายการวิทยุ AM เพลงลูกทุ่งอีสานประมาณปี 2514-15 แกถูกเย้ยหยันต่อต้าน แต่แกสู้ จนรายการโด่งดัง (ข้อมูลและประเด็นนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นนักสู้ของคนอีสาน พลังของคนลาวอีสานและหมอลำ เพลงลุกทุ่งอีสาน 

จากข้อมูลนี้จะเชื่อมกับประวัติศาสตร์หมอลำ หมอแคนและสายตาของคนไทยที่มองคนลาวอีสานว่า เป็นอย่างไร ขอแยกเอาไว้เขียนให้อ่านกันตอนหน้า) และยังถางทางให้หมอลำได้มีพื้นที่ได้ออกอากาศวิทยุเป็นการสื่อสาร กระจายศิลปะของคนอีสานที่สำคัญแขนงนี้ออกไปให้กว้างไกลและเข้าถึงคนอีสานมากที่สุด โดยการเปิดเพลงลูกทุ่งอีสานที่ดังแล้วเปิดหมอลำตาม จนเป็นที่ชื่นชอบ แต่แกไม่มีแผ่นหมอลำ หาในกรุงเทพฯ หาในเมืองไทยไม่ได้ต้องข้ามไปซื้อที่ประเทศลาว (เวียงจันทน์) 

คำถาม คือ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นคณะหมอลำสุนทราภิรมย์มีรายการออกทีวีและวิทยุอาจจะมีมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ทำไมหมอลำจึงไม่เคยได้อัดแผ่นเสียง ซึ่งจะทำให้หมอลำได้แพร่กระจายได้ไกลและกว้างขวางมาก เพราะในยุคนั้นทีวีมีข้อจำกัดว่า ประชาชนมีทีวีน้อย โดยเฉพาะคนอีสานที่เป็นฐานใหญ่ของคนที่เสพงันศิลปะแขนงนี้แทบจะไม่มีทีวีกันเลย 

คำถามสำคัญ คือ ทำไมในไทยจึงไม่มีแผ่นเสียงหมอลำ แล้วหมอลำระดับครูกลับไปมีแผ่นเสียงอยู่ที่ลาว คำถามต่อมา คือ หมอลำเหล่านี้ไปอัดแผ่นที่นั่นและขายที่นั่นหรือ? แล้วทำไมในไทยอัดไม่ได้หรือไม่ได้อัด หรือเคยมีอัดที่ไทยมาก่อนแล้ว? แต่ถ้ามีอัดในไทยแล้วทำไมมันจึงถูกทำให้หายไป ถึงขั้นที่ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ต้องข้ามโขงไปซื้อเอาที่เวียงจันทน์ 

แต่อย่างน้อยที่สุด ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสานชุดนี้ของ สุรินทร์ ภาคศิริ ก็ทำให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์อีสานแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ประเทศริมฝั่งโขงไม่ว่า จะเป็นลาวหรือกัมพูชา ซึ่งเวลาคนพูดถึงเขียนถึงประวัติศาสตร์อีสานก็มักจะแยกออกมาเป็นการเฉพาะราวกับว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งๆ ที่อาจจะมีประวัติศาสตร์เดียวกันกับประเทศเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ

และข้อมูลจากปากคำของครูสุรินทร์ ภาคศิริ นี่แหละที่ทำให้ผมอยากรู้ว่า หมอลำได้รับการอัดแผ่นเสียงในไทยครั้งแรกปีไหน? เพราะเรามีข้อมูลว่า ภายหลังหรือช่วงเดียวกับที่ลูกทุ่งอีสานโด่งดัง หมอลำก็มีแผ่นและเทปออกมามากพอๆ กัน 

คำถาม คือ ถ้าก่อนนั้นหมอลำไม่เคยได้อัดแผ่นจริงๆ ทำไมหรืออะไรที่กดหมอลำไว้ขนาดนั้น

image_pdfimage_print