ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้เขียนถึงผลการเลือกตั้งและข้อสังเกตที่มีต่อการเลือกตั้ง อบจ.อุบลราชธานีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของคะแนนเลือกที่ผู้สมัครได้รับกับความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองในระดับชาติ และบทบาทของนายก อบจ.อุบลราชธานี

ตอนนี้จะเป็นตอนจบ ผมได้ตั้งข้อสังเกตกับบทบาทของ ส.อบจ. จักรกลการเมือง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ สื่อ ประกอบกับบทส่งท้ายที่จะมีการกล่าวถึง อุปสรรค และความท้ายของ อบจ. กับ ฝันที่ต้องไปให้ถึง 

ข้อสังเกตประการที่หก  เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.อบจ.พบว่า มี ส.อบจ.ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำงาน 17 คน จาก 42 คน ส่วนจาก ส.อบจที่ลงในนามกลุ่มอุบลคนดี หมายเลข 4 ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 21 คน จากกลุ่มหมายเลข 2 ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 1 คน และส่วนผู้สมัครอิสระได้รับเลือกตั้งเข้ามา 3 คน

ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นเสียงข้างมากใน ส.อบจ ประเด็นที่สำคัญคือ ถ้า กานต์กัลป์ตินันท์ ได้เข้าปฏิบัติงานในฐานะนายก อบจ. อาจจะต้องทำงานหนักเพราะฝ่ายสภาเป็นคนละข้าง

นอกจากนี้การประกาศตัวลงในนามพรรคและใช้นโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยนำความรู้ระดับชาติมาพัฒนาท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนต้องรอดูต่อไป เพราะนอกจากจำนวน ส.อบจ.ที่น้อยกว่าแล้ว ยังต้องติดกับกลไกของส่วนภูมิภาคและรัฐบาลกลางที่มาจากพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย

ข้อสังเกตประการที่เจ็ด ผู้รักประชาธิปไตยหลายคนอาจจะผิดหวังกับผลการเลือกตั้ง หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่พ้นจากระบบอุปถัมภ์  มีบ้านใหญ่ บ้านเล็กหรือจักรกลการเมือง (Machine Politics) ในการสร้างและระดมฐานคะแนนเสียง ผ่านการซื้อเสียงและการอุปถัมภ์กันในพื้นที่ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่า ประชาชนยังไม่เลือกนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเลือกนักการเมืองจากนโยบาย ซึ่งนักวิชาการหลายคนเรียกว่า การเมืองแบบใหม่ นอกจากนี้เริ่มมีการสร้างวาทกรรมในเลือกตั้งของชาวบ้านว่า โง่ที่เลือกนักการเมืองท้องถิ่นจากการขายเสียง

เมื่อพิจารณาในเรื่องของเงินที่มีผลต่อการซื้อเสียงการเลือกตั้งนั้น จากงานเรื่อง การศึกษาความเคลื่อนไหวทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2562 จังหวัดอุบลราชธานี ของอาจารย์ประเทือง ม่วงอ่อน ทำการศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้ง ส.ส. ในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้วโดยเฉพาะการเลือกตั้งในระดับชาติ

ในส่วนการเมืองท้องถิ่น เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นกัน เพราะจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่าผู้สมัครหลายท่านมีการแจกเงินซึ่งมีจำนวนมูลค่าอยู่ที่ 100-300บาทต่อคน ที่สำคัญผู้ที่แจกเงินจำนวนมากไม่ได้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ประเด็นสำคัญ คือ ในมุมมองของชาวบ้านผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ความหมายในการรับเงินนั้นเปลี่ยนแปลงไป การรับเงินซื้อเสียงไม่ใช่เรื่องของการรับมาแล้วต้องเป็นบุญคุณและต้องตอบแทนในการเลือกผู้สมัครคนนั้นหรือคนที่ให้เงินมากที่สุดเหมือนเมื่อก่อนแต่เขามองว่าเงินเป็นเพียงสินน้ำใจ ค่าเสียเวลา ค่าน้ำมันที่ต้องไปฟัง หรือออกไปเลือกตั้งมากกว่า 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองหน้าเก่า บ้านใหญ่ที่มีจักรกลการเมือง ต้องมีการปรับตัว กล่าวคือ ไม่ใช่เพียงการจ่ายเงินซื้อเสียงแล้วจะชนะการเลือกตั้ง แต่ถ้าตลอดเวลาที่ผ่านมานักการเมืองเหล่านี้ไม่ลงพื้นที่ ไม่ไปงานศพ งานแต่ง งานบุญ งานขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้าน เปิดตลาด หรือพูดง่ายๆไม่มาให้ประชาชนเห็นหน้า หรือทำกิจกรรมร่วมกับเขา หรือมีประวัติไม่ดี มันมีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนจะไม่เลือกแต่จะไปเลือกอีกคนที่ลงพื้นที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกับเขามาโดยตลอด

การเมืองแบบเก่าหรือระบบเก่าไม่ได้จะมืดมนไปเสียหมด มันมี function ที่ต้องปรับตัวเข้าหาประชาชน ดูแลคนในพื้นที่ และยิ่งถ้ามีการเลือกตั้งเป็นปกติทุก 4 ปี มีนักการเมืองหน้าใหม่ๆเข้ามาแข่งขัน บ้านใหญ่ บ้านเล็ก กลไกการเมืองยิ่งต้องเข้าหาและดูแลประชาชนมากขึ้นไปอีก 

ข้อสังเกตประการที่แปด ในเรื่องการเลือกตั้งของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคหรือกลุ่มการเมือง ถ้ามองจากมุมมองประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การเลือกของเขามีลักษณะของการคิดคำนวณ (Calculation) มีเหตุผล (Rationale) และมีลักษณะการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting) กล่าวคือ 

ประชาชนบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองและไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาทางด้านเศรษฐกิจ หรือการจัดการทรัพยากรจากรัฐ มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครจากกลุ่มก้าวหน้าที่มีจุดยืนและนโยบายทางการเมืองชัดเจน แต่ยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ผลงาน 

ประชาชนบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเมือง หรือต้องพึ่งพิงการเข้าถึงทรัพยากรจากนักการเมืองท้องถิ่นมีแนวโน้มสูงที่จะเลือกคนที่ใกล้ชิดกับเขา คนที่เขาสามารถพึ่งพา และเข้าหาได้ง่าย เขาจะดูว่าผู้สมัครคนใดสามารถทำประโยชน์ให้เขาได้เพราะการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจจำกัด นโยบายของผู้สมัครแต่ละคนที่คล้ายกัน ชาวบ้านเลือกคนที่เขารู้สึกสนิท ใกล้ชิด เข้าถึงง่าย จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญในการเลือกเข้าไปทำงาน เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำงานใกล้ชิดประชาชน เราจึงจะเห็นป้ายหาเสียง ประเภท ใช้งานง่าย เข้าถึงง่าย เป็นที่พึ่งของประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าประชาชนรู้จักผู้สมัครหรือเครือข่ายผู้สมัครมากกว่า 1 หมายเลขและมีการแจกเงินให้กับประชาชน สิ่งที่ประชาชนผู้รับเงินทำคือ การแบ่งคะแนนเสียงคนในครอบครัวให้ผู้สมัครแต่ละคนเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับนักการเมืองเหล่านั้นไว้

สุดท้ายประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เพียงแต่พิจารณาถึงเรื่องความใกล้ชิดของผู้สมัครเท่านั้น แต่มีการคิดคำนวณถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของผู้นำท้องถิ่นที่เข้าไปทำงานจะสามารถทำงานได้มากน้อยแค่ไหนภายใต้บรรยากาศการเมืองที่เป็นอยู่ กล่าวให้ถึงที่สุด การพิจารณาถึงความเชื่อมต่อระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับนโยบายและผลงานของรัฐบาลที่ออกมาซึ่งค่อนข้างไปในทางประชานิยม

จากที่กล่าวมา การเลือกของประชาชนนั้นมีการตัดสินใจหลายระดับ ทั้งจาก ตัวผู้สมัคร ผลงานที่ผ่านมา อุดมการณ์ทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างพรรคหรือกลุ่มการเมืองกับผู้สมัคร สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาคิดคำนวณผ่านการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่การเลือกของแต่ละคนจะวางอยู่บนเงื่อนไขและบริบทที่ต่างกัน

ข้อสังเกตประการที่เก้า ภายหลังจากรัฐประหาร ท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งมา 6 ปี ความท้าทายที่สำคัญของนายก อบจ.และ ส.อบจ. คือ จะทำอย่างไรให้สถาบันท้องถิ่นเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการกระจายอำนาจและการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา รัฐส่วนกลางขยายอำนาจลงมาในท้องถิ่นและควบคุมท้องถิ่นอยู่ตลอด เมื่อท้องถิ่นมีผู้แทนของตนเองแล้วสิ่งสำคัญคือ นายก อบจ.ที่เปรียบเสมือนผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และ ส.อบจที่เป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละเขตจะต้องทำงานหนักในการช่วยกันขยายอำนาจของท้องถิ่นให้เพิ่มมากขึ้น (ลดอำนาจภูมิภาค) นายก อบจ.ควรที่ต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่โครงการในด้านการพัฒนา แต่ควรเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐส่วนกลางกับประชาชน (ป่าไม้ ที่ดิน เขื่อน) แสดงผลงานให้เห็นว่าในอีก 4 ข้างหน้าอุบลราชธานีจะเป็นอย่างไรต่อไป 

ส่วน ส.อบจนั้นความท้าทายที่สำคัญ คือ นอกจากจะตรวจสอบการทำงานของนายก อบจ.แล้ว สิ่งสำคัญ คือ การตรวจสอบการทำงานของหัวหน้าหน่วยงานส่วนภูมิภาคในการดำเนินโครงการต่างๆในพื้นที่ตามอำนาจที่มี สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจที่ท้าทายการทำงานของอบจ.ในรัฐที่รวมศูนย์อำนาจมาอย่างยาวนาน

ข้อสังเกตประการที่สิบ ในการเลือกตั้งรอบนี้ มีทั้งสื่อระดับชาติ และสื่อท้องถิ่น ให้ความสนใจการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 6 ปี อบจ.บางแห่ง 8 ปี ในจังหวัดอุบลราชธานีมีการจัดดีเบตประชันวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร มีการวิเคราะห์การหาเสียงของผู้สมัคร รวมถึงการติดตามสัมภาษณ์ผู้สมัคร สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารของผู้สมัครมากขึ้นเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ภายหลังการเลือกตั้งเราจะได้เห็นสื่อท้องถิ่นร่วมกับนักวิชาการทำการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ 

ข้อสังเกตประการสุดท้าย แม้ว่าในการเลือกตั้ง อบจ.นี้จะมีประชาชนมาใช้สิทธิ์น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งนี้มีเหตุผลมาจากระบบเลือกตั้งที่ไม่เอื้ออำนวยและการไม่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่เหมือนการเลือก ส.ส. อย่างไรก็ตามจำนวนคนที่มาเลือกตั้ง อบจ.มีสูงถึง 900,000 กว่าคน หรือประมาณร้อยละ 63 

ภายหลังการเลือกตั้งประชาชนควรที่จะเก็บใบปลิวหาเสียง และนโยบายของผู้สมัครที่ได้เป็นนายก อบจ. หรือผู้ที่ได้เป็น ส.อบจ.ในเขตพื้นที่ให้ดี เพราะนั่นคือสัญญาที่เขาให้กับประชาชน  หลังจากนั้น เมื่อเวลาผ่าน 1 ปี 2 ปี หรือครบเทอมต้องจัดตั้งวงสนทนามาพูดคุยกันว่า สัญญาที่ให้ไว้อะไรทำได้ หรือไม่ได้ หรือแค่ราคาคุย สิ่งสำคัญต้องมีการทวงถามและตรวจสอบทั้งนายกอบจ.และ ส.อบจ.จากกลุ่มต่างๆของภาคประชาชน

ในการจัดวงคุยหรือการดำเนินการตรวจสอบการทำงาน ภาคประชาชนจะจัดเองผ่านทางออนไลน์ หรือสื่อสำนักข่าวท้องถิ่น หรือระดับชาติจะช่วยก็ได้ ยิ่งเป็นสถาบันการศึกษายิ่งดีเยี่ยมในการเป็นตัวกลางประเมินผลงานของผู้นำท้องถิ่น ว่าโครงการไหนทำไม่ได้เพราะอะไร อย่างไร ติดขัดตรงไหน ผู้ว่าฯ ไม่เซ็น? ส่วนผู้สมัครที่ผิดหวังจากการเลือกตั้งรอบนี้ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ลงทำงานในพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่จะเลือกตั้งแล้วค่อยโผล่มา ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

บทส่งท้าย: อุปสรรค และความท้ายของอบจ. กับ ฝันที่ต้องไปให้ถึง

การเลือกตั้ง อบจ.อุบลราชธานีเป็นเพียงสนามการเลือกตั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองท้องถิ่นมันมีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมต่อกับการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่นก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายหลังการกระจายอำนาจ 2540 มีการเกิดรัฐประหารขึ้นถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อ 2549 และ 2557 โดยเฉพาะในครั้งหลังทำให้อำนาจของรัฐส่วนกลางและภูมิภาคขยายลงมาและครอบงำท้องถิ่นอย่างมาก 

รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากเผด็จการประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น (อบจ.) อย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านั้นมีการบ่ายเบี่ยงมาตลอด ส่งผลให้นักการเมืองเตรียมตัวไม่ทันและยิ่งในช่วงที่มีรัฐบาลเผด็จการ การทำงานของนักการเมืองบางพรรค บางคนทำงานได้ยากเพราะถูกจับจ้องจากฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะการรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถสร้างผลงานเพื่อมัดใจคนในพื้นที่ได้ทัน นักการเมืองที่มีฐานเสียง เครือข่ายการเมืองและจักรกลการเมือง (Machine politics) ที่มีอยู่ก่อนจึงได้เปรียบอย่างมากในการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีนายกท้องถิ่นโดนมาตรา 44 ให้หยุดปฏิบัติงานและต้องให้ข้าราชการเข้ามาปฏิบัติงานแทน อย่างเช่น อบจ. อุบลราชธานี ส่งผลให้เกิดการตัดความสัมพันธ์และความรับผิดชอบระหว่างนักการเมืองกับประชาชนและการพัฒนาประชาธิปไตยโดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบการทำงาน

การเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบนี้ถึงแม้จะมีอุปสรรคในเรื่องระบบการเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญ คือ การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ถูกเรียกว่า เป็นสนามบ่มเพาะประชาธิปไตยทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ตื่นตัวและทบทวนผลงานที่นักการเมืองได้ทำในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งประชาชนได้จุดประกายความฝัน และเรียนรู้ทางการเมือง ถ้ามีการเลือกตั้งแบบปกติทุก 4 ปี มีการแข่งขันการเสนอนโยบาย ประชาชนมีความตื่นตัว สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นแรงผลักให้การเมืองระดับประเทศค่อยๆเปลี่ยน โดยเริ่มการเปลี่ยนแปลงจากการเมืองในชีวิตประจำวันผ่านการสร้างอำนาจและช่องทางต่อรองระหว่างประชนผู้มีอำนาจน้อยกับบ้านใหญ่ จักรกลการเมืองและระบบราชการในรัฐรวมศูนย์ได้ 

ตราบใดที่มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง สื่อทำงาน ภาคประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง และนักการเมืองท้องถิ่นที่เพิ่งเริ่มต้นเส้นทางการเมืองและยังไม่มีผลงาน เริ่มทำงานลงพื้นที่อย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้ สิ่งเหล่านี้จะยิ่งช่วยเสริมสร้างให้ประชาธิปไตยในท้องถิ่นเข้มแข็งและเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในระดับชาติได้ 

ปี2564 จะเป็นปีที่มีความสำคัญต่อการเมืองท้องถิ่นและการเมืองไทยอีกปีหนึ่ง กล่าวคือ จะเป็นปีที่ครบรอบ 30 ปี การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงของประชาชน จะเป็นปีที่ประเด็นปัญหาการเมืองระดับชาติโดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในสังคมอย่างกว้างขวาง และเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นอีก (ถ้าไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน) 

นี่เป็นโอกาสอันดีที่ผู้รักในประชาธิปไตยและสนใจในการเมืองท้องถิ่นจะช่วยกันออกไปรณรงค์ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มอำนาจให้กับประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นและราชการส่วนภูมิภาค รวมถึงการไปให้ถึงฝั่งฝันที่เคยฝันไว้ คือ การจัดสถาบันการเมืองใหม่ ในอดีตเคยมีการเสนอในเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง จังหวัดจัดการตนเองหรือการบริหารจัดการท้องถิ่นที่ไปไกลกว่าเรื่องของจังหวัดแต่เป็นในลักษณะของการจัดการท้องถิ่นในระดับภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองต่างๆที่เติบโตขึ้น เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น 

ที่สำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างรัฐกับประชาชนในท้องถิ่น และปัญหาที่เกิดขึ้นข้ามพื้นที่ เช่น หมอกควัน น้ำท่วม ไฟป่า การจัดการป่า แรงงานข้ามชาติ โรคระบาด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่กำลังท้าทายสังคมไทยอยู่ในตอนนี้

สุดท้ายฝันจะเป็นจริงได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและรักท้องถิ่นทุกคน 

เหมือนดั่งคำกล่าวที่ว่า “บ้านเมืองที่ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง”

อ้างอิง 

1. ประเทือง ม่วงอ่อน 2563 ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2562 จังหวัดอุบลราชธานี กรุงเทพ: สำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลฯ : การเมืองท้องถิ่น และฝันที่ต้องไปให้ถึง (1)

image_pdfimage_print