กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 วสันต์ เสตสิทธิ์ หรือ โต้ง ดาวดิน ร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับสอบสวน สน.ชนะสงคราม ในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกลั่นแกล้งให้เป็นคดี มาตรา 200 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
สืบเนื่องจากกรณี ออกหมายเรียก วสันต์ เสตสิทธิ์ และ สุวิชชา พิทังกร สองสมาชิกกลุ่มดาวดิน ให้รับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีการจัดชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง โดยทั้งสองคนยืนยันว่าไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากขณะนั้นทั้งสองทำงานที่ต่างจังหวัด
ในวันรับทราบข้อกล่าวหา (3 พฤษจิกายน 2563) วสันต์ ไม่ได้นำหลักฐานมาแสดงต่อตำรวจว่า ในวันดังกล่าวเขากำลังปฏิบัติงานเป็นพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี และไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เป็นเพียงบอกด้วยวาจา แต่ วสันต์ ยืนยันว่าจะยื่นเอกสารประกอบคำให้การเพิ่มเติมในภายหลัง จึงเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหา ร่วมกันชุมนุม ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และทำลายรั้วสนามหลวง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ทำลาย ทำให้ทรัพย์เสียหาย
ส่วน สุวิชา ได้นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันว่าในวันดังกล่าวตนกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในต่างจังหวัด พนักงานสอบสวนจึงไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา
ทั้งสองเห็นว่าการถูกออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นดำเนินการโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่กลับต้องเสียเวลาเดินทางมาสถานีตำรวจ เสียค่าเดินทางมาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะวสันต์ยังต้องมีภาระต่อสู้ในคดีต่อไปอีก และถูกให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำทะเบียนประวัติอาชญากรไว้แล้วด้วย
ผรันดา ปานแก้ว ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลังฐานให้ครบถ้วนเสียก่อน ที่จะออกหมายเรียกผู้ต้องหา แต่กลับทำการแจ้งข้อกล่าวหากับ วสันต์ ทั้งที่มีเพียงเอกสารภาพถ่ายประกอบคดี เป็นภาพกลุ่มบุคคลกำลังยืนอยู่บริเวณแนวรั้วเหล็กสวมหมวกผ้าสีดำปีกกว้างไม่เห็นใบหน้า มาประกอบการแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ชัดแจ้ง
ซึ่งการกระทำดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ประชาชนผู้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในฐานะผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่จึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว (อ่านคำฟ้องเพิ่มเติม ที่นี่)
ตัวแทนภาคีนักกฎหมายกล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 18 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลได้นัดฟังคำพิจารณารับคำฟ้อง หลังการพิจารณายังไม่ได้รับคำฟ้องเนื่องจากศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ชัดเจน จึงมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนมากขึ้นว่า การกระทำของจำเลยผิด กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด โดยให้เวลาแก้ไขคำฟ้องภายในระยะเวลา 30 วัน และถ้าศาลรับฟ้อง จะมีการไตส่วนมูลฟ้องภายในวันที่ 1 มีนาคม 2564
ด้าน วสันต์ กล่าวว่า ในวันดังกล่าวตนไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม เนื่องจากกำลังทำงาน แต่กลับถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นการสร้างความยุ่งยากและเสียเวลาชีวิตที่ต้องทำมาหากิน และเจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบให้ดีกว่านี้ก่อนแจ้งความดำเนินคดีกับคนอื่น โดยมีข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นไปได้ว่านี่คือการดำเนินคดีแบบหว่านแห เพียงเพราะตนเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน
ทั้งนี้จากกรณีการชุมนุม 19 กันยายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 17 คน