
เดวิด สเตร็คฟัสส์ เรื่อง
ศึกแรกของคนรุ่นใหม่ในอุดรธานีเกิดขึ้นเพราะพระบรมฉายาลักษณ์หรือจะพูดให้ตรงกว่านั้น คือ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์
การเจรจาอย่างเคร่งเครียด เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 โดยตัวแทนของผู้จัดการชุมนุมแจ้งตำรวจว่า พวกเขาไม่ได้แค่นั่งชุมนุม แต่จะเคลื่อนขบวนด้วย
แรกทีเดียวตำรวจอ้างว่า การเคลื่อนขบวนจะเป็นการรบกวน “จุดยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านการคมนาคมของเมือง” และจะเป็นการ “สร้างความเดือดร้อน” หากเคลื่่อนขบวนไปถึงวงเวียนหลัก 3 แห่ง ใจกลางเมืองอุดรฯ
อย่างไรก็ตามตัวแทนของผู้ชุมนุมยืนยันว่า พวกเขาต้องการเดินขบวน
เมื่อการเจรจายืดเยื้อออกไป ตำรวจยอมรับในที่สุดว่า พวกเขามีความกังวล “เป็นพิเศษ”ว่า ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนผ่านพระบรมฉายาลักษณ์และพวกเขาอาจชูสามนิ้วต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในระหว่างนั้นด้วย
พชร สาธิยากุล หรือ ตัวแทนผู้ชุมนุมวัย 23 ปี หนึ่งในตัวแทนที่เข้าไปเจรจากับตำรวจวันนั้นเล่าว่า ตำรวจติงมาว่า ถ้าเดินผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ขออย่าชู 3 นิ้ว ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่า การชู 3 นิ้ว เป็นการกระทำที่แรงเกินไปอย่างไร แต่ตำรวจก็กลัวจะเกิดอะไรที่อาจแย่ยิ่งกว่านั้น เช่น หากผู้ประท้วงทำสัญลักษณ์อย่างอื่นที่ไม่สุภาพ หยาบคาย หรือ “ก่อให้เกิดมลทิน”
แต่พวกเขาก็ยังยืนยันว่า จะจัดการเคลื่อนการชุมนุม
เราปิดปากคนอื่นไม่ได้
แม็กซ์เล่าว่า หลังจากทราบข้อมูลตำรวจดูร้อนใจขึ้นกว่าเดิม แล้วพวกเขาก็ขอร้องอย่าพูดเรื่องเจ้า ซึ่งเขารับปาก แต่ไม่สามารถตอบแทนคนอื่นได้ เพราะจะมีการเปิดให้ผู้ชุมนุมคนอื่นขึ้นปราศรัยได้อย่างอิสระด้วย
“เราไปปิดปากคนอื่นไม่ได้ เขาก็ขอว่า ถ้าพูดก็พูดในหลักเหตุผล พูดตามข้อเท็จจริง อย่าไปพูดในอาฆาตมาดร้าย ดุด่าว่ากล่าวหรืออะไรที่ไม่เป็นความจริง”แมกซ์บอก
ตำรวจแทบจะอ้อนวอนพวกเขาไม่ให้พูดเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน โดยบอกว่า “ขอไม่พูดได้ไหม ถ้าพูดก็พูดน้อยๆ”แมกซ์เล่าเหตุการณ์ในวันนั้น
ตำรวจจึงเปลี่ยนวิธีการเป็นการพยายามยื่นหมูยื่นแมว ด้วยการให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการเคลื่อนขบวน แม็กซ์เล่าถ้อยคำจากตำรวจว่า “ถ้าไม่เคลื่อนขบวน อยากได้อะไรเขาจัดให้ทุกอย่าง รถห้องน้ำ ไฟส่องสว่าง ลำโพง คือ ให้ทุกอย่าง”
แต่แม็กซ์ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจเดิม “เราก็เป็นนักเรียนเลว เป็นเด็กดื้อ เราจะเคลื่อนแน่ เรายืนยันว่า จะเคลื่อนให้ยาวที่สุดเท่าที่เราจะเคลื่อนได้”
“เขากลัวเราชู 3 นิ้วต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์มากและกลัวการเคลื่อนขบวนด้วย แต่เราก็ยืนยันว่า เราต้องเคลื่อน”เขาเน้นย้ำ
การชุมนุมถูกจัดขึ้นอีกหนึ่งหรือสองวันหลังจากนั้น ตำรวจสัญญาว่า พวกเขาจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประท้วงทุกอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามย้ายพระบรมฉายาลักษณ์ออกไปจากเส้นทางการเดินขบวนให้ได้มากที่สุดด้วย
โชคยังดีสำหรับตำรวจ เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้ชูสามนิ้วขณะเดินผ่านวงเวียนหอนาฬิกาที่มีพระบรมฉายาลักษณ์

นักเรียนมัธยมปลายนำการชุมนุมในอุดรฯ
การชุมนุมจากขั้วอุดมการณ์สองฝั่งในประเทศไทยในขณะนี้ต่างเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ กันไป ช่วงแรกนิสิตนักศึกษานำหมุดคณะราษฎร อนุสรณ์ของการสิ้นสุดลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี 2475 ที่หายไปมาชูเป็นสัญลักษณ์ รวมถึงล้อเลียนเสียดสีด้วยการจัดธีมประท้วงต่างๆ เช่น การประท้วงแฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร จนถึงการใช้เป็ดยางสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์
ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็แสดงสัญลักษณ์ของฝั่งตนที่ไม่มีความสร้างสรรค์มากเท่า อย่าง การสวมเสื้อสีเหลือง ชุมนุมด้วยการชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
การประท้วงในอุดรฯ เป็นศึกช่วงชิงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ระหว่างผู้ที่ยังโหยหายึดติดอยู่กับภาพในอดีตและผู้ “ตาสว่าง หรือ เบิกเนตร” แล้ว
เช่นเดียวกับหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีจัดการประท้วงขึ้นภายในวิทยาเขตหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกสั่งยุบเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563
แม็กซ์เข้าใจว่า ผู้ชุมนุมถูกมหาวิทยาลัยกดดันอย่างหนักและถูกตำรวจข่มขู่ด้วย เมื่อกระแสการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาระลอกใหม่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏพยายามกดดันนักศึกษาไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุม
การประท้วงระลอกแรกภายในจังหวัดฯ หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เกิดจากกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมปลาย แกนนำคนหนึ่ง คือ มัดหมี่ (ขอสงวนชื่อจริง) นักเรียนฝีปากกล้าวัย 16 ปีจากโรงเรียนสตรีราชินูทิศ อุดรธานี
มัดหมี่ เล่าว่า เส้นทางสู่การเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองเริ่มต้นจากการตื่นรู้ด้วยข้อมูลที่เสพผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาหลายเดือนก่อนที่การชุมนุมจะเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส
มัดหมี่บรรยายความรู้สึกว่า “ว้าว…อะเมซิ่งมาก อะเมซิ่งที่คุณโปรปากานดา เรามาได้ 16 ปีขนาดนี้ แล้วเรามาตาสว่างได้เพราะลิงค์เนื้อหาแค่ลิงค์เดียว”
“เพิ่งเบิกเนตร ก็คือเพิ่งเห็นความจริงทุกอย่างเมื่อไม่ถึงปี พอเรารู้ความจริงปุ๊บ เราแบบอ้าวแล้วที่คุณโปรปากานดาเรามาตลอดมันก็คือการหลอกลวงเรา ก็รู้สึกแบบทำไมคุณทำกับเราแบบนี้ หนูก็เลยออกมา เรียกร้องในสิ่งต่างๆ”เป็นความรู้สึกของมัดหมี่

ทำไมคุณทำกับเราแบบนี้
เป้าหมายแรกในการชุมนุมของมัดหมี่ คือ เรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด อย่าง ระบบการศึกษาของไทย ที่เธอบอกว่า “เด็กไทยควรที่จะได้เนื้อหาการศึกษาที่ดีกว่านี้ แต่สิ่งที่เราได้ คือ อะไรไม่รู้ ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน ระบบการศึกษาของไทย คือ มันแย่”
มัดหมี่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวในช่วงใกล้ๆ กับวันครบรอบการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน
มัดหมี่ เล่าว่า มีความคิดที่อยากชูป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบพบเจอและออกไปมองหาสถานที่ต่างๆ ในอุดรธานีที่เหมาะจะเป็นที่แสดงจุดยืน
มัดหมี่กับเพื่อนร่วมชั้นราว 5-6 คน รวมตัวกันออกไปยืนชูป้ายเป็นเวลา 2 วันเมื่อเดือนมิถุนายน
R.N. Revolution
จากนั้นไม่นาน นักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ ก็เริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาประสบในโรงเรียนของตัวเอง และมารวมตัวกันตั้งกลุ่ม R.N. Revolution เพื่อกล่าวถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกโรงเรียน
ทางโรงเรียนอนุญาตให้เด็กๆ จัดกิจกรรมขึ้นภายในพื้นที่โรงเรียนอย่างไม่เต็มใจนัก ในบางครั้งก็พยายามขัดขวาง เช่น การประกาศว่าจะมีการฉีดยาฆ่ายุงที่โรงเรียนในช่วงเวลาเดียวกับที่นักเรียนจะจัดกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มนักเรียนจากอีกโรงเรียนก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว มิ่งขวัญ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นนักเรียนชั้น ม.4 วัย 15 ปีจากโรงเรียนชื่อดังอีกแห่งในจังหวัด
เธอเริ่มเข้ามามีส่วนร่วม เพราะรู้สึกว่า มีความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ จากนั้นมิ่งขวัญก็เริ่มคิดถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี เช่น ทำไมระบบการคมนาคมขนส่งจึงไม่ดี หรือทำไมจังหวัดฯ ไม่ค่อยได้รับการพัฒนาทั้งๆ ที่คนท้องถิ่นก็เสียภาษีเหมือนกัน

อุดรฯ แดนสลิ่ม?
แกนนำผู้ชุมนุมบอกว่า อำเภอเมืองอุดรธานีเป็นพื้นที่ๆ “สลิ่มมาก” หรือเต็มไปด้วยชนชั้นกลางหัวอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันและสถาบันฯ เมื่อกระแสการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ขยายตัวกว้างมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวก็เริ่มปะทุขึ้นเป็นเงาตามตัว
มิ่งขวัญเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งรอบตัวมากขึ้นและออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง ทำให้พ่อแม่ของเธอรู้สึกกังวล แม้จะไม่ได้ห้ามให้ไปชุมนุม แต่พ่อแม่ก็อยากให้เธอดูแลตัวเองให้ปลอดภัยและกลัวว่า จะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับครอบครัวขึ้น พวกเขาบอกว่า “ให้เธอคิดถึงคนอื่น คิดถึงคนในครอบครัวด้วย”
แต่มิ่งขวัญยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ และรักษาผลการเรียนให้ดีเหมือนเดิมได้ในโรงเรียนที่ถือว่า เป็นหนึ่งในโรงเรียนชั้นนำของภาคอีสาน มิ่งขวัญภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในแกนนำ เธอบอกว่า “ก็ภูมิใจๆ มากที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมที่คิดว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง”

ศึกช่วงชิงพื้นที่อนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมตั้งอยู่ที่วงเวียนสำคัญใจกลางเมืองอุดรธานี และเป็นที่จัดงานเฉลิมฉลองการก่อตั้งเมืองทุกๆ วันที่ 18 ของเดือนมกราคมติดต่อกันมาเป็นหลายสิบปี
การท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีจัดให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจังหวัด โดยบอกว่า เป็น “เกียรติประวัติสูงสุดของชาวอุดร”
ส่วนเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวถึง “ลักษณะเด่น” ของอนุสาวรีย์ว่า ผู้สันทัดกรณีบอกว่า เป็นเคล็ดลับ เช่น หากขอพรในการสอบแข่งขัน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งก้าวหน้า สอบราชการทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ท่านบอกว่าให้ตั้งจิตอธิษฐานบนบานต่อพระองค์ท่าน ด้วยการวิ่งรอบพระอนุสาวรีย์ ถวายม้าและดาบ เป็นของแก้บน ส่วนผู้ที่ไม่ได้บนบาน การกราบไหว้พระอนุสาวรีย์กรมหลวงฯ ทำให้เกิดมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ปราศจากอุปสรรคต่างๆ ในการทำงาน ประสบผลสำเร็จในการเรียน
ทั้งนี้คาดว่า การถวายม้าและดาบนั้นอาจหมายถึงเพียงการมอบเป็นของเล่นหรือหุ่นจำลองขนาดเล็ก ไม่ใช่เอาม้าและดาบจริงๆ ไปถวาย
เว็บไซต์ยังบอกอีกว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่ๆ ชาวจังหวัดอุดรธานี “ให้ความเคารพนับถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่ง”
จึงดูเหมือนว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้กลายไปเป็นที่สำหรับการสักการะบูชามากกว่าจะเป็นที่สำหรับการรำลึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต
ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางของเมืองทั้งในทางภูมิศาสตร์และทางจิตวิญญาณ กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองหรือการประท้วงจึงมารวมตัวกันอยู่ที่วงเวียนกรมหลวงแห่งนี้
หลังจากใช้พื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนก็มักจะต้อง “ขอขมาขอโทษกับอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์” ที่ไป “ก้าวล่วง” ในพื้นที่ของพระองค์
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทำตามประเพณีนี้ แม้พวกเขาจะจัดกิจกรรมทางการเมืองที่อนุสาวรีย์หลายต่อหลายครั้ง แม็กซ์บอกว่า บางคนคิดว่า “วัฒนธรรมไทยเขาก็จะบอกว่า ที่นี่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์”
แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ขอขมาหลังใช้สถานที่ ชานนท์ อาจณรงค์ หรือ อะตอม วัย 18 ปีเคยไปร่วมการชุมนุมเมื่อเดือนมิถุนายน
เขาชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ระหว่างที่เรียนชั้น ม.6 เทอมสุดท้าย อะตอมลงเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาเลือก ซึ่งทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับทุกอย่าง เช่น เหตุใดรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาถึงแสดงตนประหนึ่งเป็นเผด็จการหรือทำไมกฎหมายจึงถูกบังคับใช้อย่างไม่ยุติธรรม เมื่อ “ตาสว่าง” แล้ว เขาจึงมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม
“เราไม่อยากทนแล้ว ผมไม่ชอบเห็นชาวบ้านที่เดือดร้อน เราเห็นคนจนมากขึ้นเรื่อยๆ คนไร้บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ”เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อะตอมออกมาชุมนุม
เขารู้สึกว่า การออกมาชุมนุมประท้วงจะทำให้เขามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น ทำให้คนมีความเท่าเทียมกันและอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับเสียงส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มใหญ่ ให้พวกเขาเข้าถึงรัฐสวัสดิการ
เขาเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ เมื่อถามว่าทำไมจึงเลือกที่จะไม่ทำพิธีขอขมา อะตอมแสดงอาการหงุดหงิดรำคาญใจเล็กน้อยและตอบว่า “ไม่ได้ขอ เพราะเราถือว่า เงินที่ปรับปรุงอนุสาวรีย์ก็คือเงินเรา เงินที่มาสร้างอนุสาวรีย์ก็คือเงินเรา เราจะไปขอทำไม”
กาน (ขอสงวนชื่อจริง) แกนนำประท้วงวัย 21 ปี บอกว่า เราถือว่าอนุสาวรีย์เป็นของราษฎร ถนนเส้นนี้เป็นของราษฎร เราก็พยายามสร้างวัฒนธรรมทุกคน คือ แกนนำ มีชาวบ้านขึ้นมาด่านายกฯ อย่างออกรสออกชาติ ดุเด็ดเผ็ดมัน มีการรับสมัครใครอยากพูด พูดเพราะไมค์นี้เป็นของราษฎรแล้ว

กรุงเทพฯ ประกาศอาณาเขต
เหล่าผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่โต้แย้งว่า สิ่งของสาธารณะทุกอย่างในเมืองอุดรธานีถูกสร้างขึ้นจากภาษีของพวกเขา แต่เมื่อมองจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์แล้ว เชื้อพระวงศ์จากราชวงศ์จักรีพระองค์นี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของอุดรธานีมากมายนัก
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมประสูติที่กรุงเทพเมื่อปี 2399 เป็นพระเชษฐาต่างพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2411-2453) ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน หรือมณฑลฝ่ายเหนือที่กินพื้นที่ส่วนบนของภาคอีสานไปจนถึงดินแดนส่วนหนึ่งในประเทศลาวปัจจุบัน และมีกองบัญชาการส่วนพระองค์อยู่ตามแนวแม่น้ำโขง หลังจากสยามต้องถอนทัพออกจากแนวแม่น้ำไปถึง 25 กิโลเมตร กรมหลวงประจักษ์สถาปนาจังหวัด “เหนือ” ขึ้นที่บ้านเดื่อหมากแข้ง หรือบ้านหมากแข้งเมื่อปี 2436 ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นจังหวัดอุดรธานีเมื่อราวทศวรรษ 2460
กรมหลวงประจักษ์ และพระโอรส พระธิดา ถูกขับออกจากพระราชสำนักเมื่อปี 2453 หลังเกิดความขัดแย้งภายในราชวงศ์
ขณะที่ประทับอยู่ที่ภาคอีสาน กรมหลวงประจักษ์ดำรงตำแหน่งเป็นพระอุปราช คอยควบคุมปราบปรามคนเชื้อชาติลาวในลักษณะเจ้าอาณานิคม และเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในอีก 7 ปีให้หลังเมื่อปี 2442 และไม่เคยเสด็จกลับมาอีกเลย อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ถูกสร้างขึ้นเมื่อกว่า 70 ปีหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงร่วมพระราชพิธีเปิดอนุสาวรีย์ซึ่งในทีแรกตั้งอยู่ภายในฐานทัพเมื่อปี 2514
หลังจากนั้นอนุสาวรีย์ก็ถูกย้ายมาตั้งที่ทุ่งศรีเมือง ต่อมาก็ถูกย้ายมาอยู่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ เมื่อปี 2542
เมื่อเป็นเช่นนี้ กรมหลวงประจักษ์จึงดูไม่น่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอุดรธานีที่มีประวัติร่วมกับพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน ความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในรูปของอนุสาวรีย์ระหว่างการสู้รบกับกบฏคอมมิวนิสต์ เพื่อพยายามดึงความจงรักภักดีของคนในพื้นที่ให้กลับมาอยู่กับกรุงเทพฯ
แม้อุดรธานีอาจมีวีรชนท้องถิ่นที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดมาในอดีต คุณงามความดีของพวกเขาก็ถูกลบเลือนหายไปด้วยวิญญาณที่ทรงอำนาจของเชื้อพระวงศ์จากกรุงเทพฯ นานถึง 50 ปี
แม้ผู้ชุมนุมรุ่นใหม่อาจไม่รู้เรื่องราวของราชวงศ์ผู้อุปถัมภ์ประจำจังหวัดนี้มากนัก พวกเขาก็ยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ติดหนี้บุญคุณอะไร เพราะอนุสาวรีย์ต่างๆ ในจังหวัดล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากเงินภาษีของพวกเขาทั้งนั้น
แม้จะรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์หรือไม่ การเลือกที่จะไม่ขอขมาก็เป็นการประกาศจุดยืนของพวกเขาที่เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยมีกรุงเทพฯ และสถาบันเป็นศูนย์กลาง ทั้งที่จิตวิญญาณของวีรชนในท้องถิ่นถูกช่วงชิงจากสิ่งที่ส่งตรงมาจากกรุงเทพฯ ก็ตาม
อ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่ Udon Thani’s new generation: Battle over royal portraits, a monuments, and a flag (Part I)
โปรดติดตามตอนที่ 2 ตอน “คนรุ่นใหม่เมืองอุดรฯ: ศึกแห่งพระบรมฉายาลักษณ์ อนุสาวรีย์และธงชาติ” ในวันพรุ่งนี้