เดวิด สเตร็คฟัสส์ เรื่อง
ศึกแรกของคนรุ่นใหม่ในอุดรธานีเกิดขึ้นเพราะพระบรมฉายาลักษณ์หรือจะพูดให้ตรงกว่านั้น คือ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์
การเจรจาอย่างเคร่งเครียด เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 โดยตัวแทนของผู้จัดการชุมนุมแจ้งตำรวจว่า พวกเขาไม่ได้แค่นั่งชุมนุม แต่จะเคลื่อนขบวนด้วย
แรกทีเดียวตำรวจอ้างว่า การเคลื่อนขบวนจะเป็นการรบกวน “จุดยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านการคมนาคมของเมือง” และจะเป็นการ “สร้างความเดือดร้อน” หากเคลื่่อนขบวนไปถึงวงเวียนหลัก 3 แห่ง ใจกลางเมืองอุดรฯ
อย่างไรก็ตามตัวแทนของผู้ชุมนุมยืนยันว่า พวกเขาต้องการเดินขบวน
เมื่อการเจรจายืดเยื้อออกไป ตำรวจยอมรับในที่สุดว่า พวกเขามีความกังวล “เป็นพิเศษ”ว่า ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนผ่านพระบรมฉายาลักษณ์และพวกเขาอาจชูสามนิ้วต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในระหว่างนั้นด้วย
พชร สาธิยากุล หรือ ตัวแทนผู้ชุมนุมวัย 23 ปี หนึ่งในตัวแทนที่เข้าไปเจรจากับตำรวจวันนั้นเล่าว่า ตำรวจติงมาว่า ถ้าเดินผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ขออย่าชู 3 นิ้ว ซึ่งเขาก็ไม่แน่ใจว่า การชู 3 นิ้ว เป็นการกระทำที่แรงเกินไปอย่างไร แต่ตำรวจก็กลัวจะเกิดอะไรที่อาจแย่ยิ่งกว่านั้น เช่น หากผู้ประท้วงทำสัญลักษณ์อย่างอื่นที่ไม่สุภาพ หยาบคาย หรือ “ก่อให้เกิดมลทิน”
แต่พวกเขาก็ยังยืนยันว่า จะจัดการเคลื่อนการชุมนุม
เราปิดปากคนอื่นไม่ได้
แม็กซ์เล่าว่า หลังจากทราบข้อมูลตำรวจดูร้อนใจขึ้นกว่าเดิม แล้วพวกเขาก็ขอร้องอย่าพูดเรื่องเจ้า ซึ่งเขารับปาก แต่ไม่สามารถตอบแทนคนอื่นได้ เพราะจะมีการเปิดให้ผู้ชุมนุมคนอื่นขึ้นปราศรัยได้อย่างอิสระด้วย
“เราไปปิดปากคนอื่นไม่ได้ เขาก็ขอว่า ถ้าพูดก็พูดในหลักเหตุผล พูดตามข้อเท็จจริง อย่าไปพูดในอาฆาตมาดร้าย ดุด่าว่ากล่าวหรืออะไรที่ไม่เป็นความจริง”แมกซ์บอก
ตำรวจแทบจะอ้อนวอนพวกเขาไม่ให้พูดเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน โดยบอกว่า “ขอไม่พูดได้ไหม ถ้าพูดก็พูดน้อยๆ”แมกซ์เล่าเหตุการณ์ในวันนั้น
ตำรวจจึงเปลี่ยนวิธีการเป็นการพยายามยื่นหมูยื่นแมว ด้วยการให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการเคลื่อนขบวน แม็กซ์เล่าถ้อยคำจากตำรวจว่า “ถ้าไม่เคลื่อนขบวน อยากได้อะไรเขาจัดให้ทุกอย่าง รถห้องน้ำ ไฟส่องสว่าง ลำโพง คือ ให้ทุกอย่าง”
แต่แม็กซ์ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจเดิม “เราก็เป็นนักเรียนเลว เป็นเด็กดื้อ เราจะเคลื่อนแน่ เรายืนยันว่า จะเคลื่อนให้ยาวที่สุดเท่าที่เราจะเคลื่อนได้”
“เขากลัวเราชู 3 นิ้วต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์มากและกลัวการเคลื่อนขบวนด้วย แต่เราก็ยืนยันว่า เราต้องเคลื่อน”เขาเน้นย้ำ
การชุมนุมถูกจัดขึ้นอีกหนึ่งหรือสองวันหลังจากนั้น ตำรวจสัญญาว่า พวกเขาจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประท้วงทุกอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามย้ายพระบรมฉายาลักษณ์ออกไปจากเส้นทางการเดินขบวนให้ได้มากที่สุดด้วย
โชคยังดีสำหรับตำรวจ เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้ชูสามนิ้วขณะเดินผ่านวงเวียนหอนาฬิกาที่มีพระบรมฉายาลักษณ์
วงเวียนหอนาฬิกา จ.อุดรธานี ที่เป็นจุดสำคัญในเมืองอุดรธานีที่ตำรวจกลัวว่า จะเกิดการกระทำ “ไม่เหมาะสม” อย่าง การชูสามนิ้วต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เครดิตภาพจาก กูเกิ้ลแมพ สตรีท วิว
นักเรียนมัธยมปลายนำการชุมนุมในอุดรฯ
การชุมนุมจากขั้วอุดมการณ์สองฝั่งในประเทศไทยในขณะนี้ต่างเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ กันไป ช่วงแรกนิสิตนักศึกษานำหมุดคณะราษฎร อนุสรณ์ของการสิ้นสุดลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี 2475 ที่หายไปมาชูเป็นสัญลักษณ์ รวมถึงล้อเลียนเสียดสีด้วยการจัดธีมประท้วงต่างๆ เช่น การประท้วงแฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร จนถึงการใช้เป็ดยางสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์
ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็แสดงสัญลักษณ์ของฝั่งตนที่ไม่มีความสร้างสรรค์มากเท่า อย่าง การสวมเสื้อสีเหลือง ชุมนุมด้วยการชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
การประท้วงในอุดรฯ เป็นศึกช่วงชิงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ระหว่างผู้ที่ยังโหยหายึดติดอยู่กับภาพในอดีตและผู้ “ตาสว่าง หรือ เบิกเนตร” แล้ว
เช่นเดียวกับหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีจัดการประท้วงขึ้นภายในวิทยาเขตหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกสั่งยุบเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563
แม็กซ์เข้าใจว่า ผู้ชุมนุมถูกมหาวิทยาลัยกดดันอย่างหนักและถูกตำรวจข่มขู่ด้วย เมื่อกระแสการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาระลอกใหม่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏพยายามกดดันนักศึกษาไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุม
การประท้วงระลอกแรกภายในจังหวัดฯ หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เกิดจากกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมปลาย แกนนำคนหนึ่ง คือ มัดหมี่ (ขอสงวนชื่อจริง) นักเรียนฝีปากกล้าวัย 16 ปีจากโรงเรียนสตรีราชินูทิศ อุดรธานี
มัดหมี่ เล่าว่า เส้นทางสู่การเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองเริ่มต้นจากการตื่นรู้ด้วยข้อมูลที่เสพผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาหลายเดือนก่อนที่การชุมนุมจะเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส
มัดหมี่บรรยายความรู้สึกว่า “ว้าว…อะเมซิ่งมาก อะเมซิ่งที่คุณโปรปากานดา เรามาได้ 16 ปีขนาดนี้ แล้วเรามาตาสว่างได้เพราะลิงค์เนื้อหาแค่ลิงค์เดียว”
“เพิ่งเบิกเนตร ก็คือเพิ่งเห็นความจริงทุกอย่างเมื่อไม่ถึงปี พอเรารู้ความจริงปุ๊บ เราแบบอ้าวแล้วที่คุณโปรปากานดาเรามาตลอดมันก็คือการหลอกลวงเรา ก็รู้สึกแบบทำไมคุณทำกับเราแบบนี้ หนูก็เลยออกมา เรียกร้องในสิ่งต่างๆ”เป็นความรู้สึกของมัดหมี่
“อะเมซิ่งที่คุณโปรปากานดา เรามาได้ 16 ปี” มัดหมี่ นักเรียน ม.ปลาย วัย 16 ปี ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข
ทำไมคุณทำกับเราแบบนี้
เป้าหมายแรกในการชุมนุมของมัดหมี่ คือ เรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด อย่าง ระบบการศึกษาของไทย ที่เธอบอกว่า “เด็กไทยควรที่จะได้เนื้อหาการศึกษาที่ดีกว่านี้ แต่สิ่งที่เราได้ คือ อะไรไม่รู้ ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน ระบบการศึกษาของไทย คือ มันแย่”
มัดหมี่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวในช่วงใกล้ๆ กับวันครบรอบการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน
มัดหมี่ เล่าว่า มีความคิดที่อยากชูป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบพบเจอและออกไปมองหาสถานที่ต่างๆ ในอุดรธานีที่เหมาะจะเป็นที่แสดงจุดยืน
มัดหมี่กับเพื่อนร่วมชั้นราว 5-6 คน รวมตัวกันออกไปยืนชูป้ายเป็นเวลา 2 วันเมื่อเดือนมิถุนายน
R.N. Revolution
จากนั้นไม่นาน นักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ ก็เริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาประสบในโรงเรียนของตัวเอง และมารวมตัวกันตั้งกลุ่ม R.N. Revolution เพื่อกล่าวถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกโรงเรียน
ทางโรงเรียนอนุญาตให้เด็กๆ จัดกิจกรรมขึ้นภายในพื้นที่โรงเรียนอย่างไม่เต็มใจนัก ในบางครั้งก็พยายามขัดขวาง เช่น การประกาศว่าจะมีการฉีดยาฆ่ายุงที่โรงเรียนในช่วงเวลาเดียวกับที่นักเรียนจะจัดกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มนักเรียนจากอีกโรงเรียนก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว มิ่งขวัญ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นนักเรียนชั้น ม.4 วัย 15 ปีจากโรงเรียนชื่อดังอีกแห่งในจังหวัด
เธอเริ่มเข้ามามีส่วนร่วม เพราะรู้สึกว่า มีความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ จากนั้นมิ่งขวัญก็เริ่มคิดถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นที่เกิดขึ้นในจังหวัดอุดรธานี เช่น ทำไมระบบการคมนาคมขนส่งจึงไม่ดี หรือทำไมจังหวัดฯ ไม่ค่อยได้รับการพัฒนาทั้งๆ ที่คนท้องถิ่นก็เสียภาษีเหมือนกัน
มิ่งขวัญ (ยืนหันหลังคนที่ 2 นับจากฝั่งซ้ายมือ) ร่วมกับเพื่อนในกลุ่มอุดรพอกันที ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข
อุดรฯ แดนสลิ่ม?
แกนนำผู้ชุมนุมบอกว่า อำเภอเมืองอุดรธานีเป็นพื้นที่ๆ “สลิ่มมาก” หรือเต็มไปด้วยชนชั้นกลางหัวอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันและสถาบันฯ เมื่อกระแสการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ขยายตัวกว้างมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวก็เริ่มปะทุขึ้นเป็นเงาตามตัว
มิ่งขวัญเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งรอบตัวมากขึ้นและออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง ทำให้พ่อแม่ของเธอรู้สึกกังวล แม้จะไม่ได้ห้ามให้ไปชุมนุม แต่พ่อแม่ก็อยากให้เธอดูแลตัวเองให้ปลอดภัยและกลัวว่า จะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับครอบครัวขึ้น พวกเขาบอกว่า “ให้เธอคิดถึงคนอื่น คิดถึงคนในครอบครัวด้วย”
แต่มิ่งขวัญยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ และรักษาผลการเรียนให้ดีเหมือนเดิมได้ในโรงเรียนที่ถือว่า เป็นหนึ่งในโรงเรียนชั้นนำของภาคอีสาน มิ่งขวัญภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในแกนนำ เธอบอกว่า “ก็ภูมิใจๆ มากที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมที่คิดว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง”
การจัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบการก่อตั้งเมืองอุดรฯ บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม อีกด้านหนึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมก็ใช้สถานที่แห่งนี้ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เครดิตภาพ Thailand Tourism Directory
ศึกช่วงชิงพื้นที่อนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมตั้งอยู่ที่วงเวียนสำคัญใจกลางเมืองอุดรธานี และเป็นที่จัดงานเฉลิมฉลองการก่อตั้งเมืองทุกๆ วันที่ 18 ของเดือนมกราคมติดต่อกันมาเป็นหลายสิบปี
การท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานี จัดให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจังหวัด โดยบอกว่า เป็น “เกียรติประวัติสูงสุดของชาวอุดร”
ส่วนเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึง “ลักษณะเด่น” ของอนุสาวรีย์ว่า ผู้สันทัดกรณีบอกว่า เป็นเคล็ดลับ เช่น หากขอพรในการสอบแข่งขัน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งก้าวหน้า สอบราชการทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ท่านบอกว่าให้ตั้งจิตอธิษฐานบนบานต่อพระองค์ท่าน ด้วยการวิ่งรอบพระอนุสาวรีย์ ถวายม้าและดาบ เป็นของแก้บน ส่วนผู้ที่ไม่ได้บนบาน การกราบไหว้พระอนุสาวรีย์กรมหลวงฯ ทำให้เกิดมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ปราศจากอุปสรรคต่างๆ ในการทำงาน ประสบผลสำเร็จในการเรียน
ทั้งนี้คาดว่า การถวายม้าและดาบนั้นอาจหมายถึงเพียงการมอบเป็นของเล่นหรือหุ่นจำลองขนาดเล็ก ไม่ใช่เอาม้าและดาบจริงๆ ไปถวาย
เว็บไซต์ยังบอกอีกว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่ๆ ชาวจังหวัดอุดรธานี “ให้ความเคารพนับถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองที่สำคัญแห่งหนึ่ง”
จึงดูเหมือนว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้กลายไปเป็นที่สำหรับการสักการะบูชามากกว่าจะเป็นที่สำหรับการรำลึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต
ด้วยความที่เป็นศูนย์กลางของเมืองทั้งในทางภูมิศาสตร์และทางจิตวิญญาณ กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองหรือการประท้วงจึงมารวมตัวกันอยู่ที่วงเวียนกรมหลวงแห่งนี้
หลังจากใช้พื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนก็มักจะต้อง “ขอขมาขอโทษกับอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์” ที่ไป “ก้าวล่วง” ในพื้นที่ของพระองค์
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทำตามประเพณีนี้ แม้พวกเขาจะจัดกิจกรรมทางการเมืองที่อนุสาวรีย์หลายต่อหลายครั้ง แม็กซ์บอกว่า บางคนคิดว่า “วัฒนธรรมไทยเขาก็จะบอกว่า ที่นี่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์”
แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ขอขมาหลังใช้สถานที่ ชานนท์ อาจณรงค์ หรือ อะตอม วัย 18 ปีเคยไปร่วมการชุมนุมเมื่อเดือนมิถุนายน
เขาชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ระหว่างที่เรียนชั้น ม.6 เทอมสุดท้าย อะตอมลงเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาเลือก ซึ่งทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับทุกอย่าง เช่น เหตุใดรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาถึงแสดงตนประหนึ่งเป็นเผด็จการหรือทำไมกฎหมายจึงถูกบังคับใช้อย่างไม่ยุติธรรม เมื่อ “ตาสว่าง” แล้ว เขาจึงมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม
“เราไม่อยากทนแล้ว ผมไม่ชอบเห็นชาวบ้านที่เดือดร้อน เราเห็นคนจนมากขึ้นเรื่อยๆ คนไร้บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ”เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อะตอมออกมาชุมนุม
เขารู้สึกว่า การออกมาชุมนุมประท้วงจะทำให้เขามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น ทำให้คนมีความเท่าเทียมกันและอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับเสียงส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มใหญ่ ให้พวกเขาเข้าถึงรัฐสวัสดิการ
เขาเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ เมื่อถามว่าทำไมจึงเลือกที่จะไม่ทำพิธีขอขมา อะตอมแสดงอาการหงุดหงิดรำคาญใจเล็กน้อยและตอบว่า “ไม่ได้ขอ เพราะเราถือว่า เงินที่ปรับปรุงอนุสาวรีย์ก็คือเงินเรา เงินที่มาสร้างอนุสาวรีย์ก็คือเงินเรา เราจะไปขอทำไม”
กาน (ขอสงวนชื่อจริง) แกนนำประท้วงวัย 21 ปี บอกว่า เราถือว่าอนุสาวรีย์เป็นของราษฎร ถนนเส้นนี้เป็นของราษฎร เราก็พยายามสร้างวัฒนธรรมทุกคน คือ แกนนำ มีชาวบ้านขึ้นมาด่านายกฯ อย่างออกรสออกชาติ ดุเด็ดเผ็ดมัน มีการรับสมัครใครอยากพูด พูดเพราะไมค์นี้เป็นของราษฎรแล้ว
“อนุสาวรีย์ ถนน ไมโครโฟน เป็นของประชาชน” กาน สวมเสื้อยืดลาย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการไทยที่ลี้ภัยจากประเทศไปเมื่อปี 2557 จากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ภาพโดย ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข
กรุงเทพฯ ประกาศอาณาเขต
เหล่าผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่โต้แย้งว่า สิ่งของสาธารณะทุกอย่างในเมืองอุดรธานีถูกสร้างขึ้นจากภาษีของพวกเขา แต่เมื่อมองจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์แล้ว เชื้อพระวงศ์จากราชวงศ์จักรีพระองค์นี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของอุดรธานีมากมายนัก
กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมประสูติที่กรุงเทพเมื่อปี 2399 เป็นพระเชษฐาต่างพระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2411-2453) ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน หรือมณฑลฝ่ายเหนือที่กินพื้นที่ส่วนบนของภาคอีสานไปจนถึงดินแดนส่วนหนึ่งในประเทศลาวปัจจุบัน และมีกองบัญชาการส่วนพระองค์อยู่ตามแนวแม่น้ำโขง หลังจากสยามต้องถอนทัพออกจากแนวแม่น้ำไปถึง 25 กิโลเมตร กรมหลวงประจักษ์สถาปนาจังหวัด “เหนือ” ขึ้นที่บ้านเดื่อหมากแข้ง หรือบ้านหมากแข้งเมื่อปี 2436 ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นจังหวัดอุดรธานีเมื่อราวทศวรรษ 2460
กรมหลวงประจักษ์ และพระโอรส พระธิดา ถูกขับออกจากพระราชสำนักเมื่อปี 2453 หลังเกิดความขัดแย้งภายในราชวงศ์
ขณะที่ประทับอยู่ที่ภาคอีสาน กรมหลวงประจักษ์ดำรงตำแหน่งเป็นพระอุปราช คอยควบคุมปราบปรามคนเชื้อชาติลาวในลักษณะเจ้าอาณานิคม และเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในอีก 7 ปีให้หลังเมื่อปี 2442 และไม่เคยเสด็จกลับมาอีกเลย อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ถูกสร้างขึ้นเมื่อกว่า 70 ปีหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงร่วมพระราชพิธีเปิดอนุสาวรีย์ซึ่งในทีแรกตั้งอยู่ภายในฐานทัพเมื่อปี 2514
หลังจากนั้นอนุสาวรีย์ก็ถูกย้ายมาตั้งที่ทุ่งศรีเมือง ต่อมาก็ถูกย้ายมาอยู่วงเวียนกรมหลวงประจักษ์ฯ เมื่อปี 2542
เมื่อเป็นเช่นนี้ กรมหลวงประจักษ์จึงดูไม่น่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอุดรธานีที่มีประวัติร่วมกับพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน ความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในรูปของอนุสาวรีย์ระหว่างการสู้รบกับกบฏคอมมิวนิสต์ เพื่อพยายามดึงความจงรักภักดีของคนในพื้นที่ให้กลับมาอยู่กับกรุงเทพฯ
แม้อุดรธานีอาจมีวีรชนท้องถิ่นที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดมาในอดีต คุณงามความดีของพวกเขาก็ถูกลบเลือนหายไปด้วยวิญญาณที่ทรงอำนาจของเชื้อพระวงศ์จากกรุงเทพฯ นานถึง 50 ปี
แม้ผู้ชุมนุมรุ่นใหม่อาจไม่รู้เรื่องราวของราชวงศ์ผู้อุปถัมภ์ประจำจังหวัดนี้มากนัก พวกเขาก็ยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ติดหนี้บุญคุณอะไร เพราะอนุสาวรีย์ต่างๆ ในจังหวัดล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากเงินภาษีของพวกเขาทั้งนั้น
แม้จะรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์หรือไม่ การเลือกที่จะไม่ขอขมาก็เป็นการประกาศจุดยืนของพวกเขาที่เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยมีกรุงเทพฯ และสถาบันเป็นศูนย์กลาง ทั้งที่จิตวิญญาณของวีรชนในท้องถิ่นถูกช่วงชิงจากสิ่งที่ส่งตรงมาจากกรุงเทพฯ ก็ตาม
อ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่ Udon Thani’s new generation: Battle over royal portraits, a monuments, and a flag (Part I)
โปรดติดตามตอนที่ 2 ตอน “คนรุ่นใหม่เมืองอุดรฯ: ศึกแห่งพระบรมฉายาลักษณ์ อนุสาวรีย์และธงชาติ” ในวันพรุ่งนี้