จุฑามาศ สีดา นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record เรื่อง
จนิสตา อาภาแสงเพชร  นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record ภาพ

เลย – เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนาถอดบทเรียนและสะท้อนปัญหาจากการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง ณ ศาลาประชาคม อ.ปากชม จ.เลย โดยมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสร้างเขื่อนศรีสองรักและผู้อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงเข้าร่วมกว่า 80 คน

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้แม่น้ำโขงเป็นขนมหวานของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะหาประโยชน์ ทั้งที่มีหน้าที่ดูแลและปกป้องประชาชนให้ได้รับสิทธิตามสิทธิชุมชน

 “ภาคอีสานเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีความมั่นคงทางอาหารมากที่สุด มีข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีสินแร่ ทองคำ โพแทช และปิโตรเลียม แต่ทำไมเราต้องโดนตีตราว่า เป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดาร แล้วก็อ้างโครงการต่างๆ ที่จะกอบโกยผลประโยชน์จนเป็นการคอร์รัปชั่นทางธุรกิจ”กรรมการสิทธิฯ กล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัด ต่างประเทศก็ต้องกลับบ้าน หลังจากไม่ได้ทำงานเพื่อมาอาศัย ข้าวปลาในลุ่มแม่น้ำโขง แต่ถ้าไม่มีเหมือนเดิมแล้วจะอยู่กันยังไง 

“สิทธิชุมชน คือ สิทธิในการตัดสินใจของประชาชนว่า เราต้องการพัฒนาที่มีความมั่นคงเพื่อให้อยู่กับเรา เป็นที่หาอยู่หากินเป็นสมบัติที่ถ่ายทอดสู่ลูกหลานต่อไป” น.พ.นิรันดร์ กล่าว

ขณะที่ หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่าถ้าจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติจะต้องใช้อย่างคุ้มค่า การมีส่วนร่วมของชุมชนต้องมีในทุกระดับตั้งแต่เริ่มวางแผน การตัดสินใจ ความรับผิดชอบ และระดับติดตาม 

“ตามกฎหมายลุ่มน้ำ ในการจัดการลุ่มน้ำต้องผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการวางแผน รวมไปทั้งชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองท้องถิ่นเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการลุ่ม ชาวบ้านต้องขึ้นทะเบียนผู้ใช้น้ำ และมีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปการวางแผนและการจัดการน้ำ ” หาญณรงค์ กล่าว

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี  อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อเขื่อนผันน้ำโขง จ.เลย

นอกจากนี้ สุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้แทนทรัพยากรธรณี แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเลย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในการสร้างเขื่อน คือการเกิดแผ่นดินไหว ก่อนหน้านี้พบว่ามีรอยเลื่อนที่มีพลังในมณฑลยูนาน ตอนบนของประเทศจีน ที่อาจจะก่อให้เกิดแผ่นดินไหว และจังหวัดเลยไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง ย้อนหลังเมื่อ 10 ปี ยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวอย่างจริงจังกับจังหวัดเลย

“ประเด็นที่น่าสนใจคือล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.8 ริกเตอร์ ลึก 5 กม. ที่ อ.เมืองเลย เมื่อปี2562 วันที่ 16 เดือนตุลาคม ที่บริเวณ อ.เมืองเลย แรงสั่นขนาด 3.9 ลึก 5 กม. เช่นกัน และเมื่อปี 2561 เกิดแผ่นดินไหว 2 ครั้ง และปี 2558 เกิดแผ่นดินไหว 1 ครั้ง  และย้อนไปประมาณเมื่อปี 2534 ก็มีแผ่นดินไหวที่บริเวณ อ.ด่านซ้าย ขนาด 3.5 ริกเตอร์ ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากรอยเลื่อยเพชรบูรณ์”

ผู้แทนจากกรมทรัพยากรธรณี กล่าวต่อว่า คณะทีมงานก็พบว่า มีรอยเลื่อนที่มีพลังในพื้นที่ใกล้เคียงกับแนวการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง แต่ยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างละเอียด ซึ่งก็ทำให้ยังไม่แน่ใจว่ามาจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหรือไม่ และได้มีการเขียนโครงการแกรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 จะมีการลงมาตรวจสอบว่าในจังหวัดเลยจะมีรอยเลื่อนที่มีพลังหรือไม่ ถ้ามีจะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวมากเท่าไหร่ และจะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง 

สุวิทย์ ยังบอกอีกว่า รอยเลื่อนที่อยู่ใกล้และอาจจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเลย คือ รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเลย รวมทั้งได้มีการให้ข้อมูลพื้นฐานและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแผ่นดินไหวแก่ชาวบ้าน 

image_pdfimage_print