เดวิด สเตร็คฟัสส์ เรื่อง 

แม้ศึกการช่วงชิงสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดอุดรธานี อย่าง พระบรมฉายาลักษณ์และอนุสาวรีย์กรมประจักษ์ศิลปาคมจะเริ่มผ่อนคลายความร้อนแรงลงไปบ้าง แต่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับธงชาตินั้นยังดำเนินต่อไป

ตำรวจเพ่งเล็งความสนใจไปที่กลุ่มอุดรพอกันที ซึ่งรวมตัวกันเพียง 4 วัน ก่อนจะการชุมนุม

กลุ่มผู้ชุมนุมในจังหวัดอุดรธานีผ่านการเปลี่ยนแปลงมาบ้าง แรกทีเดียว นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีรวมตัวกันตั้งกลุ่มเสรีประชาธิปไตยนิสิตนักศึกษาขึ้น แต่ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ทำให้จัดกิจกรรมไม่สะดวกนัก กระทั่งในช่วงกลางเดือนตุลาคม กลุ่มอุดรพอกันทีก็บังเกิด

แกนนำของกลุ่มทั้งแปดคนมีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 23 ปี ครึ่งหนึ่งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย คนหนึ่งเพิ่งเรียนจบมัธยม ส่วนอีกคนหนึ่งเพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน พวกเขา กล่าวว่า จุดแข็งของกลุ่มคือ การที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และให้ความเคารพกับความคิดของทุกคนเหมือนๆ กัน พวกเขาชอบพูดคุยเกี่ยวกับ “ธีม” หรือ “กิมมิค” สำหรับการประท้วงครั้งต่อไป

สมาชิกเห็นตรงกันว่า อุปสรรคสำคัญของพวกเขา คือ “เวลา” 

พชร สาธิยากุล หรือ แมกซ์ แกนนำวัย 23 ปี เพิ่งเรียนจบปริญญาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ามาจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน ประเทศจีน และกลับมาอยู่ไทยในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มร้อนแรงขึ้นพอดี 

แม็กซ์มีหน้าที่ศึกษากฎหมายและสิทธิต่างๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมี รวมทั้งออกหน้าเป็นผู้เจรจากับตำรวจ ไปจนถึงช่วยสมาชิกชั้นมัธยมปลายเจรจากับผู้บริหารโรงเรียนด้วยหากเกิดปัญหาขึ้น

กลุ่มของพวกเขาเคยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไอลอว์ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เดินทางมาให้คำแนะนำช่วยเหลือเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมาย นอกจากนั้น พวกเขายังมีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ขอนแก่นพอกันที นักกิจกรรมชาวขอนแก่นที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ม.116 จากการปราศรัยบนเวทีที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 

“ตอนนี้ที่กลัว คือ เขากลัวเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะเด็กไม่ฟัง เป็นเด็กดื้อ เป็นเด็กเลวไปแล้ว”พชร สาธิยากุล หรือ แมกซ์ ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข 

ศึกแห่งธงชาติ และ Republic of Thailand

หลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 จะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่เร่งหาตัวผู้ที่ขีดเขียนทำลายธงชาติ หลังพบเห็นว่า มีคนเดินขบวนประท้วงถือธงชาติที่เขียนคำว่า “Republic of Thailand” 

การทำลายธงชาติเป็นการกระทำที่อาจถูกตีความว่า มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นโดนข้อหายุยงปลุกปั่นหรือแม้แต่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างรวดเร็วและเตรียมเรียกมัดหมี่ นักเรียนวัย 16 ปี มาพบในฐานะผู้ต้องสงสัย

วันที่ 23 ตุลาคม เพียงหนึ่งวันหลังการชุมนุม เจ้าหน้าที่พยายามจัดการปัญหาเกี่ยวกับการเขียนคำว่า “สาธารณรัฐ” ลงบนธงชาติไทย นอกจากตำรวจแล้ว มัดหมี่ยังต้องไปพบรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูประจำชั้น และครูกิจการนักเรียนด้วย มัดหมี่ถูกเรียกพบตัวด่วนในวันเสาร์ราวกับว่า นี่คือเรื่องวิกฤตขั้นร้ายแรง รองผู้ว่าฯ เห็นภาพถ่ายของธงดังกล่าวและเชื่อว่า มัดหมี่เป็นคนถือธง แต่มัดหมี่ปฏิเสธว่า “ไม่ใช่” ทำให้ครูของเธอต้องมายืนยันว่า บุคคลในรูปไม่ใช่มัดหมี่

มัดหมี่รู้สึกโกรธที่คนในโรงเรียนส่งชื่อของเธอไปให้ตำรวจ โกรธที่ตัวเองตกเป็นข่าวลือในเรื่องแบบนี้ มัดหมี่ถามเจ้าพนักงานสอบสวนว่า “มีการสุ่มโดนชื่อหนูอีกแล้ว หนูไม่ได้ทำ หนูสามารถเรียกร้องสิทธิ์ได้ไหม หนูสามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ไหม เพราะว่ามันก็เสียเวลาแล้วก็เสียชื่อ มันไม่ค่อยโอเค”

ชานนท์ อาจณรงค์ หรือ อะตอม แกนนำวัย 18 ปีก็ประสบกับปัญหาช่นกัน พ่อแม่ของอะตอมสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาแต่ไม่อยากให้เขาออกหน้า แต่ตอนนี้อะตอมกลายเป็นหนึ่งในแกนนำไปแล้ว อะตอมโดนหนักกว่ามัดหมี่เพราะตำรวจเห็นเขาถือธงดังกล่าว มีคลิปวิดีโอขณะที่เขากำลัง “สะบัดธง” ทำให้ตำรวจเชื่อว่า เขาเป็นเจ้าของธง และอยากรู้ว่าใครเป็นคนสั่งให้เขาทำเรื่องนี้ ตำรวจโทรหาอะตอมทุกวันติดต่อกันหลายวัน

แม้แต่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรประจำภาค ยังมาพูดคุยกับพ่อของอะตอมที่เป็นตำรวจชั้นผู้น้อยด้วยตัวเอง อะตอมชื่นชมพ่อของเขาและมองว่า พ่อเป็นตำรวจดีที่ทำงานรับใช้ประชาชน แต่เขาไม่ชอบใจที่พ่อของเขาถูกกดดัน

แม็กซ์ บอกว่า เรื่องธงชาติกลายมาเป็นประเด็นปัญหาหลัก โดยเขาอธิบายว่า “ตามพระราชบัญญัติ ธงก็ศักดิ์สิทธิ์ครับ”

“เขากลัวธง Republic of Thailand เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว เขากลัวจะมีอีก ตอนนี้ที่กลัว คือ เขากลัวเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะเด็กไม่ฟัง เป็นเด็กดื้อ เป็นเด็กเลวไปแล้ว แต่ผู้ใหญ่เขาเหมือนคุยได้ อะไรก็ยอม”

กิจกรรมการชุมนุม ทอดกฐินราษฎร์ตลาดหลวง ผ่าน 3 วงเวียนใหญ่กลางเมืองอุดรธานี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี ตั้งแต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

ภารกิจของตำรวจเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 อาจมองได้ว่า เป็นความล้มเหลว พวกเขาหยุดการชุมนุมไม่ได้ ห้ามปรามผู้ประท้วงไม่ให้ชูสามนิ้วไม่สำเร็จ หยุดการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ พวกเขาไม่ได้ยืนกรานให้ผู้ประท้วงทำพิธีขอขมาที่อนุสาวรีย์ และธงที่มีคำว่าสาธารณรัฐถูกโบกสะบัดในที่ชุมนุม

การประท้วงครั้งถัดมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 จึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหนาตาพอๆ กับจำนวนผู้ประท้วง พวกเขายอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 อีก ที่มีทั้งการชูป้ายรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสไปจนถึงธงที่มีข้อความว่า “สาธารณรัฐไทย” สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ผู้ชุมนุมเดินขบวนทั่วเมืองอุดร ขู่ว่าจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ปิดถนน ปิดเมือง

ป้องกันเหตุ “ป่วน” งานรับเสด็จ

ความท้าทายสำคัญครั้งถัดมาของตำรวจ คือ การพยายามควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้กระทำการใดๆ ที่พุ่งเป้าไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีที่จะเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดอุดรธานีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 

เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน สนามบินอุดรจึงถูกสั่งปิดตลอดทั้งวัน มาตรการรักษาความปลอดภัยถูกผ่อนคลายเพื่อให้ประชาชนบางกลุ่มเข้าไปรับเสด็จในพื้นที่ปฏิบัติการบินได้อย่างใกล้ชิด

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ก็เริ่มเพ่งเล็งกลุ่มอุดรพอกันที เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มจัดกิจกรรมที่อาจถือเป็นการ “ป่วน” ได้

เจ้าพนักงานสอบสวนโทรหาอะตอมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน และถามว่า “อะตอมอยู่ไหนเนี่ย”

“อ๋อ อยู่บ้านครับ”เขาตอบ 

“นึกว่าลงไปกรุงเทพฯ ไปช่วยม็อบกรุงเทพฯ”

“อ๋อ ไม่ครับพี่”

“ช่วงนี้จะทำอะไรไหม”

“คงยังไม่มีครับพี่”

“ถ้าจะเคลื่อนไหวอะไรช่วยบอกพี่ก่อนนะ แจ้งพี่ก่อน ให้พี่ได้รับรู้ ถ้าจะทำอะไรจะได้อยู่ในความปลอดภัย”

อะตอมบอกว่า พวกเขาไม่ได้วางแผนจะทำอะไรเลย ส่วนตำรวจก็อยากรู้ว่ากลุ่มของเขาจะก่อเรื่อง อย่าง การออกมารวมตัวชูสามนิ้วหรือไม่ 

ชานนท์ อาจณรงค์ หรือ อะตอม สวมเสื้อ “ชาติ = ประชาชน”ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่า อาจสร้างเหตุการณ์ปั่นป่วน ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข 

เวลา 8 โมงเช้าของวันที่ 10 พฤศจิกายน พ่อของอะตอมเปิดประตูห้องเขาและถ่ายรูปเขาส่งไปให้ตำรวจที่กำลังร้อนใจ อะตอมถามพ่อว่า ถ่ายรูปเขาไปทำไม และพ่อเขาตอบว่า นายสั่งมาให้ถ่ายไปให้ดู จะได้เบาใจว่า อะตอมอยู่บ้านและที่บ้านเขาจะได้ไม่ต้องขายหน้าว่า มีตำรวจถูกส่งมาดูลาดเลาถึงที่

อะตอมบอกว่า “ไม่ต้องการสร้างปัญหาให้พ่อ เรื่องของผมก็คือเรื่องของผม”

ระหว่างนั้นอะตอมต้องพาลุงไปหาหมอที่โรงพยาบาล พ่อแม่ของเขาก็กังวลใจและขอให้เขาถ่ายรูปส่งไปให้ตำรวจเพื่อยืนยันว่า เขาไปโรงพยาบาลจริงๆ ซึ่งอะตอมก็ทำตาม โดยถ่ายรูปตัวเองส่งไปให้ตำรวจทุกชั่วโมง

ในวันเดียวกันที่อีกมุมเมือง มัดหมี่ก็เจอเรื่องคล้ายๆ กัน ตำรวจส่งคนมาดูลาดเลาในละแวกบ้านของเธอ เข้ามาพูดคุยถามหาเธอกับญาติๆ หลังจากที่ตำรวจมาจอดรถถึงหน้าบ้านแล้ว มัดหมี่ก็ออกไปคุยกับตำรวจคนหนึ่ง

มัดหมี่ เล่าว่า บทสนทนระหว่างตำรวจว่า

“รู้ไหมว่าในหลวงจะเสด็จมาวันที่ 10 (พศจิกายน)”

“รู้ค่ะ”

“เราจะไปไหม”

“ถ้าหนูไป หนูจะโดนอะไรไหมคะ ถ้าหนูไปจะเป็นอะไรไหมคะ?”

มัดหมี่ บอกว่า ตำรวจยิ้มๆ แล้วบอกว่า “ไม่เป็นไรจะไปก็ไปได้”

“แล้วจุดประสงค์ที่มาคุยกันวันนี้ มาคุยกันเรื่องอะไร”

“พอดีจะมาดูว่า เรายังอยู่ในพื้นที่ไหม นึกว่าจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ”

มัดหมี่เล่าความรู้สึกหลังได้ยินคำถามว่า “หนูก็เลยตกใจนิดหนึ่ง แล้วถามตัวเองวา “หน้ากูแก่ขนาดนั้นเลยเหรอวะ” 

แล้วเธอก็ตอบว่า

“ไม่ค่ะ หนูยังเป็นนักเรียนอยู่”

“เรียนที่ไหนชั้นปีอะไร”

“ร.น. ราชินู อยู่ ม. 5. ที่ได้รับคำสั่งมานี่ ได้รับมาตั้งแต่ตอนไหน”

“ได้รับมาปุ๊บปั๊บก็เลยมาหาเราทันทีเลย”

มัดหมี่บอกว่า ตัวเองเริ่มรู้สึกหวั่นใจ แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มรำคาญ

แม่ของมัดหมี่พยายามพูดให้เป็นเรื่องขำๆ ว่า “เออ ก็ดีเหมือนมียามมาเฝ้าบ้าน”

แต่หลังจากนั้นแม่ของมัดหมี่ก็มาบ่นว่า “กูบอกแล้วว่า อย่าไปทำ ไปทำแล้วเป็นอย่างนี้”

มัดหมี่บอกว่า หลังจากวันนั้นแม่ก็พยายามห้ามเธอออกไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง และอยากให้เลิกยุ่งเรื่องการเมืองไปเลย

พชร สาธิยากุล หรือ แมกซ์ ถ่ายรูปคู่กับตำรวจหน้าบ้าน พร้อมใส่เสื้อที่มีข้อความ  “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” และ “กูไม่ใช่ฝุ่น” 

ถ่ายรูปคู่กับตำรวจ 

ส่วนแม็กซ์เล่นแง่กับตำรวจมากกว่านั้น เขายืนยันว่า ถ้าอยากให้ส่งรูปถ่ายไปให้ดูว่า อยู่ที่ไหน ตำรวจต้องส่งเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบมาถ่ายรูปคู่กับเขาด้วย ถ้าไม่มีตำรวจในเครื่องแบบมา แม็กซ์บอกว่า เขาจะไม่ยอมทำตาม ในที่สุดตำรวจก็ยอมตามใจเขา ทำให้แม็กซ์ ได้ถ่ายรูปคู่กับตำรวจในเครื่องแบบพร้อมชูสามนิ้ว และในรูปหนึ่งเขาใส่ชุดไดโนเสาร์ด้วย

การต่อสู้ช่วงชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวถูกมองว่า เป็นเรื่องที่ออกจะร้ายแรงสำหรับผู้ที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับสิ่งเหล่านี้ และต้องใช้พวกมันในการปกครอง 

การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ถูกจัดให้เป็นเรื่องสำคัญสูงสุดของพสกนิกรในจังหวัด และพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พวกเขาได้รับพระราชทาน คือ ลายพระหัตถ์หวัดๆ ใจความว่า “ขอบใจในความรักและกำลังใจ เราต่างรักกันห่วงกัน ห่วงประเทศชาติ ช่วยกันรักษาบ้านเราด้วยความดี เพื่อความสุขและความเจริญ รักษาความวิเศษของความเป็นไทย”

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ข้อความลายพระหัตถ์นี้ถูกพิมพ์ออกมา 20,000 ชุด เพื่อแจกจ่ายให้กับข้าราชการระดับสูง รวมถึงนายอำเภอ 20 คนที่ยืนถือพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างพิธีรับเสด็จ พิธีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่สำคัญพอให้สำนักข่าว อย่างผู้จัดการเดินทางมาทำข่าวถึงที่

นายอำเภอ 20 คน จ.อุดรธานี ยืนถือพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างพิธีรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เครดิตภาพ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

ลายพระหัตถ์ “รักษาความของความเป็นไทย” 

ลายพระหัตถ์นี้จะได้รับการรักษาเอาไว้ และแน่นอนว่า คงถูกนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ของเมือง แผ่นภาพที่ระลึกดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมากให้ทางการนำไปแจกจ่ายบุคลากรและประชาชนทั่วทั้งจังหวัด

ท่อนสุดท้ายของลายพระหัตถ์มีใจความว่า “รักษาความวิเศษของความเป็นไทย”

ข้อความนี้ออกจะน่าฉงน ในบางแง่มุม มีความหมายสื่อไปถึงหัวใจของปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาเป็นตัวแทนของประเทศไทยและ “ความเป็นไทย” ยุคใหม่ ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการรักษาความเป็นไทยเอาไว้ถึงแม้ความเป็นไทยในความหมายของพวกเขากำลังล่มสลายลงต่อหน้าต่อตา ยิ่งยึดเหนี่ยวเอาไว้เหนียวแน่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็จะยิ่งโต้กลับรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

แม็กซ์ บอกว่า เขายังมีความหวังสำหรับอนาคต เพราะอุดรธานีในอดีตเป็นที่รู้จักในฐานะ “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” 

เขาชื่นชมสิ่งที่คนเสื้อแดงเคยทำไว้ และเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของเขาจะทำให้อุดรธานีกลายเป็น “เมืองหลวงของประชาธิปไตย”

เวลาอยู่ข้างเรา 

แมกซ์รู้ว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ยังมีอุปสรรครออยู่อีกมาก แต่ก็เชื่อว่า “เวลาอยู่ข้างเรา”

เขายิ้มอย่างมั่นใจและพูดว่า 

“แม้จะมีข้อเสีย แต่สุดท้ายสิ่งที่รัฐไม่สามารถบิดเบือนได้ก็คือเวลา เวลานี่แหละจะพาเราไปถึงจุดหมาย”

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

image_pdfimage_print