1

คืนสู่เหย้าชาวราชประสงค์ ทวงถามความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง

ชลธิชา ทักษิณาเวศน์ นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record เรื่อง

กิตติธัช สังข์จุ้ย นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record ภาพ

ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” โดยเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเมษาฯ -พฤษภาฯ 2553 นำมาสู่การสูญเสีย 94 ศพ และผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 1,400 คน ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของหน้าฉากการเมืองไทย ทว่ากลับไม่มีการจารึกชือของจากไปเสมือนหนึ่งเป็น “วีรชน” 

“สี่แยกราชประสงค์” คือ หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นหนึ่งในจุดที่เกิดการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง 

เวลาล่วงผ่านไปเกือบสิบเอ็ดปี สี่แยกราชประสงค์กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในรูปแบบของการชุมนุมที่ขวักไขว่ไปด้วยนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และคนเสื้อแดง หลากหลายอัตลักษณ์ แต่มีประชาธิปไตยเป็นความฝันร่วมในการชุมนุมของคณะราษฎร 2563  

พรชัย โลหิตดี อดีตนักโทษคดีปล้นทรัพย์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ร่วมชุมนุมกับกลุ่มราษฎรที่ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

ทวงความยุติธรรมให้ “คนเสื้อแดง” 

โดยเฉพาะ “คนเสื้อแดง” เหตุผลของการทางไกลมาชุมนุม นอกจากเพื่อดูแลและสมทบการเคลื่อนไหวของเยาวชนแล้ว “ความยุติธรรม” ยังเป็นสิ่งที่พวกเขาหมายมุ่ง 

พรชัย โลหิตดี อดีตนักโทษคดีปล้นทรัพย์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชาวจังหวัดอุดรธานี ตัดสินใจออกมาชุมนุมอีกครั้ง

เพราะการสลายการชุมนุมที่พรากชีวิตเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปจำนวนมาก เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เขามุ่งหน้าสู่ “ราชประสงค์” อีกครั้ง 

“เพราะพี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตั้งแต่ปี‘53” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ 

พรชัยถูกคุมขังในเรือนจำหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 และออกมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 

กว่า 18 เดือนที่เขาต้องอยู่ในเรือนจำ เขาต้องสูญเสียทั้งงาน ภรรยา ครอบครัวแตกสลาย อันเป็นผลพวงมาจากการติดคุกด้วยข้อหาปล้นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และรวมตัวชุมนุมเกินกว่า 5 คนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 

“พี่หมดทุกอย่าง นี่แหละคือความจริง ความไม่ยุติธรรม”

แทนที่จะกลับอุดรธานีบ้านเกิด เขาตระเวนรับจ้างทำงานก่อสร้างตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และมีกระเป๋าคู่ใจที่บรรจุด้วยเครื่องใช้อย่างสบู่และยาสระผม เตรียมพร้อมสำหรับการอาศัยวัดในการพักแรมในแต่ละคืน 

กลับคืนถิ่น “ราชประสงค์”  

ช่วงเวลาประมาณบ่ายแก่ๆ เราเจอพรชัยอยู่กลางถนนราชดำริบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ไม่ไกลจากศาลพระตรีมูรติเท่าใดนัก 

“อาณาจักรของคนเสื้อแดงคือราชประสงค์” 

“พี่เข้ามาที่นี่ (สี่แยกราชประสงค์) ครั้งที่ 2 พี่ก็ไปเดินรอบ เลาะสนามม้านางเลิ้งเก่า แถวนั้นตายเยอะ มันก็เสียใจ เลยได้เขียนลงกระดาษที่อนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563ว่า “อยากได้ชีวิตคนเสื้อแดงปี 53 คืนมา”

“คิดถึงเพื่อนเก่า คนเก่าๆ สนุกดีคนเสื้อแดง เขาต้องขายข้าวขายน้ำมาชุมนุม แก่เฒ่ามาหมด มาทุกจังหวัด 77 จังหวัด มาทุกจังหวัด” เขาเล่าย้อนไปถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาอาณาจักร ของตัวเองอีกครั้ง

สตรีวัยกลางคนหนึ่งทักทายพรชัยขณะที่กำลังคุยกับเรา เขาทักทายกลับ แม้จะไม่มั่นใจว่า รู้จักเธอหรือเปล่า 

“มาที่นี่ต้องทำใจ คนเก่าๆ เยอะ พอกลับมาที่นี่ก็จะรำลึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ เพราะเห็นภาพประชาชนเยอะๆ เนี่ยแหละ แบบฉบับของคนเสื้อแดง”

เขาอธิบายว่า พื้นที่ราชประสงค์นั้นเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย ระหว่างเล่าก็ชี้ไปยังราชประสงค์สกายวอล์คในฐานะหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงจากสิบปีก่อน ตลอดจนอธิบายว่า ห้างสรรพสินค้าบางเจ้าก็เพิ่งจะก่อสร้างเมื่อไม่นานมานี้ 

การชุมนุมของกลุ่มราษฎรบริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

บทเรียนจากการสูญเสีย 

เหตุการณ์ใช้กระสุนจริงกลางย่านธุรกิจเมืองหลวง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ยังจำติดตาอดีตนักโทษคนนี้ 

แม้อยากจะลืมเลือน แต่ความทรงจำกลับยังบันทึกฝันร้ายนั้นไว้ทุกวินาที 

ภาพรถถัง ปืนกล ยังคงหลอนในใจ วันนั้นเขาเห็นทั้งทหารที่อยู่ฝ่ายรัฐแต่ออกมาช่วยประชาชน (ทหารแตงโม) ทหารฝั่งเสื้อแดง วิ่งช่วยเหลือกันชุลมุน 

“เขาเอาของจริงใช้กันเลย พวกพี่ก็ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ต้องไปเอาศพออกมาเต็ง (ทับ) ไว้ นอนใต้ศพไง กันลูกกระสุน”

ทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ตั้งแต่วันที่ 16-18 พฤษภาคม 2563 วันที่ 19 พฤษภาคม จึงเป็นวันดีเดย์ 

ส่วนวันที่ 19 นี่ของจริงเลยนะ เขามาเรื่อยๆ ตัดน้ำตัดไฟก่อน เสลาย ไม่มีหรอกแสงไฟในกรุงเทพ” พรชัยย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เหตุการณ์ที่เป็นบทเรียนและเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ตาสว่าง

“เพื่อนส่วนใหญ่ก็ตายเพราะว่าตอนนั้นเขายิงจริงๆ” เป็นความจริงที่พรชัยรับรู้และเป็นแรงผลักดันให้มาทวงคืนยุติธรรมให้เพื่อน  

จากประสบการณ์ความรุนแรงที่พบเจอทำให้เขารู้เหนือรู้ใต้และกังวลว่า อาจจะมีความรุนแรงและการสูญเสียเลือดเนื้อในการชุมนุมทางการเมืองอีกครั้่ง

“ต้องสูญเสียก่อน ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) จึงจะออก แล้วเป็นทรราชย์ เหมือน อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) แต่ทำอะไรก็ไม่เจ็บทุกข์หรอก เพราะว่าเขาเป็นคนของนาย”พรชัยตัดพ้อ 

สาวิตรี ยอดโฉมฉิน ผู้ชุมนุมจากจังหวัดขอนแก่น โชว์ผ้าพันคอ นปช.ที่เก็บไว้ตั้งแต่การชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553

เสียงจากเหยื่อผู้รอดชีวิตจากวัดปทุมฯ 

ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้กัดกินคนอีกจำนวนมาก สาวิตรี ยอดโฉมฉิน คนเสื้อแดงชาวขอนแก่น วัย 60 ปี คือ อีกหนึ่งชีวิตที่ต้องอยู่กับร่องรอยเหล่านี้

เธอเป็นผู้ชุมนุมที่อยู่ท่ามกลางการปะทะในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภาฯ ‘53 

เมื่อสิบปีที่แล้ว สาวิตรี คือ ท่อน้ำเลี้ยงด้านอาหาร ที่มักจะยกครัวไปตั้งกลางม็อบ และทำอาหารปรุงสุกใหม่เพื่อ แจกเพื่อนร่วมอุดมการณ์ โดยเมนูที่ทำแจกบ่อยที่สุด คือ ผัดไทย 

ก่อนหน้าการล้อมปราบในวันที่ 19 พฤษภาฯ ‘53 เพียงไม่กี่ชั่วโมง สาวิตรีตัดสินใจออกจากพื้นที่การชุมนุมเพื่อไปพักผ่อน ก่อนจะรีบกลับมาอีกครั้งหลังจากทราบว่าเกิดการสลายการชุมนุม 

เมื่อรู้ว่า มีการใช้กระสุนจริงในการชุมนุม สาวิตรีจึงตัดสินใจหนีไปหลบที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร โดยไม่ได้คาดคิดถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น 

“ป้าหนีเข้าไปในวัดปทุม เสียงปืนดังปั้งๆเห็นลุงคนหนึ่งถูกยิง ก็มีคนพยายามลากกันเข้ามา แต่ก็ยังถูกยิงอีก ที่เห็นคือคนชุดทหารผ้าพันคอสีม่วง ไม่ก็สีฟ้า ใช้สไนเปอร์ยิงลงมา ระหว่างนั้นก็หลบกันอยู่ในวัด นอกจากนั้นก็มีเสียงระเบิด เห็นคนโดนยิงตาย 5-6 ศพ ในโบสถ์ก็ปิดประตู ป้าเลยต้องปีนออกมาตอนสองทุ่ม เห็นคนตายมากมาย ปีนออกมาหลังเซ็นทรัลเวิล เลาะตามคลองไปตามสะพานหัวช้าง เจอเจ้าหน้าที่อีกก็เลยต้องหลอกว่า เป็นคนงานก่อสร้างจึงออกมาได้” เธอเล่าถึงเหตุการณ์หนีตายในวันล้อมปราบ

“ศิลปะปลดแอก” ที่ให้ผู้ชุมนุมร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยการเขียนข้อความบนถนน ภาพเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

สาเหตุที่ยังเข้าร่วมชุมนุม

“เพราะป้าไม่ใช่แดงแค่ชั่ววูบ ป้าเป็นนักสู้” เธอบอกถึงอุดมการณ์ทางการเมือง

แต่เหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้นก็ไม่อาจหยุดเธอจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้ หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว สาวิตรีตัดสินใจไปร่วมกิจกรรมครบรอบหนึ่งเดือนหลังสลายการชุมนุมที่จัดขึ้นโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ (หนูหริ่ง) 

ในยุคคนเสื้อแดง เธอเข้าร่วมด้วยเหตุผลของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองโปรด 

ปัจจุบันเธอยังคงเข้าร่วมการชุมนุมโดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นถึงปัญหาความอยุติธรรมเช่นเดิม ประกอบกับปัญหาการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน 

“การเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นเดือนยังไม่รู้ผลเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้อันดับหนึ่ง ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล พรรคอนาคตใหม่ได้อันดับสองยังไม่ได้เป็นอะไรเลย”เธออธิบายที่มาของความรู้สึกคับข้องใจ 

“ตายวันนี้ก็ไม่เสียดาย เด็กๆ มาแทนเราแล้ว”เธอกล่าวด้วยแววตามีความหวัง 

ผู้ร่วมชุมนุมโบกธงสัญลักษณ์ นปช.บริเวณสกายวอร์ค ส่วนด้านล่างมีธงชาติเยอรมัน ภาพเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

ลืมไม่ได้ จำไม่ลง

สาวิตรีเดินทางจากขอนแก่นเพื่อมาชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ การได้กลับมายังดินแดนที่เคยใช้ชีวิตแรมเดือนชวนเธอหวนถึงบรรยากาศในอดีต 

“มันเศร้า เสียใจ มีความสุข” เป็นความรู้สึกที่ผสมปนเปที่เธออธิบายความรู้สึกที่ได้คืนถิ่นและว่า “แต่ก็ไม่ลืมเหตุการณ์ที่ทหารไล่ยิงเราทั้งที่เป็นภาษีของเรา สิ่งที่ไม่ลืม คือ ในวัดปทุม มันลืมไม่ได้” 

“บรรยากาศเสื้อแดงสนุกกว่านี้” เธอเปรียบเทียบการชุมนุมของคนเสื้อแดงกับปัจจุบัน “แต่เด็กๆ ก็มีมุมมองใหมๆ ที่เป็นเจนเนอเรชั่นของเขา ป้าไปมาหลายที่ เข้ากิจกรรมกับเด็กๆ มาหมด” 

ความรุนแรงสร้างบทเรียน

เหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมสอนบทเรียนให้เธอไม่น้อย 

“ไม่มีบทเรียนที่ไม่ดีนะ เป็นบทเรียนที่ทำให้ได้รู้ว่าประเทศไทยยังมีอย่างนี้อีกหรอ”

“ความเจ็บช้ำ ความชิงชังทหารมันฝังรากลึก มันเกิดคำถามว่า ทำไมถึงต้องยิงเรา เราก็คือคนไทย”

เป็นคำถามที่เธอและคนเสื้อแดงอีกจำนวนมากก็ยังตามหาคำตอบเพื่อทวงความยุติธรรมจากเหตุการณ์ล้อมปราบกลางเมืองที่ “แยกราชประสงค์”