จนิสตา อาภาแสงเพชร นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record เรื่องและภาพ 

หากเอ่ยชื่อกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด บ้านนาหนองบง ที่เคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย หลายคนรู้จักบทบาทพวกเขาที่ออกมาเคลื่อนไหวนานกว่า 16 ปี 

การเคลื่อนไหวอันยาวนานเกิดการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น  

รจนา กองแสน เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่น 2 ที่ออกมายืนแถวหน้า หลังจากรุ่นก่อนหน้านี้อ่อนล้า 

หลังจบชั้น ม.ปลาย เธอมุ่งตรงเข้ากรุงเทพฯ เป็นพนักงานกินเงินเดือนอยู่หลายปี 

แม้ก่อนหน้านี้จะรู้ว่า บ้านเกิดมีเหมืองแร่ทองคำ แต่ก็คิดว่า ชาวบ้านมีงานทำ กระทั่งรับรู้ถึงความรุนแรงในหมู่บ้าน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557  ที่มีชายฉกรรจ์เข้ามาในหมู่บ้านและทำร้ายผู้คนจนได้รับบาดเจ็บ 

“แม่มึงน่ะจะถูกฆ่านะ เขาไปจ้างมือปืนมาฆ่าแม่มึง จะฆ่าแกนนำทั้งหมด เขาถ่ายรูปไปแล้ว” เป็นเสียงปลายสายที่ป้าโทรเล่าให้ฟัง

และนั่นเป็นเหตุผลให้เธอตัดสินใจทิ้งชีวิตที่มั่นคง การมีเงินเดือนทุกเดือน “เพื่อกลับบ้าน ช่วยแม่ ช่วยชุมชน”

ประตูทางเข้าโรงแต่งแร่ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถูกปิดตัวหลังคำสั่งศาลจังหวัดเลยเมื่อปี 2561

ภูทับฟ้าที่เปลี่ยนไป

เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิดสิ่งแรก รู้สึก คืออะไรรจนาตอบว่า 

“กลับมาตอนนั้นไม่มีอะไรกินได้แล้ว ทุกอย่างเป็นสารพิษหมด ก็รู้สึกเสียดายหลายๆ อย่าง” เธอตอบด้วยแววตาเศร้า

ภูทับฟ้าของชาวนาหนองบงเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตของคนเมือง วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ แหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงยังคงใช้ทรัพยากรจากที่นั่นเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน 

สิ่งที่เหมืองแร่ทองคำทิ้งไว้ไม่ใช่แค่เพียงเหมืองร้าง แต่สารไซยาไนด์ ที่ยังอยู่ในเลือดชาวบ้าน รวมไปถึงโลหะหนักอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำและทรัพยากรชุมชน 

รจนา กองแสน กับท้องนาใกล้บ้านของเธอ ที่ชาวบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ไม่กล้ากินผลผลิตที่ตัวเองปลูก

เมื่อภูทับฟ้าเปลี่ยนไป 

จากชีวิตที่เคยมีเงินเดือน ต้องกลับมาบ้านเพื่อต่อสู้ เดิมที่เคยทำงานโรงงานตอนนี้งานใหม่ที่ได้รับคือการเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน  

“บางทีมันวุ่นวายมากเลยนะ คือ การที่เคยมีเงินเดือนแล้วกลับมาอยู่บ้าน บางทีสติมันต้องอยู่กับตัวเองตลอด เรื่องเงินมันสำคัญเวลาเรากินอยู่ คือตอนนี้เราซื้อน้ำกิน ซื้อพืชผักกิน ทุกอย่างต้องใช้เงิน”

เธอพูดปนหัวเราะ แม้ปัญหาที่เผชิญไม่ใช่เรื่องน่าขันแม้แต่น้อย เมื่อก้าวเท้าออกมาอยู่แถวหน้าแล้วจึงต้องเป็นผู้เสียสละเพื่อแลกกับชัยชนะในวันข้างหน้า   

“เราเสียสละเพื่อตรงนี้แล้วต้องถามตัวเองว่าสู้เพื่ออะไร ” เธอพูดส่งท้ายก่อนจะพาไปดูภูทับฟ้าที่ตอนนี้เหลือเหลือเพียงแค่ชื่อ เพราะยอดภูที่สูงเสียดฟ้าหายไปพร้อมกับการเข้ามาของเหมืองทองคำ 

กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเคลื่อนไหวเพื่อให้ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทรัพยากรคงเหลือถึงลูกหลาน 

เปลี่ยนการต่อสู้สู่การปิดเหมือง-ฟื้นฟู

ชาวบ้านไม่เพียงแต่ต้องการฟื้นฟูธรรมชาติที่เสียไป แต่พวกเขามองว่าต้องฟื้นฟูเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย การถูกดำเนินคดีตลอดระยะเวลาในการต่อสู้กว่าสองทศวรรษ ซึ่งนำความขัดแย้งมาสู่ชุมชหลังจากการสร้างเหมือง

“ไทบ้านที่ถูกคดีโดนมองว่า เป็นคนไม่ดี มีคดีติดตัวแล้วทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นคนของเราถดถอยลง เราก็เอาแผนตรงนี้เข้าไปด้วย เพื่อที่จะฟื้นฟูบ้านเรา วัฒนธรรมที่เคยไปมาหาสู่กัน หรือว่างานบุญที่เราเคยร่วมกัน พอมีความขัดแย้งเราก็ไปมาหาสู่กันไม่ได้”

ขั้นตอนการฟื้นฟูนั้นชาวบ้านต้องการมีส่วนร่วม ด้วยการลงความคิดเห็นได้ ลงมติได้ แล้วก็ตรวจสอบได้ด้วย

“กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีแผนแล้ว แล้วก็ให้เอาแผนชาวบ้านเข้าไปด้วย แต่ว่าสัดส่วนกรรมการชาวบ้านเอาแค่ 3 คน แต่เขา 13 คน เราก็ไม่ยอม ก็หยุดแผนตรงนั้นไว้ก่อน แล้วกลับมาพูดเรื่องกรรมการใหม่ เพราะเรายืนยันว่า ถ้าเราไม่ได้ครึ่งนึงของคณะกรรมการเราก็ไม่ยอม เพราะถ้างั้นเราก็ไปเหมือนเป็นตราแสตมป์ให้เขาเฉยๆ ให้เขาไปเสนองบประมาณมาทำ” เธอกล่าว

“เรื่องความรู้เรื่องประสบการณ์ เราจะน้อยกว่าเขา แต่เราสามารถเรียนรู้ได้”

รจนา กองแสน แกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 

ดอกไม้ผู้โรยราสู่การผลิบานของดอกใหม่

การต่อสู้ของแม่หญิงกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดมีมานานกว่าทศวรรษ จนคนในพื้นที่เริ่มอ่อนล้ากับการต่อสู้

วันนี้ รจนา เข้ามารับบทบาทในการออกมาอยู่ด้านหน้า การถ่ายถอดความคิดประสบการณ์ หน้าที่ของเธอ คือ การนำขบวน บอกข่าว และช่วยแนะนำชาวบ้านได้ว่า ทิศทางในการต่อสู้ครั้งนี้จะไปอย่างไร  

ความกดดันย่อมเกิดขึ้นเมื่อเราได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เช่นเดียวกันกับที่เธอยอมรับว่ามีความกดดันบ้าง 

“ก็กดดันเพราะว่าเรื่องความรู้เรื่องประสบการณ์ เรามาทีหลัง เรื่องความรู้เรื่องประสบการณ์ เราจะน้อยกว่าเขา แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ แต่เรื่องการพูดเป็นอะไรที่เป็นอุปสรรคมาก เราก็ต้องฝึก แต่ก่อนอัปเดตอะไรที่อยู่ข้างหลัง แต่พอมาวันนี้มันไม่ใช่แล้วนะเราต้องมั่นใจในตัวเองขึ้นว่าจะพูดยังไงให้เขารู้เรื่อง”

การเป็นผู้นำที่เป็นผู้หญิง ไม่ใช่อุปสรรคกับหรับชุมชนนี้ ในฐานะครอบครัวนั้นเข้าใจว่า สิ่งที่เธอทำ คือ อะไร และในชุมชนก็เกิดการยอมรับในสิ่งที่เธอทำและแสดงออก

บทเรียนจากการเป็นผู้นำในการต่อสู้ ไม่ใช่แค่เพียงจะนำชาวบ้านไปในทิศทางไหน แต่เธอยังต้องเรียนรู้การพูดคุยกับชาวบ้าน กระบวนการทางความคิด รวมไปถึงการตอบคำถามต่อชาวบ้านเรื่องการเป็นผู้นำของเธอ 

“แต่ก่อนมีคนนำ คือ ระนอง กองแสน หรือ แม่รจน์ ตอนนี้ก็มีคนถามว่า แล้วทำไมมีเด็กกว่าเข้ามานำ แล้วจะน่าเชื่อถือไหม ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพิสูจน์ด้วย” เธอกล่าวถึงเสียงของชาวบ้านที่สะท้อนถึงตัวเอง 

“ก็ต้องสู้จนตาย นักสู้ไม่ติดคุกก็ตาย แต่ตอนนี้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ พ่อแม่เราอยู่ที่นี่ ถ้าให้เราไปอยู่ที่อื่นเราอยู่ไม่ได้หรอก เราก็ต้องต่อสู้ไปแบบนี้จนตาย ” 

image_pdfimage_print