ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่อง

กว่า 7 เดือนที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ หายตัวไปขณะลี้ภัยในประเทศกัมพูชา ยังไร้วี่แววการพบตัว แต่ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะฯ การหายไปของเขาได้ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ให้ป้องกันไม่ให้มีการ “อุ้มหายซ้ำ” 

ช่วงสายของวันปิดเทอมปลายปี 2563 ออมสินและเพื่อนนักเรียนชั้น ม.6 นั่งคุยกับเราใต้อาคารเรียนของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนเดิมของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่หายตัวขณะลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ถึงจุดเริ่มต้นในการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการติดตามการหายไปของรุ่นพี่ 

“พี่วันเฉลิมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะฯ เค้าหายไปโดยไม่มีใครทำอะไร แล้วถ้าเกิดวันหนึ่งผมหรือเพื่อนผมจบไปแล้วหายตัวไป ถ้าไม่มีใครทำอะไรก็แปลว่าใคร ๆ ก็ถูกทำให้หายไปได้” ออม (ขอสงวนชื่อจริง) กล่าวถึงเหตุผลของการออกมาเคลื่อนไหว 

ก่อนที่พวกเธอจะออกมาเคลื่อนไหวเรื่องคนหาย นักเรียนกลุ่มนี้เคยมีท่าทีต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 

“รู้สึกทนไม่ไหวต่อคำตัดสินของศาล เราเห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองจึงเริ่มลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย”ออมเล่า 

ขณะนั้นออมและเพื่อนในโรงเรียนเบ็ญจะมะฯ ทำหนังสือถึงผู้บริหาร เพื่อขอจัดกิจกรรมในโรงเรียนในชื่อ “ทาสก็เลิกแล้วยังไม่แคล้วกับเผด็จการ” แต่โรงเรียนขอให้เปลี่ยนชื่อกิจกรรมเป็นเสวนาประชาธิปไตย และอยากให้จัดในห้องประชุมมากกว่าจัดกลางแจ้ง 

ต่อมาผู้บริหารยื่นข้อเสนอไม่ให้จัดกิจกรรมภายในโรงเรียน แต่กลุ่มนักเรียนยังยืนยันจัดกิจกรรม 

ภายในกิจกรรมมีการปราศรัยเกี่ยวกับเผด็จการอำนาจนิยมในโรงเรียนและประเทศ รวมถึงประเด็นการยุบพรรคอนาคตใหม่ จากนั้นมีการชูสามนิ้วและร้องเพลงก่อนปิดกิจกรรม มีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 200 คน 

โดยในวันทำจัดกิจกรรมโรงเรียนอนุญาตให้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปถ่ายรูปนักเรียนขณะจัดกิจกรรม จนเกิดการตั้งคำถามกับโรงเรียนถึงความปลอดภัยของนักเรียน

ภาพนักเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี ทำกิจกรรมร่วมกับคณะอุบลปลดแอก
เคดิตภาพ : เพซบุ๊ก Win The Photo


วันเฉลิมหายไป ทำไมโรงเรียนไม่พูดถึงเรื่องนี้?

“การหายตัวไปของพี่วันเฉลิม ไม่ได้รับการติดตามตรวจสอบอย่างจริงจังจากรัฐ รวมถึงโรงเรียนก็ไม่ได้กล่าวถึงหรือทำการสื่อสารเพื่อกระจายข่าวการหายตัวไปของศิษย์เก่าเลย” 

ออม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการรณรงค์เรื่องการอุ้มหายเพื่อตั้งคำถามกับสังคมในโรงเรียน

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ต้าร์” เป็นคน จ.อุบลราชธานี และเป็นศิษย์เก่าอดีตประธานนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชรุ่น 86 (ปี 2000) เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ยังเรียนมัธยม และเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง หลังรัฐประหารปี 2557  โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและเป็นนายกรัฐมนตรีในชุดปัจจุบัน 

ต้าร์ หายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ขณะลี้ภัยที่ประเทศกัมพูชา เนื่องจากถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังถูกออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัว และถูกออกหมายจับในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถูกกล่าวหาว่า เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ” 

หลังยุบพรรคอนคตใหม่ได้ไม่นาน กระแสความโกรธแค้นของผู้คนยังไม่ผ่อนคลาย 

ข่าวคราวการอุ้มหายวันเฉลิมก็เริ่มปะทุขึ้นด้วยกระแส #Saveวันเฉลิม และกลุ่มนักเรียนเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการผูกโบว์ขาวไปโรงเรียน การชูสามนิ้วหน้าเสาธง ชูกระดาษเปล่าสีขาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านอำนาจเผด็จการ รวมถึงการติดสติ๊กเกอร์คนหายตามสถานที่ต่างๆ ในโรงเรียน 

ริบบิ้นที่นักเรียนในจังหวัดอุบลราชธานีรณรงค์ต่อต้านอำนาจเผด็จการ
เครดิตภาพ : เพจเพซบุ๊กคณะอุบลปลดแอก

คนหาย แต่สังคมเมินเฉย 

“ทำไมพี่วันเฉลิมหายไป แล้วทำไมโรงเรียนถึงไม่พูดถึงเรื่องนี้ ถ้าเป็นคนในครอบครัวเราจะทำยังไง สังคมไม่ควรเมินเฉยเพราะวันหนึ่งอาจจะเป็นเราที่หายไป”

เปิ้ล (ขอสงวนชื่อจริง) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลฯ ตั้งคำถามถึงการหายตัวไปของวันเฉลิม

“พวกเราผูกโบว์ขาวมาโรงเรียนโดยมิได้นัดหมาย แต่เราสื่อสารกันผ่านแฮชแท็กในทวิตเตอร์ และในวันต่อมาพวกหนูก็เอาสติ๊กเกอร์พี่วันเฉลิมที่ปริ้นจากอินเตอร์เน็ตมาติดตามบอร์ดและสถานที่ต่างๆ ในโรงเรียน แต่ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) แกะออก”

 แต่หลังจากนั้นพวกเธอก็ปริ้นเอกสารกว่า 400 แผ่นเพื่อติดภายในโรงเรียนอีกครั้ง โดยมีเพื่อนเป็นอาสาสมัครเป็นจำนวนมาก

“เพราะพี่วันเฉลิมคือศิษย์เก่าในโรงเรียนเรา แต่ไม่มีใครพูดถึงแม้แต่ครูในโรงเรียน เราจึงลุกขึ้นมาทำเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ” นักเรียนชั้น ม.6 กล่าว 

นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้านเผด็จการ ใต้อาคารเรียนของโรงเรียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 

7 เดือนไร้ข่าวพบตัว “วันเฉลิม” 

กว่า 7 เดือน ที่มีข่าวว่าวันเฉลิมหายตัวไป แต่รัฐบาลไทยกลับยังไม่มีทีท่าว่า จะมีความคืบหน้าในการค้นหาความจริง ผู้คนยังเฝ้าตั้งคำถามว่า อุ้มเขาทำไม ใครเป็นคนสั่งการ ใครเป็นคนอุ้ม แล้วทำไมรัฐบาลไทยถึงนิ่งเฉย สิ่งที่เจ็บปวดไม่น้อยไปกว่าผู้คนในสังคมกับการกระทำอันป่าเถื่อน คือ ครอบครัวของวันเฉลิมที่เฝ้ารอให้ลูกชายกลับบ้านอย่างปลอดภัย 

“โรงเรียนกำลังเมินเฉยต่อคนคิดต่างจากรั ฐแม้ว่าจะเป็นศิษย์เก่า นั่นหมายความว่า เรื่องสายสัมพันธ์ของสถาบันโรงเรียนเป็นเรื่องปลอมเปลือกที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้โรงเรียน”เธอโพล่งความรู้สึกอัดอั้นออกมา 

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของรัฐไทยต่อการอุ้มหายว่า การที่รัฐเมินเฉยต่อการอุ้มหาย แสดงว่าวาทกรรมคนไทย ชาติไทย เป็นวาทกรรมหลอกลวง ขณะที่คนไทยหายตัวไปในต่างประแดนรัฐไทยกลับนิ่งเฉย 

“แล้วความปลอดภัยในชีวิตของเราอยู่ตรงไหน ในประเทศนี้” ออม รู้สึกเจ็บปวดและเป็นกังวลต่อการที่โรงเรียนและรัฐบาลไทยเพิกเฉยต่อการอุ้มหาย 

พวกเธอไม่ได้ยุติการเคลื่อนไหวไว้เพียงเท่านี้ แต่กลุ่มนักเรียนเบ็ญจะมะฯ ยังเข้าร่วมกับคณะอุบลปลดแอก จ.อุบลราชธานี เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นต่าง ๆ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ทุกอย่าง คือ การเมือง 

“ถ้าการเมืองดี จะไม่มีใครต้องมาเสียสละเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ออมกล่าวทิ้งท้าย

image_pdfimage_print