วิทยากร โสวัตร

แววตากล้าใต้ปีกหมวกนั้นผ่านการเดินทางมา 82 ฤดูหนาว ในความนิ่งนั้นเรารู้ว่า มีความลึกที่ไม่อาจหยั่งถึงด้วยเรื่องราวที่ผ่านมาของชีวิตที่เหยียบย่างมาแล้วแทบทุกอณูแผ่นดินอีสาน จนสามารถกลั่นออกมาเป็นเพลงชั้นยอดอย่างจากบ้านนาด้วยรัก ที่ขับร้องโดย วิเศษ เวณิกา และนิยามสั้นๆ ถึงนักร้องผู้ขับขานเพลงอมตะของอีสานเพลงนั้นสะท้อนความเจนชีวิตของผู้เล่า

“วิเศษ เป็นเด็กน้อยมากตอนที่มาหา เขายกมือขึ้นไหว้ แล้วบอกความตั้งใจว่า พ่อครับ ผมอยากเป็นนักร้อง พ่อก็ถามไปว่า เคยมีความรักไหม เพื่อจะหาแนวเพลงให้ เขาตอบว่า แต่เล่นสาวยังบ่เป็นเลยครับพ่อ กะเลยบอกกับเขาว่า คือบ่ไปถามแม่เจ้าของว่า อีพ่อเฮ็ดแนวใด๋จังได้กับอีแม่”

จากนั้นไม่นาน วิเศษ เวณิกา ก็ได้เป็นนักร้องเอกคนหนึ่งของวงดนตรีลูกทุ่งอีสาน เพชรพิณทองอันโด่งดังและเป็นประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมอีสานจำนวนหลายหน้าที่สุดเรื่องหนึ่ง 

เมื่อพูดถึงอีสานแล้วอย่างไรเสียก็ต้องมี และถือเป็นไฮไลท์เลยก็ว่าได้ เพราะเพชรพิณทอง คือ ความฝันสูงสุดของคน (ลาวอีสาน) ที่อยากไปเสพงันชมการแสดงสักครั้ง และน่าจะเป็นวงดนตรีอีสานที่กินเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ยาวนานที่สุด และ ดาว-นคร พงษ์ภาพ ก็คือตำนานหน้าแรกหรือบทนำของวงดนตรีเพชรพิณทอง เขาร่วมกับน้องชายพ่อแม่เดียวกัน คือ นพดล ดวงพร (ณรงค์ พงษ์ภาพ) ก่อตั้งวงเพชรพิณทองนี้ขึ้นมาด้วยทุนตั้งต้นเพียง 300 บาทและคำอวยพรของพ่อ – หมอลำเสาร์ พงษ์ภาพ และการฟอร์มวงครั้งแรก ก็คือ หน้าห้องถ่ายภาพกลางเมืองอุบลของเขานั่นเอง

“พ่อมักถ่ายภาพ มักเขียนหนังสือ เขียนกลอนลำ เขียนบทหนัง บ่มักออกหน้า บ่เสนอโต บ่ง้องอนไผ – – ” 

นี่ไม่ใช่แค่คำนิยามตัวเองของศิลปินชรา หากแต่มันคือเบ้าหลอมชีวิตที่หล่อหลอมเขามาจนถึงวันนี้ นั่นคือ ความทระนง 

“ไม่ใช่หยิ่งหรือโอหังอะไร แต่นิสัยจิตใจมันเป็นแบบนี้ พ่อให้มาแบบนี้ นพดล อาจแสดงออกด้วยคำโต้ตอบแรงๆ แต่พ่อเงียบนิ่ง แต่หัวใจเราเหมือนกัน” 

ทั้งที่พ่อเป็นหมอลำใหญ่ แต่เขาลำไม่เป็น – – 

“โอ กะบ่ถืกแล้ว ลูกพ่อนี้มีแต่นพดลที่ลำเป็น แต่ฟังลำออก เขียนกลอนลำได้ เป็นคนชอบเขียน ทุกวันนี้ก็ยังเขียน ใครอยากได้กลอนลำ บทภาพยนตร์ชีวิตอีสานมาเอากับพ่อได้ 

นคร พงษ์ภาพ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีเพชรพิณทอง ในวัย 82 ปี

จริงๆ ต้องขอบคุณน้องชายนภดลที่บอกให้ฝึกเขียนเพลง ‘ยามบ่ได้ไปออกงานนำหมู่กะให้เขียนเพลงอยู่บ้าน’ เขาเคยอยู่กับครูเพลงที่กรุงเทพฯ ก็ให้สูตรเขียนเพลงลูกทุ่ง เราก็เอามาฝึกเขียนผสมผสานพื้นฐานที่เขียนกลอนลำเป็นก็ออกมาเป็นเพลง ที่สะท้อนตัวตนของเพชรพิณทอง วงเราไม่ร้องเพลงคนอื่น เพราะถ้าไปซื้อเพลงอื่นมาร้องมาแสดงก็เพลงละ 500 – 600 บาท สมัยนั้นแพงมาก วงเราเก็บค่าบัตรเข้าชม 20 – 50 บาท”

แล้วคืนหนึ่งๆ ที่เพชรพิณทองเปิดการแสดง ได้เท่าไร? 

ผมพยายามเทียบน้ำหนักรายได้

“แสนกว่า”

!!!

คุณอ่านไม่ผิดและผมก็ไม่ได้เขียนผิด เพราะผมและเพื่อนรุ่นพี่ (ธีรยุทธ บุษบง) ที่ไปร่วมพูดคุยถามซ้ำ คำตอบก็เหมือนเดิม – แสนกว่า

“เดือนหนึ่งเราแสดงทุกคืน จึงต้องให้ลูกวงเลือกสองวันในการพัก สลับกัน”

การเกิดขึ้นของวงดนตรีเพชรพิณทองไขความลับบางอย่างของหมอลำ นั่นเป็นเหตุผลที่เรามาเยือนถ้ำราชสีห์อีสานผู้นี้

จากบทความที่แล้วของผมที่เผยแพร่ทาง The Isaan Record ผมอ้างถึงครูสุรินทร์ ภาคศิริ ที่บอกว่า ตอนประมาณปี 2514-2516 ที่จัดรายการวิทยุในชื่อ ทิดโส สุดสะแนน โดยใช้ภาษาลาวอีสานเปิดเพลงลูกทุ่งอีสานและตามด้วยหมอลำ แต่หาแผ่นเสียงหมอลำในกรุงเทพฯ และในไทยไม่ได้ จึงต้องชวนนายห้างข้ามไปหาซื้อแผ่นเสียงหมอลำ (อีสาน) ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว ตอนนั้นผมยังไม่มีข้อมูลว่า มีการอัดแผ่นเสียงหมอลำก่อนหน้าแล้วหรือยัง

แต่ภายหลังก็ได้ข้อมูลว่า มีการอัดแผ่นเสียงหมอลำก่อนหน้าที่ ทิดโส สุดสะแนน จัดรายแล้ว ก็คือ ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่หมอลำหมอแคนเริ่มกลับฟื้นคืนมาในสังคมไทยอีกครั้งและมีการอัดแผ่นเสียงในช่วงก่อนสงครามโลกเป็นต้นมาจนถึงหลังสงครามโลกโดยมีบริษัทแผ่นเสียงตรากระต่ายเป็นคนอัดแผ่นรายใหญ่ที่สุด แต่ประวัติศาสตร์ส่วนนี้ของการอัดแผ่นเสียงหมอลำก็หายไปดื้อๆ

คำถาม คือ แล้วแผ่นเสียงหมอลำหายไปไหนในช่วงที่ทิดโส สุดสะแนน จัดรายการวิทยุ มีการอัดแผ่นหมอลำอีกหรือไม่ ถ้ามี แล้วแผ่นเสียงไปไหน ถ้าไม่มีแล้วทำไมถึงไม่มี

จากบทความนั้นเองที่ลูกสาวของ พ่อดาว-นคร พงษ์ภาพ ได้อ่านให้ท่านฟัง แล้วก็ติดต่อไปที่กองบรรณาธิการ The Isaan Record ว่า เรื่องราวที่ขาดหายไปเขาอาจต่อให้สมบูรณ์ได้

กลอนลำที่ นคร พงษ์ภาพ เขียนใส่กระดาษด้วยลามือหวัดๆ ยังถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี

“ถึงสี่แยกประปา ถ้ามาทางโรงเรียนเบญจะมะฯ ให้เลี้ยวซ้าย ถ้ามาจากทางเซ็นทรัลให้เลี้ยวขวามาทางวัดท่าวังหินประมาณ 50 เมตร เป็นร้านขายของชำอยู่ฝั่งซ้ายมือนี่แหละ ตรงข้ามกับร้านตัดผม มีป้ายร้านชัดเจน”การบอกเส้นทางก็สะท้อนจินตภาพและความสามารถในการใช้ถ้อยคำของคนๆ หนึ่งได้อย่างดี

ต่อคำถามทั้งหมดนั้น นคร พงษ์ภาพ ได้ให้คำตอบจนสิ้น แม้จะเป็นข้อมูลและการวิเคราะห์ของเขาเพียงคนเดียว และเขาก็ออกตัวว่า มันอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ แต่ฟังแล้วก็มีเหตุผลมาก

“การอัดแผ่นเสียงมันเป็นเรื่องของนายทุน – -” นคร พงษ์ภาพ เริ่มต้นแบบนี้

“แต่หมอลำไม่ได้คิดหรือมีนิสัยแบบนั้น อย่างพ่อของพ่อที่เป็นหมอลำชั้นเอกคนหนึ่ง เป็นคนเขียนกลอนลำด้วย ก็ไม่ชอบที่จะไปอัดแผ่น หมอลำนิยมเล่นสด ว่ากันสดๆ ได้รายได้ทางตรงจากคนว่าจ้างเลย และมันได้เร็ว ที่สำคัญคือ มันได้พิสูจน์ความสามารถภูมิปัญญาของหมอลำอย่างเป็นรูปธรรมทันที เช่น เจ้าภาพจ้างไปลำงานบุญกฐิน ถ้าหมอลำเก่งจริงๆ มีอ้อดีๆ คนฟัง (อาจเป็นเจ้าภาพคนเดิม) ก็จะคิดถึงการจัดงานต่อไปทันทีเพื่อจะได้ฟังหมอลำคนนี้อีก พอลงจากเวทีปุ๊บก็จะมีการว่าจ้างมาลำงานผ้าป่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าทันที”

นั่นหมายความว่า การไปอัดแผ่นเสียงต้องรอนายห้างมาควาญหาตัวหมอลำเก่งๆ ซึ่งก็มีงานมากอยู่แล้ว มีงานแทบตลอดปีและหมอลำก็ต้องเสียเวลาเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่ออัดแผ่นอีก เวลาเดินทางทั้งขาไปขากลับและเวลาที่อยู่อัดแผ่นก็กินเวลามากในสมัยนั้น ทำให้เสียรายได้ต่อวัน ซึ่งเป็นรายได้หลักที่เป็นกอบเป็นกำไป

ผมชอบแววตานิ่งกล้าใต้ปีกหมวกนั้นเวลาครุ่นคิด มันมองผ่านทุกอย่างไปยังเบื้องหน้า ไปที่ไหนสักแห่ง ไกลในที่ที่เราไม่รู้จัก

“ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในอุบลฯประมาณปี 2512-2513 ใช่ไหม มันมีฐานทัพเกิดขึ้นในอีสานมากเลย อุบลฯ เราก็ด้วย พวกเขาเอาเพลงสมัยใหม่เข้ามาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีการบันทึกเสียงแบบใหม่และความนิยมในคลื่นวิทยุ เพชรพิณทองก่อตั้งปี 2514 เราจัดประกวดพิณแคนเพื่อจะหาหมอพิณ 5 คน และหมอแคน 5 คนเพื่อก่อตั้งวง ส่วนกลองชุดก็หาจากสปอนเซอร์ในเมืองอุบล มือพิณที่เก่งที่สุดก็เป็นทหารเกณฑ์ออกมาจากค่าย นั่นคือ ทองใส ทับถนน – -”

พ่อกำลังจะบอกว่า เพลงและดนตรีอีสานมันเกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในช่วงนั้นใช่ไหม?

“ใช่ มันเป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก เป็นก้าวกระโดดเลย เกิดการผสมผสานของหมอลำที่เรามีอยู่แล้วกับเพลงลูกทุ่งภาคกลาง กลายเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน จะเรียกว่าลูกทุ่งหมอลำก็ได้ และเพลงมันต้องมีดนตรี มีจังหวะดนตรี ดนตรีของเราก็ได้ผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่จากตะวันตก จากฝรั่ง เกิดท่วงทำนองที่พัฒนาไป และพอดีกับความนิยมของหมู่คนฟัง ที่นิยมเพลงแนวนี้ ดนตรีแนวนี้ขึ้นมา และมันพอดีจริงๆ กับช่วงกระจายเสียงของคลื่นวิทยุ ความนิยมเพลงลูกทุ่งอีสานจึงล้ำหน้าหมอลำ แต่เพลงลูกทุ่งอีสานก็มีพื้นจากหมอลำนี่แหละ จังหวะการมาของมันมันพอดีกับยุคสมัย

“อีกอย่างคนฟังลำก็ชอบฟังลำสด เพราะการฟังแผ่นมันยุ่งยากลำบาก ต้องซื้อเครื่องเล่นแผ่น เมื่อแผ่นพัฒนาไปก็ต้องเปลี่ยนเครื่องเล่นให้ทันกับแผ่น และพื้นฐานทางวัฒนธรรมการฟังลำของคนอีสานยังมั่นคงหนักแน่น หมอลำหมอแคนก็ยังอยู่ได้ แต่ก็เกิดการพัฒนาเป็นคณะหมอลำ วงหมอลำที่มีเครื่องดนตรีสากลเข้ามา มีนักเต้น หางเครื่องก็ในยุคนี้เอง เพชรพิณทองก็อาศัยพื้นฐานตรงนี้ในการตระเวนเล่นสดจนโด่งดัง ฐานแฟนหนาแน่นและมีช่วงจังหวะของยุคม้วนเทปและวีดีโอเข้ามาเสริมส่งเข้าไปอีก”

ทำงานมาขนาดนี้ โด่งดังจนเป็นสถาบัน เป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอีสาน และทุกวันนี้ก็ยังทำงานไม่หยุด กลอนลำก็มีเป็นตู้ๆ มีลูกศิษย์มากมาย ทำไมคนอย่างพ่อ คนอย่าง นพดล  ดวงพร  ลุงแนบ หนิงหน่อง เทพพร เพชรอุบล สนธิ สมมาตร จึงไม่ได้ศิลปินแห่งชาติ?

แววตากล้าใต้ปีกหมวกนั้น สงบนิ่ง แต่แววประกายจากน้ำในตานั้น ผมไม่แน่ใจว่า เป็นน้ำในตาหรือน้ำตากันแน่ แต่มันมีเรื่องราวแน่นอน…

image_pdfimage_print