ดลวรรฒ สุนสุข และ จุฑามาศ สีดา เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ และ มงคลกร พุฒธะพันธ์ ภาพ
ห้วงเวลาการเรียกร้องประชาธิปไตยการและแสดงออกสิทธิเสรีภาพของนักเรียนนักศึกษา ตั้งแต่ต้นปี 2563 เวียนมาครบรอบหนึ่งขวบปี ที่มีการชุมนุมจัดกิจกรรมของนักเรียน-นักศึกษา กระจายไปทุกจังหวัดในประเทศไทย
“แนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย – MSU Democracy Front” กลุ่มที่รวมตัวของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ประจำจังหวัดมหาสารคาม จัดกิจกรรมชุมนุมแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองหลายครั้ง ปัจจุบันมีผู้ติดตามในแฟนเพจเเฟซบุ๊กเกือบ 1 แสนคน
พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือ บอย นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ หนึ่งในกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย ที่รวมกันปลุกปั้นกลุ่มนี้ให้เป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่แข็งแรงมากอีกกลุ่มหนึ่ง และคอยช่วยเหลืองานจัดกิจกรรมในพื้นที่อีสาน ในการจัดกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรส่วนกลางเขาก็ได้เข้าร่วมทุกครั้งที่มีโอกาส
เมื่อกลางเดือน ธันวาคม 2564 เข้าได้รับหมายการแจ้งความในมาตรา 112 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องด้วยมีผู้แจ้งดำเนินคดีความพร้อมกับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำราษฎร เ หมายเรียกดังกล่าวมาจากกรณีที่พงศธรณ์ ขึ้นพูดปราศรัยในการชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (SCB) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564
TheIsaanRecord พูดคุยกับ พงศธรณ์ นิสิตฯ ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีความกฎหมาย ม.112 ถึงความรู้สึกต่อกับกฎหมายนี้และการโดนคดีความทำให้เขาหยุดเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่ หลังจากที่เขาโพสต์รูปหมายจับแล้วมีแฮชแท็กข้อความว่า #ปริญญาของการต่อสู้
The Isaan Record : หลังจากออกมาเคลื่อนไหว ถูกฟ้องคดีอะไรบ้าง
พงศธรณ์ : ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรมอีสานสิบ่ทน เมื่อเดือน กรกฎาคม 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และล่าสุดที่ไปรายงานตัวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 คดีความ ม.112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการไปพูดปราศรัยอยู่ที่หน้า ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ในม็อบเดือน พฤศจิกายน 2563
The Isaan Record : การตั้งข้อกล่าวหาในคดี 112 คือ อะไร
พงศธรณ์ : คดีนี้ มันตลกมากเลย คือในนั้นบอกว่า ผมพยายามส่อเสียดปลุกคน ให้ล้มสถาบันฯ ด้วยการชวนคนเล่นป๊อกเด้ง นั่นคือความพยายามที่ทำให้ผิด ม. 112 สิ่งหนึ่งที่ผมเห็น คือ มันเป็นการยัดเยียดกข้อกล่าวหาที่ตลกและทุเรศมาก
มันเป็นอะไรที่ไร้สาระมาก ซึ่งเนื้อหาสาระในวันนั้นที่พูด ผมจำได้เลยว่า เราพูดเพื่อคั่นเวลาเท่านั้นเอง และพยายามปลุกอารมณ์คนในตอนนั้น
“คำพูดที่ผมบอกว่า ชวนเล่นป๊อกเด้งเพราะเราจะล้มเจ้าได้ ถ้าเราได้ป๊อกเก้า แค่นี้คุณก็ยัด ม.112 ให้เราแล้ว”
ในสำนวนที่ตำรวจให้ดูบอกว่า ผมชวนเจ้าเล่นป๊อกเด้ง ให้ผมผิด ม.112 และลากความผิดไปถึง ม.116 ด้วย ซึ่งคำพูดในตอนนั้นผมพูดว่า “ พวกเสื้อเหลืองทำไรก็ไม่ผิด เวลาใช้ความรุนแรงก็ได้รับอภัยทาน ไม่ได้รับการเข้าพิจารณาคดีเหมือนกับบุคคลกลุ่มอื่น สีเสื้ออื่น ๆ หรือคนที่ต่อสู้เพื่อประขาธิปไตย
พูดอย่างนี้ก็โดน ม.116 มันก็พ่วงมาใน 1 ข้อหา 8 กรรม หนักๆ ก็จะเป็น ม.112, ม.116 นอกจากนั้นไม่หนักเปรียบเทียบปรับได้ มันไม่มีปัญหาอะไร ผมไม่ได้กังวล ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ชุมชนฯ , พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ มันไม่มีปัญหาไรมาก
แต่คดีความ ม. 112 ตลกมาก จะแจ้งคดีความก็แจ้งไป เพราะเราคิดว่ามันก็ทำร้ายเราได้แค่นี้ คือฝั่งรัฐก็ทำได้แค่นี้ ในฐานะที่เราออกมาต่อสู้ อัดคดีความ แจกคดีแล้วคิดต่อไปว่า อัดคดีหนักๆ ให้ประชาชนจะกลัวแกนนำจะกลัว คนที่ออกมาเคลื่อนไหวจะกลัว
“ก็เกรงว่า มันจะเป็นผลสะท้อนกลับมากกว่าทำให้คนที่สู้ยิ่งถูกกดทับด้วยคดี และกดดันแบบนี้เขายิ่งหาวิธีการย้อนกลับด้วยการสู้กลับ”
จะด้วยวิธีการใดต้องรอติดตามใน 2564 นี้ แต่มันสะท้อนว่า ไม่ใช่แค่เรื่องตัวแกนนำที่จะสะเทือนกลับไปยังรัฐฯ แต่หมายถึงประชาชนที่รับรู้ข่าวสาร และสภาพความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่คุณใช้มันเริ่มแกว่ง คุณใช้แบบหว่านแห นึกอยากจะจับใครก็จับ นึกอยากจะออกหมายจับใครก็ใด้ ด้วยลักษณะอย่างนี้มันไม่มีมาตรฐานหลงเหลืออยู่แล้ว
ม.112 แค่ใส่ชุดคร็อปท็อปก็ผิด แสดงว่า ชุดคร็อปท็อปมันเป็นการล้อเลียน เสียดสีสถาบันฯ ใช่หรือไม่ ซึ่งคนก็จะเริ่มตั้งคำถาม หลายสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กรณีชักธงยกเลิก ม.112 ก็ผิด ม.112
สรุปบ้านเมืองนี้จะไม่ให้โอกาสคนพูด แสดงออก หรือพยายามสื่อสารไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เลยหรือ
หมายแจ้งให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ม.112 ของ พงศธรณ์ ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นปริญญาของการต่อสู้
The Isaan Record : ความรู้สึกแรกที่โดน 112
พงศธรณ์ : จริงๆ ก็มีเพื่อนที่กรุงเทพฯ เส่งข่าวมาว่า เรามีสิทธิที่จะโดนดำเนินคดี ม.112 แต่ไม่รู้ว่า เป็นที่ไหน ก็สงสัยว่า จะโดนได้อย่างไร เพราะเราก็ไม่ได้พูดถึงตัวชื่อของพระมหากษัตริย์โดยตรงเลย หรือการพูดปราศรัยที่ผ่านมา เนื้อหาสาระที่เราพยายามต่อสู้เราพยายามอธิบายโครงสร้างทางการเมือง สถาบันฯ มันไม่ได้มีแค่องค์กษัตริย์เป็นรายบุคคล แต่เรากำลังพูดถึงองค์รวมให้ประชาชนเข้าใจ
เพราะที่ผ่านมามันยังก้ำกึ่งอยู่ว่า คนจะยอมรับการพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะช่วงต้นปี พอมาท้ายปี 2563 มันเป็นสิ่งที่ตัดสินแล้ว และเราก็ยอมรับกันแล้วว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ มันเป็นสิ่งที่พูดได้ และมันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่คนพูดแล้วไม่ควรจะผิด
คิดว่าเรื่องนี้มันเป็นเสรีภาพทางความคิดที่ประชาชนควรจะมี โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยในสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน และยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในระบบการปกครอง ถ้าคุณเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่ง
นั่นแสดงว่าเราที่เป็นประชาชนที่ใช้อำนาจอธิปไตย และใช้อำนาจผ่านกลไกลบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ก็ควรที่จะเข้ามาพูด เพื่อตรวจสอบ เพื่อดูกลไกล เพื่อดูการทำงานของสถาบันฯ ได้ไม่ใช่ว่าทิ้ง หรือปล่อยให้สถาบันฯ ลอยอยู่เหนือกลไกลทุกอย่างและไม่สามารถแตะต้องได้ อย่างนั้นเราจะเอาสถาบันมาเป็นองค์ประกอบทางการเมืองทำไม ผมพยายามชวนให้ทุกคนลองคิดถึงปรากฏการณ์ที่ทุกคนออกมาพูดถึงประเด็นนี้ หรือพูดเชื่อมโยงเหมือนกับผม เชื่อมโยงให้มันไปถึงตัวโครงสร้างอำนาจที่มันกดทับจากบนลงล่าง จากพวกอำมาตย์กดทับประชาชนอย่างพวกเรา
The Isaan Record : ข้อความในหมายเรียก ม.112 ตลกอย่างไร
พงศธรณ์ : มันตลกตั้งแต่ชวนคนเล่นป๊อกเด้ง และผมรู้สึกเฉยๆ มากกับคำพูดที่ผมแซะกลุ่มคนเสื้อเหลือง ทำไมใช้ความรุนแรงได้อยู่ฝ่ายเดียว ทำไมไม่โดนจับ
“ตอนนั้นผมพูดว่าเสื้อเหลือง เป็นฝ่ายที่ไม่ผิดเลย เป็นเพราะชูเรื่องรักสถาบัน ใช่ไหม โหนสถาบันใช่ไหม เฉพาะพวกนี้ใช่ไหมที่ไม่ผิด แล้วพวกอื่นที่ไม่แสดงออกแบบนี้ละ ทำไมถึงผิด”
ก็คือจะให้เห็นภาพถึงความสองมาตรฐาน จำได้ว่าตอนแรกที่ตำรวจโทรมาหา ตอนนั้นยังไม่มีหมายคดีความ อยู่ที่ จ.มหาสารคาม ยังไม่ได้ไปรายงานตัวที่ กรุงเทพฯ ก็ลุ้นว่าจะเป็น ม.112 หรือ ม.116 เพราะอย่างที่บอกว่า เพื่อนเราแจ้งล่วงหน้ามาแล้ว ม.112 แต่ไม่รู้ที่ไหน
เราก็ลุ้นว่า ม.112 หรือเปล่า พอมาดูก็ ม.112 จริง เราโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งตรงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาที่ จ.มหาสารคาม วินาทีนั้นเราก็คิดแค่ว่า โดนก็โดน นึกออกว่าสภาวการณ์ตอนนี้มันไม่หมือนในอดีตถ้าโดนคดีความ ม.112 ชีวิตเราเหมือนพัง ไม่รู้จะสู้ยังไงแล้ว มันเหมือนสู้กับมือที่มองไม่เห็น แต่พอตัดภาพมาตอนนี้ กลุ่มนี้ก็ยังมีอำนาจอยู่ และก็กำลังผูกขาดอำนาจ กำลังผูกขาดในประเทศไทยและยังบริหารอยู่ในประเทศเรา แต่ความรู้สึกมันต่างกันกับในอดีต
ถ้าโดน ม. 112 ในอดีตจะรู้สึกสิ้นหวัง ทำไมต้องโดน ทำไมต้องเข้าสู่กระบวนการที่ไม่ยุติธรรมแบบนี้ แต่พอมาปี 2563 ผมสัมผัสถึงแววตาและความรู้สึกส่วนตัว ผมคิดว่า การที่โดน ม.112 เป็นการที่เราใช้ประเด็นนี่สื่อสารไปยังสังคม เพื่อให้คนเห็นว่า นี่คือความสองมาตรฐานของกฎหมาย ของผู้คุมกฎหมาย
คือความอยุติธรรมที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเข้ามากดขี่เรา กดหัวเราไว้ ห้ามให้เราพูด ห้ามให้เราวิพากษ์ ห้ามให้เราแสดงออก ห้ามแสดงความคิดเห็น นิดๆ หน่อยๆ มาแล้ว ม.112
เมื่อก่อนเราจะมีมีม แซะๆ ก็โดนคุกคามหนัก บางคนก็โดนคดี ม.112 บางคนก็โดน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มันมาในรูปแบบของ ม.112 สอดใส้ ก็มีนโยบายพยายามไม่ใช้ ม.112 แต่พอตอนนี้รัฐทนไม่ไหว ก็เริ่มกลับมาใช้ ม.112 ให้กับคนที่คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่เขาก็พยายามพูดว่าถอยคนละก้าว
ถ้าเขายอมถอยคนละก้าวจริง จะไม่ใช้ ม.112 แบบนี้ แต่นี้ใช้ ม.112 เยอะมาก แต่มุมกลับทำให้เห็นว่าคุณกำลังฆ่าตัวตาย ถ้ากระแสมันตีกลับ
แนวคิดของเขา คือ แจกคดีให้แกนนำ คนที่เคลื่อนไหว ทำให้ทุกคนต้องมาสับสนกับคดีความ วิ่งหน้าวิ่งหลังรายงานตัวที่สถานีตำรวจ ที่ศาลฯ เพื่อให้ทุกคนเสียเวลา เพื่อนให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเจอคดี เจอคดีไม่พอนะ ต้องมารอลุ้นอีกว่า ศาลจะตัดสินในยกฟ้อง หรือตัดสินให้จำคุก นี่คือสิ่งที่รัฐ ทำแบบเดิมซ้ำมาๆ มา 10,20,30 ปี
“ตั้งแต่อดีตจนมาถึงทุกวันนี้ ก็ยังแบบเดิม กระบวนซ้ำซาก กฎหมายปิดปาก แต่ประชาชนก็เรียนรู้และไม่กลัว ทุกวันนี้ยิ่งไม่กลัว 112 ก็ไม่กลัว ยิ่งใช้ยิ่งเสื่อม ”
พงศธรณ์ หรือ สหายบอย นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิกกลุ่มแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย – MSU Democracy Front
The Isaan Record : ฝากถึงคนที่ฟ้องร้องในคดีตามและถูกบังคับใช้ ม.112
พงศธรณ์ : ถ้าคุณกล้าฟ้องก็ต้องกล้ารับผิดชอบกับสิ่งที่คุณทำ ไม่ใช่คิดแค่ว่าฟ้องไปให้มันกลัว คิดแค่นั้นมันสั้นไป คุณฟ้องแล้วคุณกล้าไหมที่จะทำให้มันเสื่อม กล้าไหมสิ่งที่คุณรัก กล้าทำในสิ่งที่คุณออกมาปกป้อง ออกมาบอกว่านี่คือหัวใจแกนหลักชองชาติ ถ้าคุณรักจริงและอยากเห็นสิ่งที่คุณรักดำรงอยู่ในสังคมไทยต่อไป
คุณก็ต้องกล้าที่จะเปิดใจและยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่เรียกว่าสังคม เราจะอยู่ในสังคมด้วยกันได้ยังไง คนตั้ง 70 ล้านคน ไม่มีทางที่ความคิดเห็นมันจะเหมือนกันหมดทุกอย่าง และที่คุณบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักของประเทศขาติ คุณก็ต้องยอมรับความคิดเห็นที่มันหลากหลาย เพื่อนำไปปรับกับเสาหลัก เสาหลักก็จะได้ปรับตัว คนในเสาหลักก็จะได้ปรับตัว
“คนในกลไกอำนาจที่เราอยู่กันมา 80 กว่าปีก็ต้องปรับตัว ที่เราเรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าเราจะอยู่ภายใต้แนวคิดนี้ เราก็ต้องยอมรับในวิถีทางที่เต้องเคารพซึ่งสิทธิเเละเสรีภาพที่ทุกคนมีเท่ากัน”
The Isaan Record : ปีนี้จะเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากการใช้การใช้กฎหมาย 112 อย่างไร
พงศธรณ์ : รอติดตามต่อไป ความเคลื่อนไหวของประชาชนจะเป็นยังไง นโยบายแจก ม.112 เป็นว่าเล่น รอดูผลสะเทือนกลับกับสภาวะเศรษฐกิจ สิ่งที่คุณทำ มันกำลังย้อนกลับไปหาพวกคุณเอง
The Isaan Record : คิดเห็นอย่างไรกับกฎหมาย ม.112
พงศธรณ์ : คิดว่า มันตลก ไม่มีประโยชน์ ถ้าคิดว่า ใช้กฏหมายนี้แล้วผมกลัว ผมไม่กลัว ใช้แล้วผมจะถอยห่าง ถ้าเจอ ม.112 จะต้องถอดใจ ไม่ถอดใจนะครับ ผมคิดว่า เป็นกฎหมายกระจอกที่สร้างขึ้นมาเพื่อกดหัวคน