วิทยากร โสวัตร เรื่อง

ผมถามพ่อดาว – นคร พงษ์ภาพ ว่า“เป็นหยังศิลปินวงเพชรพิณทองถึงไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติสักคน?” ศิลปินชรานิ่ง ตามองออกไปข้างหน้าไกลที่ไหนสักแห่ง

“คนอย่าง นพดล ดวงพร นี่ก็ชั้นเอกเลย หนิงหน่อง นี่ก็ศิลปินตลกคลาสสิก หรือแม้แต่ สุรินทร์ ภาคศิริ นี่ก็ครูเพลงชั้นหนึ่ง ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ก็ได้ไม่กี่วันก่อนตาย, เทพพร เพชรอุบล, สนธิ สมมาตร, อังคนางค์ คุณไชย เหล่านี้ก็สุดยอดทั้งนั้น ทำงานต่อเนื่อง โด่งดังยาวนาน คลองใจคนอีสานทั้งหมด ทุกมื้อนี่ เทปเก่าที่เขาเอาลงยูทูบก็มีคนดูหลายล้าน นี่ขนาดตายกันไปเกือบหมดแล้ว ทำไมจึงไม่ได้รับการเชิดชูเกียรติระดับชาติ?” ผมรุก 

แต่ท่านผู้เฒ่ายังคงเงียบ

“หรือว่าเฮาเป็น ลาว ?” ผมจี้

“คงไม่หรอก – -” ศิลปินเฒ่าผู้เร้นกายเฉกเช่นราชสีห์หันมาสบตา ผมยังจำเสียงมั่นคงและดวงตาที่มีน้ำปริ่มอยู่ข้างในนั้นได้ฝังใจ 

“พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกนัก เพราะคนอื่นก็ยังได้” 

ระหว่างความเงียบพักใหญ่ ซึ่งผมไม่อยากรบกวนห้วงรู้สึกนึกคิดของท่านผู้เฒ่าที่ผมนับถือ แล้วปล่อยให้ภาพหลายภาพ หลายเหตุการณ์เคลื่อนผ่านเข้ามาในมโนสำนึก

คนอีสานแทบทุกคนที่เคยไปใช้ชีวิตขายแรงงานหากินอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2521-2522 จะมีความทรงจำหนึ่งร่วมกัน พวกเขาก็มักพูดถึงฉากและประสบการณ์นั้นอย่างตื่นเต้นอย่างกับว่า มันเพิ่งเกิดขึ้นกับตัวเองสดๆ ใหม่ๆ  

ภาพของคนอีสานที่ไหลไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ บ้างก็อัดกันในรถ Taxi ไม่ก็บนสามล้อปั่นหลายวันต่อเนื่อง เว้ากัน ฮ้องถามกัน ฮ้องใส่กันโก๊กๆ ด้วยภาษาลาวอีสาน ทุกคนมุ่งหน้าไปสู่โรงหนังที่ฉายหนังเรื่อง ครูบ้านนอก หลายต่อหลายคนดูมากกว่าหนึ่งรอบ จนโรงหนังต้องเพิ่มรอบฉายและขยายเวลาลาโรงของหนังเรื่องนี้ออกไปออกไป บางคนที่ผมเคยพูดคุยด้วย จำได้แม้กระทั่งสปอร์ตโฆษณาที่ทางโรงหนังเปิดหรือจากรถแห่โฆษณา จำได้ทุกถ้อยทุกคำ 

และทุกคนจดจำภาพโปสเตอร์หนังแผ่นใหญ่ ติดตั้งเด่นสง่าอยู่หน้าโรงได้เป็นอย่างดี ภาพครูปิยะโอบเด็กชายนักเรียนสองคนที่เสื้อขาด ภาพนั้นฝังใจพวกเขา 

หลายคนวนไปดูหนังเรื่องนี้หลายรอบ เพื่อจะได้เห็นฉากในหนังว่า ช่วงไหนที่ตรงกับภาพโปสเตอร์ที่กระทบใจเขาอย่างแรงนี้ โดยที่แทบไม่มีใครรู้ว่าภาพโปสเตอร์ภาพนั้นคนที่ถ่าย คือ หนุ่มดาว-นคร พงษ์ภาพ ผู้นี้เอง ตอนเขาตั้งกล้องจับภาพ เขาเดินไปดึงเสื้อเด็กชายนักเรียนสองคนให้ขาดออกอีก แล้วจึงเดินกลับมากดชัตเตอร์

และคนอีสานรุ่นนั้นต่างก็ร้องเพลง จากบ้านนาด้วยรัก ของ วิเศษ เวณิกา ได้ขึ้นใจ และมันทำให้พวกเขาน้ำตาซึมซาบซึ้งในความที่บทเพลงสะท้อนชีวิตที่แท้จริงอย่างถึงรากถึงวิญญาณคนอีสาน และเสียงฮึกห้าวบนเนื้อความที่เศร้าของศิลปิน นักร้อง-วิเศษ เวณิกา ก็ปลุกปลอบให้ไม่ยอมอ่อนแอต่อโชคชะตา

โอ้บ้านนาฝนฟ้าไม่อำนวย

โชคไม่ช่วยบ้านนาถึงคราระทม

แหงนมองเบิ่งฟ้าเมฆฝนลาไหลตามคลื่นลม

หมู่เฮาถึงคราวซานซม

เข้าเมืองหนีความแห้งแล้ง

จากบ้านนาน้ำตาคอยปลอบใจ

เร่ร่อนไปในฐานะของคนขายแรง

แลกเงินส่งไปซ่อมแรงใจสู้ความแห้งแล้ง

อยู่เมืองคนน้ำใจแห้ง

อ่อนแรงเพราะทนเรื่อยมา

โอโอ โอ โฮ๊ะโอโอ

โฮ๊ะโอโอโอละหนอ

โอ้ฟ้าไม่เมตตาต้องจำจากจร

บ้านเกิดเมืองนอน

ที่เคยสุขพี่ป้าน้าอา

ใช่จะอยากจากไอ้ทุยอีรวงบ้านนา

แต่ต้องจากมา

จากบ้านนาด้วยรักฝังใจ

โอ้บ้านนาปีหน้าถ้าโชคดี

ฟ้าปรานีต้องมีวันพบกันใหม่

ปีนี้ขอลาห่างบ้านมาทำงานเรื่อยไป

เห็นทิวกอไผ่เอนไหว

โอ้ใจคิดถึงบ้านนา

โอโอ้ โอ โฮ๊ะโอโอ

โฮ๊ะโอโอโอละหนอ…

และคนแต่งเพลงอมตะเพลงนี้ก็คือ ดาว-นคร พงษ์ภาพ คนนี้อีกเช่นกัน

“จริงๆ แล้วจัง นพดล นี่ตอนยังมีชีวิตอยู่ ก็มีคนเอาเอกสารศิลปินแห่งชาติมาให้กรอกทุกปี แต่มันก็เงียบ ได้มาเบิ่ดแล้วรางวัล เหลือแต่อันนี้ล่ะ พ่อก็ไม่รู้ว่ามันคาหยังถึงบ่ได้ แต่ถ้าจะให้ไปอ้อนวอนขอร้องนั่นน่ะ ทางหมู่พ่อบ่เอาดอก เฮ็ดแนวนั่นบ่เป็น บ่แมนหยิ่งอีหยัง แต่พ่อของพ่อนี่ – หมอลำเสาร์ พงษ์ภาพ เพินเป็นหมอลำใหญ่เป็นครูหมอลำ สอนมาแบบนี้ สอนให้เคารพเจ้าของ สอนให้ทรนง”

แทรกไว้ตรงนี้ว่า ผมเคยประทับใจงานเขียนของ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เรื่อง ครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ : ระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยก โดยเฉพาะฉากดวลระนาด ซึ่งทำให้รู้สึกถึงขนาดว่า อ่านฉากสงครามวอเตอร์ลูในนิยายสุดอมตะเรื่อง เหยื่ออธรรม ของ วิกตอร์ อูโก ทั้งๆ ที่ผมเองไม่ได้ชอบระนาด เล่นก็ไม่เป็น แต่ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับฉากนั้นมาก และนั่นทำให้ย้อนนึกไปถึงความทรงจำในวัยเด็กที่มีละครตอนเย็นเรื่องระนาดเอก ที่ทำให้เด็กชายทั่วประเทศประทับใจและอยากเล่นอยากเรียนระนาด

ทีนี้มาสำรวจดู กางแผนที่ประเทศไทยออก แล้วขีดแบ่งภาคต่างๆ เทียบกันดูว่าอีสานกับกรุงเทพนี่มันใหญ่ต่างกันขนาดไหน ทีนี้หันไปดูสถิติประชากรเทียบดูอีสานกับกรุงเทพ จำนวนคนมากน้อยต่างกันขนาดไหน 

คำถาม คือ ทำไมเรื่องราวระนาดจากกรุงเทพฯ ถึงได้ครอบงำความประทับใจให้คนทั้งประเทศได้ แล้วทำไม แคน พิณ ศิลปะอื่นๆ ในอีสานทั้งที่กินพื้นที่กว้างใหญ่กว่ามาก จำนวนคนก็มากกว่ามากถึงมีสภาพเหมือนอยู่ในหลืบในถ้ำในพื้นที่อันห่างไกลจากความรับรู้

ผมเห็นแค่ฉากดวลการเส็งกลองแค่ในนิยายเรื่อง ครูบ้านนอก ของ คำหมาน คนไค เท่านั้นซึ่งก็ไม่ได้ดูอลังการณ์เท่าไรนัก แต่เหมือนไม่มีนักเขียนอีสานคนไหนเขียนถึงฉากดวลกันของหมอลำทั้งที่เป็นศิลปะและภูมิปัญญาชั้นสูงของคนลาวและลาวอีสาน และเราในฐานะคนอีสานก็ได้ยินได้ฟังเรื่องการลำแก้ลำโจทย์กันมานานมากแล้ว

แต่ – – นคร พงษ์ภาพ ได้เขียนถึงฉากดวลกันของหมอลำหญิง-ชายเอาไว้อย่างตื่นตาสะเทือนอารมณ์เอาไว้แล้วในหนังสืองานศพของหมอลำเสาร์ พงษ์ภาพ ผู้เป็นพ่อของท่าน และทำได้อย่างดีเยี่ยม !

“นอกจากถ่ายรูปแล้ว พ่อกะมักเขียนหนังสือ เขียนทุกแนว นิยาย เรื่องสั้น กลอนลำ เพลง เขียนมาตลอด ทุกมื้อนี่ก็เขียน ไผอยากได้เรื่องไปพิมพ์ อยากได้กลอนลำ อยากได้เพลง ให้มาหามาเอาได้”

พูดถึงตรงนี้แล้วก็ให้รู้สึกขุ่นเคืองว่า ทำไมภาคอีสานของเราเองก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลศิลปินของเราได้อย่างดี แล้วทำไมเราต้องคอยก้มหน้ารอต่อคิวเกียรติยศและเบี้ยบำนาญจากรัฐส่วนกลางด้วย อย่างเช่นแค่เงินเดือน 25,000 บาท สำหรับศิลปินอีสานท่านหนึ่งนี่มันไม่ได้มากมายอะไรเลย ถ้าดูจากศักยภาพของภาคอีสาน แต่เราพบว่า ที่มันทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะติดระเบียบการทางกฎหมายที่รวมศูนย์ทุกอย่างเข้าสู่ส่วนกลาง

ด้วยเหตุนี้แหละ ผมถึงคิดว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราคนอีสานจะเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ให้เกิดการกระจายอำนาจ การบริหารจัดการ กระจายรายได้ งบประมาณอย่างเท่าเทียมให้มากที่สุด ถ้าเราสามารถจัดการตรงนี้ได้ เอาแค่เรื่องศิลปินนะ เราก็สามารถสรรหาศิลปินอีสานของเรา ยกขึ้นมาให้เกียรติและดูแลเบี้ยบำนาญได้อย่างสบาย มันอาจไม่มีคำว่า “แห่งชาติ” แต่จะสนทำไม ในเมื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี ความรู้ความสามารถ เบี้ยบำนาญ ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย ที่ดียิ่งกว่าก็คือเราสามารถจัดการดูแลทรัพยากรของเราได้เองอย่างสมเกียรติ

ถามจริงๆ เถอะ ชอบมากใช่ไหมครับกับการที่เวลาพอศิลปินอีสานผู้ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าในหัวใจของเรา เป็นจิตวิญญาณของอีสานเจ็บป่วยใกล้ตายแล้วค่อยออกมาจัดงานระดมทุนช่วยเหลือกัน 

ไม่รู้สึกสะเทือนใจบ้างหรือครับ กับการที่ได้แต่มองศิลปินของเราค่อยๆ ตกตายไปทีละคนๆ พวกเขาไม่ได้รู้สึกกับเราหรอก – สาบาน !

“คนอย่าง นพดล ดวงพร นี่ก็ชั้นเอกเลย หนิงหน่อง นี่ก็ศิลปินตลกคลาสสิก หรือแม้แต่ สุรินทร์ ภาคศิริ นี่ก็ครูเพลงชั้นหนึ่ง ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ก็ได้ไม่กี่วันก่อนตาย, เทพพร เพชรอุบล, สนธิ สมมาตร, อังคนางค์ คุณไชย เหล่านี้ก็สุดยอดทั้งนั้น ทำงานต่อเนื่อง โด่งดังยาวนาน คลองใจคนอีสานทั้งหมด ทุกมื้อนี่ เทปเก่าที่เขาเอาลงยูทูบก็มีคนดูหลายล้าน นี่ขนาดตายกันไปเกือบหมดแล้ว ทำไมจึงไม่ได้รับการเชิดชูเกียรติระดับชาติ?” ผมรุก 

แต่ท่านผู้เฒ่ายังคงเงียบ

“หรือว่าเฮาเป็น ลาว ?” ผมจี้

“คงไม่หรอก – -” ศิลปินเฒ่าผู้เร้นกายเฉกเช่นราชสีห์หันมาสบตา ผมยังจำเสียงมั่นคงและดวงตาที่มีน้ำปริ่มอยู่ข้างในนั้นได้ฝังใจ 

“พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกนัก เพราะคนอื่นก็ยังได้” 

ระหว่างความเงียบพักใหญ่ ซึ่งผมไม่อยากรบกวนห้วงรู้สึกนึกคิดของท่านผู้เฒ่าที่ผมนับถือ แล้วปล่อยให้ภาพหลายภาพ หลายเหตุการณ์เคลื่อนผ่านเข้ามาในมโนสำนึก

คนอีสานแทบทุกคนที่เคยไปใช้ชีวิตขายแรงงานหากินอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2521-2522 จะมีความทรงจำหนึ่งร่วมกัน พวกเขาก็มักพูดถึงฉากและประสบการณ์นั้นอย่างตื่นเต้นอย่างกับว่า มันเพิ่งเกิดขึ้นกับตัวเองสดๆ ใหม่ๆ  

ภาพของคนอีสานที่ไหลไปตามท้องถนนในกรุงเทพฯ บ้างก็อัดกันในรถ Taxi ไม่ก็บนสามล้อปั่นหลายวันต่อเนื่อง เว้ากัน ฮ้องถามกัน ฮ้องใส่กันโก๊กๆ ด้วยภาษาลาวอีสาน ทุกคนมุ่งหน้าไปสู่โรงหนังที่ฉายหนังเรื่อง ครูบ้านนอก หลายต่อหลายคนดูมากกว่าหนึ่งรอบ จนโรงหนังต้องเพิ่มรอบฉายและขยายเวลาลาโรงของหนังเรื่องนี้ออกไปออกไป บางคนที่ผมเคยพูดคุยด้วย จำได้แม้กระทั่งสปอร์ตโฆษณาที่ทางโรงหนังเปิดหรือจากรถแห่โฆษณา จำได้ทุกถ้อยทุกคำ 

และทุกคนจดจำภาพโปสเตอร์หนังแผ่นใหญ่ ติดตั้งเด่นสง่าอยู่หน้าโรงได้เป็นอย่างดี ภาพครูปิยะโอบเด็กชายนักเรียนสองคนที่เสื้อขาด ภาพนั้นฝังใจพวกเขา 

หลายคนวนไปดูหนังเรื่องนี้หลายรอบ เพื่อจะได้เห็นฉากในหนังว่า ช่วงไหนที่ตรงกับภาพโปสเตอร์ที่กระทบใจเขาอย่างแรงนี้ โดยที่แทบไม่มีใครรู้ว่าภาพโปสเตอร์ภาพนั้นคนที่ถ่าย คือ หนุ่มดาว-นคร พงษ์ภาพ ผู้นี้เอง ตอนเขาตั้งกล้องจับภาพ เขาเดินไปดึงเสื้อเด็กชายนักเรียนสองคนให้ขาดออกอีก แล้วจึงเดินกลับมากดชัตเตอร์

และคนอีสานรุ่นนั้นต่างก็ร้องเพลง จากบ้านนาด้วยรัก ของ วิเศษ เวณิกา ได้ขึ้นใจ และมันทำให้พวกเขาน้ำตาซึมซาบซึ้งในความที่บทเพลงสะท้อนชีวิตที่แท้จริงอย่างถึงรากถึงวิญญาณคนอีสาน และเสียงฮึกห้าวบนเนื้อความที่เศร้าของศิลปิน นักร้อง-วิเศษ เวณิกา ก็ปลุกปลอบให้ไม่ยอมอ่อนแอต่อโชคชะตา

โอ้บ้านนาฝนฟ้าไม่อำนวย

โชคไม่ช่วยบ้านนาถึงคราระทม

แหงนมองเบิ่งฟ้าเมฆฝนลาไหลตามคลื่นลม

หมู่เฮาถึงคราวซานซม

เข้าเมืองหนีความแห้งแล้ง

จากบ้านนาน้ำตาคอยปลอบใจ

เร่ร่อนไปในฐานะของคนขายแรง

แลกเงินส่งไปซ่อมแรงใจสู้ความแห้งแล้ง

อยู่เมืองคนน้ำใจแห้ง

อ่อนแรงเพราะทนเรื่อยมา

โอโอ โอ โฮ๊ะโอโอ

โฮ๊ะโอโอโอละหนอ

โอ้ฟ้าไม่เมตตาต้องจำจากจร

บ้านเกิดเมืองนอน

ที่เคยสุขพี่ป้าน้าอา

ใช่จะอยากจากไอ้ทุยอีรวงบ้านนา

แต่ต้องจากมา

จากบ้านนาด้วยรักฝังใจ

โอ้บ้านนาปีหน้าถ้าโชคดี

ฟ้าปรานีต้องมีวันพบกันใหม่

ปีนี้ขอลาห่างบ้านมาทำงานเรื่อยไป

เห็นทิวกอไผ่เอนไหว

โอ้ใจคิดถึงบ้านนา

โอโอ้ โอ โฮ๊ะโอโอ

โฮ๊ะโอโอโอละหนอ…

และคนแต่งเพลงอมตะเพลงนี้ก็คือ ดาว-นคร พงษ์ภาพ คนนี้อีกเช่นกัน

“จริงๆ แล้วจัง นพดล นี่ตอนยังมีชีวิตอยู่ ก็มีคนเอาเอกสารศิลปินแห่งชาติมาให้กรอกทุกปี แต่มันก็เงียบ ได้มาเบิ่ดแล้วรางวัล เหลือแต่อันนี้ล่ะ พ่อก็ไม่รู้ว่ามันคาหยังถึงบ่ได้ แต่ถ้าจะให้ไปอ้อนวอนขอร้องนั่นน่ะ ทางหมู่พ่อบ่เอาดอก เฮ็ดแนวนั่นบ่เป็น บ่แมนหยิ่งอีหยัง แต่พ่อของพ่อนี่ – หมอลำเสาร์ พงษ์ภาพ เพินเป็นหมอลำใหญ่เป็นครูหมอลำ สอนมาแบบนี้ สอนให้เคารพเจ้าของ สอนให้ทรนง”

แทรกไว้ตรงนี้ว่า ผมเคยประทับใจงานเขียนของ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เรื่อง ครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ : ระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยก โดยเฉพาะฉากดวลระนาด ซึ่งทำให้รู้สึกถึงขนาดว่า อ่านฉากสงครามวอเตอร์ลูในนิยายสุดอมตะเรื่อง เหยื่ออธรรม ของ วิกตอร์ อูโก ทั้งๆ ที่ผมเองไม่ได้ชอบระนาด เล่นก็ไม่เป็น แต่ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับฉากนั้นมาก และนั่นทำให้ย้อนนึกไปถึงความทรงจำในวัยเด็กที่มีละครตอนเย็นเรื่องระนาดเอก ที่ทำให้เด็กชายทั่วประเทศประทับใจและอยากเล่นอยากเรียนระนาด

ทีนี้มาสำรวจดู กางแผนที่ประเทศไทยออก แล้วขีดแบ่งภาคต่างๆ เทียบกันดูว่าอีสานกับกรุงเทพนี่มันใหญ่ต่างกันขนาดไหน ทีนี้หันไปดูสถิติประชากรเทียบดูอีสานกับกรุงเทพ จำนวนคนมากน้อยต่างกันขนาดไหน 

คำถาม คือ ทำไมเรื่องราวระนาดจากกรุงเทพฯ ถึงได้ครอบงำความประทับใจให้คนทั้งประเทศได้ แล้วทำไม แคน พิณ ศิลปะอื่นๆ ในอีสานทั้งที่กินพื้นที่กว้างใหญ่กว่ามาก จำนวนคนก็มากกว่ามากถึงมีสภาพเหมือนอยู่ในหลืบในถ้ำในพื้นที่อันห่างไกลจากความรับรู้

ผมเห็นแค่ฉากดวลการเส็งกลองแค่ในนิยายเรื่อง ครูบ้านนอก ของ คำหมาน คนไค เท่านั้นซึ่งก็ไม่ได้ดูอลังการณ์เท่าไรนัก แต่เหมือนไม่มีนักเขียนอีสานคนไหนเขียนถึงฉากดวลกันของหมอลำทั้งที่เป็นศิลปะและภูมิปัญญาชั้นสูงของคนลาวและลาวอีสาน และเราในฐานะคนอีสานก็ได้ยินได้ฟังเรื่องการลำแก้ลำโจทย์กันมานานมากแล้ว

แต่ – – นคร พงษ์ภาพ ได้เขียนถึงฉากดวลกันของหมอลำหญิง-ชายเอาไว้อย่างตื่นตาสะเทือนอารมณ์เอาไว้แล้วในหนังสืองานศพของหมอลำเสาร์ พงษ์ภาพ ผู้เป็นพ่อของท่าน และทำได้อย่างดีเยี่ยม !

“นอกจากถ่ายรูปแล้ว พ่อกะมักเขียนหนังสือ เขียนทุกแนว นิยาย เรื่องสั้น กลอนลำ เพลง เขียนมาตลอด ทุกมื้อนี่ก็เขียน ไผอยากได้เรื่องไปพิมพ์ อยากได้กลอนลำ อยากได้เพลง ให้มาหามาเอาได้”

พูดถึงตรงนี้แล้วก็ให้รู้สึกขุ่นเคืองว่า ทำไมภาคอีสานของเราเองก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลศิลปินของเราได้อย่างดี แล้วทำไมเราต้องคอยก้มหน้ารอต่อคิวเกียรติยศและเบี้ยบำนาญจากรัฐส่วนกลางด้วย อย่างเช่นแค่เงินเดือน 25,000 บาท สำหรับศิลปินอีสานท่านหนึ่งนี่มันไม่ได้มากมายอะไรเลย ถ้าดูจากศักยภาพของภาคอีสาน แต่เราพบว่า ที่มันทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะติดระเบียบการทางกฎหมายที่รวมศูนย์ทุกอย่างเข้าสู่ส่วนกลาง

ด้วยเหตุนี้แหละ ผมถึงคิดว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราคนอีสานจะเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ให้เกิดการกระจายอำนาจ การบริหารจัดการ กระจายรายได้ งบประมาณอย่างเท่าเทียมให้มากที่สุด ถ้าเราสามารถจัดการตรงนี้ได้ เอาแค่เรื่องศิลปินนะ เราก็สามารถสรรหาศิลปินอีสานของเรา ยกขึ้นมาให้เกียรติและดูแลเบี้ยบำนาญได้อย่างสบาย มันอาจไม่มีคำว่า “แห่งชาติ” แต่จะสนทำไม ในเมื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี ความรู้ความสามารถ เบี้ยบำนาญ ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย ที่ดียิ่งกว่าก็คือเราสามารถจัดการดูแลทรัพยากรของเราได้เองอย่างสมเกียรติ

ถามจริงๆ เถอะ ชอบมากใช่ไหมครับกับการที่เวลาพอศิลปินอีสานผู้ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าในหัวใจของเรา เป็นจิตวิญญาณของอีสานเจ็บป่วยใกล้ตายแล้วค่อยออกมาจัดงานระดมทุนช่วยเหลือกัน 

ไม่รู้สึกสะเทือนใจบ้างหรือครับ กับการที่ได้แต่มองศิลปินของเราค่อยๆ ตกตายไปทีละคนๆ พวกเขาไม่ได้รู้สึกกับเราหรอก – สาบาน !

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

นคร พงษ์ภาพ : ขุนพลเพลงอีสานเร้นกาย (1)

image_pdfimage_print