จุฑามาศ สีดา นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record เรื่อง
18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ชาวมหาสารคามต้องสูญเสียคนสำคัญของจังหวัด แต่วงการสาธารณสุขไทยได้สูญเสีย
น.พ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ แพทย์อายุรกรรมอย่างไม่มีวันกลับ
ความโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของคุณหมอ ผู้มีน้ำใจงดงาม ทำให้ชาวมหาสารคาม ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักต่างนำดอกไม้มาไว้ด้านหน้าคลินิค ย่านตลาดสดเทศบาล จ.มหาสารคาม จนแทบไม่มีที่ว่าง
น.พ.ปัญญา จากไปด้วยวัย 66 ปี ด้วยโรคโควิด-19 นับเป็นบุคคลากรทางการเเพทย์คนแรกของไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้
คุณหมอถือเป็นแพทย์ที่เข้าถึงชาวบ้านทุกหย่อมหญ้า อย่างไม่ถือตัว
โดยก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ และเป็นที่ปรึกษาหน่วยกู้ชีพ-กู้ภัยมูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ (เอ็ง เต็ก ตึ๊ง)
ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็จะดูแลคนไข้อย่างเต็มที่ และยังออกไปช่วยเหลือคนไข้ตามพื้นที่ ๆไม่สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาได้
หลังจาก น.พ.ปัญญา เกษียณอายุราชการจากโรงพยาบาลมหาสารคามเเล้วแต่ก็ยังทำหน้าที่รักษาคนไข้ที่ในคลินิคชื่อ “ปัญญาการเเพทย์”
ความใกล้ชิดคนไข้ทำให้ น.พ.ปัญญา จำคนไข้ได้ทุกคน ทำให้คนที่เข้ารับการรักษารู้สึกว่า เป็นญาติคนหนึ่งที่อยากจะไปเจอในยามป่วยไข้
“ผมรักการเป็นหมอ เป็นหมอต้องรักคนไข้” น.พ.ปัญญา เคยกล่าวกับคนใกล้ชิด

อดีตคนไข้ที่เคยรับการรักษาจาก น.พ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ นำดอกไม้มารำลึกการจากไปที่คลินิคปัญญาการแพทย์ จ.มหาสารคาม เครดิตภาพ : Thai PBS
คนไม่มีเงินรักษาฟรี
ลัดดา โสภากุล คนไข้ที่เคยเข้ารับการรักษากับ น.พ.ปัญญา เล่าว่า คุณหมอเป็นคนใจดี ดูแลคนป่วยเหมือนญาติพี่น้อง เป็นหมอที่ใส่ใจทุกรายละเอียดของคนไข้
“ไม่กล้าดูรูปคุณหมอเลย ดูแล้วน้ำตาจะไหล ทุกๆ เช้าเวลาที่คุณหมอมาคลินิก เขาก็จะทักทายชาวบ้านระแวกนั้นด้วยความเป็นห่วง ให้ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ตอนนี้ยังรู้สึกว่า คุณหมอยังอยู่กับพวกเราตลอดเวลา”ลัดดาเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ
ลัดดา ยังบอกว่า น.พ.ปัญญา ชอบออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน ถ้าคนไข้คนไหนไม่มีเงินก็รักษาให้ฟรี มีน้อยก็จ่ายเท่าที่มี
พ่อเป็นหมอธรรมดา
ด้าน ปานปราชญ์ หาญพาณิชย์พันธุ์ ลูกชายของ น.พ.ปัญญาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า คุณพ่อเป็นหมอธรรมดาคนหนึ่ง แต่ชอบช่วยเหลือคน ในข้อดี คือ เวลาใครมารักษาก็จะดูแลเต็มที่ แต่ในความเป็นหมอก็มีข้อเสีย เพราะดูแลคนไข้อย่างละเอียดจนทำให้ได้รับเชื้อ
ก่อนจะมีอาการป่วยด้วยโรคโควิด น.พ.ปัญญา ตรวจรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่คลินิคระหว่างวันที่ 13-28 มกราคม 2564 และเข้าตรวจหาเชื้อครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 มกราคม แต่ไม่พบ
จากนั้น 2 วันต่อมา คุณหมอเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนเป็นไข้
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ จึงตรวจหาเชื้ออีกครั้ง คราวนี้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัวที่ โรงพยาบาลมหาสารคาม แต่การที่คุณหมอมีโรคประจำตัว ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก ไข้มันในเลือดสูงและถุงลมโป่งพองจึงทำให้มีอาการแทรกซ้อน
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เริ่มมีอาการปอดอักเสบและมีอาการไตวายจนต้องฟอกเลือด ทำให้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทีมแพทย์ตัดสินใจย้ายตัวคุณหมอไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมเพรียงกว่า
เพราะตอนนั้นมีปอดมีอาการอักเสบรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะที่หัวใจก็เต้นผิดจังหวะด้วย
ไม่มีปาฏิหาริย์
แต่แล้วก็ไม่มีปาฏิหาริย์แก่ครอบครัว “หาญพาณิชย์พันธุ์”
กระทั่งระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดล้มเหลว น.พ.ปัญญา หมดลมหายใจ นำความโศกเศร้ามาสู่ครอบครัว โดยเฉพาะภรรยาและลูกๆ
จิตตินนุช หาญพาณิชย์พันธุ์ ภรรยา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า รู้สึกเสียใจ ที่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ตอนนี้ครอบครัวอยู่ระหว่างทำใจ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็อยากจะขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพและการ์ดอย่าตก
“ครอบครัวทราบถึงกระแสให้กำลังใจสามี รู้สึกตื้นตันใจมาก ไม่คิดว่าจะมีพี่น้องชาวมหาสารคามรักและระลึกถึงสามีมากขนาดนี้ ขอขอบคุณมากค่ะ”เธอกล่าวด้วยเสียงตื้นตัน

ผู้คนนำดอกไม้วางไว้หน้าคลินิกปัญญาการแพทย์ เพื่อแสดงความระลึกถึงหมอปัญญา เครดิตภาพ : Thai PBS
หมอคนแรกของไทยเสียเพราะโควิด-19
หลังการเสียชีวิต อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของ นพ.ปัญญา ผ่านสื่อมวลชน
โดยบอกว่า ขอชื่นชมจากหัวใจ เพราะปฏิบัติหน้าที่ในวัยเกษียณอายุ แม้จะป้องกันตัวแล้ว แต่ด้วยอายุที่มากจึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ส่วนตัวรู้สึกสะเทือนใจ เพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องหาวิธีดูแลให้มากที่สุด
“กรณีนี้จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมบุคลากรสาธารณสุขควรได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะเป็นกลุ่มแรกที่ต้องสัมผัสผู้ติดเชื้อ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย”อนุทิน กล่าว
น.พ.ปัญญา เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2498 เริ่มรับราชการ เมื่อ 1 เมษายน 2523 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาสารคาม จากนั้นเป็นหัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาสารคาม โดยรับราชการ นานถึง 35 ปี
คุณงามความดีที่ น.พ.ปัญญา ได้ทำไว้ในแผ่นดินมหาสารคามจึงจะงอกงามตลอดไป