จนิสตา อาภาแสงเพชร นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record ภาพ

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 กลุ่มราษฎร โขง ชี มูล จำนวน 16 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจาก สภ.เมืองขอนแก่นจาก 3 กิจกรรมแสดงออกทางการเมือง โดยมีกลุ่มมวลชนจัดกิจกรรมชุมนุมให้กำลังใจอยู่หน้าสถานีตำรวจ

โดยการเข้าทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ ประกอบด้วยคดีชุมนุมที่สวนเรือนแสง และหน้าสภ.เมืองขอนแก่น โดยกลุ่มราษฎรโขงชีมูล เรียกร้องปล่อย 4 แกนนำกลุ่ม “ราษฎร” ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ถูกออกหมายเรียก 9 คน ได้แก่ อรรถพล บัวพัฒน์ ,วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง , กรชนก แสนประเสริฐ, นิติกร ค้ำชู ,เจตน์สฤษฎิ์ นามโคตร ,ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ,อิศเรษฐ์ เจริญคง , พชร สารธิยากุล ,ธนศักดิ์ โพธิเตมิย์

สภ.เมืองขอนแก่น บรรยายพฤติการณ์ของผู้ถูกออกหมายเรียกว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ได้ร่วมกับวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, ภานุพงษ์ ศรีธนานุวัฒน์, พชร สารธิยากุล, กรชนก แสนประเสริฐ, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์, นิติกร ค้ำชู, เจตน์สฤษฎ์ นามโคตร และอิศเรษฐ์ เจริญคง รวม 10 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองในชื่อ “รวมพลราษฎร โขง ชี มูล” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น 

การชุมนุมดังกล่าวเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อคือ 1.รัฐบาลประยุทธ์ลาออก 2.รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเรียกร้องให้มีการถอนแจ้งข้อกล่าวหาและถอนฟ้องพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเป็นแกนนำกล่าวปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ก่อนเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นเดินไปยังสวนสาธารณะประตูเมือง และหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ในลักษณะกีดขวางจราจร ไม่แจ้งหน่วยงานที่ควบคุมโรคติดต่อ ไม่แจ้งขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียง และศิวกร นามนวด ยังได้พ่นสีลงบนพื้นถนนสาธารณะ

นอกจากนี้  ในการจัดกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมในลักษณะมั่วสุม หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสและแพร่เชื้อโรคโควิด 19 และผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรค เช่น จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดให้มีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมชุมนุม มีการสวมหน้ากากอนามัย จัดให้มีการเว้นระยะห่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร หรือจัดให้มีการล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 10 คน รวม 4 ข้อหา ดังนี้

1.ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันง่าย ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

2.ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6) (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท)

3.ร่วมกันเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินขบวนใดๆในลักษณะกีดขวางจราจร ตาม พ.ร.บ.การจราจร มาตรา 108 (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท)

4.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.การควบคุมโฆษณา มาตรา  4 (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท)

หลังได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสิบคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยบางคนไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งสิบประสงค์จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 21 เมษายน 2564 ขณะที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการแขวงขอนแก่นในวันที่ 19 เมษายน 2564 

คดีวันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่บริเวณทางขึ้นศูนย์คอมเพล็ก มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มขอนแก่นพอกันที พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน ร่วมกันชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และประนามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของประชาชนที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกลุ่มผู้ชุมนุม เดินขบวนจากศูนย์คอมเพล็ก ไปยัง สภ.ย่อยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจออกมาขอโทษ ก่อนจะมีผู้ถูกออกหมายเรียก 9 คน วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ,วิศัลยา งามนา ,วีรภัทร ศิริสุนทร ,ศิวกร นามนวด ,อิศเรษฐ์ เจริญคง ,พชร สารธิยากุล ,ธนศักดิ์ โพธิเตมิย์ , จตุพร แซ่อึง ,ศรายุทธ นาคมณี ทั้งหมดถูกออกหมายเรียกข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯและ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า วันเกิดเหตุ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, วิศัลยา งามนา, ศิวกร นามนวด, อิศเรษฐ์ เจริญคง, ศรายุทธ นาคมณี, พชร สารธิยากุล, จตุพร แซ่อึง, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์ และวีรภัทร ศิริสุนทร รวม 9 คน ได้ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองในชื่อ “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย 

จากนั้นได้พากันเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม จากหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ไปตามถนนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถึงสถานีตำรวจภูธรย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในลักษณะกีดขวางจราจร ไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่ควบคุมโรคติดต่อ ไม่ได้แจ้งขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ในการจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุม หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสและแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19 และผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรค

ส่วนคดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ในตึกอธิการบดี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ถูกออกหมายเรียกได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ชัยธวัช รามมะเริง ,เชษฐา กลิ่นดี ถูกออกหมายเรียก พ.ร.บ.ธง มาตรา 53, 54

วชิรวิทย์, ชัยธวัช และเชษฐา รวม 3 ข้อหา คือ 

1.ร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ โดยดูถูกเหยียดหยาม และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 45 (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

2.ร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร ตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 53(3) (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

3.ร่วมกันกระทำการใดๆอันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 54 (มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

ทั้งสามให้การปฏิเสธ และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน วชิรวิทย์เขียนข้อความ “ยกเลิก112” แทนการลงชื่อท้ายบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการแขวงขอนแก่นในวันที่ 19 เมษายน 2564 พร้อมกับ 2 คดีแรก

โดยหน้าสภ.เมืองขอนแก่น ได้มีกิจกรรมชุมนุมตั้งแต่เวลา 10.00 น. ผู้ได้รับหมายเรียกทั้งหมดได้ปราศรัยก่อนเข้าไปในสถานีตำรวจ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน นำรั่วลวดหนามและแบริเออร์เข้ามากันไว้บริเวณหน้าสถานีตำรวจและไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีเข้าไปในพื้นที่

ทำให้ผู้ชุมนุมนำเต้นท์มากางเพื่อใช้พื้นที่หน้าสถานีตำรวจ แต่ทางเจ้าหน้าที่พยายามไม่ให้จัดกิจกรรม เพราะจะทำให้ต้องปิดถนนรบกวนการจราจร และอาจมีความผิดทางกฏหมาย แต่ผู้ชุมนุมยืนยันจะจัดกิจกรรมในบริเวณนี้ต่อไป

กระทั่งเวลา 11.30 น. ผู้ถูกหมายเรียกทั้ง 16 คน ได้เข้าไปในสถานีตำรวจ พร้อมกับทนายความจากเครือข่ายทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีสาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เข้าร่วมพร้อมกับเป็นนายประกันตัว

ในระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหา มวลชน โขงชีมูล ที่บริเวณด้านนอกได้จัดกิจกรรมปราศรัย จนถึงเวลา 14.00 น. ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ออก โดยที่ไม่มีการฝากขังและทั้งหมดจะให้การเป็นเอกสารในขั้นตอนการสอบสวนต่อไป

อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ใหญ่ ขอนแก่นพอกันที ให้สัมภาษณ์หลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า หมายเรียกในวันนี้เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มราษฎรโขงชีมูล 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.บ.ความสะอาด , พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหมือนกับการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้เผาหมายเรียกเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าสิ่งที่เขาจัดกิจกรรมเป็นไปตามสิทธิของประชาชน
ตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.)พร้อมกระบองตั้งแถวกั้นหน้าทางเข้าสถานีตำรวจอำเภอเมืองขอนแก่น
ราษฏร โขง ชี มูล เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากหมายเรียกในการจัดกิจกรรม 3 ครั้ง จำนวน 16 คน
เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเจรจากับผู้ชุมนุมไม่ให้กางเต้นบริเวณหน้าสถานีตำรวจแต่ผู้ชุมนุมยืนยันจะจัดการชุมนุมตามเดิม
ราษฎร โขง ชี มูล เข้ามาให้กำลังใจนักศึกษาที่ถูกออกหมายเรียก
ราษฎรโขงชีมูล ที่ต้องเป็นผู้ต้องหาจากการจัดกิจกรรมชุมนุมแสดงออกทางการเมือง กำลังเดินเท้าออกมาจากสถานีตำรวจอำเภอเมืองขอนแก่น
เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ลวดหนามและแบริเออร์กั้นมวลชนไว้บริเวณหน้าสถ.เมืองขอนแก่น
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ได้ตรึงกำลังบริเวณหน้าสภ.เมืองขอนแก่น
อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ใหญ่ ขอนแก่นพอกันที ปราศรัยกับมวลชนที่เข้ามาให้กำลังใจบริเวณหน้า สภ.เมืองขอนแก่น
อรรถพล บัวพัฒน์ ยื่นดอกไม้ให้กับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.)

อ้างอิงข้อมูลคดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน :https://tlhr2014.com/archives/27321

image_pdfimage_print