วิทยากร โสวัตร เรื่อง

ประวัติศาสตร์อีสานที่อยู่ในบันทึกของพระหรือเรื่องเล่าของพระที่มีคนบันทึกเรียบเรียงไว้ให้ค่อนข้างหลุดหูหลุดตานักประวัติศาสตร์และผู้สนใจเรื่องของอีสาน เหตุผลหลักอย่างหนึ่งน่าจะมาจาก ‘อคติ’ ที่ว่าพระเป็นพวกเดียวกับเจ้าและชนชั้นนำ

ถ้าจะว่าโดยรูปแบบโครงสร้างสงฆ์ที่มีลำดับชั้นสมณะศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งก็เป็นไปตามอย่างว่า (ผมมีข้อสังเกตว่า ระบบสมณศักดิ์นี้คล้ายกับรูปแบบของศาสนจักรคริสต์ เพราะดั้งเดิมเท่าที่รู้โดยเฉพาะในลาวในอีสานนั้นไม่ใช่แบบนี้ เป็นการ ‘ฮดสรง’ โดยประชามติของชาวบ้านที่พระสงฆ์สามเณรรูปนั้นอยู่ มันไม่ได้เป็นเครือข่ายโยงใยเข้าสู่ศูนย์อำนาจส่วนกลางแบบทุกวันนี้ และการยกเลิกรูปแบบฮดสรงนี้ไปก็ในช่วงสร้างชาติสยามของรัชกาลที่ห้า-หกนี้เอง)

แต่อย่างน้อย โดยเฉพาะภาคอีสาน (ภาคอื่นก็คงมี แต่ผมไม่มีข้อมูล) มันมีสำนึกหรือรูปแบบวิธีคาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างอัตลักษณ์เดิมกับโครงสร้างใหม่ เราจะเห็นอัตลักษณ์นี้ได้จากสำนึกของชาวบ้านอีสานที่มีต่อพระเณร วิธีการเรียกขาน เช่น ญาคู ญาซา เป็นต้น และถ้าเราอ่านบันทึกของพระเหล่านี้มากๆ ก็จะเห็น

และที่จะเห็นมากกว่านั้นก็คือ ยิ่งบันทึกหรือคำเทศนาเหล่านี้เป็นของพระที่มียุคสมัยใกล้เข้ามามากเท่าใด ความเป็นอัตลักษณ์ก็จะคลายหายไปเรื่อยๆ ความใกล้ชิดชาวบ้านร้านถิ่นที่จะผูกโยงสำนึกต่อประชาชนก็จะหลุดลอยออกไปเรื่อยๆ ไปเชื่อมกับชนชั้นบนมากขึ้นๆ แทน

หนังสืออัตตโนประวัติธรรมบรรยายและศิริมานนทสูตร โดย พระอุบลีคุณูปมาจารย์ 

ดูได้จากกรณี ‘ผีบุญ’ บันทึกรายงานของพระธรรมรักขิต (จันทร์ สิริจนฺโท ซึ่งต่อมาเป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์) ต่อราชสำนักก็จะเห็นได้ถึงความเข้าใจชาวเมืองและแสดงถึงความกล้าหาญในการเสนอความจริงจากประสบการณ์ตรงที่อยู่ในพื้นที่และเหตุการณ์ โดยชี้ว่า จุดเริ่มต้นของปัญหามันอยู่ตรงไหนจึงทำเกิดขบวนการผู้มีบุญ (ผีบุญ) ขึ้น ซึ่งชี้ตรงไปที่เจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ในระบบโครงสร้างใหม่ที่เข้ามานั่นเอง

หรือแม้แต่บันทึกชิ้นหนึ่งของผู้ที่ร่วมการเดินทางไปบูรณะพระธาตุพนมกับพระครูวิโรจน์รัตโนบล ก็มองหรือมีน้ำเสียงต่อขบวนการผู้มีบุญ (ในบันทึกใช้คำว่า ข่าวจากทางเมืองอุบล) อย่างมีคุณูปการต่อการบูรณะพระธาตุพนมที่ทรุดโทรมที่ยาคูขี้หอมเคยมาบูรณะไว้อย่างดีและไม่ทำลายคุณค่าเก่าจนแล้วเสร็จสมบูรณ์

แต่บันทึกและข้อเขียนของพระ (โดยเฉพาะพระป่าสายธรรมยุติ) และนักปราชญ์/นักเขียนอีสานยุคต่อมากลับมีทัศนคติในทางตรงกันข้าม คือ เอียงข้างมาทางราชสำนักอย่างเห็นได้ชัด อันนี้ไม่รู้ว่า เพราะความไม่รู้จริงๆ แล้วคิดเอาเองหรืออ่านแต่ข้อมูลกระแสหลักหรือว่ามีอคติที่จะทำลายขบวนการประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจส่วนกลางอยู่แล้ว

ในอัตชีวประวัติของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) คนบ้านหนองไหล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านเขียนขึ้นเอง เรื่องอัตตโนประวัติ (อัตตะ แปลว่า ตน, ตัวเอง, อัตตโนประวัติ – ประวัติของตัวเอง) มีข้อมูลหนึ่งเกี่ยวกับผู้หญิงอีสานและลาวที่น่าสนใจมาก ซึ่งผมไม่เคยรับรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย

“อัตตโนได้อยู่ในความปกครองของบิดามารดาเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น แต่รู้สึกว่า มีความสบาย บิดา มารดา ไม่พาอัตคัดขัดสนอะไรเลย แต่เป็นนิสัยของเด็ก ย่อมไม่รู้จักทุกข์ ครั้นย่างเข้าปีอายุ ๑๓ เป็นปีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เป็นธรรมเนียมต้องโกนผมไว้ทุกข์ทั่วพระราชอาณาจักร ประเทศลาวทั้งสิ้น บรรดาผู้หญิง ไม่ว่าสาวหรือแก่ ไว้ผมยาวทั้งสิ้น พอทราบประกาศว่า ให้โกนผม พากันระงมไปด้วยเสียงร้องไห้ทั่วบ้านทั่วเมือง น่าสลดใจ เสียดายผมเท่านั้น พากันอายศรีษะโล้น ต้องคลุมผ้าไว้เสมอ…”

อ่านถึงตรงนี้ ผมนึกถึงความที่ผู้หญิงรักเรือนผมของเธอด้วยความที่มีลูกสาวและภรรยา ผมเข้าใจเลยและรู้สึกสะเทือนใจมาก

ยิ่งถ้าลองนึกดูว่า ผู้หญิงอีสานและลาวตอนนั้นไม่เคยได้พบเห็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลย เพราะไม่เคยเสด็จมา ความผูกพันยึดมั่นทางวัฒนธรรมก็เป็นอย่างลาวแทบจะตัดขาดจากสยาม และยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า การกระจายความเจริญ การพัฒนาอีสานและลาวของราชสำนักสยามสมัยนั้นไม่มีเลย นอกเสียจากเก็บส่วย เก็บภาษีเกณฑ์แรงงาน แล้วความรู้สึกของผู้หญิงที่ต้องถูกบังคับให้ตัดผมเพื่อแสดงออกว่า ทุกข์เศร้านั้นจะเป็นอย่างไร

ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ต้องโกนผมอย่างนั้นเป็นเวลายาวนานแค่ไหน (ใครมีข้อมูลส่วนนี้แชร์ด้วยก็ดีนะครับ) และอาญาหรือโทษสำหรับผู้หญิงที่ไม่ยอมโกนผมในกรณีนี้หนักเบาอย่างไร 

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นอีกก็คือ ในปีนั้นมีผู้หญิงอีสานและลาวคนไหนที่ไม่ยอมโกนผม แล้วถูกจับทำโทษนั้นเป็นอย่างไร หรือที่หลบเร้นได้นั้นมีชีวิตอย่างไร

จากข้อมูลตรงนี้ก็ทำให้เข้าใจว่า ไอ้กระบวนการทางอำนาจที่บังคับให้รัก ให้เศร้าเสียใจนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่ยุคสมัยนี้นอกจากอำนาจที่บังคับที่เหมือนเดิมแล้ว ยังใช้วิธีบิ้วจากสื่อ และหนักกว่านั้นก็อนุญาตกลายๆ ให้ใช้ตีนรุมกระทืบคนที่ไม่แสดงออกว่ารัก ว่าเศร้า โดยคนหรือกลุ่มคนที่ทำหาความผิดไม่ได้

บทความอื่น

image_pdfimage_print