จุฑามาศ สีดา นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record ภาพและเสียง 

เสียงสวดคาถาในพิธีสู่ขวัญด้วยสำเนียงภาษาเขมรสลับกับภาษาลาวอีสานเป็นท่วงทำนองที่คละเคล้ากันอย่างลงตัว เป็นเสียงของผู้เฒ่าวัย 89 ปี ทำให้ผู้คนที่นั่งพนมมือเลื่อมใสศรัทธาในคาถาอย่างไม่เสื่อมคลาย 

แคน อนาถเนตร ชายวัย 89 ปี เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ และเดินสายทำพิธีในชุมชนอีสาน อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ มานานหลายทศวรรษ  

ผู้เฒ่า เล่าว่า หลงใหลในพิธีกรรมของชาวอีสานมาตั้งแต่เด็กๆ โดยชอบติดตามผู้ใหญ่ไปบ้านที่มีการจัดงาน หรือทำจัดพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขึ้นบ้านใหม่ งานแต่ง งานบวช จึงทำให้ซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ 

“ตอนเด็กๆ ตาได้ยินที่ผู้เฒ่าผู้แก่เขาทำแล้วก็ชอบ แต่ตอนนั้นยังเป็นเด็กอยู่พ่อแม่ก็ให้เลี้ยงวัวเลี้ยงควายช่วยที่บ้าน พอเป็นหนุ่ม อายุ 19 ปี ก็หนีไปบวชเรียน แล้วไปอยู่เขมร เราเลยได้มีโอกาสฝึกเเละเรียนรู้พิธีกรรม ซึ่งพิธีกรรมของเขาก็เหมือนกับบ้านเราแรกๆ ก็ไม่มีใครสอนนะ ก็ฟังแล้วก็จำเขามา เอาประสบการณ์ต่างๆ มาปรับใช้”แคนเล่าถึงความเป็นมาของการเล่าเรียนแบบครูพักลักจำ 

แคนยังเล่าต่ออีกว่า เมื่อก่อนในชุมชนมีลุงมาน สมสีแก้ว ที่มีศักดิ์เป็นพี่ชายคอยฝึกฝนให้ เวลาเขามีงานอะไรต่างๆ ก็ตามเขาไปดู เราสงสัยอะไรก็ถาม เขาก็บอก เราก็จำเอามาพูด

“ตอนนี้ลุงมานตายไปตั้งแต่ปี ‘05-’06 แล้วเราก็ได้มาสืบทอดวิชา สืบทอดพิธีต่อจากแกนั่นแหละ ”ชายวัย 89 ปี เล่าอย่างคล่องแคล่ว

แคน อนาถเนตร ร่วมพิธีทำบุญบ้านให้กับชาวบ้านในชุมชน จ.บุรีรัมย์แคน อนาถเนตร ท่องคาถาและนำสวดในพิธีทำบุญบ้านให้กับชาวบ้านในชุมชน จ.บุรีรัมย์

ไร้ผู้สืบทอดพิธีกรรมของชุมชน

ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ของแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน แม้แต่ภาคอีสานด้วยกันเองก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่อีกด้วย ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีการส่งต่อจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานแบบรุ่นสู่รุ่น หากเเต่ยุคสมัยและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามอาจผันไปตามกาลเวลา

“เดี๋ยวนี้ลูกหลานไม่ค่อยมีใครมาสนใจพิธีกรรมอะไรเหล่านี้ เพราะต่างคนต่างทำงานของตัวเอง”ผู้เฒ่าถอนหายใจ แล้วนั่งนิ่งเสมือนกำลังครุ่นคิดแล้วบอกอีกว่า

“เราก็กลัวว่า มันจะหมดไปนะ อยากให้มีคนมาสืบทอด เรียนรู้ เเต่ก็ไม่มีลูกหลานคนไหนหรือใครที่จะมาสืบทอดเอาวิชาไปเลย เคยถามเขาแล้ว แต่เขาก็บอกจะทำงาน ไม่มีเวลา เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าเราไม่อยู่ใครจะมาสืบทอด”ชายชราที่เปรียบเหมือนไม้ใกล้ฝั่งเล่าด้วยน้ำเสียงเนิบช้า แล้วกลืนน้ำลายลงไปในลำคออยากอย่างลำบาก 

การจะสืบทอดพิธีกรรมของชุมชนมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นลูกหลานหรือบุคคลที่อยู่ในวงศ์ตระกูลเท่านั้น โดยไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นชายหรือหญิง

“ลุงมานเคยฝากฝังว่า คนที่จะมาสืบทอดต้องเป็นทายาทและต้องมีความชอบ ฝักใฝ่ในวิชาเหมือนการปลูกฟักทองเราต้องได้ฟักทอง ปลูกถั่วต้องได้ถั่ว จะได้ไม่ผิดเพี้ยนกัน”แคนท้าวความถึงวัตถุประสงค์ของผู้ประศาสตร์วิชาให้ 

แคน อนาถเนตร ท่องคาถาและนำสวดในพิธีทำบุญบ้านให้กับชาวบ้านในชุมชน จ.บุรีรัมย์

เขียนตำราแต่หนูกัดพัง 

ด้วยความที่คาดเดาอนาคตว่า จะหาผู้สืบทอดพิธีกรรมต่างๆ ได้ยาก เขาจึงเขียนตำราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่โชคก็ไม่เข้าข้าง เพราะตำราเสียหายเกือบหมด 

“ตาเขียนแล้วก็เก็บไว้ในหีบ แต่หนูมันกัด ตายังจำได้ทุกคำ ทุกตัวอักษรนะ แต่จะให้เขียนใหม่ก็ไม่ไหวแล้ว มือสั่น ปวดแขน แก่แล้ว”ผู้เฒ่าเล่า พร้อมหัวเราะลั่น 

เขาเล่าอีกว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เคยมีนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจมาสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลไปส่งอาจารย์หลายครั้ง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

ผู้เฒ่าเล่าถึงความเป็นมาของพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นการสู่ขวัญ งานบุญบ้าน งานแต่งต่างๆ นั้นเป็นไปเพื่อเสริมสิริมงคล การสะเดาะเคราะห์หรือต่อชะตาชีวิต 

“ชาวบ้านมักบอกว่า ทำพิธีแล้วชีวิตดีขึ้น มันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านด้วย เขาก็ไว้ใจเรา แล้วก็มาเชิญไปสู่ขวัญบ้าง สะเดาะเคราะห์บ้างและแล้วแต่เขาจะให้”

แม้การทำพิธีกรรมต่างๆ จะไม่มีค่าตอบแทนมั่นคง แต่ก็ทำให้ผู้เฒ่ามีความภูมิใจในมรดกที่ได้รับจากรุ่นสู่รุ่น 

“ถ้าไม่มีใครมาสืบทอดพิธีกรรมอีสานต่างๆ เราจะทำยังไง เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่การดำรงชีวิต การรักษาประเพณีวัฒนธรรมยังต้องมีอยู่ แล้วใครจะสืบทอด”ชายวัย 89 ปีกล่าวอย่างสิ้นหวัง เพราะไร้ผู้สืบทอด

 

image_pdfimage_print