จุฑามาศ สีดา นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record เรื่อง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กลุ่ม OctDem จัดเสวนาในแอพลิเคชั่น Clubhouse หัวข้อ “ศาล หลักยุติธรรม กับความขัดแย้งแตกแยกของสังคมไทย” 

การจัดเสวนาครั้งนี้ จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมประชาธิปไตยเดือนตุลา หรือ “กลุ่มตุลาธรรม” กลุ่ม OctDem หรือ October Lyrics เกิดจากการรวมตัวกันของอดีตนักกิจกรรมนักศึกษาที่ยังศรัทธาต่ออุดมคติ และยังยืนหยัดสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย 6 ตุลาคม 2519 ผู้ที่มีจิตใจเสียสละเพื่อส่วนรวม

พลากร จิรโสภณ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย และสมาชิกกลุ่ม OctDem  กล่าวว่า การรวมกลุ่มกันของสมาชิกกลุ่ม OctDem ในครั้งนี้เกิดจากความห่วงใยในสถานการณ์ความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งก็มีทั้ง เด็ก เยาวชน นักศึกษา และประชาชนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกัน แต่พวกเขากลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย บ้านเมือง ในฐานะที่เรามีบทบาททางในสังคม จึงต้องการพื้นที่ในการแสดงออก รวมไปถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เลยใช้ประสบการณ์จากการเป็นผู้ถูกกระทำจากกิจกรรมเมื่อในอดีต กลุ่ม OctDem เลยรวมกลุ่มกันเพื่อทำประโยชน์ และเป็นกำลังหนุนให้กับสังคม

“เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้น (ปี 2519) ซ้ำรอยเดิม โดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง และถูกจับกุม แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามหลักสากลเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือการส่งเสียง ซึ่งเราอาจจะใช้สื่อในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเเถลงข่าว การออกจดหมาย การไปพบปะกับผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม อาจจะทำให้มีการรับฟังกันบ้าง” สมาชิกกลุ่ม OctDem กล่าว 

ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตนักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา เครดิตภาพ : เว็บไซต์ประชาไท 

ธงชัยชี้ไทยขาดนิติรัฐ

ขณะที่ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตนักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ร่วมพูดคุยในวงเสวนาถึงประเด็นหลักนิติรัฐและนิติธรรมว่า เราอาจจะต้องแก้กฎหมายกัน เช่น จำกัดการตีความ จำกัดการใช้กฎหมายอาญา จำกัดการตีความความมั่นคง จนกระทั่งกลายเป็นการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉน การให้อภิสิทธิ์ปลอดความผิดจะต้องไม่มีอยู่ รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ จะได้กลัวและเข็ดหลาบ กลัวที่ต้องถูกตัวเองลงโทษ เวลาตัวเองใช้อำนาจอย่างเกินเลย

“ทุกวันนี้ด้านหนึ่งใช้อำนาจอย่างเกินเลยในความมั่นคง อีกด้านหนึ่งเพราะรู้ว่าตัวเองมีโอกาสที่จะไม่ต้องรับความผิดอยู่มาก ประเทศไทยเป็นนิติรัฐก็ได้ ซึ่งหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือ มันไม่ใช่ระบบอำนาจที่จำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ละเมิดประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์ต่อรัฐเพื่อจะละเมิดประชาชน ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กฎหมายในสภาวะยกเว้นหรือกฎหมายพิเศษต่างๆ”ศ.ธงชัย กล่าว 

นักวิชาการผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของมาตรา 112 หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าเคยพูด ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้ามาก โดยเสนอว่า ถ้าไม่ยกเลิกมาตรา ถ้าให้ก้าวหน้าที่สุดก็ยกเลิกไปเลย ถ้าจะมีประนีประนอมได้บ้างต้องเอาอย่างอาจารย์ปิยบุตรเสนอก็คือเอามันออกจากบทความมั่นคงและให้กฎหมายหมิ่นประมาทไม่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญาเลยก็ยิ่งดี

เหตุที่ 112 ใครๆ ก็สามารถฟ้องกันได้ คุณลองนึกดูสมมุติว่าคุณไปเจอแบ็คแพ็คที่คุณสงสัยว่าเป็นระเบิด จำเป็นไหมว่าต้องให้ผู้เสียหายไปฟ้องตำรวจ ไม่ใช่ไหม ใครก็แล้วแต่สามารถไปแจ้งตำรวจได้เลยเพราะเรื่องการก่อการร้ายมันอยู่ในหมวดเรื่องความมั่นคง ปัญหาก็คือแล้วมันเรื่องอะไรถึงเอาความผิดเชิงเป็นหมิ่นประมาท ความผิดเรื่องคำพูดและความคิดไปใส่ไว้ในหมวดความมั่นคง

ทางด้าน พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และอดีต ส.ว. ร่วมชี้ทางออกปัญหาในวงเสวนาว่า การดำเนินคดีในศาล คือ เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมตอนนี้คือ หลายคนตั้งข้อสงสัยและมีการเรียกร้องว่า ทำไมเด็กและเยาวชนที่ถูกจับ ถึงไม่ได้รับความเป็นความธรรม ทำไมเด็กเหล่านี้ถึงไม่ได้รับการประกันตัว

“ผมเคยเข้าไปช่วยในการร้องขอประกันตัวแล้ว ในฐานะนายประกัน แต่โดนเจ้าหน้าที่ปฎิเสธบอกว่า ศาลไม่ให้ประกันตัว เพราะยังไม่มีเหตุให้ประกันตัวกลุ่มผู้ต้องหาและจำเลยในคดี”พนัส กล่าว 

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการ และ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เครดิตภาพ ทวิตเตอร์ Prasitchai Kumbang

ข้องใจทำไม กปปส.ได้ประกันตัว 

พนัส ยังเล่าต่ออีกว่า เหตุการณ์นี้อาจจะทำให้เกิดความสงสัยและคำถามกันมากมายในสังคมว่า ทำไมคดีอื่นๆ ถึงสามารถประกันตัวได้ อย่างที่เราเห็นในช่วงเดียวกัน คือ คดีที่ศาลได้พิพากษาลงโทษของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กกปส. พอศาลพิพากษาแค่เพียงบางคนไม่ทั้งหมด แล้วให้เข้าไปจำคุกเพียง 2 วัน ทำไมถึงได้รับการประกันตัว แต่ทำไมเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องถึงโดนจำคุกกักขัง ทั้ง ๆ ที่ศาลยังไม่ได้พิพากษ์ให้ว่ากระทำความผิด ลงโทษ หรือจำคุกเลย  แต่ทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว หลายคนคงจะสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น

พนัส ยังบอกถึงเกี่ยวกับทางออกในการแก้ปัญหาที่สังคมเจออยู่ ตอนนี้ คือ การแก้ปัญหาจากกฎหมาย  ซึ่งประการสำคัญคือการแก้ที่กลไกล องค์กรที่มีอำนาจ มีหน้าที่ในการตีความ  ในการตีความกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญที่สุดคือศาล

“อย่างน้อยการที่เด็กและเยาวชนออกมาเรียกร้องเราก็ต้องทำใจ เปิดใจให้กว้าง รับฟังเขา ว่าอันที่จริงเขามีเจตนาชั่วร้ายหรือไม่ จากการที่เขาออกมาเรียกร้อง หากเขาบริสุทธิ์ใจ เราก็ยอมรับในสิ่งที่เขาวิพากษ์วิจารณ์แล้วนำมาแก้ไข ผมเชื่อว่า สังคมไทยเราจะน่าอยู่ และดีขึ้นกว่านี้ ”พนัส กล่าวเพิ่มเติม 

image_pdfimage_print