กรุงเทพฯ – ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจภาคบริการ” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 โดยมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวและแรงงานที่ได้รับผลกระทบโรคระบาดโครงการแรงงานใกล้ชิดเข้าร่วม 

ผศ.ดร.ปณิธี บราวน์ อาจารย์ประจำสาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า โครงการวิจัยฯ สนใจศึกษากลุ่มแรงงานใกล้ชิดว่า ได้รับผลกระทบในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 อย่างไร แรงงานใกล้ชิดเป็นแรงงานที่ผู้ให้บริการต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้รับบริการ เช่น พยาบาล ช่างตัดผม พนักงานนวดและสปาเพื่อสุขภาพ และพนักงานต้อนรับในโรงแรม เป็นต้น 

นักวิชาการ กล่าวอีกว่า แรงงานในกลุ่มนี้จึงจัดว่า ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และมิติเพศภาวะ เนื่องจากการจะรักษาระยะห่างทางสังคมในระหว่างที่ให้บริการจะทำได้ยาก งานวิจัยนี้จึงอยากฟังเสียงของผู้ประกอบการและกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในอาชีพภาคบริการที่เป็นแรงงานใกล้ชิดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดนี้ คาดว่า ปลายปีนี้จะนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศด้วย 

รัฐไม่เหลียวแลภาคท่องเที่ยว 

ขณะที่สัญญาพุฒิ เกิดบัณฑิต ตัวแทนสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้เกิดขึ้นช่วงที่มีการประกาศล็อกดาวน์รอบแรกเท่านั้น แต่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2563 แล้ว ทั้งที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่ภาครัฐไม่เคยเหลียวแลธุรกิจโรงแรมเลย 

“ทุกวันนี้ก็ยังตกงานอยู่ เป็นปีแล้ว เมื่อเกิดผลกระทบกับโรงแรมแล้วก็กระทบไปยังทุกหน่วยในธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงบริษัททัวร์ด้วย เมื่อพวกเราไปต่อรอง ภาครัฐก็บอกให้รออย่างเดียว”ตัวแทน สทน.กล่าว 

“ทำไมกระทรวงสาธารสุขจึงไม่ยอมให้เอกชนมีบทบาทในการจัดหาวัคซีน” สัญญาพุฒิ เกิดบัณฑิต ตัวแทนสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ

ข้องใจรัฐไม่เปิดทางเอกชนนำเข้าวัคซีน

สัญญาพุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบข้ามจังหวัด นั้นพบว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ยังปิดอยู่ ดังนั้นจึงอยากให้พิจารณาเรื่องนี้ 

“เราได้แต่รอความหวังว่า จะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ ทำอย่างไรให้มีวัคซีนพาสปอร์ต ในเชิงธุรกิจบอกเลยว่า ช้ามาก จึงมีคำถามว่า ทำไมกระทรวงสาธารสุขจึงไม่ยอมให้เอกชนมีบทบาทในการจัดหาวัคซีน ทั้งที่พร้อมจ่าย ทำไมเราต้องรอภาครัฐบาล ถามว่ารัฐบาลหาเสียงให้ตัวเองอยู่หรือไม่”สัญญาวุฒิ กล่าว 

เขาตั้งคำถามว่า การที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศวันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการตลาด ถ้ายังไม่มีวัคซีนพาสปอร์ตมองว่า เป็นเรื่องยาก ความหวังของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีน  

“พอรัฐบาลสั่งปิดโดยไม่มีแผนบริหารจัดการ อาชีพช่างทำผมไม่มีเงินกินข้าวเลย”มานพ วิเศษโวหาร ตัวแทนสมาคมช่างผม-เสริมสวยแห่งประเทศไทย

ร้านทำผมถูกสั่งปิดข้ามคืน 

ขณะที่มานพ วิเศษโวหาร ตัวแทนสมาคมช่างผม-เสริมสวยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังประกาศล็อกดาวน์รอบแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 กิจการร้านเสริมสวยเป็นกิจการที่ได้รับผลกระทับทันที ภายในวันเดียวที่ถูกสั่งปิดแทบจะไม่มีเงินเลย เพราะเป็นอาชีพอิสระจริงๆ ลูกจ้างแรงงานต้องอาศัยผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้าน ถ้าเจ้าของร้านเงินหนาไม่พอก็ลำบาก

“ร้านผมเป็นร้านเกรดซี พอรัฐบาลสั่งปิดโดยไม่มีแผนบริหารจัดการ เรียกได้ว่าอาชีพนี้ไม่มีเงินกินข้าว เลี้ยงลูกเมียทันที สำหรับผม ภาระหนักหนัก คือ เรื่องค่าเช่าตึกที่ต้องเจรจากับผู้ให้เช่าเอง เคยไปร้องเรียนกับรัฐบาล แต่รัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถไปก้าวก่ายได้ ผมถามว่ารัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินห้ามเครื่องบินเข้าออกได้ แต่ทำไมถึงจัดการเรื่องนี้ไม่ได้”ตัวแทนสมาคมช่างผม-เสริมสวยแห่งประเทศไทย

เขาบอกอีกว่า ส่วนการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบกับการล็อกดาวน์บางพื้นที่นั้นมองว่ามีผลไม่แตกต่างกัน จะแบ่งโซนอย่างไร คนก็กลัวทั้งประเทศ เปิดร้านมาก็เปลืองค่าไฟ เพราะคนยังกลัวอยู่และไม่กล้ามาใช้บริการ 

“สรุปแล้วอาชีพนี้เมื่อถูกสั่งปิดแล้วก็ถูกลอยแพเกือบ 3 เดือน ผมเป็นผู้ประกอบการรายไม่ใหญ่ เจ๊งไป 3 แสนบาท ถาม ส.ส. ในพื้นที่ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ให้คำตอบไม่ได้ว่า จะเยียวยาอย่างไร”มานพ กล่าว 

“สิ่งที่กังวลตอนนี้ คือ การระบาดจะมีระลอก 3 หรือไม่ ผมตอบได้ว่า มีแน่นอน”ชาลี ชีวศรีพฤฒา ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย

พนักงานในธุรกิจสปาเป็นแรงงานนอกระบบ 

ด้านชาลี ชีวศรีพฤฒา ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย กล่าวว่า ในช่วงแรกที่มีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ในส่วนภาคบริการสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจทำผมหรือเสริมสวยเลย หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะบริการนวดเพื่อสุขภาพรายได้หลักจากภาคบริการนี้อิงกับธุรกิจโรงแรม รายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยว 

เขากล่าวอีกว่า เราได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปี 2562 แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มไม่เข้ามา โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมี 2 ส่วน คือ 1.ผลกระทบด้านจิตใจ ทั้งที่เรามีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดการแพร่ระบาดจากกิจการธุรกิจนวดหรือสปาเพื่อสุขภาพ 2.ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ พอร้านนวดถูกสั่งปิด พนักงานนวดตกงาน ไม่มีงานทำทำที ขาดรายได้ทันที  

“แม้จะสั่งยกเลิกการล็อกดาวน์แล้วก็ยังไม่มีลูกค้าทันที เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่น ดังนั้นเป็นเรื่องที่ภาครัฐโดยเฉพาะ รมว.สาธาณสุขจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเรื่องนี้ด้วยต้องเยียวยาจิตใจก่อน แล้วผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจจะตามมา หากรัฐยังไม่การันตีในเรื่องความปลอดภัย แล้วใครจะกล้าเข้าร้านนวด”ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย กล่าว 

หวั่นโควิดระบาดระลอก 3 

เขายังตั้งคำถามถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลว่า เป็นนโยบายที่เกาไม่ถูกที่ การเยียวยาควรเริ่มต้นจากคนที่ได้รับผลกระทบทางตรงก่อน เช่น ภาคท่องเที่ยวหรือภาคบริการที่ถูกสั่งปิด ซึ่งการเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน ใครลงทะเบียนไม่ทันก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ หลายๆ คนก็เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีทำให้เสียโอกาส  

“สิ่งที่กังวลตอนนี้ คือ การระบาดจะมีระลอก 3 หรือไม่ ผมตอบได้ว่า มีแน่นอน เพราะเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ฝรั่งเศสประกาศแล้วล็อกดาวน์แบบเต็มขั้นแล้ว เพราะเอาไม่อยู่”เขากล่าวและว่า “ส่วนวัคซีนพาสปอร์ตเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า ภาครัฐเองก็ยังไม่มั่นใจ หากไม่มั่นใจจะต้องเปิดทั้งประเทศหรือไม่”ชาลี กล่าว

image_pdfimage_print