กรุงเทพฯ – ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “ผลกระทบของโควิดต่อชีวิตของผู้หญิง” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการและแรงงานใกล้ชิดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้าร่วมรับฟัง 

สุนทรี​ เซ่งกิ่ง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาผู้หญิงอีสาน กล่าวว่า ก่อนโควิด-19 ระบาด ได้มีระบบเครือข่ายแรงงานนอกระบบที่มีสมาชิกกว่า 4,780 คน สมาชิกเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ทำงานที่บ้าน หาบแร่ แผงลอย พนักงานนวด เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

“สวัสดิการถ้วนหน้าเท่านั้นจึงจะตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบได้” สุนทรี​ เซ่งกิ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาผู้หญิงอีสาน

แรงงานนอกระบบไร้หลักประกัน 

สุนทรี​ กล่าวอีกว่า ช่วงโควิดระบาดแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบทางอาชีพและรายได้ ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้กลับมาทำงานและอาจจะไม่กลับมาทำงาน บางคนต้องเตรียมเปลี่ยนอาชีพ เพราะไม่มีหลักประกันแรงงาน โดยแรงงานกลุ่มนี้จะแตกต่างจากข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำ 

“ตอนนี้สถานการณ์ของแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งพวกเขาก็กังวลถึงอนาคตมาก เพราะไม่มีเงินเก็บ แถมยังมีภาระหนี้สิน ทำให้บางครอบครัวต้องลดคุณภาพอาหาร ขณะเดียวกันลูกหลานก็ไม่ได้ไปโรงเรียนจะสอนหนังสืออย่างไร สวัสดิการถ้วนหน้าเท่านั้นจึงจะตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้”ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาผู้หญิงอีสาน 

เธอกล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายการกู้เงิน 4 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่จะนำมาแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดนั้นก็ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จำนวนนี้ได้  

บรรยากาศการเสวนาหัวข้อ “ผลกระทบของโควิดต่อชีวิตของผู้หญิง” จัดโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

พบผู้พิการกระทบจากโควิดกว่า 3 แสน

ขณะที่ เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในกทม.และปริมณฑล โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้หญิงสูงอายุ ซึ่งพบว่า เมื่อลูกหลานตกงานก็กลับไปอยู่กับแม่และต้องใช้เงินจากเบี้ยคนชราร่วมกับแม่ ทั้งที่เงินเพียง 600 บาทก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว เมื่อลูกตกงานสุขภาพจิตก็ไม่ดีอยู่แล้วก็สร้างปัญหาใ้ห้ผู้หญิงสูงอายุเหล่านี้ 

ส่วนกลุ่มที่ 2. เป็นผู้พิการอยู่ในภาคนอกระบบที่ต้องสัมผัสผู้คนต้องตกงานกว่า 3 แสนคนจากจำนวนผู้พิการกว่า 2 ล้านกว่าคน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมที่พบว่า มีผู้หญิงมาขอรับความช่วยเหลือและมาอยู่บ้านพักฉุกเฉินเป็นครั้งแรก จากเดิมที่มีแต่ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอื่น 

เธอยังกล่าวถึงข้อมูลการวิจัยอีกว่า สำหรับกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มพยาบาลที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและอสม.ที่ทำหน้าที่ดูแลตั้งแต่ผู้ป่วยติดเตียงจนถึงติดตามเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในชุมชน ซึ่งในจำนวน อสม.กว่า 1 ล้าน 6 แสนคน มีผู้หญิงถึง 8 แสนคน ทั้ง 4 กลุ่มอยู่ในความเสี่ยงที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ

“รัฐควรผลักดันให้มีกองทุนบำนาญแห่งชาติให้เร็วที่สุดเพื่อสร้างหลักประกันชีวิตให้กับแรงงานนอกระบบ” เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา

จี้เร่งผลักดันกองทุนบำนาญแห่งชาติ

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า บทเรียนจากมาตรการเยียวยาของรัฐ คือ ประเทศไทยไม่มีศูนย์กลางของฐานข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นต้น  

“รัฐควรมีแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวสำหรับแรงงานนอกระบบ ที่ต้องให้พวกเขาเข้าสู่ระบบประกันสังคมที่มั่นคง มีเงินบำนาญชีวิต และผลักดันให้มีกองทุนบำนาญแห่งชาติให้เร็วที่สุดเพื่อสร้างหลักประกันชีวิตให้กับแรงงานกลุ่มนี้”เรืองรวี เสนอ  

อ่านเพิ่มเติม

image_pdfimage_print