วิทยากร โสวัตร เรื่อง
ผมค่อนข้างรังเกียจวาทกรรมคนอีสาน โง่-จน-เจ็บ
เปล่า ไม่ใช่รังเกียจตัวคำ เพราะอย่างน้อยมันได้สะท้อนความจริงช่วงหนึ่งของคนอีสาน ถ้าคุณอ่านรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม ดูก็ได้ ช่วงเวลาในเรื่องราวที่อยู่ในเล่มนั้นแหละที่สะท้อนได้ดีที่สุด
แต่ผมรู้สึกรังเกียจพวกนักวิชาการ นักเขียน ยุคหลัง หรือใครก็ตามที่ยัง “เล่น” กับวาทกรรมนี้อยู่ ทำราวกับว่าคนอีสาน สังคมอีสานไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยมีพัฒนาการทางสติปัญญาและคุณภาพชีวิตใดใดเลย ซึ่งมันไม่จริงหรือจริงไม่หมด (จริงน้อยเต็มที) และที่เลวร้ายกว่านั้น ทำเหมือนกับว่าความโง่-จน-เจ็บนี่ผูกติดอยู่แต่กับคนอีสานเท่านั้น – แหม่ ผมว่าพวกตาไม่สว่างนี่ โง่กว่านะ โง่ถึงขั้นว่าเจ็บยังไม่รู้ว่าตัวเองเจ็บอีก เพราะความหลงและความที่มองโครงสร้างไม่ออก
และแน่นอนว่า อีสานนี่ถือว่า เป็นภูมิภาคที่ “คนตาสว่าง” มากที่สุดภาคหนึ่งนะครับ
ในหนังสือ อุบล ๒๐๐ ปี ในภาคของนักการเมืองยืนยันชัดเจนถึงความพยายามของนักการเมืองสายประชาธิปไตย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะยกระดับโครงสร้างการศึกษา เศรษฐกิจของอีสานให้เชื่อมโยงเท่าเทียมกับทุกภาค
และคนอีสานยุคนั้นก็ตื่นตัวกันมากและเติบโตทันการอย่างมาก ถึงขั้นที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายบอกกับลูกหลานว่า “เอาหมากลิ้นฟ้ามาพาดบ่าให้พ่อแม่แนนา” นั่นหมายถึงการเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อเป็นทนายหรือนักการเมือง ผมเองเคยเห็นบ้านของคนรุ่นนั้นเต็มไปด้วยหนังสือดีๆ และเอกสารการบรรยายของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองถูกเข้าเล่มปกแข็งสันโค้งไว้อย่างดี
และตอนนั้นต้องยอมรับว่า ฝ่ายอนุรักษ์หรือกษัตริย์นิยมก็อ่อนกำลังหรืออยู่ในช่วงที่กำลังรอจังหวะเตรียมการช่วงชิงอำนาจคืนอยู่ด้วย
แต่ช่วงปลายปี 2480 ถึงต้นปี 90 นั่นแหละที่ทุกอย่างเริ่มพัง พร้อมๆ กับการหมดอำนาจไปของคณะราษฎร และพอการเข้ามาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมเผด็จการ นั่นเองที่ทำลายโครงสร้างอำนาจของราษฎรทั้งประเทศ และวาทกรรม “นักการเมืองเลว” และ โปรความเป็นรัฐราชการก็เกิดในยุคนี้เอง
ตอนเป็นสามเณรบวชเรียน (2533 – 2540) สนใจปัญหาสังคมก็ได้ยินวาทกรรม โง่-จน-เจ็บ จากฝ่าย NGOs และนักวิชาการ นักเขียน ซึ่งก็รับช่วงมรดกเฮงซวยทางความคิดจินตนาการนี้มาจากยุคจอมเผด็จการสฤษดิ์นั่นแหละครับ ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัยที่คณะเกษตรฯ ม.อุบลฯ ลงเรียนวิชาการ working with farmer ช่วงปลายเป็นนักศึกษาราวๆ ปี 2543 ก็ได้เรียนเกี่ยวกับวาทกรรมนี้ซึ่งตอนนั้นมันก็เบาบางเต็มทีแล้ว
โอเคแหละว่า ประชาชนที่เติบโตและอาจก้าวพ้นความโง่-จน-เจ็บ ที่ว่าอาจจะเป็นประชาชนในแนวจัดตั้งของNGOs แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงสองอย่าง คือ หนึ่ง NGOs ก็ติดกรอบ/กับดักและไปไม่พ้นกษัตริย์นิยมหรือไม่ก้าวหน้าเพียงพอ หนังสือเรื่อง รัฐสยามกับการจัดการธรรมชาติ: ประวัติศาสตร์ แนวคิด และความรู้เรื่องศัตรูพืชในสังคมไทย ของ ทิวาพร ใจก้อน ชี้เรื่องนี้ไว้ชัดเจนด้วยหลักฐานและเหตุผลที่หนักแน่น สอง ประชาชนในแนวจัดตั้งของ NGOs มีจำนวนน้อยและน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนอีสาน
กระทั่งการมาถึงของรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งถูกเรียกว่า รัฐธรรมนูญกินได้ ในความเห็นของผมถือว่า เป็นจุดจบของวาทกรรม โง่-จน-เจ็บ เราดูการเติบโตของประชาชนอีสานสิครับ ดูการยกระดับความรู้ วิชาชีพ รายได้ เศรษฐกิจ
การเติบโตของคนอีสานในช่วงรัฐบาลทักษิณซึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีคำถามที่สำคัญว่า อะไรที่ทำให้คนอีสานเติบโตได้ขนาดนั้น? เป็นไปได้หรือครับว่าคนที่ไม่มีพัฒนาการอะไรมาเลย อยู่ๆ จะเติบโตแบบก้าวกระโดดขนาดนั้น เติบโตถึงขั้นว่าไม่ต้องง้อ NGOs ไม่เกรงกลัวข้าราชการเพราะเข้าถึงอำนาจอธิปไตย นั่นทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่ค้อมหัวให้เจ้านาย ข้าราชการ เป็นยุคสมัยที่ข้าราชการ “รับใช้” ประชาชนมากสุดๆ แล้ว เกิดมายังไม่เคยเห็นข้าราชการพูดดีกับประชาชนเท่ายุคนี้เลย
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย มาให้กำลังใจและทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแบบพื้นบ้านอีสานให้ เดวิด สเตร็คฟัสส์ ที่สำนักงาน The Isaan Record เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
และการที่คนอีสานรู้จักต่อลองหรือใช้นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อแชร์ผลประโยชน์ชาติให้ตัวเองเข้าถึงได้มากที่สุดนี่ มันโง่หรือ? มันไม่ได้สะท้อนถึงพลังอำนาจของประชาชนอีสานหรือ? ถ้าเทียบกับคนที่เอะอะก็เรียกทหารมายึดอำนาจและเฮโลกันนี่ ใครกันที่โง่กว่า? จนโอกาสกว่า? เจ็บกว่า?
และการที่เรายอมตายในช่วงเมษา-พฤษภา ‘53 นี่ไม่ใช่เพราะเราโง่นะครับ เรากล้าหาญที่จะปกป้องสิทธิและความพึงมีพึงได้ของเราในระบอบประชาธิปไตยต่างหาก และเรารู้ว่า มีแค่ระบอบนี้แหละที่จะทำให้เราเข้าถึงการแชร์ทรัพยากรชาติได้
และเมื่อ NGOs และนักวิชาการ นักเขียน ไปร่วมเป็นพันธมิตรแม่น้ำสี่ซ่าห้าสายกับ กปปส. และเป็นนั่งร้านให้กองทัพทำรัฐประหารทำลายระบอบประชาธิปไตย มันยิ่งตอกย้ำชัดเจนในความจริงทั้งสองข้อที่กล่าวข้างต้น
ทีนี้เห็นพัฒนาการของคนอีสาน เห็นความเปลี่ยนไปของคนอีสานหรือยัง?
และพอมาถึงทุกวันนี้ยังมีคนมา “เล่น” มาติดกับวาทกรรม โง่-จน-เจ็บ ตกลงใครโง่จนไม่รู้ตัวว่า เจ็บกันแน่ และที่แน่กว่านั้น แม่-ง เราจะจนกันถ้วนหน้าน่ะสิ ใครกันแน่ที่ “หากิน” กับวาทกรรมนี้ ใครกันที่ยังกระทำการเพราะอยากให้คนอีสานโง่-จน-เจ็บ
ยกตัวอย่างกรณี David Streckfuss ที่ถูกคนบางคนบางกลุ่ม (แน่นอนว่า ถ้าโยงแล้วก็ต้องเกี่ยวกับศูนย์อำนาจส่วนกลาง) ใช้วาทกรรมว่า เดวิดมีการกระทำและพยายามยุยงให้คนอีสานแยกประเทศจนเกิดความเกลียดชังและเข้าใจผิดขึ้น
ทีนี้ ลองย้อนมองประวัติศาสตร์ช่วงตอนที่อดีตสี่รัฐมนตรีอีสานถูกจับกุมและฆาตกรรม เสรีไทยสายอีสานถูกกล่าวหา จับขัง ยิงเป้า ก็ด้วยวาทกรรมลวงโลกแบบเดียวกันนี้ไม่ใช่หรือ
ชะตากรรมที่เหมือนถูกสาปนี้ของคนอีสานกับคนสามจังหวัดชายแดนใต้มีเหมือนกันคือนอกจากในระดับประเทศจะโดนครอบด้วยกฎหมายมาตรา 112 แล้ว เรายังถูกมัดด้วยข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน แบ่งแยกประเทศอยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเป็นแค่การกล่าวหาอันหาหลักฐานอะไรไม่ได้ แต่คนไทยก็พร้อมเชื่อ โดยเฉพาะคนของทางการและฝ่ายอนุรักษ์นิยม
หรืออย่างที่ลูกหลานคนอีสานที่ไปจับปืนบนภูพานทำสงครามประชาชนก็ด้วยต้องการชีวิตที่ดีกว่าก็ตายกันเป็นเบือ (ทั้งทหารป่าและทหารเมือง) ก็ด้วยวาทกรรมแบบนี้ไม่ใช่หรือ
แล้วใครกันที่สร้างวาทกรรมแบบนี้ให้เกิดโศกนาฏกรรมกับคนในประเทศเดียวกัน?
และลองย้อนข้อมูลกันอีกหน่อย คือตั้งแต่สี่นักการเมืองอีสานอดีตรัฐมนตรีตาย อีสานก็แทบไม่ได้รับการเหลียวแลพัฒนาเลยนะครับ พัฒนาช้ามากๆ ถูกทอดทิ้ง อัตราการพัฒนาเมื่อเทียบต่อหัวแล้วน้อยกว่าทุกภาคเลย นี่จึงเป็นเหตุผลหลักของการเกิดแรงงานอพยพ ทำให้อีสานร้างเหลือแต่คนแก่กับเด็ก ทำให้ศักยภาพในการพัฒนาด้อยลง เด็กอีสานเท่าไรต่อเท่าไรที่ขาดความอับอุ่นกินเวลาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคน
นี่มันเป็นความจงใจของนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางชัดๆ ทีนี้ถามว่า ภาคไหนไม่เจอแบบเดียวกันนี้หรือครับ?
จะมีการพัฒนาหน่อย ก็ช่วงสงครามเย็น สงครามประชาชน แต่นั่นก็เป็นยุทธวิธีของทางการที่จะดึงมวลชนและตัดถนนไปล้อม ไปฆ่าคอมมิวนิสต์ แต่พอสงครามจบ การพัฒนาทุกๆ อย่างในอีสานก็เหมือนจะจบไปด้วย ทิ้งไว้แต่ปัญหา
ทั้งหมดนี้เราไม่เคยรู้เลยนะครับ ไม่เคยมีในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา คือ มันถูกทำให้ลืม ไม่ถูกทำให้ได้รับการสนใจ (ก็เพราะเขาไม่สนใจเราไง) ทั้งที่ทุกอย่างนี้มันเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่อยู่นอกห้องเรียน
และสิ่งนี้ David Streckfuss ทำให้ปรากฏ !
ไม่เพียงแต่ทำให้ปรากฏ แต่เขายังทำโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการนำอีกโลกทัศน์ที่กว้างไกลมาสู่นักศึกษาในอีสาน อีกด้านหนึ่งคือการนำพานักศึกษาจากอีกซีกโลกมาศึกษาค้นหาความจริงของคนอีสาน ขยายความเข้าใจต่อคนอีสาน นำภาพลักษณ์ที่ดีของคนอีสานให้ไปสู่การรับรู้ระดับนานาชาติ
การที่เขาทำเว็บไซต์ The Isaan record คือ การบันทึกเสียงของคนอีสานเชิงลึกและทันเหตุการณ์ และยังให้คนอีสานได้รับรู้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้พัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ตัวเองอย่างง่ายและเสรี หรืออย่างการสร้างความเข้าใจเรื่องเมียฝรั่งอย่างมีหลักฐาน มีเหตุผล มีคุณูปการต่ออีสานและเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นผู้หญิงอีสาน
ไม่นับผลงานวิชาการ/บทความที่เขาเขียนเผยแพร่ลงในสื่อชั้นนำ
ดังนั้นการมีอยู่ของ David Streckfuss และให้เขาทำงานในอีสาน (บ้านของเขา) คนอีสาน แผ่นดินอีสานมีแต่ได้กับได้
แล้วการมาปลุกปั่นด้วยข้อมูลลอยๆ แบบวาทกรรมเดิมแบบนี้ ตกลงใครกันแน่ที่ทำให้คนอีสานดูเป็นคน โง่-จน-เจ็บ และอยากให้วาทกรรมนี้เป็นตราประทับคนอีสานชั่วนิรันดร์