ในปี ค.ศ.1883 (พ.ศ.2426) ชุมชนคาทอลิกกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในตัวเมืองสกลนคร แต่เกิดปัญหาเรื่องที่ดินเพื่อพักอาศัยและทำกิน รวมถึงการถูกกลั่นแกล้งจากข้าหลวง ต่อมาเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งห้ามติดต่อกับมิชชันนารี โดยมีโทษปรับ และเฆี่ยนด้วยหวาย 

จากนั้น บาทหลวงซาเวียร์ เกโก จึงพาคริสตชนกลุ่มนี้ย้ายถิ่นฐานจากตัวเมืองสกลนคร โดยการนำเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกันให้เป็นแพใหญ่ แล้วใช้ผ้าห่มขึงเป็นใบ ในที่สุดพวกเขาก็สามารถข้ามไปยังอีกฟากของหนองหารได้อย่างปลอดภัย จึงเกิดเป็นหมู่บ้านคริสตชนท่าแแร่ขึ้น เมื่อปี 2474  

บ้านของคริสตชนท่าแร่ จ.สกลนคร 

ท่าแร่เริ่มจากการต่อต้านการกินเนื้อหมา

วารุณี ศรีวรพูล คนในชุมชนท่าแร่เล่าตำนานของชุมชนว่า ในอดีตคนทั่วไปจะรู้จักท่าแร่เพราะเนื้อหมา 

“เมื่อก่อนก็เป็นหมู่บ้านเงียบๆ เงียบมาก แล้วเริ่มดังจาก ‘เนื้อหมา’ ย้อนไปประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว ที่นี่เคยขายหมา เพราะมีคนเวียดนามอยู่เยอะ คนเวียดนามชอบกินหมา แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะคนเขาต่อต้าน”เธอเล่า 

หลังเกิดการต่อต้านเรื่อง ‘การกินหมา’ ทั้งจากคนในพื้นที่และในทางกฎหมาย (พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์) ทำให้ ‘ท่าแร่’ เป็นที่รู้จักใหม่ในนาม ‘ท่าแร่เมืองศาสนา พลังศรัทธาในพระเจ้า’ จากประเพณีแห่ดาวช่วงวันคริสต์มาสที่ดังออกไปทั่วประเทศ 

ลำพร สารธิยากุล ผู้นำชุมชนกลุ่มทำดาวของชุมชนท่าแร่ จ.สกลนคร

ท่าแร่ชุมชนแห่งดาวล้านดวง

เมื่อท่าแร่เริ่มได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นเมื่อปี 2546 ทำให้ ปรานชัย บวรรัตนปราน ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ขณะนั้น ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บรรจุประเพณีแห่ดาวให้เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวงานหนึ่งของจังหวัดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมและร่วมงานคริสต์มาสที่สกลนคร 

ลำพร สารธิยากุล ผู้นำชุมชนกลุ่มทำดาวกล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยความกังวลว่า วัฒนธรรมจะเสีย ซึ่งประเพณีแห่ดาวก็ดังไปไกล คือ เราก็ทำของเราแล้วพอจังหวัดอยากเข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมเทศกาลแห่ดาว เราก็ไม่อยากปฏิเสธ ไม่อยากให้มองเป็นอย่างอื่นไป

‘ดาว’ คือ สัญลักษณ์ของการเสด็จลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ของพระเยซูเจ้า ในช่วงคริสต์มาสของทุกปี คริสตชนที่หมู่บ้านจึงร่วมกันจัด ‘พิธีแห่ดาว’ ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคมของทุกปี มีรถขบวนแห่ดาวใหญ่ พร้อมทั้งประดับดาวในวัดและตามบ้านเรือน จนเกิดเป็นที่รู้จักในนามเทศกาล ‘ท่าแร่ ดาวล้านดวง’ 

“เราไม่ได้ชอบให้ใครมาวุ่นวาย จนเราหลงระเริงไปว่าสนุก เงินทองเข้ามาแล้วจะทำให้วิญญาณ คือ ความเชื่อเสียไปกับสิ่งที่ยั่วยุ”เธอกล่าว

‘ท่าแร่’ ไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามามีบทบาทของรัฐหรือหน่วยงานอื่น ที่เข้ามากระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และเทศกาลแห่ดาว แต่พวกเขาเพียงต้องการให้ความเชื่อและความศรัทธาเหนี่ยวแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น 

เอกสารเก่าจากพิพิธภัณฑ์อัครเทวดามีคาแอล

บ้าน วัด โรงเรียน ผสานกันเป็นคริสตชนท่าแร่

ทุกๆ เช้า จะได้ยินเสียงระฆังดังก้องหมู่บ้าน เป็นสัญญาณเตือนให้คนในชุมชนรู้ว่าว่า ผู้ใหญ่ให้ไปโบสถ์ ส่วนเด็กชั้นประถมให้ไปเรียนคำสอน

นักเรียนชั้น ป.1-6 จะต้อง ‘เรียนคำสอนกับซิสเตอร์’ (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์) เมื่อเรียนคำสอนเสร็จประมาณเวลา 7.15 น. จึงไปเรียนวิชาทั่วไปที่โรงเรียน โดยมีข้อกำหนดร่วมกันในชุมชนว่า ครอบครัวต้องดูแลให้ลูกไปเรียนคำสอนตามวันและเวลา ส่วนซิสเตอร์ทำหน้าที่สอนพระคัมภีร์ และโรงเรียนจะคอยติดตามว่า นักเรียนไปเรียนคำสอนหรือไม่ 

นอกจากการศึกษาทั่วไปตามหลักสูตรรัฐบาลแล้ว ยังมีโรงเรียนเณรหรือบ้านเณร ซึ่งเป็นการเรียนหนังสือตามปกติ ต่างกันที่ความเคร่งระเบียบวินัย และต้องปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาควบคู่ไปด้วย

พาณิช เถาวัลย์ เจ้าของร้านเสริมสวยและทำหน้าที่ร้องประสานเสียงในโบสถ์ 

เพื่อนบ้านและสันติสุข

พาณิช เถาวัลย์ หรือ ธารา หนึ่งในเจ้าของเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่โบสถ์ เล่าให้ฟังว่า ถึงจะแสดงออกเรื่องการแต่งตัวอย่างไร ไม่ว่าจะใส่ผ้าซิ่นไปโบสถ์ หรือแต่งกายแบบไหน เป็นเพศอะไร ก็ไม่เคยรู้สึกหรือถูกทำให้รู้สึกว่า แตกต่างจากคริสตชนคนอื่น

“พี่จะแต่งตัวยังไงก็ไม่เป็นปัญหา ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรากำหนด พี่เป็นตัวของตัวเอง” เขากล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงออกให้เป็นตัวของตัวเอง 

เมื่อถามชาวบ้านคนอื่น ก็เห็นพ้องต้องกันว่า เธอเป็นคนขยัน ชอบช่วยงานที่โบสถ์บ่อยๆ แม้ว่าเธอจะแสดงความเป็นตัวเองออกมาอย่างชัดเจน แต่ทุกคนก็ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับเขา หรือมองว่าเขาเป็นอื่น คนที่นี่รักเพื่อนบ้านเหมือนรักคนในครอบครัว ดังธรรมบัญญัติที่ว่า

‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง – กาลาเทีย 5:1’ 

image_pdfimage_print