การต้องทำงานใกล้ชิดลูกค้าทำให้ หมอนวดร้านสปา ช่างทำผม พยาบาล และอีกหลายอาชีพต้องอยู่ในภาวะความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด -19 ซ้ำร้ายอาชีพเหล่านี้กลับเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ตกงานก่อนคนอื่น

หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

ดลวรรฒ สุนสุข ภาพ 

ร้านนวดสปาขนาดความกว้างประมาณ 30 ตารางเมตร ในตึกแถวสูง 3 ชั้น ย่านวัชรพล กรุงเทพมหานครวันนี้เกือบร้างไร้ผู้คน ทั้งที่ย่านนี้เคยเป็นแหล่งธุรกิจ ใกล้กับตลาดถนอมมิตร ผู้คนพลุกพล่าน 

แต่พิษระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ก็ทำให้ลูกค้าหดหาย ซึ่งมาพร้อมคำสั่งของรัฐบาลให้ปิดร้าน เพราะร้านนวดสปาถือเป็นแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานใกล้ชิดลูกค้า มีโอกาสติดไวรัสได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ  

พนักงานนวดทั้งหญิง-ชายของร้านธาราวดีกว่า 10 ชีวิตจาก 2 สาขาที่มีคูหาใกล้กันจำเป็นต้องหยุดงานอย่างกระทันหัน 

“พอตกงานก็ไม่กล้ากลับบ้านที่โคราช เพราะชาวบ้านกลัวคนจากกรุงเทพฯ อีกอย่างถ้ากลับบ้านต้องใช้เงินเยอะ เราไม่มีเงิน ช่วงร้านปิดก็อยู่แต่ในห้องพัก กินมาม่า ไม่มีเงินจนต้องเอาทองไปจำนำ”ศิริลักษณ์ พุทธไธสง หรือ หมิว ชาวจังหวัดนครราชสีมาวัย 48 ปี โอดครวญถึงชะตากรรมที่ประสบระหว่างระบาดของโควิด-19 รอบแรก 

การตกงานในวัยเกือบจะ 50 ทำให้เธออดประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ว่า อาจจะเป็นการตกงานถาวรหรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่า การระบาดของโรคจะสิ้นสุดลงเมื่อใด 

“โอ๊ย ชีวิตมันลำบากหลาย อยู่บ้านกะบ่มีงานเฮ็ด เพราะเฮ็ดนาปีละเทื่อ เลยต้องมาหางานกรุงเทพฯ ส่งลูกเรียน”ศิริลักษณ์ พุทธไธสง หมอนวดร้านสปา ชาวจังหวัดนครราชสีมา

หมอนวดชีวิตไร้หลักประกัน

ประกอบกับขณะนั้นเธอยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมทำให้ไร้หลักประกันชีวิต 

ก่อนโควิดจะระบาดรอบแรกเธอเคยมีรายได้จากร้านนวดเฉลี่ยเดือนละ 15,000-20,000 บาท เงินจำนวนนั้นเธอต้องนำมาจุนเจือครอบครัว ทั้งเป็นค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซด์ ค่าเช่าห้อง รวมทั้งส่งให้ลูกชายที่อาศัยอยู่กับแม่ที่ต่างจังหวัดเป็นค่าเล่าเรียน 

“โอ๊ย ชีวิตมันลำบากหลาย อยู่บ้านกะบ่มีงานเฮ็ด เพราะเฮ็ดนาปีละเทื่อ เลยต้องมาหางานกรุงเทพฯ ส่งลูกเรียน เป็นหมอนวดมา 7 ปีแล้ว พอตกงานกะกินข้าวบ่ได้เลย”เป็นประสบการณ์ของหญิงอีสานในเมืองใหญ่ที่เผชิญความลำบากไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน 

ปราณิสา สุดวิเศษ เจ้าของร้านนวดธาราวดี กรุงเทพฯ

เสียหายเจ็ดหลักใครเยียวยา

อีกฟากหนึ่งที่เจ็บปวดไม่แพ้คนอื่น คือ ผู้ประกอบการร้านนวด โดย ปราณิสา สุดวิเศษ เจ้าของร้านนวดธาราวดี กรุงเทพฯ บอกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระบาดตั้งแต่ครั้งแรก (ยังไม่รวมการระบาดรอบ 3) 

“เสียหายน่าจะ 7 หลักน่ะค่ะ เป็นทั้งค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าซ่อม ที่ไม่ได้ใช้งาน พอเรากลับมาเปิดร้านอีกครั้งก็ต้องซ่อม ปรับปรุง ตกแต่งใหม่”ปราณิสา บอกเล่าจากประสบการณ์ในฐานะเจ้าของร้าน  

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทำให้เธอต้องใช้เงินเก็บที่สะสมไว้เพื่อต่อลมหายใจให้ร้านนวดสปาทั้ง 2 สาขาให้อยู่ต่อ 

“ตอนนี้ร้านนวดก็ปิดตัวกันเยอะแล้ว บางคนก็บอกว่า ถ้าสายป่านไม่ยาว ก็คืออยู่ไม่ได้ แต่เผอิญเราก็ทำงานเผื่ออนาคตมาหลายปีมากแล้ว แต่ก็แทบจะไม่ไหว”เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย เพราะการแบกรับภาระต้นทุนทำธุรกิจโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐทำให้เธอ “ล้มทั้งยืน” 

ตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิดรอบแรก แม้ร้านนวดสปาที่เป็นเจ้าของทั้งสองแห่งจะปิดตัว ไม่รับลูกค้า แต่ภายในร้านก็ยังเปิดพื้นที่ให้พนักงานกว่า 10 ชีวิตมาปรับทุกข์ในช่วงที่ต้องตกงาน โดยมีข้าวสารอาหารแห้งไว้คอยเกื้อหนุนยามทุกข์ยาก 

“หลายคนก็บอกให้ปรับร้านเป็นร้านอาหาร เพราะช่วงโควิดอาหารขายได้ แต่เราเป็นร้านนวดสปา พอกลับมาเปิดร้านก็จะมีกลิ่นอาหาร ใครจะเข้าร้าน อีกอย่างถ้าเราทำอาหารขายก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ขาย เราต้องแข่งกับอีกกี่เจ้ากว่าจะเป็นที่รู้จัก”ถือเป็นเหตุผลที่ทำให้ปราณิสาควักเงินเก็บก้อนสุดท้ายมาทุ่มกับกิจการของเธออีกคร้ังก่อนจะต้องพายุระลอกในการระบาดครั้งที่ 3 

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านนวดสปาที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องปรับตัวและรักษาความสะอาดตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเจ้าของกิจการต้องลงทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ เพราะพนักงานต้องสัมผัสลูกค้า 

จากเดิมที่ลูกจ้างไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม เพราะรายได้ไม่แน่นอน แต่การต้องเผชิญกับภาวะตกงานก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาสวัสดิการรองรับลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสิทธิการเยียวยาจากรัฐ 

พนักงานร้านนวดสปาต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและสถานประกอบการต้องได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในความสะอาด

ช่างทำผม รายได้ที่ไม่แน่นอน 

ไม่เพียงแต่พนักงานนวดสปาเท่านั้นที่ไม่มีหลักประกันในชีวิต แต่ยังมีอีกหลายอาชีพที่ต้องรับเงินเป็นรายวัน ไม่มีรายได้แน่นอน

“ก่อนโควิดมีรายได้เดือนละ 4-5 หมื่นนะ ตอนนั้นลูกค้าเยอะ พอถูกสั่งปิด ตกงานกระทันหันโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เพราะอาชีพทำผม ไม่มีหลักประกัน หรือว่าอะไรมากมาย”ศิริพรรณ สุขศรี หรือช่างอ้อย ช่างทำผมในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง กทม. เล่าด้วยน้ำเสียงรายเรียบและแววตาปวดปร่า 

เธอทำอาชีพนี้มากว่า 10 ปีจึงมีความชำนาญด้านการทำผมทุกรูปแบบ ทั้งตัด ดัด ซอย อบไอน้ำ ฯลฯ เป็นงานถนัดที่คลุกคลีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 

กระทั่งเกิดโรคระบาดทำให้ร้านทำผมเป็นสถานประกอบการแห่งแรกๆ ที่ถูกสั่งปิด เพราะทำงานใกล้ชิดลูกค้า ทำให้พนักงานทุกคนในร้านต้องกลายเป็นคนตกงาน ไม่มีหลักประกันทางสังคม

“ช่วงที่ตกงาน เราก็เอาเงินเก็บมาใช้ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา แต่ก็ต้องไปแย่งชิง ใครเร็วใครได้ บางคนที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์มีอีกเยอะ”เป็นประสบการณ์ที่เธอเจอในช่วงขอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐ 

“ช่วงที่ตกงาน เราก็เอาเงินเก็บมาใช้ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา แต่ก็ต้องไปแย่งชิง” ศิริพรรณ สุขศรี ช่างทำผมในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง กทม.

ดอกเบี้ยบ้านภาระที่คงค้างช่วงตกงาน 

ระหว่างที่รอให้ร้านทำผมกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ค่าใช้จ่ายรายวัน ทั้งค่าอาหารการกิน ค่าผ่อนบ้าน ค่าดูแลลูกวัยเยาว์ การดูแลครอบครัว ฯลฯ ถือเป็นภาระที่หนักอึ้งที่เธอต้องแบกรับ 

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ สามีที่เป็นคู่ชีวิต ซึ่งประกอบธุรกิจส่วนตัวด้วยการดูแลรถแท็กซี่ให้เช่าก็มาประสบปัญหาไร้ผู้เช่า ทำให้ครอบครัวอยู่ในภาวะเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด 

“ช่วงนั้นมันมีมรสุมหลายอย่าง เพราะเรามีหนี้บ้านที่อยากให้รัฐบาลช่วยพักหนี้ เหมือนแช่แข็งมันไว้ แต่ที่เป็นทุกวันนี้ เขาแค่ให้หยุดเพื่อไม่ให้เราเสียเครดิต แต่ดอกเบี้ยก็ยังไหลเหมือนเดิม”เป็นสิ่งที่ช่างอ้อยต้องการอยากให้รัฐช่วยเหลือในช่วงวิกฤต

ช่วงเวลาแห่งการตกงาน แม้จะทำให้เธอมีเวลาเลี้ยงลูกชายวัย 3 ขวบ แต่ก็ต้องพะว้าพะวงว่า ลูกอาจจะติดเชื้อโควิดหรือเปล่า ประกอบกับแม่สามีวัยชราก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เธอต้องระวังเป็นพิเศษ 

แม้ว่า ร้านทำผมจะสามารถกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่เธอและเพื่อนร่วมงานก็ต่างระแวดระวัง รวมถึงต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยครั้ง 

“เราก็กลัวว่า เราจะเอาเชื้อไปแพร่ที่บ้าน เพราะมีทั้งเด็กเล็กและคนแก่”เป็นสิ่งที่เธอกังวล 

การกลับมาเปิดร้านหลังการระบาดรอบ 2 จึงทำให้เธอมีทักษะการดูแลตัวเองมากขึ้น รวมถึงใส่ใจเรื่องความสะอาด เพราะถ้าพลาดนั่นหมายความว่า ชีวิตในอ้อมกอดของเธอก็พลอยจะได้รับผลกระทบไปด้วย 

ขณะที่ทีมงาน The Isaan Record พูดคุยกับเธอนั้นเป็นช่วงของกระแสข่าวการเริ่มต้นการระบาดระลอกที่ 3 ที่เธอก็ได้แต่หวังว่า ชะตาชีวิตของพนักงานรายวันจะไม่แย่ไปกว่านี้ 

ผศ.ดร.ปณิธี (สุขสมบูรณ์) บราวน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

ตกงานภาวะแห่งความเครียด 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยสำรวจ เรื่อง “ตกงาน ปัญหาใหญ่! ของคนไทย ณ วันนี้” พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 65.94 เกิดความเครียด วิตกกังลกับภาวะตกงาน โดยมีค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพมากกว่า 38.65 รองลงมามีหนี้บัตรเครดิตร้อยละ 22.49 โดยกว่าร้อยละ 47.10 มีเงินออมลดลง

ทั้งนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประมาณการณ์ว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมามีคนตกงานจากโควิด-19 ถึง 7 ล้านคน โดยเกินกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม 

“ถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกมันไม่ใช่ประเด็นในเชิงสุขภาพอย่างเดียวเท่านั้นแล้ว มันเป็นประเด็นในเชิงเศรษฐกิจ ในเชิงสังคม ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย และระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วย”ผศ.ดร.ปณิธี (สุขสมบูรณ์) บราวน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกถึงวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยหัวข้อ “แรงงานใกล้ชิด” ภายใต้บริบทของโรคระบาด: การศึกษาเบื้องต้นในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 

ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยที่เก็บรวบรวมข้อมูลเธอจึงได้แต่หวังว่า ข้อมูลที่ทีมนักวิชาการได้ลงสนามเก็บข้อมูลจะนำไปนโยบายของรัฐที่ช่วยเหลือถ้วนหน้าและช่วยเหลือในเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นเร่งด่วน

……………

หมายเหตุ : รายงานพิเศษชิ้นนี้เป็นความร่วมมือกับโครงการวิจัย “แรงงานใกล้ชิด” ภายใต้บริบทของโรคระบาด : การศึกษาเบื้องต้นในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยทุนสนับสนุนการวิจัยจากโครงการสตรี เยาวชนและครอบครัวศึกษา สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยทุนสนับสนุนการวิจัยจากโครงการสตรี เยาวชนและครอบครัวศึกษา สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

แรงงานใกล้ชิดกับผลกระทบโควิด-19

องค์กรผู้หญิงจี้รัฐดันสวัสดิการถ้วนหน้าแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบยุคโควิด-19

ดูฉบับวิดีโอ

image_pdfimage_print