วิทยากร โสวัตร เรื่อง

ครั้งหนึ่ง การโกนผมเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเศร้าโศก แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงถึงการถูกบังคับกดขี่ ในแผ่นดินอีสานนี่ก็เหมือนกัน หลักฐานมีในหนังสืออัตตโนประวัติของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งผมเคยเขียนลงเดอะอีสานเร็คคอร์ดมาก่อนหน้านี้แล้ว ขอยกมายืนยันและนำเข้าสู่บทความอีกที

“อัตตโนได้อยู่ในความปกครองของบิดามารดาเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น แต่รู้สึกว่ามีความสบาย บิดามารดาไม่พาอัตคัดขัดสนอะไรเลย แต่เป็นนิสัยของเด็ก ย่อมไม่รู้จักทุกข์ ครั้นย่างเข้าปีอายุ ๑๓ เป็นปีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เป็นธรรมเนียมต้องโกนผมไว้ทุกข์ทั่วพระราชอาณาจักร ประเทศลาวทั้งสิ้น บรรดาผู้หญิง ไม่ว่าสาวหรือแก่ ไว้ผมยาวทั้งสิ้น พอทราบประกาศว่า ให้โกนผม พากันระงมไปด้วยเสียงร้องไห้ทั่วบ้านทั่วเมือง น่าสลดใจ เสียดายผมเท่านั้น พากันอายศีรษะโล้น ต้องคลุมผ้าไว้เสมอ…”

แต่พอมาถึงยุคนี้ การโกนผมหรือโกนหัว กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านความอยุติธรรม 

ครั้งแรกที่ผมเห็นการโกนหัวในเชิงสัญลักษณ์นี้คือตอนพฤษภา 2535 หลายคนเป็นศิลปินชั้นนำของประเทศ แต่ต่อมาศิลปินเหล่านี้ก็ได้กลายกลับข้างไปอยู่ฝ่ายทำลายระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความขัดแย้งอย่างยิ่งโดยเฉพาะศิลปินเพื่อชีวิต ทั้งๆ ที่พวกเขาสร้างตัวเองมาจากเรื่องราวของผู้ทุกข์ยาก ชนชั้นล่างที่ถูกเอาเปรียบทางโครงสร้าง แต่พอประชาชนที่พวกเขาเคยใช้เป็นฐานสร้างชื่อเสียงฐานะจนโด่งดังมั่งคั่งและมั่นคง ลืมตาอ้าปากได้กลายเป็นชนชั้นกลางใหม่จากผลของรัฐธรรมนูญ 40 

ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในความหมายที่ตรงที่สุดเพราะมาจากประชาชน ศิลปินเหล่านี้กลับต่อต้านไปเข้ากับฝ่ายอำนาจนิยม สนับสนุนรัฐประหาร 2549 และเป็นนั่งร้านให้คณะรัฐประหาร 2557 และส่งเสริมสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 60

คำถามที่ตรงที่สุดสำหรับพวกเขาคือ ความจริงแล้วพวกเขาซื่อตรงต่อผลงานที่เคยนำเสนอนั้นแค่ไหน ต้องการให้ประชาชนคนชั้นล่างได้มีศักดิ์ศรี มีอยู่มีกินจริงๆ ไหม หรือที่ผ่านมาพวกเขาแค่เป็น CSR ให้กับกลุ่มทุนใหญ่และฝ่ายอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยม ?

พอตกปีพุทธศักราช 2564 มีผู้หญิงคนหนึ่งโกนหัวประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมต่อศาลเพื่อสิทธิประกันตัวให้ลูกชาย แค่ได้ยินข่าว ได้เห็นภาพที่แม่ของเพนกวินโกนหัวก็สะเทือนใจมากพอแล้ว ในฐานะคนอ่านคนเขียนหนังสือมันทำให้นึกถึงนิยายยิ่งใหญ่ของแม็กซิม กอร์กี้ นักเขียนรัสเซีย เรื่องแม่ 

และความสะเทือนใจยิ่งมากขึ้นเมื่อเรานึกย้อนไปถึงการต่อสู้ของเพนกวินและเพื่อนของเราทุกคนจนต้องถูกจับกุมขุมขัง และแม้ว่าตามหลักการแล้วศาลยังไม่ได้มีการไต่สวนใดใด ผู้ต้องหาก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีสิทธิในการประกันตัวตามกฎหมาย 

ดังนั้นการที่มีพวกที่ออกมาให้เหตุผลว่าที่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัวนั้น เพราะว่าเคยปล่อยหลายครั้งแล้วก็ยังไปทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงเป็นการพูดที่ไม่อยู่บนหลักกฎหมาย 

อ.สรพจน์ เสวนคุณากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ วิทยากร โสวัตร (ผู้เขียน) ชูสามนิ้วหลังจากโกนผมเพื่อประท้วงความอยุติธรรม เครดิตรูปภาพ : ธีร์ อันมัย

นาทีแรกที่ได้ยินข่าวนั้น ผมก็ตัดสินใจที่จะโกนหัวทันที เพื่อร่วมซึมซับความเศร้ากับแม่เพนกวินและแม่ๆ ของทุกคนในห้องขังที่ยังไม่ได้รับประกันตัว เพื่อสื่อสารว่าเรายืนเคียงข้างพวกแม่ และไม่แค่ส่งใจสนับสนุนแนวทางการต่อสู้ของลูกแม่ๆ แต่เราจะทำทุกอย่างให้รู้ว่าเราอยู่ข้างเคียงกัน เดินไปด้วยกัน

ไม่ใช่เฉพาะผม อาจารย์สรพจน์ เสวนคุณากร ที่เคยสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสผมที่ม.อุบลราชธานีก็โทรมาชวนโกนหัว แต่ติดที่โควิดระลอกล่าสุด 

จนกระทั่งอาจารย์สรพจน์ เสวนคุณากร แก้ปัญหาด้วยดูยูทูบการตัดผม และสั่งซื้อปัตตาเลี่ยนมาตัดกันเองในวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมาในกิจกรรมยืนหยุดขัง 1 ชั่วโมง  12 นาที ภายหลังการตัดสินคดีธรรมนัสเรื่องค้ายาเสพติด และการเลื่อนไต่สวนขอประกันตัวเพนกวินและทนายอานนท์และผู้ที่ถูกจองจำทางการเมืองคนอื่นๆ ออกไป

และก่อนที่จะถึงกิจกรรมยืนหยุดขังและโกนผมประท้วงก็มีนักข่าวจากมติชนออนไลน์ทักมาทางกล่องข้อความขอสัมภาษณ์ 3 คำถามเพื่อประกอบการทำข่าว 

ผมคิดว่าคำตอบของผมทั้งหมดในกรณีนี้ ถ้าพูดเป็นภาษาลาวอีสานก็ต้องบอกว่า “แกบใจ” แล้ว แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าทางมติชนจะเอาไปลงทุกคำหรือไม่ เพื่อไม่ให้คำตอบนั้นพร่องไปแม้แต่น้อย ผมว่าเอามาลงในที่นี้ทั้งหมดก็น่าจะดี

1. แรงจูงใจที่จะโกนผมในวันนี้คืออะไร

            – มี 3 ประเด็น

หนึ่ง ผมเป็นพ่อคน ผมรักลูกผม และผมเข้าใจหัวอกของคนเป็นพ่อแม่

สอง ผมบอกตัวเองว่าผมเป็น “นักเขียน” คุณจะบอกตัวเองอย่างไรในขณะที่เห็นคนถูกกระทำ เห็นความอยุติธรรมต่อหน้า และงานเขียนของคุณก็ไม่ได้ประโลมโลกหรืออนุรักษ์นิยม 

และสิ่งที่ผมจะเคารพตัวเองในฐานะนี้ได้มากที่สุดคือ ผมต้องกล้าออกมาในช่วงที่ตัวเองยังไม่ได้รางวัลใดใด ผมไม่อยากเป็นนักเขียนประเภทที่ว่ารอให้ได้รางวัลก่อนค่อยออกมาหรือระหว่างเป็นแคนดิเดตต้องรักษาท่าที แต่ถ้ามันจะเป็นการตัดโอกาสรางวัลเลย ผมก็ว่าดีมาก (ให้มันชัดเจนในวิถีปฏิบัติกันไปเลย)

และสาม ผมเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่มีหัวใจ มีความรู้สึก เหมือนอย่างคุณ

วิทยากร โสวัตร (ผู้เขียน) โกนผมประท้วงความอยุติธรรม เคียงข้างแม่ๆ ของลูกๆ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 หลังทำกิจกรรมยืน-หยุดขัง หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เครดิตรูปภาพ : ธีร์ อันมัย

2. จากที่มีผู้ถูกคุมขังเพราะความเห็นต่างทางการเมือง คุณมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

– ย้อนไปปี 53 ถ้าผมเป็นอภิสิทธิ์ ผมจะลาออก/ยุบสภา แล้วกลับไปเลือกตั้งใหม่ เพราะมันง่ายที่สุดที่จะยุติการชุมนุม และไม่มีเงื่อนไขของการปะทะ

แต่พออภิสิทธิ์ “ไม่” 

วันนั้นแหละที่ผมมั่นคงในวิถีตรงข้ามกับคนพวกนั้น

และก็รู้ว่าพวกนั้นจะไม่ยอม เขาฆ่าได้ก็ฆ่า จับได้ก็จับ ดับอนาคตได้ก็ดับ แต่ผมไม่อยากให้ประเทศนี้มันเป็นแบบฝ่ายหนึ่งตามล้าง ตามเช็ด ตามฆ่าอีกฝ่ายไง ดังนั้นจึงต้องหากติการ่วม และกติการ่วมที่ดีที่สุดที่จะอยู่ร่วมกันได้ ก็คือประชาธิปไตย

แต่ย้ำนะว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องช่วยกันเรียกร้องให้นักโทษการเมืองออกมา และแน่นอน เราต้องสนับสนุนการเรียกร้องของขบวนการประชาธิปไตยอย่างเต็มที่เพื่อไปสู่กติกาที่ดีร่วมกัน

3. กระบวนการยุติธรรมของศาลไทยในตอนนี้ คุณมองว่าเป็นอย่างไร 

– ถามอะไรตลกจังเลย คุณไปถามเด็กประถมก็ได้นะ รับรองว่าเด็กมันหัวเราะแน่ๆ เด็กมันไม่ได้โง่นะ ต่อให้ประถมก็เถอะ และนั่นแสดงว่าประชาชนในยุคนี้เขาไม่ได้โง่ (ยุคก่อนก็ไม่ได้โง่ แค่เขาถูกปิดหูปิดตา เข้าถึงข้อมูล ความจริงอีกด้านไม่ได้)

เอาจริงๆ ผมรังเกียจ

รังเกียจถึงขั้นว่า รังเกียจวิชานี้ด้วยนะ รังเกียจคณะที่สอนทางกฎหมายน่ะ ผมคิด(คนเดียว)นะ ว่าน่าจะ 90% ของคนที่เรียนทางนี้ในไทยก็จะมีวิธีคิดและวิถีปฏิบัติแบบนี้แหละ 

รังเกียจถึงขนาดผมจะบอกลูกบอกหลานว่าอย่าเรียนกฎหมายในไทยเลย แต่ถ้าอยากหากินทางนี้ ก็ไปเรียนเมืองนอกและใช้วิชาชีพนี้หากินอยู่เมืองนอก.

ภายหลังที่มีคนรู้เรื่องการจะโกนหัวของผมและกิจกรรมอื่นในวันเดียวกัน เช่น ทนายคนหนึ่งที่จบจากม.ขอนแก่นฉีกและเผาหนังสือประมวลกฎหมายอาญา ที่เขียนโดยผู้พิพากษาท่านหนึ่งที่ตัดสินคดีธรรมนัส ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา

ก็มีเพื่อนแสดงความกังวลห่วงใยเข้ามาทำนองว่า “เขาจะฟังเราไหม”

ผมตอบเธอไปว่า – –

“เขาจะฟังหรือไม่ฟัง นั่นเป็นเรื่องของเขา สำคัญว่า เรา “ฟัง” เสียงหัวใจของเรา”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

image_pdfimage_print