เครือข่ายศิลปินและนักวิชาการอีสานเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ประณามการใช้กฎหมายกับนักศึกษาศิลปะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังถูกหมายเรียกคดี ม.112 และ พ.ร.บ.ธง จากการแสดงผลงาน 

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เครือข่ายศิลปินและนักวิชาการอีสานเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ หยุดคุกคามเสรีภาพการแสดงออกทางศิลปะ” เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายต่อนักศึกษาศิลปะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แสดงผลงานศิลปะในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยผลงานยึดเพื่อนำไปทิ้งและมีข่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 คน ถูกพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.ธง โดยจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 

เฟซบุ๊กกลุ่ม เครือข่ายศิลปินและนักวิชาการอีสานเพื่อประชาธิปไตย ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อแสดงไม่เห็นด้วยกับการใชักฎหมายกับนักศึกษาศิลปะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แถลงการณ์ระบุว่า ในนามของเครือข่ายศิลปินและนักวิชาการอีสานเพื่อประชาธิปไตยที่ทำงานศิลปะและงานวิชาการร่วมสมัย เราขอยืนยันเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะและวิชาการว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพของศิลปินในอันที่จะกำหนดตนเองเลือกแนวทางการสร้างสรรค์โดยปลอดจากอุปสรรคหรือการบังคับขัดขวาง โดยไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ผิดด้วยหรือที่นักศึกษาสร้างสรรค์งานศิลปะที่สะท้อนความอยุติธรรมในสังคม

“ถ้านักศึกษาศิลปะปราศจากเสรีภาพที่จะคิดและแสดงออกในงานศิลปะของตนซึ่งแตกต่างไปจากคุณค่าและความหมายซึ่งผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยและรัฐจารีตนิยมชมชอบ แล้วกล่าวโทษระบุความผิดด้วยข้อหาทางอาญาซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรง ดังนี้แล้ว สังคมเราจะเหลือคุณค่าอะไรพอที่จะยึดถือและเชิดชูว่า นี่เป็นความถูกต้อง นี่คือความเป็นธรรม” 

ในแถลงการณ์ระบุถึงข้อเรียกร้องว่า 1.ไม่เห็นด้วยกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธง เพื่อจับกุมคุมขังนักศึกษาเพียงเพราะผลงานศิลปะของพวกเขาไม่ถูกจริตผู้มีอำนาจ และขอให้ยุติการดำเนินคดีกับ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2.ขอให้รัฐและผู้มีอำนาจหยุดลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของศิลปินผู้สร้างงานศิลปะและนักวิชาการที่เสนอแนวคิด ความรู้และเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและความไม่เป็นธรรมในสังคม

ทั้งนี้เครือข่ายศิลปินและนักวิชาการอีสานเพื่อประชาธิปไตย เกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินและนักวิชาการอีสาน ในขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 57 คน 

นิพนธ์  ขันแก้ว ศิลปินและอาจารย์ด้านศิลปะ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง HUAK Society พื้นทีแสดงงานศิลปะในจังหวัดขอนแก่น 

นิพนธ์ ขันแก้ว ศิลปินและอาจารย์ด้านศิลปะ กล่าวว่า กลุ่มนี้เกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินนักวิชาการ รวมถึงนักปฏิบัติการศิลปะและผู้ที่ทำงานด้านสร้างสรรค์ ที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีนักศึกษาถูกทำลายผลงานและถูกดำเนินคดี เพียงเพราะเขาแสดงงานศิลปะ เราจึงรวมตัวกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่จะยัดเยียดข้อกล่าวหาเพียงเพราะทำผลงานด้านศิลปะ 

นิพนธ์  กล่าวต่ออีกว่า ในบทบาทที่เป็นครูสอนศิลปะด้วย คิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เพียงเพราะพวกเขาได้แสดงออกผลงาน นอกเหนือไปจากศิลปะแบบจารีต ที่ผู้มีอำนาจอยากให้เป็นเท่านั้น รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะทำ เจตนาในการทำงานศิลปะคือการแสดงออกทางความคิด

“ศิลปะคือการแสดงออกของมนูษย์ ที่ไม่ควรจะถูกสกัดกั้น หรือห้ามไม่ให้ทำ” นิพนธ์  กล่าว 

กุลธิดา กระจ่างกุล ศิลปินและนักศึกษาศิลปะ ในการแสดงผลงานชื่อ Blues on Period ที่บันทึกภาพตัวเองในช่วงที่มีประจำเดือนทุกๆ 1 ชั่วโมงตลอด 1 วัน เพื่อเรียกร้องให้การแจกผ้าอนามัยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐสวัสดิการ เครดิตภาพ : กุลธิดา กระจ่างกุล

กุลธิดา กระจ่างกุล ศิลปินและนักศึกษาศิลปะ กล่าวว่า การดำเนินคดีและรื้องานศิลปะที่เชียงใหม่ มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะทำ เจตนาในการทำงานคือการแสดงออก การที่มีคนได้รับคำสั่งมาเพื่อนำผลงานของนักศึกษาไปทิ้ง มันสะท้อนว่า มหาวิทยาลัยกำลังรับใช้อะไรอยู่ ทั้งที่หน้าที่คือ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาได้แสดงออก 

กุลธิดา กล่าวต่อว่า ในส่วนของวงการศิลปะเองก็มีคนบอกว่า งานดังกล่าวไม่ใช่งานศิลปะ ศิลปะต้องแสดงออกอย่างแยบยล ไม่มีชั้นเชิงนำเสนอตามขนบจารีต เขาถึงยาก แต่ในฐานะคนเรียนศิลปะคิดว่า ไม่ควรจะเอาอะไรไปกำหนดศิลปะ ให้ศิลปินแสดงออกตามความหมายของเขาได้ 

 “ การบังคับใช้คดีกับงานศิลปินที่แสดงผลงานศิลปะขัดกับแนวคิดของผู้มีอำนาจอำนาจ เขาจะทำให้เราเกิดความกลัว แต่กับเราแล้วยิ่งใช้กฎหมายเท่าไหร่ ยิ่งต้องทำงานออกมาให้เยอะและสะท้อนแนวคิดเราให้มากขึ้น” 

เครดิตภาพปก : artn’t

image_pdfimage_print