ส.หลา Citizen Reporter เรื่อง

สกลนคร – เมื่อเวลา 12.35 น. วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา มีชายสองคน ลักษณะผมสั้นเข้ามาในบริเวณบ้านของ ศตานนท์ ชื่นตา นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โพแทสเซียม อ.คำตากล้า จ.สกลนคร โดยทั้งสองคนแจ้งว่า เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน จากสถานีตำรวจภูธรอำเภอคำตากล้า จ.สกลนคร เข้ามาตรวจสอบ ติดตาม ถ่ายรูป และขอคำยืนยันกับเจ้าตัวว่า ยังอยู่พื้นที่หรือไม่

ศตานนท์ได้ยืนยันตัวตน แต่เมื่อถามสาเหตุของการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ กลับบ่ายเบี่ยง โดยอ้างว่า มาทำตามหน้าที่และเป็นคำสั่งลับจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งกล่าวอ้างว่ามาจากคำสั่งทางภาค 4

ทั้งนี้ศตานนท์ ได้ขอดูคำสั่ง เพราะบุคคลทั้งสองแจ้งว่า ศตานนท์ เป็นบุคคลเฝ้าระวัง ซึ่งคำว่า “บุคคลเฝ้าระวัง” มีความหมายอย่างไรและมาจากเหตุอะไร

“มันเป็นการคุกคามจากบุคคลของรัฐ โดยใช้เหตุผลว่า เป็นบุคคลเฝ้าระวัง อ้างคำสั่ง อ้างอำนาจ อ้างหนังสืออ้างทำตามหน้าที่ เข้ามาตรวจสอบโดยไม่สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่าบุคคลเฝ้าระวัง คือ อะไร ความหวาดกลัวเพราะทั้งสองพกพาอาวุธเข้ามา มานอกเครื่องแบบ แม้จะแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม แต่ก็เข้ามาในบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตและภายในบ้านมีหลานและแม่อยู่ด้วย”ศตานนท์ กล่าว

. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยังได้ขอให้หลานหยุดบันทึกบันทึกวิดีโอของศตานนท์ และให้หยุดพร้อมกับอ่านรายละเอียดตามคำสั่ง ซึ่งเปิดดูในโทรศัพท์ว่า ได้รับคำสั่งให้ติดตามบุคคลเฝ้าระวังในเขตอำเภอคำตากล้าจำนวน 2 คน 1.สตานนท์ ชื่นตา และ อีกคนซึ่งเคยเป็นผู้สมัคร ส”ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนครว่า อยู่ในพื้นที่ไหม แล้วเขามีปฏิกิริยาอย่างไร มีท่าที ที่จะเป็นแกนนำมวลชนหรือม็อบไปยื่นถวายฎีกา กับทางสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่จะเสด็จเยือนอีสาน

“ตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ การที่ผมจะทำอะไร ไปที่ไหน ถ้าผมไม่มีความผิดก็ไม่ควรจะมีเจ้าหน้าที่มาติดตามสอบถาม ผมรู้สึกเป็นการคุกคามจากทางเจ้าหน้าที่รัฐอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่ง 4-5 ปี ที่ผ่านมาที่ออกคัดค้านการสำรวจเหมืองแร่โพแทสเซียม ที่อำเภอวานรนิวาส ก็ถูกจับตาเป็นบุคคลเฝ้าระวัง ผมจึงอยากตั้งคำถามจากทางหน่วยงานของรัฐที่ว่า การที่ผมเป็นนักปกป้องสิทธิตัวเอง สิทธิชุมชนมันเป็นความผิด มันเป็นเหตุผลที่จะต้องให้เป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” ขนาดนั้นหรือ”นักกิจกรรม กล่าว

image_pdfimage_print