ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง
สุภาพร ธรรมประโคน ภาพ

“ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” กลายมาเป็นวาทะประจำการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” 

ในห้วงปี 2563 ที่ผ่านมา วาทะดังกล่าวถูกดัดแปลงมาจากวาทะอมตะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ของ ครอง จันดาวงศ์ ที่เปล่งวาจาก่อน ถูกประหารด้วยมาตรา 17 ตามคำสั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ด้วยกระสุนปืน 90 นัด พร้อมกับ ทองพันธ์ สิทธิมาศ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 เวลา 12.13 น. บริเวณสนามบินลับเสรีไทย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร 

ครอง จันดาวงศ์ อดีตครูประชาบาล จังหวัดสกลนคร ผู้ผันตัวเองจับปืนขึ้นสู้ขับไล่จักรวรรดิญี่ปุ่น ในสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสานความร่วมมือกับเพื่อนสนิท เตียง ศิริขันธ์ ขุนพลภูพานและคนในท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร จัดตั้งเครือข่ายเสรีไทย สายอีสาน กู้บ้านเมืองเพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกเป็นประเทศแพ้สงครามในช่วงปี 2484-2488 

หลังจากนั้น ครอง จันดาวงศ์ ได้เสนอตัวรับใช้ชาวจังหวัดสกลนคร และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย (ส.ส.) ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2500 แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 ปี คณะรัฐประหาร นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2501 และได้ไล่จับผู้ต่อต้านเห็นต่างเข้าคุก 

ครอง จันดาวงศ์ กลับมาที่สกลนครในฐานะประชาชน แต่ด้วยความคาดหวังของชาวบ้านที่เลือกเขาเป็น ส.ส. ที่มักเป็นที่พึ่งและช่วยแก้ปัญหาในนามของกลุ่ม ‘สามัคคีธรรม’ จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ออกหมายจับเขาด้วย ม.17 และนำมาซึ่งความตาย 

ในวาระครบ 6 ทศวรรษ การก่อกำเนิดวาทะอมตะ  The Isaan Record พาผู้อ่านกลับไปทบทวนอดีต มองปัจจุบัน พูดคุยกับ วิทิต จันดาวงศ์ หรือสหายปาน วัย 82 ปี ลูกชายของ ครอง จันดาวงศ์ ผู้ถูกจับกุมพร้อมกับบิดา 

ครูครอง จันดาวงศ์ และครูทองพันธ์ สุทธิมาศ ขณะถูกนำตัวเข้าหลักประหาร บริเวณสนามบินลับ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญเป็นคำที่พ่อพูดไว้ก่อนตาย ดีใจที่ได้ยินคำนี้  แม้ถูกดัดแปลงเป็นคำว่า ‘ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ แล้วนำมาเป็นคำพูดในการต่อสู้ของนักเรียน นักศึกษาในยุคนี้” วิทิต จันดาวงศ์ กล่าวเมื่อถูกถามถึงวาทะอมตะ  

เขากล่าวต่อถึงความรู้สึกของคำนี้ว่า ในวันที่พ่อของเขาถูกประหารชีวิต เป็นการปราบป่าให้เสือกลัว หวังข่มขวัญประชาชนผู้ที่ออกมาต่อสู้กับระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของอดีตกลุ่มเสรีไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ในห้วงเวลานั้น ประจวบกับความหวั่นเกรงของชนชั้นนำไทยที่กลัวการแทรกซึมของระบอบคอมมิวนิสต์ในครั้งที่พ่อเขาโดนจับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2504  

“วันที่พ่อถูกประหาร ผมยังอยู่ที่คุกลาดยาว เขาเอาพ่อผมขึ้นเครื่องบินไปประหารที่บ้าน ตำรวจที่คุมคุกอยู่เขามาหาผม คืนนั้นผมรู้เลยว่า พ่อต้องถูกฆ่า ผมก็นอนร้องเพลง โปรดเถิดดวงใจ ของทูล ทองใจ พอตำรวจเจอก็ถามว่า ไม่เสียใจหรือ ผมก็ตอบว่า จะให้ทำยังไง พ่อตายแล้วผมก็สู้ต่อ มันฆ่าให้ผมกลัว ผมไม่กลัว” 

“ในวันนั้นผมพูดกับคนอื่นว่า วันนี้พ่อผมตายอย่างหมาข้างถนน อีกสิบ ยี่สิบปีข้างหน้า พ่อผมจะเป็นวีรบุรษ” วิทิต เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่พ่อของเขาถูกตัดสินยิงเป้าด้วย ม. 17 

ตอนที่ติดคุกลาดยาว จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ถูกจับเขามาเจอ ได้ยินเรื่องราวของพ่อ ประทับใจในความเป็นนักสู้ ก็แต่งเพลง วีรชนปฏิวัติ ขึ้นมา เราก็ประทับใจในเขาเหมือนกัน ด้วยความที่เป็นนักสู้ ก่อนจากกันในคุก ก็ได้คุยกันว่าเราจะสู้ไปด้วยกัน

ม.17 – ม.112 กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง

เมื่อเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน วิทิต กล่าวถึงเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างว่า “มันมีส่วนคล้ายกันนะ คือ เขาพยายามจะไม่ให้คนได้แสดงความคิด กดประชาชนเอาไว้ มาตรา 17 ก็ฆ่าคนไปหลายคน ทั้งที่ยังไม่ได้ไต่สวนหลักฐานว่า ผิดจริงหรือไม่ หรือแม้แต่ไต่สวนพิสูจน์คดีแล้วว่า ไม่ผิด คนสั่งก็ไม่ได้รับโทษอะไรเลย ผมต้องติดคุกในคดีนี้อยู่เป็นสิบปี กว่าจะได้ออกจากคุก” 

“เขา (ภาครัฐ) พยายามยัดเยียดข้อหาว่า เราเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน บอกว่ากลุ่ม ‘สามัคคีธรรม’ ที่พ่อและเพื่อนตั้งไว้ช่วยเหลือกันเป็นกลุ่มก่อการ จับคนไปขัง สร้างหลักฐานเท็จ บอกว่า เป็น 5 แกนนำกบฏ มีครูครอง ครูทองพันธ์ น้าชาย ลุงบุญมา ที่ทำปืนล่าสัตว์บอกว่า เป็นฝ่ายเจ้ากรมคลังแสง (หัวเราะ) และผม” 

โดยสร้างเรื่องราวเท็จว่า จะแบ่งแยกดินแดน วันที่ครูครองถูกจับวิทิตได้ไปหาที่โรงพัก แต่เขากลับถูกจับ ด้วยการกล่าวหาว่า เป็นผู้ร่วมก่อการ ทั้งที่กลุ่มสามัคคีธรรม เป็นแค่กลุ่มที่ช่วยเหลือ ลงแขกดำนา สร้างบ้าน สร้างถนน ใครไม่มีข้าวก็แบ่งกันกิน กันอยู่ แค่นั้นเอง 

“สุดท้ายผมก็สู้คดีถึงที่สุด เขาก็หาหลักฐานมาไม่ได้ สุดท้ายมาให้ผมติดคดีอั้งยี่ซ่องโจร ผมว่าความเอง ว่าความให้หมดทุกคน 100 กว่าคน ในตอนนั้นที่คุกลาดยาว”  

แต่เมื่อวิทิตเห็นนักศึกษาในยุคนี้ถูกจับเข้าคุก หลังจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ทำให้คิดถึงกระบวนการที่รัฐเคยใช้อดีตด้วยการใช้กฎหมายปิดปาก 

“รัฐไม่เคยเปลี่ยน ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) กับสฤษดิ์ เหมือนกัน คือ ใช้กฎหมายที่พวกเขาออกเอง ปราบปรามผู้เห็นต่าง เพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจ ตอนนี้เหลือแต่สั่งฆ่าคนเท่านั้น แต่ก็เหมือนกันตรงที่จับคนเขาคุกไปขังโดยที่ไม่มีความผิด”

วิทิต จันดาวงค์ หรือสหายปาน ผู้ถูกจองจำด้วย ม.17 และถูกข้อกล่าวหา ม.112 อาฆาตมาดร้ายพระราชินี ,ข้อกล่าวหากบฎแบ่งแยกดินแดน .อั้งยี่ซ่องโจร และอีกหลายข้อหา สุดท้ายแล้วสู้คดีจนชนะ กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ติดคุกฟรีเพียงเพราะคิดต่างจากรัฐ

ยิ่งปราบปราม – ยิ่งสู้ ระวังกระแสมันย้อนกลับ

วิทิตมองว่า วันที่รัฐนำตัวพ่อกลับมายิงที่ลานประหาร ในพื้นที่สว่างแดนดิน เขาก็คิดว่าจะปราบป่าให้เสือกลัว แต่เขาคิดไม่ถึง ถือเป็นการกระทำผิดทางยุทธศาสตร์ที่ร้ายแรง เพราะหลังการยิงเป้าแล้ว ก็ไล่จับคนเห็นต่างจากรัฐจึงทำให้คนหนีเข้าป่าและบางคนหนีไปอยู่ลาว

เขาจำได้ว่า ตอนนั้นยังไม่มีการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ เพราะครูครองไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ก็ฉวยจังหวะนี้ส่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาชี้นำมวลชน 

“การเกิดคอมมิวนิสต์ในอีสานก็เกิดจากภาครัฐเองด้วย ยิ่งใช้อำนาจรุนแรง เข่นฆ่าทารุณ มันก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ ยิ่งดัน มันก็จะยิ่งสู้ การใช้ ม.112 จับแกนนำ มันจะหมดไม่เป็น มันจะยิ่งเยอะขึ้น ยิ่งในยุคปัจจุบัน โลกมันเชื่อมต่อด้วยโซเซียลมีเดีย ประชาชนรู้เยอะ เขายิ่งต้องการความจริง จะไปกดทับเขาไว้ด้วยโฆษณาชวนเชื่อแบบเดิมที่ทำมาไม่ได้”วิทิตตอกย้ำบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต  

ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ เขาได้กำหนดอนาคตประเทศ 

“คุณจะไปเหนี่ยวรั้ง กดทับไว้ยังไงก็ไม่อยู่หรอก มีแต่กงล้อของเวลาจะบดขยี้พวกอนุรักษ์นิยม ชนชั้นปกครองให้ตายอย่างเขียด” 

ในฐานะที่อยู่ในช่วงแห่งเวลาประวัติศาสตร์ ลูกชายของเสรีไทยเห็นว่า หากยิ่งจับ ยิ่งปราบปรามคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสังคมที่เป็นธรรมก็ยิ่งแสดงว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม หวงแหนอำนาจ หวงแหนสิ่งที่พวกเขาอยากให้ดำรงไว้ จึงมีการกดขี่ทั้งด้านความคิดและเศรษฐกิจ 

“โลกมันหมุนไปแล้ว แต่พวกอนุรักษ์นิยมก็ยังเหนี่ยวรั้งไว้ให้สังคมมันเป็นแบบเดิม มีชนชั้นแบบเดิม กดขี่ชนชั้นแรงงานเหมือนเดิม ชาวนาก็ขายข้าวได้ราคาถูกเหมือนเดิม” 

ในฐานะไม้ไกล้ฝั่งที่เห็นการใช้กฎหมายห้ำหั่นผู้เห็นต่าง วิทิตจึงเสนอว่า เพื่อไม่ให้บทเรียนซ้ำควร เลิกใช้กฎหมายกักขังผู้เห็นต่าง แล้วคุยกันด้วยเหตุผล เลิกใช้ข้อหาเดิมๆ โดยเฉพาะข้อหาแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง อาฆาตมาดร้ายสถาบัน แบบที่ครอง จันดาวงศ์ และตนเคยถูกกล่าวหาในอดีต เพราะไม่ได้ผลแล้ว 

“ถ้าวันหนึ่ง สิ่งที่พวกคุณเหนี่ยวรั้งไว้ มันเอาไม่อยู่ ระวังกระแสจะย้อนกลับไปหาพวกคุณเอง” วิทิตกล่าวย้ำเตือน 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง :

image_pdfimage_print