การต่อสู้ของกลุ่มราษฎร 2563 ถูกนำไปเทียบเคียงกับการต่อสู้ของกลุ่มกบฏผู้มีบุญที่ต่อต้านรัฐสยามเมื่อครั้งอดีต ครั้งนั้นมีผู้ถูกปราบปรามด้วยการจับและถูกเข่นฆ่าจำนวนมาก The Isaan Record ถอดความจากการเสวนา “จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63” 

อุบลราชธานี – เนื้อหานี้ถูกเรียบเรียงจากงานเสวนาหัวข้อ จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะ “Ubon Agenda วาระ : วาริน” จัดขึ้นที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 โดยมีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและทายาทของขบถผีบุญร่วมแลกเปลี่ยน

ผีบุญหรือผีบ้า?  

วิทยากร โสวัตร นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย กล่าวถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้เรียกว่า “ผีบุญ” ว่า ในสมัยก่อนคนไทยอีสานและคนลาว เรียกตนเองว่า “กลุ่มขบวนการผู้มีบุญ” แต่เมื่อต่อสู้แล้วแพ้ ทางราชสำนักก็เรียกกลุ่มนี้ว่า “ผีบุญ หรือ ผีบ้า” ซึ่งคำนี้ก็ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันที่เรียกผู้ที่ต่อสู้ โดยใช้วาทะกรรมว่า “ผีบุญ” 

เขายังบอกอีกว่า ความจริงแล้วผีบุญมีอยู่ทั่วทุกที่ของภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นอีสานตอนบนและลาวใต้ แต่ที่เห็นในจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เนื่องจากมีการใช้ปืนใหญ่จีงเกิดการเข่นฆ่าเกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี  

“ผีบุญเกิดขึ้นเพราะคนที่มีอำนาจ รังแกผู้น้อยมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมีการรวมประเทศสยามจึงทำให้ขบถผีบุญต้องต่อต้าน แต่คำถาม คือ ทำไมต้องลุกขึ้นมาต่อต้านในช่วงรัชกาลที่ 5 อาจมีสาเหตุที่เกิดการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงทำให้กลุ่มขบถผีบุญเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมต้องเก็บภาษีจำนวนมากขนาดนั้นและลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐสยาม”นักเขียนผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเล่า 

นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า ทราบข้อมูลว่า ผู้ร่วมขบวนการกับผีบุญ มีทั้งในอำเภอตระการพืชผล เขมราฐ ของจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งในอดีตก็ให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรด้วย 

“หลังจากพ่ายแพ้ กลุ่มผีบุญก็ยังต่อสู้จนสุดชีวิต คำถาม คือ อะไรที่ทำให้ ผีบุญยังคงต่อสู้ แม้จะไม่มีเเรงหรืออาหารประทังชีวิตแล้ว”วิทยากร ตั้งคำถาม 

ดร.ถนอม ชาภักดี ผู้อำนวยการจัดงาน UBON AGENDA 2020 วาระวาริน 2563 (ชุดดำ) ภาพโดย วิศรุต สวัสดิ์วร

ผีบุญกับศิลปะในกลอนลำ 

ขณะที่ ดร.ถนอม ชาภักดี ผู้อำนวยการจัดงาน UBON AGENDA 2020 วาระวาริน 2563 อธิบายเรื่องราวของกบฏผีบุญผ่านศิลปะว่า การต่อสู้ของลาตินอเมริกากับของประเทศไทย เริ่มขึ้นพร้อมๆ กัน โดยการต่อสู้ของชาวบ้าน ก็คือ การใช้กระบวนการทางศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ต่างกับผีบุญ 

“พระในกลุ่มผีบุญในกลอนลำเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้ เพราะหมอลำเป็นสื่อที่ทำให้เข้าถึงชาวบ้านได้มากที่สุด”ถนอม กล่าว 

เขายังบอกอีกว่า นักปรัชญาร่วมสมัยชาวฝรั่งเศสเคยบอกว่า เมื่อใดที่เริ่มเป็นรัฐหรือประเทศ หมายความว่า การเมืองจะมีอยู่ทุกตารางนิ้ว ดังนั้นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการต่อสู้ทางการเมือง คือ การทำให้เกิดการขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำและชนชั้นล่าง ซึ่งการปฏิวัติของละตินอเมริกาจึงมีจุดเริ่มต้นที่การปฏิวัติบทกวี ก่อนที่จะมีการใช้อาวุธ เราจึงเห็นว่า นักกวีทั่วทั้งอเมริกาใต้ก็จะเดินทางไปทุกหมู่บ้าน ไม่ต่างจากพระผีบุญที่เดินไปทุกหมู่บ้านเพื่อเทศนาเป็นกลอนลำ 

มุมศิลปะทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ที่มีการควบคุมคนเห็นต่างไปปรับทัศนคติและห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ภาพโดย วิศรุต สวัสดิ์วร

ถึงเวลาต้องปลดแอก 

ขณะเดียวกัน วิศรุต สวัสดิ์วร นักกิจกรรมกลุ่มอุบลปลดแอก จังหวัดอุบลราชธานี แสดงความเห็นว่า ระบบการศึกษาถูกครอบงำเพื่อการรักษาอำนาจของรัฐทำให้เนื้อหาในประวัติศาสตร์หลายส่วนถูกลบเลือนหรือ บิดเบือนไป จึงทำให้คนจำนวนมากไม่รู้จักคณะผีบุญ 

เขากล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของกลุ่มราษฎร ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือกฎหมายสากล แต่ต้องการสถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายเดียวกันกับประชาชน  

“หากคนรุ่นใหม่ในอีสานจะมองการต่อสู้ของขบถผีบุญ รวมทั้ง เตียง สิริขันธ์, ครูครอง จันดาวงศ์, คนเสื้อแดงอีสาน, วันเฉลิม สัตย์ศักดิสิทธิ์หรือแม้กระทั่ง ไผ่ ดาวดิน (จุตภัทร์ บุญภัทรรักษา) ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ล้วนถูกโดนดำเนินคดีจากฝ่ายความมั่นคง แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่วิธีการของรัฐยังเหมือนเดิม”นักกิจกรรมทางการเมือง จ.อุบลฯ กล่าว

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (1) : ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่รื้อฟื้นหาตะเข็บ

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (2) – เล่าเรื่องกบฏผีบุญเมืองอุบลฯ จาก มาโนช พรหมสิงห์

UBON AGENDA วาระวาริน (3) : จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (4) กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ : อาวุธสู้รบของกบฏผีบุญกับ กทม.

image_pdfimage_print