บทความของ เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก ชิ้นนี้ไม่ต้องการลงลึกถึงการเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญ แต่ต้องการทำให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษ 2510 มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง 2 เหตุการณ์ คือ “14 ตุลา 2516” และ “6 ตุลา 2519” ได้พลิกโฉมหน้าการศึกษาเรื่องราวของ “กบฏผู้มีบุญอีสาน” อย่างไรบ้าง
เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก เรื่อง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงทศวรรษ 2440 ได้เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนในพื้นที่ๆ ปัจจุบันเรียกกันว่า “ภาคอีสาน” ส่งผลให้เกิดปัญหาการปกครองต่อรัฐบาลสยามเป็นอย่างมาก นั่นคือ การเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วง พ.ศ.2443-2445 (ก่อนและหลังจากช่วงนั้นก็มีการเคลื่อนไหว แต่มีประปราย) โดยมีสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจภายหลังการปฏิรูปการปกครองของรัฐบาลสยามนับตั้งแต่การใช้ระบบมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ.2434 เป็นต้นมา โดยกลุ่มผู้ปกครองชั้นผู้น้อยในท้องถิ่นไม่พอใจรูปแบบของหน่วยงานการบริหารที่ใหญ่โต และการลดทอนอำนาจผู้ปกครองท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมกลุ่มผู้ปกครองท้องถิ่นเคยมีอำนาจในการควบคุมบริหารส่วนนี้ รวมถึงการที่ประชาชนไม่พอใจลักษณะการกดขี่ เอาเปรียบ ของการปกครองแบบใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการสร้างความยุ่งยากและลำบากในช่องทางทำกินของประชาชน ทางภาครัฐเองก็เล็งเห็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนี้ จึงได้มีความพยายามพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภาคอีสานนับตั้งแต่นั้นมา
ข้อเขียนนี้ไม่ประสงค์จะนำเสนอเรื่องราวการเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญ เเต่ต้องการเสนอให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้ง “14 ตุลา 2516” และ “6 ตุลา 2519” นั้น ได้ส่งผลต่อการพลิกโฉมหน้าการศึกษาเรื่องราวของ “กบฏผู้มีบุญอีสาน” อย่างไรบ้าง
กลุ่มกบฏผู้มีบุญ เมื่อ พ.ศ. 2444 ซึ่งทหารควบคุมตัวไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี ภาพจาก “ประวัติศาสตร์อีสาน” โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ
ความสำคัญของเหตุการณ์ “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” ต่อการศึกษากบฏผู้มีบุญ
เวลากว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา งานศึกษาเกี่ยวกับอีสานได้มีพัฒนาการไปอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งการขยายแวดวงของกลุ่มผู้ที่สนใจศึกษา วิธีวิทยาและแนวทางในการใช้หลักฐาน ซึ่งส่งผลให้งานที่ถูกผลิตออกมาในช่วงหลัง พ.ศ.2520 นั้น มีความเป็นท้องถิ่นนิยมเพิ่มมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้เป็นผลมาจากการตื่นตัวทางด้านการศึกษาวิชาการของไทยที่ผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญคือ เหตุการณ์ “14 ตุลา 2516” และ “6 ตุลา 2519” ที่ได้มีการผนวกนักศึกษาและประชาชนเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวาง อันทำให้ชนชั้นนำไทยต้องตระหนกตกใจ เพราะก่อนหน้านั้น การรับรู้เกี่ยวกับชาวชนบทในหมู่ชนชั้นนำเป็นไปในลักษณะที่เห็นว่าชาวชนบทเป็นพลเมืองที่ไม่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง (อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ใช้คำว่า “Passive Citizen”)
อันที่จริงในช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ “เดือนตุลา” ก็มีการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมที่เน้นความเป็นมวลชนหรือความเป็นท้องถิ่นคนตัวเล็กตัวน้อยกันมาบ้างแล้ว โดยบุคคลที่ผลิตงานศึกษาในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ขจร สุขพานิช รวมถึง ศรีศักร วัลลิโภดม
คนเหล่านี้เริ่มมีมุมมองต่อการศึกษาสังคมไทยที่ต่างไปจากเดิมคือ มีการใช้หลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานด้านภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ และชาติพันธุ์ศึกษา ซึ่งในบริบทการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยขณะนั้นถือว่าแหวกแนว แต่ด้วยบริบททางการเมืองและกระแสการศึกษาในขณะนั้น แนวทางการศึกษาดังกล่าวจึงไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก เนื่องจากถูกกดทับด้วยแนวทางทุนนิยมที่แพร่ขยายออกไปสู่เขตชนบทนับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 อีกด้านหนึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ขยายอิทธิพลในเขตชนบทเช่นเดียวกัน มีอุดมการณ์แบบชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นภายใต้แกนนำของพรรคในสมัยแห่งการต่อสู้รุนแรงถึงขั้นใช้กำลังอาวุธระหว่างอุดมการณ์ 2 ขั้ว ไม่มีพื้นที่ทางวิชาการให้แนวคิดชุมชนท้องถิ่นได้เติบโตมากนัก
ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ที่นักเรียนและนิสิตนักศึกษาได้ร่วมกับประชาชนชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหาร ในช่วงนั้นมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญจำนวนมาก จนมีการเรียกบุคคลผู้สูญเสียว่า ‘วีรชน’ เครดิตภาพ doc6.com
ในที่นี้ผู้เขียนตั้งสมมติฐานว่า การเคลื่อนไหว “เดือนตุลา” เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสนใจการศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบกับการขยายตัวทางการศึกษาในทุกระดับได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา พร้อมๆ กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้มีการผลิตมหาบัณฑิตทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้เรื่องราวของภูมิภาคต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในสังคมได้ถูกศึกษาอย่างจริงจังและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาที่ยกมาต่อไปนี้ ไม่ใช่งานศึกษากบฏผู้มีบุญอีสานทั้งหมด เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนยกมาประกอบการนำเสนอตามสติปัญญาและเวลาที่เอื้ออำนวยเท่านั้น
การศึกษากบฏผู้มีบุญ ก่อนทศวรรษ 2520
งานที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกบฏผู้มีบุญภาคอีสานในช่วงก่อน พ.ศ.2520 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนของนักวิชาการชาวต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาวิเคราะห์กบฏผู้มีบุญในสังคมไทย เช่น John B. Murdoch, Charles F. Keyes และ Yoneo Ishii ในขณะเดียวกันยังพบว่า มีนักวิชาการชาวไทยให้ความสนใจศึกษาในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่า เป็นกลุ่มนักวิชาการจากส่วนกลาง ซึ่งประเด็นในการศึกษากบฏผู้มีบุญภาคอีสานในช่วงนี้พบว่า มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเด็นใหญ่ คือ
1) การช่วงชิงพื้นที่อำนาจทางการเมือง
2) ปรากฏการณ์ความเชื่อทางศาสนา
3) การต่อสู้และการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1) การช่วงชิงพื้นที่อำนาจทางการเมือง
งานกลุ่มนี้เป็นการศึกษาปฏิกิริยาของผู้นำท้องถิ่นในระบบการเมืองเก่าที่ตอบโต้การปฏิรูปการเมืองและการปกครองแบบใหม่ที่ดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เห็นได้จากงานของ เตช บุนนาค เรื่อง “ ขบถ ร.ศ.121 ” พิมพ์ครั้งแรก ในปี 2510 โดยศึกษาผ่านหลักฐานเอกสารชั้นต้นประเภทหนังสือทางราชการของฝ่ายปกครองจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเอกสารชั้นรองประเภทหนังสือ
เตชมองว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดกบฏผู้มีบุญขึ้น กลุ่มผู้ปกครองชั้นผู้น้อยในท้องถิ่นไม่พอใจรูปแบบของหน่วยงานการบริหารที่ใหญ่โต และการลดทอนอำนาจผู้ปกครองท้องถิ่น เช่น อำนาจการคลัง การศาล การปกครอง ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมกลุ่มผู้ปกครองท้องถิ่นเคยมีอำนาจในการควบคุมบริหารส่วนนี้ รวมถึงการที่ประชาชนไม่พอใจลักษณะการกดขี่ เอาเปรียบ ของการปกครองแบบใหม่ เช่น การที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องออกใบเสร็จการจ่ายภาษี, ประชาชนต้องทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณในการค้าขายโค-กระบือ ซึ่งทั้งหมดเป็นการสร้างความยุ่งยากและลำบากในช่องทางทำกินของประชาชน ทางภาครัฐเองก็เล็งเห็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนี้ จึงได้มีความพยายามพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภาคอีสานนับตั้งแต่นั้นมา
นอกจากนั้นยังมีงาน 2 ชิ้นของ ไพฑูรย์ มีกุศล เรื่องแรก “ การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่ (พ.ศ.2436-2453) ” ซึ่งเป็นงานปริญญานิพนธ์ของเขาเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2515 โดยเป็นงานศึกษาที่ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับข้อมูลจากเอกสารหลักฐานชั้นต้นเช่น พระราชหัตถเลขา, หนังสือราชการร่วมสมัย, ประชุมพงศาวดาร และหนังสือวารสารต่างๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดขบวนการกบฏผู้มีบุญภาคอีสานในช่วง พ.ศ.2444-2445 ว่า มีสาเหตุปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ สาเหตุด้านการเมือง เกิดจากความไม่แน่นอนระหว่างอำนาจทางการเมืองของไทยและฝรั่งเศสเหนือดินแดนภาคอีสาน ทำให้บุคคลบางกลุ่มอาศัยโอกาสนี้ในการเคลื่อนไหวหาผลประโยชน์ใส่ตัวโดยการก่อจลาจล, สาเหตุด้านเศรษฐกิจ เป็นผลโดยตรงจากการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชการที่ 5 ส่งผลให้ข้าราชการท้องถิ่นสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ จึงต้องหันมากดขี่ขูดรีดราษฎรเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ราษฎรเองก็ได้รับความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นภาษีอยู่แล้ว จึงได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อมีผู้อ้างตัวเป็นผู้วิเศษมาช่วยให้ราษฎรหลุดพ้นจากความทุกข์ยากลำเค็ญ ส่วนปัจจัยทางสังคมเกิดจากความด้อยการพัฒนาด้านการศึกษาในภาคอีสานและการคอรัปชั่นของระบบราชการท้องถิ่น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดกบฏผู้มีบุญในช่วง พ.ศ.2444-2445 โดยมีการเคลื่อนไหวและเผยแพร่แนวความคิดผ่านทางหมอลำคำผญา ซึ่งถือว่า เป็น Pop Culture ในสังคมอีสานขณะนั้น จนขยายวงกว้างไปทั่วทั้งอีสาน ทางรัฐบาลจึงได้ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงจนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด บวกกับกบฏผู้มีบุญขาดยุทธวิธีในการรบ จึงทำการไม่สำเร็จ
งานอีกเรื่องหนึ่งของไพฑูรย์ คือ “ การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสาน พ.ศ.2436-2453 ” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์คุรุสภาเมื่อปี 2517 เป็นงานศึกษาที่ใช้เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุ พยายามมองถึงสาเหตุในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้านการเมือง คือ การมีปัญหากับฝรั่งเศสและการเข้ามาจัดการของรัฐมากเกินไป ด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการเสียผลประโยชน์ของราชการท้องถิ่น ความยากลำบากของชาวบ้าน ทั้งจากภัยธรรมชาติ และการบังคับเก็บภาษีโดยรัฐ และด้านสังคม คือ ประชาชนและข้าราชการท้องถิ่นไม่พอใจรัฐ ราษฎรหัวโบราณและยึดมั่นในประเพณีเก่าๆ คนด้อยการศึกษา และคนถูกชักจูงง่าย
ในขณะเดียวกันยังพบงานที่ศึกษาเกี่ยวกับวิถีของกลุ่มคน ชุมชนท่ามกลางการตกอยู่ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างไทยและฝรั่งเศส หรือแม้กระทั้งการปะทะกันระหว่างอำนาจรัฐไทยกับวิถีความเป็นท้องถิ่น มีงานของ John B. Murdoch เรื่อง “ กบฏ “ผู้มีบุญ” ค.ศ.1901-1902 ” บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2517 เป็นการเสนอปฏิกิริยาทางด้านชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ของการขยายอำนาจทางการเมืองและการปกครองของอำนาจรัฐที่ขนาบข้างคือฝรั่งเศสและไทย ซึ่งมีผลสั่นคลอนต่อระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างผู้นำแบบเดิมที่เคยเป็นอิสระบนดินแดนแถบนี้ งานนี้ได้วิเคราะห์เรื่องการกบฏผ่านเอกสารชั้นต้นจำพวกเอกสารฝรั่งเศส, พระราชหัตถเลขา ร.5 และเอกสารชั้นรองประเภทงานเขียนวิชาการและวิทยานิพนธ์ Murdoch อธิบายว่า เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงปฏิกิริยาทางด้านชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่มีลักษณะของการถูกขนาบข้างจากราชสำนักไทยและฝรั่งเศส ส่งผลกระทบโดยตรงแก่กลุ่มผู้ปกครองในท้องถิ่นเดิมที่เสียอำนาจและส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคอีสาน เช่น การเพิ่มภาษี, การเปลี่ยนระบบการค้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มชนชั้นนำเดิมและกลุ่มคนในท้องถิ่นที่ไม่พอใจและไม่เข้าใจกับระบบราชการใหม่
2.2) ปรากฏการณ์ความเชื่อทางศาสนา
งานศึกษากลุ่มนี้เป็นการศึกษาในลักษณะที่มองกบฏผู้มีบุญเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนาโดยตรง คืองานของ Yoneo Ishii เรื่อง “ กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน ” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2519 ในชื่อ “ A Note on Buddhistic Millenarian Revolts in Northeastern Siam ” โดยผู้เขียนเน้นความขัดแย้งระหว่างชนชาติกับการเมืองและวิเคราะห์ปัญหากบฏผู้มีบุญอีสานในรูปแบบที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาโดยเฉพาะวรรณกรรมทางศาสนา เช่น พระมาลัย, ไตรภูมิ เป็นต้น Ishii ชี้ว่าปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้ที่แสดงตนเป็นผู้มีบุญมักจะได้รับการเคารพนับถือจากราษฎรมาก เนื่องจากราษฎรชาวอีสานได้รับค่านิยมในเรื่องการสั่งสมบุญบารมี ประกอบกับสภาพความยากแค้นในภาคอีสานมีอยู่มากในขณะนั้น ทำให้ราษฎรผู้ยากไร้ย่อมต้องคำนึงถึงสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ความต้องการทางการเมืองของชาวอีสานอย่างหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีงานของ Charles F. Keyes เรื่อง “ ผู้มีบุญ ” ซึ่งแปลจากบทความเรื่อง “ The Power of Merit ” ที่เขียนเมื่อ พ.ศ.2516 Keyes ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องบุญ ซึ่งเป็นความคิดหลักทางพระพุทธศาสนาที่ใช้อธิบายความชอบธรรมเกี่ยวกับสถานะทางการเมืองและสังคมของคนไทย สิ่งที่ผู้เขียนเสนอไว้ในบทความนี้ก็เป็นการเสนอถึงความเปลี่ยนแปลงในการตีความแนวคิดนี้ จากแบบเก่ามาสู่การตีความแบบใหม่ตามบริบทแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อหาคำอธิบายที่เหมาะสมให้กับบริบทใหม่ของสังคม และเป็นการปรับตัวตามหลักศีลธรรมทางศาสนาของผู้คนด้วย นอกจากนั้น Keyes ยังได้เขียนบทความเรื่อง “ ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์, ลัทธิเถรวาทและสังคมไทย ” เมื่อ พ.ศ.2520 ในชื่อ“ Millenialism, Theravada Buddhism, and Thai Society ” ในบทความนี้ Keyes ใช้เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุ ตำรางานวิจัย และข้อมูลจากการลงสนาม โดยใช้แนวคิดที่ว่า ศาสนาเป็นระบบทางวัฒนธรรมและเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของพฤติกรรมมนุษย์ โดยพบว่าความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์เป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ชาวอีสานคุ้นเคยเป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้คนมีความต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก เป็นทุนทางแนวคิดของผู้คนในการตอบโต้ทางอุดมการณ์จากการเปลี่ยนแปลงการครอบงำของรัฐ ซึ่งขบวนการพระศรีอาริย์ในภาคอีสานนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องของอำนาจ ซึ่งเป็นผลมาจากการคุกคามของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส และจากการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่จะรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลาง
ในขณะเดียวกันยังปรากฏงานเรื่อง “ ประวัติศาสตร์อีสาน ” ของเติม วิภาคย์พจนกิจ ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2513 โดยเขียนขึ้นจากการรวบรวมบันทึกการปกครองของข้าราชการเมืองอุบลราชธานี โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อ พ.ศ.2443 ได้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับหนังสือลายแทงทำนองว่า หินแฮ่จะกลายเป็นเงิน หมูจะกลายเป็นยักษ์มากินคน ฯลฯ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ชาวบ้านเป็นอันมาก นอกจากนั้นยังเกิดข่าวลือเกี่ยวกับผู้มีบุญจะมาช่วยเหลือผู้คนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก จากนั้นไม่นานได้ปรากฏกลุ่มบุคคลต่างๆอาทิ กลุ่มองค์มั่นได้รวบรวมผู้คนหวังตีเอาเมืองอุบลราชธานี ใน พ.ศ.2445 แต่ก็ถูกทางการปราบปรามลงได้ เช่นเดียวกับกลุ่มของท้าวบุญจันทร์ที่เมืองขุขันธ์ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงกบฏผู้มีบุญบ้านหนองหมากแก้ว จ.เลย ในช่วง พ.ศ.2467 ที่มีการใช้ความเชื่อทางศาสนามาหลวงลวงประชาชน แต่ในที่สุดก็ถูกทางการจับกุม
Charles F.Keyes นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เข้ามาทำวิจัยในประเทศไทยรวมทั้งภาคอีสาน โดยได้พักอาศัยกับชาวบ้านที่บ้านหนองตื่น มหาสารคาม ในช่วงปี 2506 เครดิตภาพ www.digital.lib.washington.edu
2.3) การต่อสู้และการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น
งานกลุ่มนี้เป็นเรื่องของการต่อสู้ทางชนชั้นในแง่ของพัฒนาการ มีงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง “ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ” งานชิ้นนี้ติพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2519 ได้อธิบายเหตุการณ์ลักษณะผู้มีบุญของกลุ่มชาติพันธุ์ข่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2360 ถึง 2480 ในบริเวณลุ่มน้ำโขงช่วงภาคอีสานของไทย ผ่านการใช้หลักฐานชั้นรองอาทิ หนังสือ กอปรกับข้อมูลประเภทประวัติศาสตร์บอกเล่า(Oral History) ที่จิตรได้สั่งสมจากประสบการณ์ของตัวเอง โดยเสนอว่า การลุกฮือของชาวนาในครั้งนี้เป็นผลมาจากการถูกชนชั้นปกครองของราชสำนักสยามกดขี่ขูดรีดและเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส เช่น การเกณฑ์แรงงานและการเก็บส่วย เป็นต้น โดยการต่อสู้ของชาวนานั้นเป็นการแสดงออกถึงความต้องการความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมทางสังคมตามแนวทางของมาร์กอย่างที่ปรากฏในงานเขียนส่วนมากของจิตรเอง
3. บทสรุป : กบฏผู้มีบุญในฐานะ “บุญกรรมและคนโง่เขลา” ในมุมมองของเอกสารราชการ
ในตอนนี้จะเห็นได้ว่า งานศึกษากบฏผู้มีบุญส่วนใหญ่เป็นงานของนักวิชาการชาวต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาวิเคราะห์กบฏผู้มีบุญในสังคมไทย เช่น John B. Murdoch, Charles F. Keyes และ Yoneo Ishii ในขณะเดียวกันยังพบว่า มีนักวิชาการชาวไทยให้ความสนใจศึกษาในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่า เป็นกลุ่มนักวิชาการจากส่วนกลางเสียเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มนักวิชาการที่อยู่ในส่วนภูมิภาคยังพบว่ามีส่วนน้อย
นอกจากนี้การใช้หลักฐานที่นำมาศึกษากบฏผู้มีบุญในช่วงนี้พบว่า เน้นศึกษาจากเอกสารหลักฐานชั้นต้น ประเภทจดหมายเหตุ หนังสือราชการร่วมสมัย หนังสือบันทึกการปกครอง ซึ่งล้วนแต่เป็นการบันทึกในมุมมองของกลุ่ม “ผู้ปกครอง” ประกอบกับอาศัยข้อมูลจากงานศึกษาของชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาศึกษาไว้แล้ว สำหรับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ภาคสนามนั้นพบว่ายังมีการใช้วิธีการศึกษาด้านนี้น้อยมาก โดยในส่วนน้อยที่พบนั้นยกตัวอย่างเช่นงานของ Charles F. Keyes ที่มีการใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ภาคสนามประกอบการเขียนงานศึกษา ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า การที่งานเขียนส่วนมากในช่วงนี้มีการใช้เอกสารในการศึกษาเฉพาะที่เป็นเอกสารของทางราชการ จึงแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ภาพลักษณ์ของกบฏผู้มีบุญอีสานจะกลายเป็นการต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง และเป็นขบวนการของกลุ่มคนที่โง่เขลา ง่ายต่อการยุยงปลุกปั่น
เอกสารอ้างอิง :
จิตร ภูมิศักดิ์. (2544). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ . พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม
เตช บุนนาค. (2551). ขบถ ร.ศ.121 . พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ไพฑูรย์ มีกุศล. (2515). การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่(พ.ศ.2436-2453) . ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. วิทยาลัยวิชาการศึกษา
ไพฑูรย์ มีกุศล. (2517). การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสาน พ.ศ.2436-2453 . กรุงเทพฯ : คุรุสภา
Charles F. Keyes. (2527). “ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์, ลัทธิเถรวาทและสังคมไทย” . แปลโดย นาฏวิภา ชลิตานนท์. ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. หน้า 63-103
Charles F. Keyes. (2527). “ผู้มีบุญ” . แปลโดย วารุณี โอสถารมย์ ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. หน้า 44-62
John B. Murdoch. (2527). “กบฏ “ผู้มีบุญ” ค.ศ.1901-1902” แปลโดย พิมพันธุ์ เวสสะโกศล ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. หน้า 104-128
Yoneo Ishii. (2527). “กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน” แปลโดย พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล. ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. หน้า 33-43
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (1) : ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่รื้อฟื้นหาตะเข็บ
ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (2) – เล่าเรื่องกบฏผีบุญเมืองอุบลฯ จาก มาโนช พรหมสิงห์
UBON AGENDA วาระวาริน: จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (4) – กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ : อาวุธสู้รบของกบฏผีบุญกับ กทม.
ซีรีส์ชุด ผีบุญในอีสาน (5) – จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63