บทความที่แล้ว เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก ได้ฉายให้เห็นการศึกษาความเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญที่นำมาสู่การศึกษาการเมืองในยุคต่อมา โดยบทความนี้ได้รวบรวมผลงานของนักประวัติศาสตร์ที่สนใจการเคลื่อนไหวของมวลชนท้องถิ่นเพื่อให้เข้าใจกบฏผู้มีบุญมากขึ้น ซึ่งเห็นว่า การเกิดกบฏมีทั้งจากการรีดเก็บส่วยที่แสนแพง ไปจนถึงการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง

 

เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก เรื่อง 

นับตั้งแต่ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา มีนักศึกษาและนักวิชาการเป็นจำนวนมากจัดงานสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างคึกคัก โดยกลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการที่มีบทบาทในการกระตุ้นการศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่นนิยมในช่วงนี้ อาทิเช่น บำรุง บุญปัญญา, ประเวศ วะสี, เอกวิทย์ ณ ถลาง, เสน่ห์ จามริก, พิทยา ว่องกุล, กาญจนา แก้วเทพ เป็นต้น 

นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการที่เป็นนักประวัติศาสตร์มืออาชีพ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีศักร วัลลิโภดม, ธิดา สาระยา รวมไปถึงนักเศรษฐศาสตร์อย่างฉัตรทิพย์ นาถสุภา (ธงชัย วินิจจะกุล, 2543 : 25-32) การที่มีกลุ่มนักวิชาการหันมาให้ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่ศึกษาทางวิชาการมาสู่กลุ่มนักศึกษาวิชาการส่วนภูมิภาค รวมไปถึงกระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” เมื่อ พ.ศ.2516 และ 2519 ตามลำดับ 

ปกหนังสือรวมบทความ “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ” ในสังคมไทย จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2527 สะท้อนถึงความตื่นตัวในการเปิดมุมมองด้านต่างๆที่มีต่อเหตุการณ์กบฏผู้มีบุญ เครดิตภาพ : book100y.com

งานที่ศึกษากับกบฏผู้มีบุญช่วงหลัง พ.ศ.2520 พบว่า มีการขยายพื้นที่ศึกษาทางวิชาการมาสู่กลุ่มนักศึกษาวิชาการส่วนภูมิภาคมากขึ้น ประกอบกับนักวิชาการลาวยังได้ให้ความสนใจศึกษาความเคลื่อนไหวของผู้คนในพื้นที่ภาคอีสาน มีการใช้วิธีศึกษาใหม่ๆ จากการศึกษาข้อมูลการสัมภาษณ์ภาคสนาม การใช้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์บอกเล่า ส่งผลให้ความรู้เกี่ยวกับกบฏผู้มีบุญในภาคอีสานเปิดมุมมองเพิ่มขึ้น ซึ่งประเด็นในการศึกษาขบวนการผู้มีบุญภาคอีสานในช่วงนี้พบว่า มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเด็นคือ

1) การช่วงชิงพื้นที่อำนาจทางการเมือง

2) ปรากฏการณ์ความเชื่อทางศาสนา

3) การต่อสู้และการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น

4) ความสัมพันธ์ด้านการผลิตกับสังคม

5) กรณีศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์

โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

1) การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง

งานศึกษาในกลุ่มนี้พบในหนังสือรวมบทความ โดย พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย เรื่อง “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ ในสังคมไทย” โดยได้กล่าวถึงสาเหตุและอุดมการณ์ของเหตุการณ์นี้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อทางศาสนาภายในท้องถิ่นกับอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ จากความพยายามของส่วนกลางที่มีความพยายามจะเข้ามาจัดการภาคอีสานให้มีความรัดกุมในด้านการปกครอง ประกอบกับความหวาดระแวงจากการคุกคามของฝรั่งเศส การดำเนินการของรัฐดังกล่าวเป็นผลให้ท้องถิ่นอีสานสูญเสียอำนาจในการปกครองตนเอง ชาวบ้านจึงพยายามที่จะจัดระเบียบสังคมใหม่ โดยนำความเชื่อทางศาสนาที่มีอิทธิพลในภาคอีสานมาใช้ 

นอกจากนี้ยังมีงานเขียนของนักวิชาการลาวที่ได้ใช้เอกสารฝ่ายไทยเป็นหลัก คือ งานของมหาสีลา วีระวงศ์ เรื่อง “พงสาวะดานลาว แต่บูฮานเถิง 1946” กล่าวถึงกบฏผู้มีบุญในพื้นที่ภาคอีสานของไทยในช่วงหลัง พ.ศ.2444 เช่น กรณีองค์มั่น (อุบลราชธานี) และกรณีกลุ่มบ้านหนองหมากแก้ว (เลย) โดยอาศัยข้อมูลหลักฐานจากเอกสารของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เช่น งานของ เติม วิภาคย์พจนกิจ เป็นต้น โดยกล่าวถึงการปฏิรูปนโยบายการเมืองการปกครองในสมัยรัชการที่ 5 ของไทยที่ต้องการให้ “ลาวเป็นไทย” ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากผู้คนสองฝั่งโขง มีการเผยแพร่ลายแทงและข่าวลือ เกี่ยวกับการมีผู้มีบุญหรือผู้วิเศษจะมาช่วยปราบยุคเข็ญในชีวิต โดยผู้เขียนชี้ว่า สาเหตุที่ข่าวลือเกี่ยวกับการปรากฏตัวของผู้มีบุญได้แผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเพราะชาวอีสานส่วนใหญ่ขาดการศึกษาที่ดี

2) ปรากฏการณ์ความเชื่อทางศาสนา

การศึกษาขบวนการผู้มีบุญในลักษณะปรากฏการณ์ความเชื่อทางศาสนา พบในงานของ จุฬาพร โชติช่วงนิรันดร์ เรื่อง “พระศรีอาริย์ แห่งบ้านธาตุจอมศรี” ซึ่งเป็นงานที่ใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการได้กล่าวถึงแนวทางของขบวนการผู้มีบุญในอีกแง่มุมหนึ่งในเขตพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย โดยกลุ่มนี้มีผู้นำเป็นผู้หญิงและไม่ได้มีการเคลื่อนไหวในแนวทางการต่อต้านอำนาจรัฐเหมือนการเคลื่อนไหวในลักษณะผู้มีบุญที่ผ่านๆ มา โดยเป้าหมายของการแสดงตนเป็นผู้มีบุญ

ในกรณีนี้ผู้เขียนพบว่า มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้ผู้คนได้ใช้สำนึกความเชื่อทางศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแสวงหาความสุขและแสวงหาทางหลุดพ้นจากความยากลำบากตามหลักศาสนา ไม่ได้มีเป้าหมายในทางการเมืองหรืออำนาจแต่อย่างใด โดยในส่วนท้าย ผู้เขียนได้สรุปว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีบุญกลุ่มนี้ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองเป็นสำคัญ 

อย่างไรก็ตามบทความของ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ เรื่อง “ความเชื่อในเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏในภาคอีสาน : ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับอุดมการณ์และผู้นำ” ซึ่งในงานชิ้นนี้ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอิทธิพลทางความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ในสังคมชาวนาอีสาน ที่ยึดมั่นในความเชื่อพระศรีอาริย์ว่าจะเป็นผู้มีช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก โดยมีสถาบันทางศาสนา คือพระสงฆ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวในการเผยแพร่ความคิดนี้ ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองสงฆ์ทำให้พระสงฆ์อีสานเริ่มหันเข้าหาศูนย์อำนาจการปกครองไทยมากขึ้น ทำให้การแพร่ขยายของแนวคิดในการต่อต้านและท้าทายอำนาจรัฐไทยลดน้อยลงไป 

นอกจากนั้นยังมีงานของ ธีรชัย บุญมาธรรม เรื่อง “งานวิจัยเรื่อง พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม พ.ศ.2408-2455” ซึ่งเป็นงานที่ศึกษาข้อมูลจากเอกสารในท้องถิ่น เช่น หนังสืออนุสรณ์งานศพและข้อมูลสัมภาษณ์ภาคสนาม ประกอบกับข้อมูลเอกสารหลักฐานชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เช่น ใบบอก ฯลฯ โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ผู้มีบุญในเขตจังหวัดมหาสารคาม ในช่วง พ.ศ.2444-2445 ว่าเป็นผลมาจากความเชื่อเรื่องบุญกรรม ผีสางเทวดาในท้องถิ่นและความต้องการสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความต้องการมีสังคมที่สงบสุข ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี

3) การต่อสู้และการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น

งานในกลุ่มนี้พบจากเอกสารทางวิชาการของฝั่งประเทศลาว คืองานของเวียงวิจิด สุดทิเดด ในเอกสารแบบเรียนของ สปป.ลาว “แบบเรียนปะหวัดสาดลาวซั้นมัดทะยมปีที่ 4” และ แบบเรียนฉบับสถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ “แบบเรียนวิดทะยาสาดสังคม ซั้นมัดทะยมปีที่ 1” 

ในแบบเรียนทั้งสองฉบับนี้ ได้มีการนำเสนอกบฏผู้มีบุญที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐไทย 2 กรณี คือ กรณีกลุ่มเซียงแก้วในปีพ.ศ.2334 และกรณีพระสาเกียดโง้ง ใน พ.ศ.2362 หรือ้ายสาเกียดโง้งตามที่เอกสารฝ่ายไทยเรียกขาน โดยมีมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเอกสารของฝ่ายไทย กล่าวคือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการดังกล่าวเกิดจากสาเหตุที่ชาวลาวสองฝั่งโขงได้รับความเดือดร้อนจากการกดขี่ข่มเหงของเหล่าศักดินาไทย จึงได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวเพื่อรักษาสิทธิและพื้นที่ทางสังคมโดยอาศัยสำนึกความเป็นชาติพันธุ์ลาว

นอกจากเอกสารแบบเรียนลาวแล้ว ยังพบงานเขียนของสุเนด โพทิสาน และหนูไซ พมมะจัน เรื่อง “ปะหวัดสาดลาว (ดึกดำบัน – ปะจุบัน)” ซึ่งได้กล่าวถึงกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มเซียงแก้วบนพื้นฐานของความเป็นชาตินิยมว่า เกิดจากความต้องการปลดปล่อยประชาชนลาวให้หลุดพ้นจากการกดขี่ของไทย โดยเริ่มจากการที่เซียงแก้วเคยบวชสามเณรในพระพุทธศาสนาจึงทำให้ผู้คนเคารพเลื่อมใสมาก การเคลื่อนไหวในระยะแรกเป็นการแสดงออก โดยการไม่ยอมเสียส่วยให้แก่ไทย ต่อมาเมื่อได้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่งจึงได้เข้ายึดเอาเมืองจำปาศักดิ์ในช่วง พ.ศ.2334 อย่างไรก็ตามกลุ่มเซียงแก้วนั้นขาดความสามารถในด้านการปกครองบริหารจัดการกำลังคนทำให้ต้องพ่ายแพ้แก่กองกำลังของฝ่ายไทยที่ยกมาปราบปรามในที่สุด

4) ความสัมพันธ์ด้านการผลิตทางเศรษฐกิจและสังคม

งานกลุ่มนี้เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางด้านการผลิตและบริบททางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีงานของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และประนุช ทรัพยสาร เรื่อง “อุดมการณ์ขบถผู้มีบุญอีสาน” ซึ่งเป็นงานที่ศึกษาจากหลักฐานชั้นต้น พงศาวดาร หลักฐานชั้นรอง หนังสือ วิทยานิพนธ์ สัมภาษณ์และการบอกเล่า อธิบายอุดมการณ์การเกิดขึ้นของกบฏผู้มีบุญตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2450 ถึง 2510 ว่า เกิดขึ้นเพราะการต่อต้านอำนาจรัฐที่พยายามเข้าไปควบคุมและขูดรีดทางชนชั้น เช่น การเก็บส่วยเกินกำลัง ซึ่งเป็นภาระหนักสำหรับประชาชนในระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ เหตุการณ์นี้เป็นการต่อสู้ของชาวนา เพื่อให้หลุดพ้นจากการขูดรีดในระบบศักดินา และบางครั้งเกี่ยวโยงไปถึงการต่อต้านคนไทย ความคิดที่จะฟื้นฟูเมืองเวียงจันทน์ 

เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชาติ และความขัดแย้งในความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอุดมการณ์ว่าเป็นจิตสำนึกหมู่บ้านสังคมนิยมอิสระแบบชุมชนบุพกาล ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีการผลิต ฉัตรทิพย์มองว่า กบฏผู้มีบุญเกิดจากสำนึกทางชนชั้นมากกว่าสำนึกทางเชื้อชาติ แนวทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการเมืองที่ต่อต้านอำนาจรัฐ นอกจากนั้นฉัตรทิพย์ นาถสุภา ยังได้เขียนบทความเรื่อง “เจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว” ในบทความนี้เจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 2470 ในเขตจังหวัดเลย เป็นการศึกษาภาคสนาม สัมภาษณ์เก็บข้อมูลและรวบรวมเอกสารหลักฐานชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุ รวมถึงงานศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการรุ่นหลัง 

บทความนี้เป็นเรื่องของเจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้วมีแนวทางที่จะจัดตั้งกลุ่มปกครองกันเองพร้อมกับวางแผนยึดอำเภอวังสะพุง แต่ในที่สุดก็ถูกปราบปรามจากทางการ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า จุดมุ่งหมายของการก่อกบฏ คือการปฏิเสธอำนาจรัฐ อันเป็นผลมาจากการขูดรีดทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านต้องเสียภาษีสูงมากเมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้น ประกอบกับการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น ผู้เขียนพบว่า มีการใช้พลังทางความเชื่อพระศรีอาริย์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แฝงอยู่เบื้องลึก 

วิถีการจับปลาของคนลุ่มน้ำมูล เครดิตภาพ ประชาไท

ขณะเดียวกันยังมีงานของ ชุมพล แนวจำปา เรื่อง “ประวัติศาสตร์ความลำเค็ญของชาวนาบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน” งานชิ้นนี้ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความลำเค็ญของชาวนาบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นบริบทเอื้อให้เกิดเหตุการณ์กบฏผู้มีบุญอย่างมากในช่วง พ.ศ. 2444-2445 โดยชุมพลเสนอว่า ชาวอีสานได้รับความเดือดร้อนจากการเกณฑ์แรงงานตามลักษณะของระบบศักดินาเพื่อไปทำงานโยธา หรือเป็นกำลังรบราชการสงคราม รวมไปถึงการถูกรีดไถจากข้าราชการท้องถิ่นเอง ซึ่งบริบทเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ราษฎรชาวอีสานได้รับความเดือดร้อนมาก นอกจากนั้นแล้ว ชุมพลยังชี้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ภาคอีสานยังได้ประสบกับปัญหาความขาดแคลนทางด้านผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายอีกด้วย

5) กรณีศึกษาเชิงประวัติศาสตร์

งานกลุ่มนี้เป็นการศึกษาเรื่องเฉพาะกรณีในประวัติศาสตร์ แนวความคิดของงานกลุ่มนี้ไม่ได้มุ่งเน้นศึกษากบฏผู้มีบุญในสังคมไทยอย่างเป็นขบวนการ ตัวอย่างเช่น วิทยานิพนธ์ของ นงลักษณ์ ลิ้มศิริ เรื่อง “ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ.2325-2445” ซึ่งงานของนงลักษณ์ชิ้นนี้ผู้เขียนถือว่า เป็นงานที่ศึกษาเกี่ยวกับกบฏผู้มีบุญภาคอีสานได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดจนถึงปัจจุบัน โดยการศึกษาใช้วิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับข้อมูลเอกสารชั้นต้นจากหอสมุดและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฯลฯ และเอกสารชั้นรองประเภท บทความ วิทยานิพนธ์ และการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจากคนในท้องถิ่น ซึ่งนงลักษณ์ชี้ว่า กบฏผู้มีบุญในแต่ละช่วงเวลานั้นมีความแตกต่างและหลากหลายในแง่ของสาเหตุการกบฏ รวมถึงรูปแบบของการจัดตั้งขบวนการและเป้าหมายของบวนการ การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้มีบุญในภาคอีสานหาได้มีรูปแบบอันเดียวกันตลอดไป หากมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทและสถานการณ์แวดล้อมของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ 

นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้วิเคราะห์สาเหตุเฉพาะของการเกิดเหตุการณ์ผู้มีบุญในแต่ละกรณีและชี้เฉพาะสภาวะแวดล้อมของสังคมโดยเฉพาะ ในกรณีศึกษากบฏผู้มีบุญในภาคอีสานระหว่าง กรณีกบฏอ้ายเชียงแก้ว พ.ศ.2334, กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง พ.ศ.2358-2362, และกลุ่มกบฏผู้มีบุญ พ.ศ.2444-2445  ด้วยข้อจำกัดทางหลักฐาน นงลักษณ์จึงได้ศึกษาเฉพาะกลุ่มกบฏผู้มีบุญ พ.ศ.2444-2445 โดยละเอียดเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ซึ่งนงลักษณ์พบว่า ปัจจัยในลักษณะที่เกิดจากสภาวะความสับสนทางการเมือง การปฏิรูปการปกครอง ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพความเป็นอยู่ที่ล้าหลัง ไม่ได้เป็นสาเหตุเฉพาะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่เป็นเพียงบริบทแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเท่านั้น 

ส่วนสาเหตุเฉพาะของแต่ละกลุ่มพอจะแยกได้ คือ กลุ่มองค์มั่น พ.ศ.2444 เกิดจากความไม่พอใจของชาวข่าที่อยู่ใต้การปกครองของไทยและฝรั่งเศส กลุ่มท้าวบุญจันทร์ เป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มเครือญาติ และกลุ่มผู้มีบุญอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์และความเชื่อเรื่องบุญกรรม โดยขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีบุญในช่วง พ.ศ.2444-2445 นั้น มีทั้งกลุ่มที่มีเป้าหมายทางการเมืองและกลุ่มที่มีเพียงเป้าหมายทางสังคม ซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีบุญในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านการเมืองและสังคมในภาคอีสาน โดยในด้านการเมือง ภาครัฐได้มีการจัดระบบการปกครองภาคอีสานให้มีความรัดกุมมากขึ้น ในขณะที่ด้านสังคมพบว่า มีการปฏิรูปการศึกษาและมีการห้ามนับถือผี เป็นต้น

นอกจากงานของ นงลักษณ์ ลิ้มศิริ แล้ว ก็ไม่พบงานในทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดที่ได้มีการศึกษาถึงขบวนการกบฏผู้มีบุญโดยตรงอีกเลย ส่วนงานอื่นๆ ที่พบ คือ อุราลักษณ์ สิถิรบุตร เรื่อง “มณฑลอีสานและความสำคัญทางประวัติศาสตร์” งานชิ้นนี้ศึกษาข้อมูลจากเอกสารราชการในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารใบลานในท้องถิ่น ประกอบกับการณ์สัมภาษณ์ภาคสนาม 

โดยชี้ว่า ความเดือดร้อนที่ราษฎรได้รับจากการเรียกเก็บส่วยอากรปีละ 4 บาท ในช่วง พ.ศ.2444 นั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราษฎรอีสานได้ก่อความเคลื่อนไหวในลักษณะกลุ่มผู้มีบุญที่ต้องการปลดเปลื้องความทุกข์และความอดอยาก เห็นได้จากกลุ่มขององค์มั่นที่มีการโน้มน้าวให้ผู้คนหันไปขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์เพื่อที่จะไม่ต้องเสียส่วยเงินส่วนทองให้แก่ไทย ซึ่งสะท้องในเห็นสำนึกทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของชาวอีสานที่มีความใกล้ชิดกับลาวเวียงจันทน์มากกว่ากรุงเทพฯ อย่างเห็นได้ชัด 

ถัดมาเมื่อ พ.ศ.2528 ปรากฎงานของ ธีรชัย บุญมาธรรม เรื่อง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหัวเมืองกาฬสินธุ์ พ.ศ.2336-2450” โดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารราชการในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารราชการท้องถิ่น เอกสารใบลานในท้องถิ่น ประกอบกับการณ์สัมภาษณ์ภาคสนาม และเอกสารชั้นรองอื่นๆ ได้ชี้ว่า การเกิดกบฏผู้มีบุญในช่วง พ.ศ.2444 นั้น คือ การเคลื่อนไหวทางความเชื่อที่เป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของอีสาน  โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ปกครองท้องถิ่นและความเดือดร้อนของราษฎรจากการเก็บภาษีอากร รวมถึงความอัตคัดจากข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ผู้คนเกิดความพยายามที่จะแสวงหาสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีกว่า ทำให้ข่าวลือเกี่ยวกับผู้มีบุญที่จะช่วยให้ราษฎรหลุดพ้นจากความเดือดร้อนลำเค็ญแพร่ขยายไปทั่วภาคอีสาน โดยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ได้มีการใช้สำนึกความเป็นชาติพันธุ์ลาวมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการปลุกระดมด้วย แต่ไม่ได้มีการแสดงออกโดยการใช้กำลังในการต่อต้านอำนาจรัฐแต่อย่างใด แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามอย่างเด็ดขาด 

ฮูปแต้มสินไซพร้อมการเขียนอธิบายด้วยอักษรไทน้อย ที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติความเป็นมาเกือบ 200 ปี เครดิตภาพ : watportal.com

ในด้านงานศึกษาของนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างสุวิทย์ ธีรศาศวัต และชอบ ดีสวนโคก ก็ได้ค้นคว้าเรื่อง “กบฏผู้มีบุญโสภาแห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น” งานศึกษาชิ้นนี้ได้ใช้วิธีการศึกษาผ่านหลักฐานชั้นต้น เช่น พงศาวดาร หลักฐานชั้นรอง เช่น วิทยานิพนธ์ งานเขียนทางวิชาการ และประกอบกับข้อมูลภาคสนาม โดยได้เสนอว่าผลจากการดำเนินนโยบายครอบงำหัวเมืองอีสานของรัฐกลางในช่วงทศวรรษ 2460-2480 เช่น การบังคับเรียนภาษาไทย, การเสียภาษีที่ดินทำกิน ฯลฯ โดยการเคลื่อนไหวที่ขอนแก่นในกรณีศึกษานี้มีแกนนำในการเคลื่อนไหวคือหมอลำโสภา ซึ่งเป็นปราชญ์และกวีในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดท้องถิ่นนิยมสูง พยายามรักษาทุนและสิทธิทางสังคมดั้งเดิมของตนเอาไว้ เพื่อต่อสู้กับการกดขี้ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่ราชการที่ลุแก่อำนาจ 

บทสรุป : การเปิดมุมมองของงานศึกษาขบวนการผู้มีบุญช่วงหลัง พ.ศ.2520

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า งานศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวของผู้มีบุญภาคอีสานในช่วงก่อนและหลังปี พ.ศ.2520 นั้น มีความแตกต่างกันในทางรูปแบบและเนื้อหาในการศึกษา ซึ่งในด้านผู้เขียนหรือผู้สร้างผลงานพบว่า จากเดิมที่มีเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองและนักมานุษยวิทยาชาวต่างชาติศึกษาค้นคว้าเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาจึงมีวิชาการและนักศึกษาชาวไทย ทั้งทางด้านมานุษยวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์หันมาสนใจศึกษาเพิ่มขึ้น ในขณะที่แหล่งข้อมูลที่ใช้ศึกษาเรื่องกบฏผู้มีบุญก็พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเดิมที่มีการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารราชการและเอกสารที่อยู่ในห้องสมุด การศึกษาภาคสนามยังมีน้อย แต่ต่อมาหลังจาก พ.ศ.2520 ได้เริ่มมีการใช้ข้อมูลภาคสนามจากการลงพื้นที่มากขึ้น มีการใช้เอกสารที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ใบลาน บันทึกของบุคคลในท้องถิ่น หรือจดหมายเหตุท้องถิ่น เป็นต้น

ส่วนประเด็นในด้านพื้นที่ศึกษานั้นพบว่า ช่วงก่อน พ.ศ.2520 ส่วนใหญ่จะทำการศึกษาในระดับภูมิภาคอีสานเป็นภาพรวมทั้งภูมิภาค ต่อมาจึงได้มีการศึกษาวิเคราะห์การเคลื่อนไหนในระดับชุมชนหมู่บ้านกันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงแนวคิดในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขบวนการผู้มีบุญในภาคอีสานพบว่า ในช่วงแรก มีการศึกษาค้นคว้ากันในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง ประเด็นด้านศาสนา และประเด็นด้านชนชั้น แต่หลังจาก พ.ศ.2520 เป็นต้นมาพบว่าได้มีประเด็นการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 2 ประเด็น คือ ประเด็นด้านการผลิต และประเด็นการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็น “ขบวนการของคนโง่” ที่ถูกนำเสนอจากข้อมูลของทางราชการนั้น ถูกท้าทายด้วยแหล่งข้อมูลอื่นๆรวมถึงมุมมองของการศึกษาที่หลากหลายขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า การขยายขอบเขตการศึกษาเรื่องกบฏผู้มีบุญนับตั้งแต่ช่วงหลังจากเหตุการณ์ “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” ได้ส่งผลให้เรื่องราวของกบฏผู้มีบุญ มีการรับรู้ที่หลากหลายมากขึ้น สอดคล้องกับความพยายามสร้างองค์ความรู้ที่หลากหลาย ไม่ผูกขาดความรู้โดยส่วนกลางตามวิถีทางประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ในบริบทการเมืองไทยปัจจุบันที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางอันมีระบบราชการเป็นกลไกสำคัญ ผู้เขียนมีความเห็นว่า การสร้างองค์ความรู้ที่หลากหลายยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สังคมไทยสามารถก้าวข้ามการผูกขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้

 

เอกสารอ้างอิง :

จุฬาพร โชติช่วงนิรันดร์. (2527). “พระศรีอาริย์ แห่งบ้านธาตุจอมศรี” ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. หน้า 274-310.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. (2527). “ความเชื่อในเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏในภาคอีสาน : ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับอุดมการณ์และผู้นำ”. ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. หน้า 22-32.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และประนุช ทรัพยสาร. (2527). “อุดมการณ์ขบถผู้มีบุญอีสาน” ใน “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์. 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2525). “เจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว”. ใน กบฏชาวนา. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. หน้า 65-79.

ชุมพล แนวจำปา. (2540). “ประวัติศาสตร์ความลำเค็ญของชาวนาบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 18(11) : ก.ย. ; หน้า 164-175.

นงลักษณ์ ลิ้มศิริ. (2524). ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ.2325-2445. วิทยานิพนธ์ อ.ม.ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2543). “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอดีต : ประวัติศาสตร์ใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลาฯ”. ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, (บรรณาธิการ). สถานภาพไทยศึกษา : การสำรวจเชิงวิพากษ์. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.). หน้า 18-47. 

ธีรชัย บุญมาธรรม. (2528). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหัวเมืองกาฬสินธุ์ พ.ศ.2336-2450. วิทยานิพนธ์ อ.ม.ประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธีรชัย บุญมาธรรม. (2547). พัฒนาการของเมืองมหาสารคาม พ.ศ.2408-2455. มหาสารคาม : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย. (2527). “ความเชื่อพระศรีอาริย์” และ “กบฏผู้มีบุญ”ในสังคมไทย.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต และชอบ ดีสวนโคก. (2537). “กบฏผู้มีบุญโสภาแห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น” ใน วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์. 12(1) : พ.ค.-ต.ค.  ; หน้า 38-51.

อุราลักษณ์ สิถิรบุตร. (2525). มณฑลอีสานและความสำคัญทางประวัติศาสตร์. วิทยานิพนธ์ อ.ม.ประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

เอกสารอ้างอิงภาษาลาว (ผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์) :

มหาสีลา วีละวง. (2001). พงสาวะดานลาว แต่บูฮานเถิง 1946. เวียงจัน : หอสมุดแห่งซาด.

เวียงวิจิด สุดทิเดด, (เรียบเรียง). (2005). แบบเรียนปะหวัดสาดลาวซั้นมัด

ทะยมปีที่ 4. เวียงจัน : สะถาบันค้นคว้าวิทะยาสาดการสึกสาแห่งซาด กะซวงสึกสาทิกาน. 

สะถาบันค้นคว้าวิทะยาสาดการสึกสาแห่งซาด. (1996). แบบเรียนวิดทะยาสาดสังคม ซั้นมัดทะยม ปีที่ 1. เวียงจัน : สะถาบันค้นคว้าวิทะยาสาดการสึกสาแห่งซาด กะซวงสึกสาทิกาน.สุเนด โพทิสาน และหนูไซ พมมะจัน. (2000). ปะหวัดสาดลาว(ดึกดำบัน – ปะจุบัน). เวียงจัน : กะซวงถะแหลงข่าวและวัดทะนะทำ เวียงจัน.

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (1) : ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่รื้อฟื้นหาตะเข็บ

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (2) – เล่าเรื่องกบฏผีบุญเมืองอุบลฯ จาก มาโนช พรหมสิงห์

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (3) UBON AGENDA วาระวาริน: จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (4) – กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ : อาวุธสู้รบของกบฏผีบุญกับ กทม.

ซีรีส์ชุด ผีบุญในอีสาน (5) – จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (6) – ศึกโนนโพแห่งสะพือทุ่งสังหารอีสาน เสียงบอกเล่าครั้งสุดท้าย

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (7) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนที่ 1)

 

image_pdfimage_print