การถูกเรียกขานว่า “กบฏผีบุญ” เป็นการนิยามจากฝ่ายผู้มีอำนาจที่เห็นว่า ผู้ร่วมตัวกันแข็งขืนก่อการกบฏเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐจนต้องถูกปราบปรามฆ่าเสียให้สิ้น แต่ในสายตาของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์มองอย่างนั้นหรือไม่ ย้อนอ่านบทความนี้
วิทยากร โสวัตร เรื่อง
หมายเหตุ : บทความนี้เคยเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Isaan Record เมื่อ 23 กรกฎาคม 2560
ในประวัติศาสตร์อีสาน กรณีผีบุญหรือขบถผู้มีบุญ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุด เพราะการที่ราษฎรอีสานลุกฮือขึ้นมาสู้กับอำนาจรัฐจากกรุงเทพฯ แล้วสุดท้ายถูกล้อมฆ่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2444 นับเฉพาะที่เมืองอุบลนั้น (เท่าที่เจ้าหน้าที่รัฐบันทึกไว้) มีคนตายมากกว่า 200 คน บาดเจ็บอีก 500 คนเศษ และถูกจับเป็นอีก 120 คน และหลังจากนั้นตลอด 3 เดือน ก็มีการกวาดล้างกลุ่มขบถทั่วภาคอีสาน (มณฑลอีสานและมณฑลอุดร) จับผู้ร่วมขบวนการได้อีก 400 คนเศษ (ไม่มีบันทึกว่า มีคนบาดเจ็บหรือคนตาย ซึ่งความเป็นจริงน่าจะมี)
ผมอยากเอาข้อเขียนเกี่ยวกับการลุกฮือครั้งนี้จาก “ผู้เชี่ยวชาญ” หลายๆ คนมาเรียงกันให้ท่านเห็นดูว่า แต่ละคนมีน้ำเสียงอย่างไร เมื่อเทียบกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง ซึ่งสังกัดอยู่กับสถาบันศาสนาที่นักคิดในปัจจุบันมักละเลย ด้วยการตั้งป้อมไปว่า “ล้าหลัง” ตั้งแต่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยทรงเห็นว่ากรณีผีบุญ “นี่ไม่ใช่พงศาวดาร” และเป็นได้แต่เพียง “เกร็ดนอกพงศาวดาร” เท่านั้น ดังที่บรรจุเรื่องผีบุญนี้ไว้ในพระนิพนธ์เรื่องนิทานโบราณคดี และทรงชี้ระดับคุณค่าที่ว่านี้ไว้ในคำนำ
และนี่อาจเป็นเหตุผลของการเขียนถึงเรื่องนี้ในยุคหลังๆ ที่ไม่ค่อยยุติธรรมกับราษฎรอีสานนัก คือมีน้ำเสียงเอนเอียงไปแบบน้ำเสียงของรัฐส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) กระทั่งหมิ่นแคลนขบวนการนี้ เช่น ใน ประวัติศาสตร์อีสาน, 2449-2514 ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ (ชาวเมืองอุบลราชธานี) ใช้เอกสารของทางการและคำบอกเล่าของพ่อตัวเองซึ่งทำงานใกล้ชิดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานเป็นส่วนใหญ่และพงศาวดารเมืองยโสธร “…ประชาชนผู้เป็นผีบาป (ผีบ้า) จึงได้ไปกระทำพิธีเซ่นสรวงขึ้น…”
เห็นได้ว่า มีการเรียกกบฏผีบุญที่พงศาวดารเมืองยโสธรว่า “ผีบ้า” ซึ่งไม่ตรงความหมายของคำว่า “ผี” ในคติชนลาว ที่ผีมี 2 แบบคือ ผีให้คุณกับผีให้โทษ ในกรณีผีบุญมีคำว่าบุญต่อท้ายหมายถึงผีให้คุณ ซึ่งก็คือพญาธรรมิกราช
หรือตอนชาวฝรั่งเศสถามถึงความชอบธรรมของคำสั่งประหารชีวิต ซึ่งเข้าใจว่าผู้เขียนยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อหาความชอบธรรมสำหรับการนี้แทนที่จะมองว่านี่เป็นคำท้วงติงด้านสิทธิมนุษยชนจากปากของคนประเทศที่มีความศิวิไลซ์
เนื่องในการประหารชีวิตพวกผีบาปผีบุญครั้งนี้ เมอสิเออร์ลอร์เรน ชาวฝรั่งเศสซึ่งทางการเราจ้างมาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ณ เมืองอุบลราชธานีได้ทูลถามเสด็จในกรมฯ ว่า “พระองค์มีอำนาจอย่างไรในการรับสั่งให้ประหารชีวิตคนก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต” เสด็จในกรมฯ ทรงรับสั่งตอบว่า “ให้นำความกราบบังคมทูลดู” เมอสิเออร์ลอร์เรนเลยเงียบไป…
หรือแม้แต่นักเขียนลูกอีสานผู้ยิ่งยงอย่าง คำพูน บุญทวี ก็ยังเขียนไว้ในหนังสือ สารคดี เกร็ดประวัติศาสตร์อีสาน : ผีบ้า ผีบุญ ว่า
ผีบ้า ผีบุญ คือ คนธรรมดาสามัญ แต่อวดอุตริเป็นผู้วิเศษ มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นานา ประวัติศาสตร์ไทยกล่าวไว้ว่า มีผีบ้า ผีบุญ เกิดขึ้นทางภาคอีสานหลายคน แต่ถูกทางการบ้านเมืองปราบปรามราบคาบทุกคน… เพื่อลูกหลานไทยอีสานรุ่นหลังจะได้รู้บ้างว่า แผ่นดินอันแห้งแล้งของเขาแห่งนี้ เคยมีการรบราฆ่าฟันกัน เพราะคำเล่าลืออันพิลึกกึกกือแท้ๆ เรื่องนี้ผมสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีก่อน และค้นคว้าจากหนังสือมาประมวลกันเข้าให้อ่านเพลินๆ หากมีประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชน ผมขออุทิศความดีของหนังสือเล่มนี้ให้แก่ดวงวิญญาณวีรชนและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผู้มีส่วนปราบผีบ้าผีบุญครั้งนี้ด้วยความคารวะ
แต่กลับมีรายงานบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้จากพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์จริง (ซึ่งไม่ถูกอ้างถึงเลยในงานเขียนยุคหลัง 2 เล่มดังกล่าว) ถูกเก็บเงียบอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นเวลายาวนาน ที่น่าสนใจคือผู้บันทึกนั้นคือ “พระญาณรักขิต” (จันทร์ สิริจนฺโท ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ และเป็นที่ยอมรับนับถือของพระสงฆ์ทางอีสานทั้งสายปริยัติและปฏิบัติว่าเป็นอาจารย์ใหญ่) แม้จะเป็นคนอีสาน (เกิดที่บ้านหนองไหล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี) แต่ก็บวชเรียนในสายธรรมยุติ ซึ่งเป็นนิกายที่ถูกก่อตั้งขึ้นจากศูนย์กลางสยามโดยรัชกาลที่ 4 นิกายนี้แม้จะเป็นนิกายของคนส่วนน้อย แต่ก็กุมอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ของประเทศนี้มาตลอด ต่อมาในยุคสร้างชาติก็ถูกใช้เพื่อการเผยแพร่อุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผ่านการกระจายการศึกษาของพระซึ่งสมัยนั้นถือเป็นสถาบันหลักในทางการศึกษาที่กระจายไปถึงญาติโยมหรือประชาชนส่วนใหญ่ด้วย อีกทั้งการปกครองศาสนจักรก็เกิดการรวมเข้าสู่ส่วนกลางแบบเดียวกันกับการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
ในขณะนั้น ท่านพระญานรักขิตทำหน้าที่เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสานและผู้อำนวยการศึกษาอีสาน พูดง่ายๆ ก็คือเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฝ่ายศาสนจักรนั้นเอง ท่านได้เที่ยวออกตรวจราชการประจำปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (ร.ศ.๑๒๐) ตามหัวเมืองต่างๆ และบันทึกนี้ก็เป็นรายงานแก่ราชสำนักกรุงเทพฯ
แต่น้ำเสียงของบันทึกรายงานชิ้นนี้ค่อนข้างเข้าใจราษฎรอีสานและมีความกล้าหาญที่จะชี้ความผิดปกติ บกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งจากส่วนกลางที่มาปกครองและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม และสภาพความเป็นจริงของชีวิตราษฎรอีสานที่จำต้องลุกขึ้นมาก่อกบฏ ดังที่ท่านเขียนไว้ว่า
…ราษฎรมีความคับแค้น เพราะขาดทางเจริญแห่งทรัพย์ ทำไร่ นา สวน ถ้าได้ผลมากก็ไม่มีราคา ถ้าทำไม่ได้ต้องอด… ในการค้าขายสัตว์พาหนะมีความลำบากหลายประการ ผู้ซื้อผู้ขายก็อยากซื้ออยากขาย แต่พิมพ์ไม่มี ครั้นช้างม้าพลัดหนีไป ถ้ามีผู้จับนำส่งศาลกลาง ต้องริบเป็นของหลวง ถึงจะติดตามได้ก็ไม่ได้โดยมาก ราษฎรไม่มีทางหาเงินในถิ่นฐานภูมิลำเนาของตน เพราะจ้างกันทำงานราคาถูกเหลือเกิน เป็นต้นว่า ทำนา ๑ ปี ได้เงินเพียง ๕ บาท หรือ ๒ บาทเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งตามหัวเมืองข้าหลวงมักมีผู้โกงเรียกเงินส่วยแก่ราษฎรก่อน แต่ยังไม่มีปี้จะให้ เมื่อทางการฝ่ายโจทก์ฟ้องจำเลยไม่มีหลักฐาน ก็ปรับเป็นแพ้… เป็นขึ้นเพราะความคับแค้นสับสนนั่นเอง
และเป็นที่น่ายินดีว่า ภายหลังก็มีการนำเอกสารชิ้นนี้มาใช้ในการวิเคราะห์กรณีผีบุญในภาคอีสาน แม้น้ำเสียงหลายๆ คนยังโน้มนำไปสู่ความเห็นพ้องกับทางราชสำนักกรุงเทพฯ และไม่กล้าวิจารณ์นโยบายจากส่วนกลางอย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐาน แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีหนังสือที่ระลึก อุบลราชธานี ๒๐๐ ปี (ปรากฏอยู่ในตอนที่ 1 ประวัติเมืองอุบลราชธานี บทที่ 3 ขบถผู้มีบุญ หน้า 45-47 เรียบเรียงโดย นายชุมพล แนวจำปา ศึกษานิเทศก์กรมสามัญ จังหวัดอุบลราชธานี จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2535 โดยธนาคารกรุงเทพ) ที่ได้นำเอกสารชั้นต้นชิ้นนี้และของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายปราบปรามมาใช้ในการวิเคราะห์อย่างซื่อตรงด้วย
ดังนั้นผมจึงเห็นว่า ข้อเขียนในเล่มดังกล่าวเป็นเรื่องของขบถผู้มีบุญที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยการใช้เอกสารชั้นต้น (บันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์) ถือเป็นการให้ความยุติธรรมกับราษฎรอีสานอย่างมีหลักฐานอ้างอิง ไม่เพียงแต่เอาความรู้สึกฝักฝ่าย ภูมิภาคนิยมเป็นฐานการวิเคราะห์
บันทึกรายงานของ พระญาณรักขิต ทำให้เห็นสาเหตุของการขบถว่าเกิดจากความขัดแย้งภายในระหว่างผู้ปกครองส่วนกลางกับผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อยไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับราษฎรอีสานอันมีสาเหตุจากความขัดสนทางเศรษฐกิจ ความกดดันทางจิตใจ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2400-2475
แต่ในขณะเดียวกันบันทึกของเจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลางก็สะท้อนถึงสายตาของคนนอกหรือจากผู้ปกครองจากส่วนกลางต่อคนอีสานได้เป็นอย่างดี และมันได้สะท้อนออกมาเป็นความโหดร้ายเลือดเย็นดังบันทึกที่ว่า กำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายขบถเป็นชาวบ้านธรรมดา เมื่อกองทัพฝ่ายรัฐบาลเข้าประชิดแล้ว ปรากฏว่าพวกเขาเตือนกันว่า ใครอย่ายิงอย่าทำอะไรหมด ให้นั่งลงภาวนา “ฝ่ายเราก็ยิงแต่ข้างเดียว”
และดีที่ พระญาณรักขิต ได้เป็นผู้สอบสวนหมู่พระที่ร่วมขบวนการขบถด้วยตัวเอง โดยเฉพาะแกนนำพระที่เมืองยโสธร ไม่อย่างนั้น ก็ไม่แน่ว่าพระเหล่านั้นจะมีชีวิตรอด
แต่น่าเสียดายว่า การปฏิบัติงานส่วนนี้ไม่มีปรากฏในชีวประวัติของท่านเลย ไม่ว่าจะเป็นสำนวนที่ท่านเขียนขึ้นเอง หรือที่คณะศิษยานุศิษย์และผู้สนใจศึกษา บางทีผมก็อยากจะรู้ว่าทำไม? แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าจะมีการรวบรวมบันทึกรายงานชิ้นนี้พิมพ์เป็นเล่มอย่างเป็นกิจจะลักษณะและแจกจ่ายไปสู่ประชาชนทุกคนในภาคอีสานก็คงจะดี
เช่นเดียวกับมิติการเมืองสองฝั่งโขงของท่านที่ไม่เคยมีปรากฏ แต่เรื่องนี้กลับปรากฏเค้าอยู่ในหนังสือ ຊີວິດຜູ່ຂ້າ (อัตชีวประวัติของข้าพเจ้า, ปราโมทย์ ในจิต แปล) ของ มหาสิลา วีระวงส์ มหาปราชญ์ของลาว ซึ่งกำเนิดนั้นเป็นคนบ้านหนองหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้บวชศึกษาเล่าเรียนในสายธรรมยุติ จนได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ก่อนจะไปได้ดิบได้ดีในประเทศลาว ถือว่า เป็นศิษย์สายตรงของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ความตอนที่เผยถึงมิติการเมืองสองฝั่งโขงมีอยู่ว่า
“เวลานั้น ได้อ่านหนังสือพิมพ์ลาวที่ออกในเวียงจันซึ่งกลุ่มพระจากเมืองโขงเอาไปให้อ่าน จึ่งมีความต้องการแรงกล้าที่จะได้เห็นเมืองเวียงจันที่สุด พร้อมกันนั้นก็ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งแจกในงานทอดกฐินหลวงชื่อว่า “ปราบกบฏไอ้อนุเวียงจันท์” ในหนังสือเล่มนั้นเรียกเจ้าอนุว่า “ไอ้อนุ” และเรียกเจ้าหญิงคำป้อง พระมเหสีว่า “อี่คำป้อง”
เมื่ออ่านตลอดเรื่องแล้วรู้สึกเจ็บปวดเป็นที่สุด จึงมีความคิดเรื่องการกู้ชาติเกิดขึ้น และแรงกล้า อย่างเคืองแค้นตั้งแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา จึงได้ชักชวนเพื่อนนักบวชที่สอบมหาเปรียญรวมกลุ่มกันขึ้น เพื่อหาทางกู้ชาติ โดยไม่มีกองกำลังและความรู้ในด้านการเมืองแต่อย่างใด มีแต่ความคั่งแค้นแต่อย่างเดียว ดังนั้นในช่วงเวลานั้น ข้าพเจ้าจึ่งได้เที่ยวไปเทศน์โจทย์โต้วาทีทั่วทุกแห่งหน เป็นการแสวงหาพรรคพวก และสอนหนังสือบาลีตามแต่โอกาสอำนวย แต่แล้วความคิดเรื่องการกู้ชาติก็ค่อยๆ จืดจางไป เมื่อได้รับคำอธิบายจากเจ้าคุณอุบาลี (ก็คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ – จันทร์ สิริจนฺโท) ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ของพระสงฆ์ภาคอีสาน โดยท่านกรุณาชี้แนะว่า ท่านเองก็เคยคิดเช่นนี้เหมือนกัน แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้หรอก...”
ข้อเขียนนี้ทำให้ข้อกล่าวหาจากรัฐส่วนกลางที่ว่า คนอีสานมีแนวคิดหรือขบวนการที่จะแบ่งแยกดินแดนนั้นดูมีมูลความจริงขึ้นมา ไม่ใช่เพียงการปรักปรำลอยๆ นั่นคือมีคนจำนวนมากในภูมิภาคนี้สำนึกว่าตัวเองไม่ใช่ชาวสยาม/ชาวไทยอยู่จริง แม้จะยอมรับว่าแผ่นดินที่ตัวเองอยู่นั้นเป็นอาณาเขตปกครองของสยาม/ไทย ขณะเดียวกันกับที่สำนึกของคนไทยภาคกลางเองก็เหมือนจะยอมรับเอาแต่ดินแดนอีสานว่าอยู่ในสิทธิ์ของตัว แต่ก็ไม่นับว่าคนอีสานเป็นคนไทยร่วมกับตน
(ส่วนเรื่องที่คนบนแผ่นดินที่ราบสูงเกิดมีสำนึกหรือยอมรับความเป็นคนไทยอีสานตั้งแต่ตอนไหน ด้วยเงื่อนไขอะไรนั้น คงเอาไว้อภิปรายกันในโอกาสต่อไป)
จึงน่าสนใจว่า “คำอธิบาย” จากพระญานรักขิตที่ว่านั้น รายละเอียดเป็นอย่างไร? และการที่ท่านบอกกับมหาสิลา วีระวงส์ ว่า “ท่านเองก็เคยคิดเช่นนี้เหมือนกัน แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้หรอก…” นั้น ท่านเคยทำอะไรถึงขั้นไหนบ้างหนอ ถึงได้มีคำอธิบายแบบนี้
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (1) : ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่รื้อฟื้นหาตะเข็บ
ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (2) – เล่าเรื่องกบฏผีบุญเมืองอุบลฯ จาก มาโนช พรหมสิงห์
ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (3) UBON AGENDA วาระวาริน: จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (4) – กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ : อาวุธสู้รบของกบฏผีบุญกับ กทม.
ซีรีส์ชุด ผีบุญในอีสาน (5) – จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63
ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (6) – ศึกโนนโพแห่งสะพือทุ่งสังหารอีสาน เสียงบอกเล่าครั้งสุดท้าย
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (7) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนที่ 1)
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (8) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนจบ)