ความร่วมมือในการปราบปรามขบถผู้มีบุญของรัฐไทยและฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ. 121 หรือ ปี 2445 นั้น มีจำนวนศพของคนอีสานนับไม่ถ้วน จนวิทยากร โสวัตร ผู้สืบข้อมูลเรื่องขบถผู้มีบุญเรียกว่า “จำนวนศพของคนอีสานที่ในเหตุการณ์นั้นเพิ่มมากขึ้นๆ และเลือดที่ซึมลงแผ่นดินจนชุ่มโชก”
วิทยากร โสวัตร เรื่อง
หมายเหตุ : ตัวเลขทั้งหมดในเอกสารอ้างอิงเป็นตัวเลขไทย แต่กองบรรณาธิการได้เปลี่ยนเป็นเลขอาราบิกทั้งหมด และบทความนี้เคยเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Isaan Record เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563
“แผนการใหญ่ของพวกผีบุญที่ร่วมกันคิดในครั้งนั้นก็คือ จะตีเมืองให้ได้ทั้งหมด ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แล้วจะให้ “องค์หาสาตรทอง” นั่งเวียงจันทน์ ให้สมเด็จลุน วัดบานเวนไชย นั่งอุบลราชธานี ให้องค์เล็กบ้านหนองซำ นั่งหนองโสน (เมืองอยุธยา) ให้องค์พระบาทกับองค์ขุดนั่งธาตุพนม เมื่อกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงคาดว่าพวกผีบุญคงจะร่วมมือกันกับองค์มั่นทางฝั่งซ้ายอย่างแน่นอน เพราะองค์แก้วได้ก่อขบถและรบกับกองทหารฝรั่งเศสในระยะเวลาใกล้เคียงกันกับพวกผีบุญฝั่งขวาคือ ได้ยกเข้าตีเมืองสุวรรณเขตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2445 (ร.ศ. 121) แผนการของพวกผีบุญนี้ ถ้าเป็นไปตามที่กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงคาดไว้ ย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าพวกขบถคิดที่จะรวมดินแดนทั้งสองฟากแม่น้ำโขงเพื่อที่จะตั้งราชอาณาจักรใหม่ไม่ขึ้นต่อไทยและฝรั่งเศส” (อ้างอิงจาก : การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้า 172-173)
ตอนที่ผมได้หนังสือเรื่อง การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปริญญานิพนธ์ ของ ไพฑูรย์ มีกุศล
ขณะอ่านบทที่ 4 ขบถผู้มีบุญนั้น ผมอ่านซ้ำไปซ้ำมา อ่านข้อความที่ยกมาจากจดหมายเหตุที่เป็นเอกสารชั้นต้น บันทึกเหตุการณ์ในช่วงนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งในงานปริญญานิพนธ์เรื่องนี้ใช้อ้างอิงมากจริงๆ ผมจินตนาการว่า ได้ยินเสียงการเคาะสัญญาณโทรเลขกึกก้องระรัวอยู่ตลอดเวลา คล้ายเสียงพิมพ์ดีดของนักข่าวสงครามในสนามรบที่เราเคยอ่านและดูจากหนัง
มันดังอยู่ตลอดเวลาอันยาวนานข้ามปีและรัวเร่งขึ้นในช่วงเดือนท้ายๆ ของเหตุการณ์ พร้อมกับเสียงที่รัวเร่งกระหน่ำนั้นคือ จำนวนศพของคนอีสานที่เพิ่มมากขึ้นๆ และเลือดที่ซึมลงแผ่นดินจนชุ่มโชก
ฉากจบที่น่าสะเทือนใจที่สุดคือ การที่กลุ่มขบถถูกต้อนให้เข้ามายังมุมอับในรัศมี 25 เมตรจากสองฝั่งแม่น้ำโขง
ฝั่งตะวันออกนั้น กองทัพฝรั่งเศสตั้งเป็นกำแพงไว้ ฝั่งตะวันตก กองทัพสยามไล่รุกบี้เข้ามาและทั้งสองมหาอำนาจมีอาวุธสงครามที่ทันสมัยที่กลุ่มขบถไม่มี
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของกลุ่มผู้นำขบวนการขบถว่า จะอาศัยพื้นที่ 25 กิโลเมตรจากแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตกเป็นยุทธภูมิที่ปลอดภัย โดยมีฝั่งตะวันออกเป็นแนวหลังโดยใช้อำนาจฝรั่งเศสเป็นกลลวงพิงสู้
อีกทั้งยังกระทำการผิดพลาดบางอย่างคือ “องค์มั่น” กับ “องค์แก้ว” ร่วมมือกันตีเมืองสุวรรณเขต ซึ่งเป็นการเปิดศึกสองด้านในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่กลุ่มขบถกลุ่มใหญ่ถูกกวาดล้างที่บ้านสะพือ เมืองตระการ (4 เมษายน ร.ศ. 121 ) จนฝรั่งเศสต้องเข้าปราบปรามทำลายในวันที่ 21 เมษายน 2445

หน้าปกจากหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน โดย เติม วิภาคย์พจนกิจ
กองทหารฝ่ายรัฐบาลได้ปะทะกับพวกผีบุญอีกที่ คือ ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอโขงเจียมขณะที่พวกผีบุญจำนวนหนึ่งประมาณร้อยคนเศษกำลังข่มเหงเอาเสบียงอาหารจากชาวบ้าน
ส่วนฝ่ายขบถระดับหัวหน้าถูกยิงตาย 6 คน หนีไปได้ 80 คนเศษ (อ้างอิงจาก: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2.18/7 โทรเลขที่ 27 เมื่อ 15 เมษายน ร.ศ. 121 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หน้า 20)
การสู้รับครั้งนี้อยู่ที่เขต 25 กิโลเมตร นายอำเภอบ้านม่วง ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายได้กล่าวหารัฐบาลไทยทันที โดยส่งโทรเลขถึงกงสุลฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ อ้างว่า “คนฝั่งตะวันออกถูกฆ่าที่ฝั่งตะวันตก” (อ้างอิงจาก : กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/3 โทรเลขที่ 31 เมื่อ 19 เมษายน ร.ศ. 121 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หน้า 204)
ส่วนมองสิเออร์โปลปาเต (M. Paul Patte) รองกงสุล (Vice Consul) ฝรั่งเศสที่อุบลฯ ก็ขู่ว่าจะเอาทหารฝรั่งเศสเข้ามาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงมีรับสั่งถึงกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ให้ยืนยันกับมองสิเออร์ โปลปาเตว่า “ในเวลานี้ ในที่ 25 กิโลเมตร เชื่อว่ากรมการในท้องที่ของเราพอเพียง แม้ไม่พอเพียงก็จะจัดส่งทหารเข้าไป” (อ้างอิงจาก : กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/7 โทรเลขที่ 56/1329 2 พฤษภาคม ร.ศ. 121 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หน้า 37)
ฝ่ายไทยไม่ต้องการให้กองทหารฝรั่งเศสเข้ามาอยู่ในเขตไทย เกรงว่าจะเกิดปะทะกันกับกองทหารที่กำลังปราบขบถอยู่ อนึ่งทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพวกขบถ ซึ่งมีองค์แก้วเป็นหัวหน้าได้ต่อสู้กับทหารของฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงกรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ เสนาบดีต่างประเทศ แจ้งให้ราชทูตสยามที่กรุงปารีสเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสให้เข้าใจเพื่อปราบปรามพวกขบถมีใจความว่า
“ข้อ 1. คนเหล่านี้เปนขบถทำจราจลในบ้านเมือง ถึงจะเปนคนในบังคับฝรั่งเศส เราจะต้องจับ
ฤาต่อสู้ตามความจำเปนที่จะต้องทำ
ข้อ 2. เมื่อทหารจะไล่ติดตามอ้ายพวกขบถล่วงล้ำเข้าไปในที่ 25 กิโลเมตร ขออย่าให้ถือว่าเปนการที่เราได้ทำผิดหนังสือสัญญาชั่วเวลาที่ปราบปรามการจราจลในบ้านเมือง แต่ความจริงเราไม่ได้ใช้ปืนใหญ่ก็ไม่เปนผิดสัญญาได้
ข้อ 3. ขอให้ฝรั่งเศสทางฝั่งโขงตะวันออกช่วยตรวจตราป้องกันคนร้ายอย่าให้ข้ามมาฝั่งตะวันตก
ข้อ 4. อ้ายพวกขบถเหล่านี้ ตามที่ทราบความนั้น น่าจะเปนทหารฝรั่งเศสซึ่งหลบหนีจากกองทหารมาเข้าอยู่ในพวกนั้นด้วยบ้าง…” (อ้างอิงจาก : กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/9 ที่ 5/34 4 เมษายน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงกรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ หน้า 103)
การเจรจาระหว่างราชทูตสยามกับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส เป็นไปตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ คือ “ทหารไทยจะเข้าไปในแถบที่อันได้รักษาอำนาจไว้แล้วนั้นได้ แต่ว่าจะต้องทำการเพียงระงับความวุ่นวายให้เรียบร้อยโดยเร็วพลัน แลต้องให้ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศสผู้ซึ่งข้าพเจ้าจะแต่งตั้งนั้นติดตามไปด้วย ข้าพเจ้าเป็นผู้แต่งตั้งให้ M. Paul Patte ผู้ดูแลในสถานกงสุลฝรั่งเศสที่เมืองอุบลฯ นั้น เปนผู้ที่จะรับการในตำแหน่งที่ใช้ไปนี้” (อ่างอิงจาก : กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/9 คำแปลที่ 9/615 ที่ 21 18 เมษายน ร.ศ. 121 ม.โคลบูสกี้ ราชทูตฝรั่งเศส ทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ หน้า 48-49)
การเจรจาครั้งนั้นจึงอำนวยให้การปราบปรามของรัฐบาลได้ผลเพราะไม่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าพวกขบถจะอยู่ในรัศมีห่างจากแม่น้ำโขงระยะ 25 กิโลเมตร ทหารก็สามารถยกเข้าไปปราบปรามได้ พันเอกพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิทศทิศวิไชย ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษช่วยจัดราชการปราบปรามผีบุญมณฑลอีสานและมณฑลอุดรได้ประสานงานระหว่างทหารบก พลตระเวน และทหารพื้นเมืองจากมณฑลนคราชสีมา อุดร อีสาน และบูรพา (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/3 โทรเลขที่ 43 เมื่อ 28 เมษายน ร.ศ. 121 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หน้า 274-276) จึงสามารถปราบขบถได้ภายในเวลาอันสั้น (3 เดือน) และจับเป็นได้ทั้งสิ้น 400 คนเศษ ส่วนอ้ายมั่นที่ตั้งตนเป็น “องค์ปราสาททอง” หัวหน้าพวกขบถได้หนีไปอยู่ฝั่งตะวันออกและร่วมมือกับองค์แก้วเข้าตีเมืองสุวรรณเขตเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2445 แต่ถูกฝรั่งเศสตีแตกไป (อ้างอิงจาก : กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.2. 18/7 โทรเลขที่ 99 เมื่อ 13 พฤษภาคม ร.ศ. 121 กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หน้า 170)
เมื่อกลุ่มขบถที่กระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน (มณฑลอีสาน-มณฑลนครราชสีมา-มณฑลอุดร) ไม่มีพื้นที่ปลอดภัย เมื่อขบวนการเพลี่ยงพล้ำ ก็ต้องต่อสู้เพียงลำพังและต้องถูกฆ่าทำลายไปในที่สุด
การปราบปรามฆ่าล้างก็ขยายไป แม้แต่ผู้ที่มีลักษณะเป็นศาสดาพยากรณ์หรือเฒ่าจ้ำ หมอธรรม ที่ประชาชนเข้ามาหาเพียงเพื่อขอให้ปัดเป่าสิ่งเลวร้ายและให้หยูกยาแก้โรคภัย ดังคำมีบันทึกว่า
“ผู้นำกบฏกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ เป้าหมายไม่ชัดเจน เช่น กบฏผู้มีบุญบ้านมาย เมืองสกลนคร กลุ่มจารย์เข้มตั้งตัวเป็น “ท้าววิษณุกรรมเทวบุตร” ไม่มีหลักฐานว่าจะล้มล้างหรือต่อต้านอำนาจรัฐ แต่บทบาทที่เขาทำอยู่คือ รดน้ำมนต์และรักษาคนป่วย กบฏผู้มีบุญเมืองกาฬสินธุ์ กลุ่มยายหย่า ยายหยอง อ้างตัวว่าเป็นพระศรีอริยเมตไตรยกลับชาติมาเกิด ก็ไม่มีหลักฐานว่าต่อต้านอำนาจรัฐหรือเป้าหมายทางการเมืองแต่อย่างใด บทบาทที่ทำอยู่คือ ความสามารถในการทำพิธีเสี่ยงทายและให้โชคลาภแก่ผู้ที่มาขอเสี่ยงทายได้
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 เจ้าหน้าที่ได้ยิงจารย์เข้ม สานุศิษย์และชาวบ้านราว 100 คน ขณะที่จารย์เข้มนั่งภาวนาแกว่งเทียนไปมาและบอกกับชาวบ้านว่า อาวุธของเจ้าหน้าที่จะไม่เป็นอันตราย แต่จะกลับไปถูกเจ้าหน้าที่เอง ผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ยิงจารย์เข้มกับชาวบ้านตายถึง 48 คน แล้วเอาศพโยนลงบ่อน้ำแล้วกลบบ่อนั้นเสีย” (อ้างอิงจากหนังสือของ สุวิทย์ ธีรศาศวัต, กบฏผู้มีบุญอีสาน 2444-2445 กับจดหมายลูกโซ่ฉบับแรกของเมืองไทย ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2549)
ส่วนกรณียายหย่า ยายหยองที่กาฬสินธุ์นั้นเท่าที่ผมได้ยินคนแก่เฒ่าเล่าให้ฟังก็ถูกเอาเหล็กแทงสวนทวารหนักและตัดคอประหารชีวิตที่ลานทุ่งศรีเมือง
และคงต้องมีที่เลือนหายไปหรือที่ตกสำรวจทางประวัติศาสตร์อีกมากมายหลายคน
พอได้ค้นคว้าศึกษาเรื่องราวขบวนการผู้มีบุญมากขึ้นๆ รอบด้านขึ้น ผมอยากเขียนเป็นนิยายเหลือเกิน
จากขบวนการขบถผู้มีบุญ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วอีสาน (โดยเฉพาะที่มีกรณีผีบุญ (ตามสำนึกของศูนย์กลางอำนาจกรุงเทพฯ) และที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ) ก็ถูกวางกองกำลังของรัฐควบคุมไว้อย่างแน่นหนา (ต่อมากลายเป็นสถานีตำรวจภูธร)
จากนั้นก็มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อจะปรับเปลี่ยนอีสานให้กลายเป็นอีสานใหม่ เช่น วางโครงสร้างการศึกษาแบบกรุงเทพฯ ผ่านโรงเรียนสอนภาษาไทยแก่พระภิกษุ สามเณรและเด็ก ไม่ให้เรียนอักษรธรรมและตัวไทยน้อยแบบอีสาน มีเจ้านายจากส่วนกลางหรือตัวแทนมาเยือนมาตรวจอีสานมากขึ้นพร้อมกับการพัฒนาอีสานก็ตามมา แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อตอบสนองส่วนกลาง คือ ศูนย์กลางอำนาจกรุงเทพฯ
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (1) : ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่รื้อฟื้นหาตะเข็บ
ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (2) – เล่าเรื่องกบฏผีบุญเมืองอุบลฯ จาก มาโนช พรหมสิงห์
ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (3) UBON AGENDA วาระวาริน: จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (4) – กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ : อาวุธสู้รบของกบฏผีบุญกับ กทม.
ซีรีส์ชุด ผีบุญในอีสาน (5) – จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63
ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (6) – ศึกโนนโพแห่งสะพือทุ่งสังหารอีสาน เสียงบอกเล่าครั้งสุดท้าย
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (7) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนที่ 1)
ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (8) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนจบ)