The Isaan Record นำบทความของ เศรษฐศาสตร์ วัตรโสก ที่เขียนเกี่ยวกับ “หลวงปู่พิบูลย์แห่งเมืองอุดรธานี” ที่ด้านหนึ่งถูกยกย่องจากชาวบ้านเมืองอุดรฯ ว่า เป็นผู้มีบุญให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ถูกด้านกลับตกเป็นผู้ต้องสงสัยของทางการในเรื่องความมั่นคงของชาติ

หมายเหตุ :  บทความเรื่อง “เมื่อประวัติศาสตร์ [ไม่ได้] กลายเป็นความทรงจำ: “หลวงปู่พิบูลย์เมืองอุดร” ผีบุญของรัฐ/ผู้มีบุญของชาวบ้าน” นี้ เคยเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Isaan Record เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2561

โดย เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก

การสร้างความทรงจำทางสังคม เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการสร้าง การผลิตซ้ำ หรือรวมถึงการแก้ไขเรื่องราวในอดีตขึ้นมาใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มผู้สร้างความทรงจำนั้นๆ การสร้างความทรงจำจึงมีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมในแต่ละช่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรูปแบบการสร้างความทรงจำส่วนมากเป็นการสร้างผ่านงานวรรณกรรม ผ่านสถานที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสถานที่หรือวัตถุนั้นๆ มีคุณค่า ความหมาย และความผูกพันกับผู้คนในสังคม

 ผู้เขียนได้เสนอตัวอย่างของ “ซุ้มประตู ภปร.” และ “ป้ายสนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม” ในบ้านนาบัวว่า เป็นตัวอย่างของการพยายามสร้างความทรงจำท้องถิ่นผ่านสถานที่โดยภาครัฐ แต่กลับไม่ประสบผลเหมือนกับการสร้างความทรงจำ “วันเสียงปืนแตก”

ในตอนนี้ บุคคลที่ผู้เขียนจะยกมานำเสนอในที่นี้คือ “หลวงปู่พิบูลย์แห่งเมืองอุดรธานี” พระสงฆ์แห่งหัวเมืองอีสานที่ด้านหนึ่งคือพระผู้มีบุญให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน อีกด้านคือพระผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยของทางการในเรื่องความมั่นคงของชาติ

จากการรวบรวมของผู้เขียนพบว่า ในอำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี มีการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่อารามหลวงในตัวเมืองอุดรธานี ที่ซึ่งหลวงปู่พิบูลย์เคยถูกกักบริเวณเป็นเวลา 15 ปี กลับพบเห็นการทิ้งร้างและทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์เจือจางลง

หลวงปู่พิบูลย์คือใคร

หลวงปู่พิบูลย์ (พิบูลย์ แซ่ตัน) เป็นบุตรพ่อค้าจีนที่จังหวัดร้อยเอ็ด (ไม่ปรากฏข้อมูลวันเดือนปีเกิดที่แน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4) ต่อมาได้ละทางโลกเข้าสู่ทางธรรม โดยในช่วงชีวิตบรรพชิต เรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์เต็มไปด้วยอภินิหารโดยเฉพาะในด้านการช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความทุกข์ยากลำเค็ญในการดำเนินชีวิต ท่านถือเป็น “พระครองลาว” ผู้มีชื่อเสียงด้านอิทธิฤทธิ์และไสยศาสตร์ ดำเนินวัตรปฏิบัติตามจารีตของพระสงฆ์ล้านช้างซึ่งเน้นการร่วมประเพณีท้องถิ่นต่างๆ กับชาวบ้านทั่วไป

หลังอุปสมบทได้ไม่นาน หลวงปู่จึงได้เดินทางมาตั้งวัดพระแท่น และด้วยวัตรปฏิบัติที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ส่งผลให้ท่านได้รับความเคารพเลื่อมใสจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ท่านเป็นผู้นำพาชาวบ้านพัฒนาชุมชนและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ นอกจากชื่อเสียงด้านการใช้เวทมนตร์คาถาแล้ว ท่านยังเป็นผู้นำในการพาชาวบ้านทำถนน มีการตั้งธนาคารข้าวเปลือก ธนาคารโค-กระบือ รวมทั้งชักชวนให้ชาวบ้านนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดถือศีลฟังธรรม การที่หลวงปู่พิบูลย์ได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวบ้านในท้องถิ่นจนถือได้ว่าท่านเป็นพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งในเขตเมืองอุดรในขณะนั้น ส่งผลให้ท่านได้รับความสนใจจาก “ฝ่ายปกครอง” ของรัฐบาลสยามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สาเหตุที่ทำให้ให้เรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองอีสานแทนที่จะเป็นเพียงพระธรรมดารูปหนึ่ง สันนิษฐานว่าเกิดจากปัจจัย 2 ประการคือ การปฏิรูปสงฆ์ในอีสาน และการเกิดกบฏผู้มีบุญ

หลวงปู่พิบูลย์แห่งวัดพระแท่น อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี (ภาพ : bankhundej.blogspot.com)

การปฏิรูปสงฆ์อีสาน : เมื่อพระครองลาวอยู่ใต้เงาการปกครองของสยาม

ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 รัฐบาลสยามได้ริเริ่มปฏิรูปการปกครองในส่วนภูมิภาคขึ้นโดยใช้วิธีรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลาง หนึ่งในการรวบอำนาจนั้นก็คือด้านศาสนา ผ่านการสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นในภาคอีสาน

ในระยะแรกเริ่ม การเผยแพร่แนวทางของพระธรรมยุติเริ่มต้นขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี โดยมีพระเถระผู้เป็นกำลังสำคัญในช่วงนั้น อาทิ หลวงปู่ดี พันธุโล  นิกายนี้ได้รับการสนับสนุนจากสงฆ์ชั้นสูงและเจ้านายฝ่ายปกครองในอีสานซึ่งส่วนมากล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและขึ้นตรงต่อรัฐบาลสยาม  วัตรปฏิบัติสำคัญของนิกายนี้มุ่งเน้นการปฏิบัติฝึกฝนจิตใจและรักษาข้อวัตรให้ใกล้เคียงกับพระไตรปิฎกมากที่สุด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวัตรปฎิบัติของ “พระครองลาว” ที่เป็นจารีตเดิมของสงฆ์อีสาน

สุดท้ายแล้ว เมื่อรัฐบาลสยามได้นิยามธรรมยุติกนิกายว่าเป็นนิกายที่มีวัตรปฏิบัติถูกต้องตรงตามหลักพระไตรปิฎก จึงส่งผลให้พระครองลาวงเช่นงหลวงปู่พิบูลย์ ไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติและถูกเบียดขับออกจากพื้นที่ทางศาสนาในมุมมองของชนชั้นปกครองของสยาม

กบฏผู้มีบุญ : ความเชื่อเรื่อง“ผู้วิเศษ” ที่กระทบความมั่นคง

กบฏผู้มีบุญอีสานถือเป็นการเคลื่อนไหวของผู้คนในท้องถิ่นที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังรัฐบาลสยามดำเนินการปฏิรูปการปกครองรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง รวมถึงผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยใช้หลักการที่กำหนดโดยรัฐส่วนกลางแต่ผู้เดียว

ลักษณะสำคัญของกบฏผู้มีบุญคือ ผู้นำแต่ละกลุ่มมักสถาปนาตนเป็นพระศรีอาริยเมตไตยและได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในท้องถิ่นว่าเป็นผู้มีบุญบารมี มีอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ สามารถเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่มีความร่มเย็น โดยผู้มีบุญจำนวนหนึ่งเป็นพระครองลาว ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของกบฏผู้มีบุญส่วนมากมักลงเอยด้วยการถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาดจากภาครัฐ

บริบททางการเมืองทั้งสองประเด็น ส่งผลให้รัฐบาลกลางหวาดระแวงต่อชื่อเสียงและวัตรปฏิบัติของหลวงปู่พิบูลย์ซึ่งคล้ายคลึงกับบรรดาผู้นำกบฏผู้มีบุญ ในที่สุดท่านได้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง มีการนำตัวท่านไปพิจารณาคดีรวมถึงการนำตัวไปถ่วงน้ำเพื่อพิสูจน์ความผิด เมื่อไม่สามารถชี้มูลความผิดที่ชัดเจนต่อตัวท่านได้ สุดท้ายรัฐบาลก็ควบคุมตัวหลวงปู่พิบูลย์มาไว้ที่วัดโพธิสมภรณ์ (พระอารามหลวงสังกัดธรรมยุติกนิกาย) กลางเมืองอุดร โดยกักบริเวณท่านไว้ที่กุฏิในป่าข้างสระน้ำท้ายวัดเป็นเวลากว่า 15 ปี จนท่านมรณภาพเมื่อปี 2489

หลังจากนั้น 4 ปี ลูกศิษย์จึงสามารถนำศพของท่านกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพระแท่น อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีการฌาปนกิจศพหลวงปู่พิบูลย์เมื่อปี 2504 ที่สนามหน้าวัดพระแท่น (ข้อมูลบางส่วนกล่าวว่าท่านมีอายุ 135 ปี)

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแท่น อ.พิบูลย์รักษ์ แสดงเรื่องราวประวัติของหลวงปู่พิบูลย์รวมถึงการถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมในบริบทสังคมที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีบุญ (ภาพ : bankhundej.blogspot.com

ผู้มีบุญแห่งวัดพระแท่น : การสร้างความทรงจำเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์ของชุมชนท้องถิ่น

แม้หลวงปู่พิบูลย์จะมรณภาพลง ณ วัดโพธิสมภรณ์ เมื่อปี 2489 แต่เรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านกลับไม่ได้ยุติลง เนื่องจากพบว่ามีการนำเอาเรื่องราวความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่พิบูลย์กลับมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การสร้างความทรงจำผ่านวรรณกรรม และการสร้างอนุสรณ์สถานหรือวัตถุมงคล

การสร้างความทรงจำผ่านงานวรรณกรรมเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์ปรากฏหลักฐานขึ้นครั้งแรกในรูปแบบของหนังสือใบลานบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์ หนังสือใบลานดังกล่าวจารด้วยอักษรไทยน้อยโดยพระหนู พระลูกวัดของวัดพระแท่น จัดทำขึ้นภายหลังการมรณภาพของหลวงปู่พิบูลย์ เนื้อความที่ปรากฏในหนังสือใบลานฉบับนี้ก็ได้กลายเป็นข้อมูลกระแสหลักเกี่ยวกับเรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์ในปัจจุบัน ต่อมามีการปริวรรตเป็นภาษาไทยโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีเพื่อให้เผยแพร่สู่ผู้คนในวงกว้างได้มากขึ้น นอกจากนี้ ชื่ออำเภอ “พิบูลย์รักษ์” ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลวงปู่พิบูลย์ที่มีต่อผู้คนท้องถิ่น และชื่อของท่านยังปรากฏอยู่ในคำขวัญประจำอำเภออีกด้วย

ในส่วนของการสร้างอนุสรณ์สถานหรือวัตถุที่ระลึกพบว่า ที่บริเวณวัดพระแท่นในปัจจุบันเต็มไปด้วยการสร้างรูปหล่อ-รูปปูนปั้น ศาสนสถานต่างๆ รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งคณะศิษยานุศิษย์ได้เริ่มมีการสร้างวัตถุมงคลต่างๆ เรื่อยมานับตั้งแต่ที่ท่านยังมีชีวิต ซึ่งในปัจจุบันเหรียญหลวงปู่พิบูลย์ได้รับการยอมรับในวงการพระเครื่องระดับประเทศด้านอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์รวมทั้งมีราคาสูง เรียกได้ว่าเป็น “จุดเด่น” ให้ผู้คนท้องถิ่นสามารถหยิบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

การสร้างความทรงจำเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์ปรากฏอยู่ทั่วไปในบริเวณวัดพระแท่น ทั้งภาพวาด รูปเคารพ ฯลฯ เครดิตภาพ : bankhundej.blogspot.com

เรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์ดูเหมือนจะจบลงด้วยการถูกสร้างให้เป็นพระผู้มีบุญเป็นที่รักของชาวบ้านในอำเภอพิบูลย์รักษ์ แต่แล้วก็เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

ทางวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยถูกควบคุมตัวไว้กว่า 15 ปี ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัดรวมถึงบริเวณที่เคยเป็นที่พักอาศัยของหลวงปู่พิบูลย์ โดยครั้งนี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์ที่ปรากฏอยู่ในวัดโพธิสมภรณ์นั้น ได้หายไปโดยการ “บูรณปฏิสังขรณ์”

สถูปหลวงปู่พิบูลย์ที่วัดโพธิสมภรณ์ : การลบเลือนความทรงจำออกจากหน้าประวัติศาสตร์

22 ปี หลังคณะศิษยานุศิษย์ได้ทำการฌาปนกิจศพของหลวงปู่พิบูลย์ พระครูปลัดบัวลอย ชุติกาโม แห่งวัดโพธิสมภรณ์ พร้อมด้วยผู้มีความศรัทธาในตัวหลวงปู่ ได้พร้อมใจกันสร้างสถูปบรรจุศพหลวงปู่พิบูลย์ ขึ้นในบริเวณด้านทิศเหนือของสระน้ำท้ายวัดโพธิสมภรณ์ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาศพของหลวงปู่พิบูลย์ระหว่างปี 2489-2493 พร้อมกันนั้นยังได้สร้างอาคารสี่เหลี่ยมเล็กๆ ไว้ด้านหน้าทางเข้าของสถูปซึ่งเคยเป็นสถานที่ตั้งของกุฏิที่หลวงปู่พิบูลย์เคยจำพรรษา 15 ปี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้กับหลวงปู่พิบูลย์ที่ครั้งหนึ่งเคยได้มาจำพรรษาที่วัดโพธิสมภรณ์แห่งนี้

ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปที่วัดโพธิสมภรณ์และบังเอิญเจอเข้ากับสถูปนี้ครั้งแรกเมื่อฤดูร้อนในปี 2559 ครั้งนั้นได้สังเกตุเห็นป้ายไวนิลตั้งอยู่ที่ประตูทางเข้าสระน้ำท้ายวัด มีเนื้อความประกาศให้บูรณปฏิสังขรณ์สถูปบรรจุศพหลวงปู่พิบูลย์ รวมถึงที่บรรจุอัฐิของบุคคลทั่วไปที่อยู่รายรอบสระน้ำเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัด ผู้เขียนจึงเกิดความสนใจเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์และเดินเข้าไปสำรวจบริเวณรอบๆ สระน้ำซึ่งมีสภาพที่ทรุดโทรม คันปูนกั้นตลิ่งที่หักพัง ต้นไม้ใหญ่ที่รากดันพื้นปูนจนแตกและทรุด ทางเดินริมสระบางช่วงเต็มไปด้วยขี้นกเกรอะกรัง รวมถึงที่บรรจุอัฐิเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่คล้ายกับไม่ได้รับการดูแล และมีกุฏิพระตั้งอยู่บ้างประปราย กระทั่งผู้เขียนค้นพบด้วยตัวเองว่าสถูปบรรจุศพของหลวงปู่พิบูลย์ซ่อนตัวอยู่ทางด้านทิศเหนือของสระน้ำท้ายวัดแห่งนี้

สถูปบรรจุศพหลวงปู่พิบูลย์ตั้งอยู่ด้านท้ายวัดโพธิสมภรณ์ (ผู้เขียนถ่ายเมื่อ เม.ย. 2559)

บรรยากาศโดยรอบดูเงียบสงัด ผิดกับกับเสียงรถยนต์ครึกโครมอยู่ด้านนอกรั้ววัด ภาพแรกที่ปรากฏต่อหน้าผู้เขียนในวันนั้นคือ อนุสรณ์สถานที่เก่า คร่ำคร่า สีสันต่างๆ ที่ทาประดับผนังรวมถึงลวดลายปูนปั้นต่างเต็มไปด้วยคราบตะไคร่น้ำสีดำ ทั้งยังอบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นของขี้นกคล้ายกับว่าขาดการทำนุบำรุงและดูแลรักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่อง แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโบราณสถานอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในวัดซึ่งล้วนมีอายุหลายสิบปีจนถึงร้อยปี ที่ได้รับการทำนุบำรุงรักษาให้มีสภาพใหม่อยู่เสมอ  

จุดแรกที่ผู้เขียนทำการสำรวจคือสถูปบรรจุศพ รูปทรงเป็นอาคารจตุรมุขมีประตูเดียวคือทางด้านทิศตะวันออก หน้าบันประดับด้วยลายเทพารักษ์และพรรณพฤกษา ด้านล่างของหน้าบันเหนือซุ้มประตูมีอักษรปูนปั้น 5 บรรทัด

จากนั้น ผู้เขียนได้สำรวจอาคารสี่เหลี่ยมหลังเล็กๆ ที่ดูภายนอกไม่มีอะไรน่าสนใจ อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าไม่ห่างจากสถูปบรรจุศพหลวงปู่พิบูลย์ มีทางเข้าเป็นประตูกระจกบานเลื่อนด้านทิศตะวันออกของตัวอาคาร สภาพทรุดโทรมไม่ต่างจากสถูปข้างต้น ภายในอาคารประกอบด้วยพระพุทธรูปปูนปั้น 2 องค์ขนาดครึ่งคนจริง และมีรูปปูนปั้นของพระสงฆ์อีก 1 รูปห่มจีวรสีน้ำตาลดำ ห้องลูกประคำสีดำอันใหญ่และถือไม้เท้ายาวนั่งอยู่ซึ่งคาดว่าเป็นรูปปั้นหลวงปู่พิบูลย์  และหลักฐานสำคัญที่พบคือเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่ที่ได้รับการบันทึกไว้บนฝาผนังด้านในของอาคารหลังนี้ มีข้อความว่า

“หลวงปู่พิบูลย์รัฐถะมงคล…เป็นพระอยู่ที่…มีคุณประโยชน์มาก…ในโลก ฉนั้นท่านทั้งหลายควรจะทำคาระวะยำเกงให้มากๆ พระครูปลัดบัวลอย ชุติกาโม เป็นผู้มีความศรัทธาในทางที่เป็นประโยชน์ตลอดกาลนานสวัสดิ์ หลวงปู่พิบูลย์รัฐถะมงคล แซ่ตัน ได้เข้าอยู่ในวัดโพธิสมภรณ์เป็นมณฑลอยู่ในขณะนั้น ก็มีคูณยายแจ่ม แซ่ตัน เป็นผู้อุปถัมร์อยู่ตลอดมา และญาติโยมผู้ที่นับถือท่านมาด้วยในทางเมตรา ผู้ที่ยากจนช่วยเหลือซื้อที่ดินปลูกบ้านปลูกเรือน ให้อยู่อาศัยพึ่งบาระมี ซึ่งความเมตตาตลอดมานี้เป็นที่รู้จักดีด้วยพระคุณของท่านในสิ่งเหล่านี้ ได้ยินกับหูได้ดูมากับตาของตนเอง ในครั้งหนึ่งนั้นผู้มาพึ่งบาระมีของท่านได้ปลูกบ้านในสมัยเรายังไม่ได้บวชมีเราอยู่ร่วมด้วย หลวงปู่มาจากกุฏิของท่านได้มายืนบงการให้ยกต้นเสาร์ขึ้นแต่ขุดหลุมเสาร์ยังไม่ลึกเสมอกัน แต่ท่านบังคับให้เอาเสาร์ลง ท่านว่าได้ดูก่อนแล้ว เมื่อเอาเสาร์ลงหลุมแล้วให้หันรูตรงกันแล้ว ให้เอาคานขึ้นใส่รูเสาร์ตะวันตกถึงตะวันออกได้ทุกๆต้นแล้วบอกให้เอาคานวาง โดยไม่มีทางต่ำเสมอกันหมด ครั้งที่สองควายเราหายไปสองสามคืนมันยังไม่มาบ้าน เราไปให้ท่านดู ท่านก็มองโน่นมองนี่ แล้วบอกว่าไม่ต้องไปหาให้ลำบาก ตะวันบ่ายให้ไปนั่งอยู่โคนป่าควายนั้นจะมาเอง” (“…” = อักษรชำรุดจนอ่านไม่ออก)

เรื่องราวที่ปรากฏผ่านสถูปบรรจุศพและอาคารสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในวัดโพธิสมภรณ์ บ่งบอกถึงความสำคัญของหลวงปู่พิบูลย์ใน 2 ด้าน ในด้านตัวบุคคล หลวงปู่พิบูลย์ได้รับการยอบรับว่าเป็น “พระครองลาว” ผู้มีญาณวิเศษสามารถช่วยเหลือชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ ด้านที่สอง การสร้างอนุสรณ์สถานทั้งสองแห่งหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้วกว่า 37 ปี ได้แสดงให้เห็นว่า เรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์ได้กลายเป็นความทรงจำ(ในทางที่ดี)ของกลุ่มลูกศิษย์ในจังหวัดอุดรธานี ทั้งยังได้มีการสร้างความทรงจำผ่านอนุสรณ์สถานทั้งสองเพื่อตอกย้ำและสืบเนื่องชื่อเสียงของหลวงปู่พิบูลย์ให้ดำรงอยู่ ในสถานที่อันเป็นปฏิปักษ์ที่ท่านเคยถูกกักบริเวณจนกระทั่งมรณภาพ

ในที่สุดเมื่อปี 2559 ทางวัดโพธิสมภรณ์ได้มีมติให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์สถูปบรรจุศพของหลวงปู่พิบูลย์ที่เริ่มทรุดโทรมให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีอีกครั้ง หากแต่ว่าการภายหลังการบูรณะในครั้งนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์บางอย่างได้หายไป

การบูรณะสถูปหลวงปู่พิบูลย์ได้มีการซ่อมแซมงานปูนปั้น งานสี ของตัวอาคาร รวมถึงมีการสร้างชานต่อออกมาด้านหน้าคล้ายศาลา ภายในมีการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานเคียงข้างกับรูปเหมือนหลวงปู่พิบูลย์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวคำจารึกที่พระครูปลัดบัวลอยได้สร้างไว้ที่หน้าบันของสถูป ได้ถูกลบเลือนหายไป จากเดิมที่มี 5 บรรทัด เหลือเพียง 2 บรรทัด คือคำว่า “หลวงปู่พิบูลย์ (หลวงปู่บ้านแดง แซ่ตัน) พระครูปลัดบัวลอย ชุติกาโม วัดโพธิสมภรณ์” ที่หายไปได้แก่ “พระครูปลัดบัวลอย ชุติกาโม วัดโพธิสมภรณ์ / พร้อมด้วยทายกทายิกาพร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธาสร้าง / ขึ้นไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ พ.ศ.๒๕๒๖”

หากผู้ที่ไม่เคยรู้เรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์มาก่อนได้มาพบเห็นสถานที่แห่งนี้ ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าสถานที่นี้คืออะไร ไม่อาจเข้าใจได้ว่ารูปเหมือนที่ตั้งอยู่ต่อหน้าของตนเองนั้น เป็นรูปเหมือนของใคร มีความสำคัญอย่างไร

ที่น่าฉงนยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนพบว่าอาคารสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์ซึ่งเดิมตั้งอยู่หน้าสถูปได้หายไป เหลือเพียงลานโล่งเตียน ราวกับว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เคยมีอนุสรณ์สถานใดๆ ตั้งอยู่ก่อนหน้านี้

เหตุใดเรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์ที่ปรากฏผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้ง 2 แห่ง จึงได้เลือนหายไปจากวัดโพธิสมภรณ์ สันนิษฐานว่าเกิดจากสาเหตุ 2 ข้อ

ข้อแรก เรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์เป็นเรื่องราวที่ไม่มีความผูกพัน ไม่มีความหมายทางสังคม รวมถึงไม่สามารถนำมาสร้างคุณประโยชน์ให้แก่วัดโพธิสมภรณ์ ดังจะเห็นได้จากสภาพของสถูปและอาคารสี่เหลี่ยมหลังเล็กก่อนการบูรณะที่เก่าทรุดโทรม สวนทางกับศาสนสถานต่างๆที่อยู่ในวัดทั้งที่บางอย่างมีอายุเกือบร้อยปี ก็ยังได้รับการทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพที่ดี

ข้อที่สอง เมื่อพื้นที่ความทรงจำเกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์ไม่มีความสัมพันธ์กับวัดโพธิสมภรณ์ จึงก่อให้เกิดการลบเลือนพื้นที่ความทรงจำของหลวงปู่พิบูลย์ออกไปจากวัด ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของความไม่ลงรอยในทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหลวงปู่พิบูลย์ได้กลายมาเป็นความทรงจำร่วมกันในสังคมของผู้คนในท้องถิ่นอำเภอพิบูลย์รักษ์ ที่มีความเคารพเลื่อมใสในตัวท่าน และผู้คนเหล่านี้ก็มีความภาคภูมิใจต่อความทรงจำชุดนี้

ในทางตรงกันข้าม เรื่องราวของหลวงปู่พิบูลย์ก็เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้กลายมาเป็นความทรงจำของวัดโพธิสมภรณ์ในเมืองอุดรธานี ซ้ำยังมีความพยายามที่จะลบเลือนความทรงจำดังกล่าวออกจากพื้นที่ด้วย ประเด็นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยทางประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยรัฐชาติและผู้คนท้องถิ่น

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (1) : ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่รื้อฟื้นหาตะเข็บ

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (2) – เล่าเรื่องกบฏผีบุญเมืองอุบลฯ จาก มาโนช พรหมสิงห์

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (3) UBON AGENDA วาระวาริน: จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (4) – กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ : อาวุธสู้รบของกบฏผีบุญกับ กทม.

ซีรีส์ชุด ผีบุญในอีสาน (5) – จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (6) – ศึกโนนโพแห่งสะพือทุ่งสังหารอีสาน เสียงบอกเล่าครั้งสุดท้าย

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (7) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนที่ 1)

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (8) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนจบ)ซีรีส์ชุด

ผีบุญในอีสาน (9) – สองมหาอำนาจร่วมกันฆ่าล้างขบวนการผีบุญ

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (10) กบฏผีบุญและการแบ่งแยกดินแดนในมุมมองของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (11) ‘ศิลา วงศ์สิน’ จากสายตาเบี้ยล่างประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 1)

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (12) ‘ศิลา วงศ์สิน’ จากสายตาเบี้ยล่างประวัติศาสตร์ (ตอนจบ)

image_pdfimage_print