การปรับการปิด-เปิดเทอมแบบอาเซียนไม่เพียงทำให้ระบบการเรียนการสอนในเมืองเกิดความสับสน แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองนักศึกษาด้วย โดยที่ผู้อำนาจไม่สรุปบทเรียน แต่กลับใช้นักศึกษาเป็นหนูทดลองในระบบการศึกษาแบบไทย-ไทย 

ปฐวี  โชติอนันต์ เรื่อง

ในเดือนมิถุนายนนี้ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้เข้าสู่การเปิดภาคการศึกษา 1/2564 เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการจัดระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตามมติการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเปลี่ยนแปลงการเปิด-ปิดภาคการศึกษา จากเดิมการเปิด-ปิดภาคการศึกษาที่ 1 จะเริ่มเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และภาคการศึกษาที่ 2 จะเริ่มพฤศจิกายน-มีนาคม ส่วนการเรียนภาคฤดูร้อนนั้นเป็นช่วงเมษายน-พฤษภาคม เปลี่ยนมาเป็นการจัดการศึกษาแบบอาเซียน การเปิด-ปิดเทอมแบบอาเซียนเริ่มภาคการศึกษาที่ 1 สิงหาคม-ธันวาคม และภาคการศึกษาที่ 2 เริ่ม มกราคม-พฤษภาคม ส่วนการเรียนภาคฤดูร้อนเริ่มมิถุนายน-กรกฎาคม 

สาเหตุการเปลี่ยนระบบการจัดตารางเวลาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาใหม่เนื่องจากสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยต้องการให้การศึกษาของประเทศเป็นแบบสากล มีเวลาเปิด-ปิดเหมือนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และเอื้ออำนวยความสะดวกให้นักศึกษา นอกจากนี้คณาจารย์ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาศึกษาหรือมาสอนและทำวิจัยได้สะดวกมากขึ้น เพราะว่าเวลาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศอยู่ในช่วงเดียวกัน

อย่างไรก็ตามระบบการจัดเวลาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยให้เป็นแบบอาเซียนนั้น มีข้อถกเถียงและข้อสังเกตถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องการรับนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์และตัวนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น งในที่สุดสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศไม่สามารถจะรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จึงมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนเวลาการเปิด-ปิดการศึกษาให้กลับมาเป็นรูปแบบเดิม

บทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในภาคอีสานโดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่า ตลอด 6 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเวลาการศึกษานั้น นักศึกษาต้องเผชิญหรือสูญเสียอะไรไปบ้าง ตลอดช่วงเวลาที่เขาได้เข้ามาเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

ประการแรก นักศึกษาที่พ่อแม่ทำนาไม่สามารถกลับไปช่วยครอบครัวได้ การทำนาปี ซึ่งเป็นฤดูทำนาปกติ ชาวนาส่วนใหญ่จะเริ่มเตรียมดินตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน และทำตกกล้าในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ในอดีตช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่นักศึกษาส่วนใหญ่ปิดเทอมใหญ่และกลับบ้าน นักศึกษาที่มีพ่อแม่เป็นชาวนาจะกลับบ้านในช่วงปิดเทอมและเป็นแรงงานสำคัญให้กับครอบครัวในการช่วยเตรียมดิน ปลูกข้าว และกลับไปช่วยพ่อแม่เกี่ยวข้าวอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม เพราะเป็นช่วงการปิดภาคการศึกษาที่ 1 และรอการเปิดเรียนการศึกษาภาคที่ 2 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน

เมื่อมีการเปลี่ยนระบบมาเป็นการเปิด-ปิดการศึกษาแบบอาเซียน นักศึกษาที่ต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ปลูกข้าวนั้น บางส่วนจะลาเรียนเพื่อกลับไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำให้เขาต้องขาดเรียนไป บางกลุ่มพ่อแม่ไม่อยากให้เสียการเรียนก็ไม่ให้กลับแต่ก็ต้องไปจ้างคนงานเพิ่มเพื่อมาทดแทนในส่วนของลูกที่ไม่ได้กลับมาช่วยทำนา

ประการที่สอง นักศึกษาต้องขาดเรียนเพื่อไปรับคัดเลือกทหาร การคัดเลือกทหารประจำปีจะเริ่มต้นขึ้นเดือนเมษายนของทุกปี ตามกฎหมายของไทย ชายไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่ได้เรียนหลักสูตรรักษาดินแดนจนจบชั้นปีที่ 3 ต้องเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเป็นทหาร ในระบบการจัดเวลาการเรียนการสอนแบบอาเซียนนั้น นักศึกษาชายหลายคนต้องลาเรียนเพื่อไปผ่อนผันการรับคัดเลือกเพื่อเข้าเป็นทหาร นักศึกษาบางคนบ้านอยู่จังหวัดนครพนมต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีและนครพนม รวมทั้งทำภารกิจผ่อนผันการเกณฑ์ทหารต้องใช้เวลา 3-4 วันเป็นอย่างน้อยจึงจะได้กลับเข้ามาเรียนในห้อง หรือนักศึกษาบางคนบ้านอยู่ในจังหวัดหรือจังหวัดใกล้เคียงใช้เวลาในการทำธุระ 1-2 วัน 

อย่าลืมว่าในช่วงนั้นการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ไม่แพร่หลายในระดับอุดมศึกษาของไทยเหมือนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเราลองคำนวณตลอดสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยเขาต้องเดินทางไปเพื่อรับการคัดเลือกเพื่อเป็นทหารทุกปี ต้องเสียเวลาและทุนทรัพย์มากแค่ไหนกับการเดินทางและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเวลาของระบบการเปิด-ปิดภาคเรียนที่เปลี่ยนไป

ประการที่สาม นักศึกษาสูญเสียโอกาสและทางเลือกในชีวิต นักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบและต้องเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้าเป็นทหารนั้น ในระบบการศึกษาเดิม เขาเรียนจบในช่วงเดือนมีนาคม ระบบการเกณฑ์ทหารเริ่มช่วงเดือนเมษายน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เขาไม่มีโอกาสการตัดสินใจว่า จะเข้ารับการคัดเลือกทหารผ่านระบบการจับใบดำและใบแดงเลย ตามที่กฎหมายกำหนด ถึงแม้ว่าเขาได้ใบแดง แต่ถ้าเขาเรียนจบปริญญาตรีแทนที่จะเป็นทหารเกณฑ์ 2 ปี แต่จะได้เป็นแค่เพียง 1 ปี เท่านั้น หรือพวกเขาอาจจะยื่นวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีเพื่อสมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์ซึ่งจะเป็นเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น 

นอกจากนี้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่ขอผ่อนผันเพื่อรับคัดเลือกเข้าเป็นทหารต้องสูญเสียโอกาสในการหางานไปเกือบ 1 ปีเต็ม บริษัทส่วนใหญ่จะไม่รับพนักงานที่ยังไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร เพราะว่าพนักงานคนนั้นยังไม่มีความแน่นอนในชีวิตของเขา ถ้าบริษัทรับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาเข้ามาทำงานและพนักงานจับได้ใบแดง บริษัทต้องสูญเสียพนักงานและทรัพยากรที่ลงทุนในการพัฒนาพนักงานในช่วงหลายเดือนที่ทำงานอยู่ ผลที่ตามมาคือ นักศึกษาที่จบใหม่และยังไม่เกณฑ์ทหารจึงสูญเสียโอกาสในหางานและทำงานที่มั่นคง เพราะจบการศึกษาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม  พวกเขาจึงต้องรอให้ถึงเดือนเมษายนถัดไปอีกปีเพื่อจัดการเรื่องการเกณฑ์ทหารก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถสมัครงานในบริษัทเอกชนและมีโอกาสได้งานทำ

ตารางการจัดการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีระหว่างภาคการศึกษา พ.ศ.2558-2564

นักศึกษาชั้นปีที่ 4  ที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงเวลาการปิด-เปิดเทอมแบบอาเซียนตัดสินใจที่จะเข้าคัดเลือกเป็นทหารผ่านการจับใบดำและใบแดงเพราะไม่อยากเสียเวลาที่จะต้องว่างงานและกังวลกับเรื่องการเกณฑ์ทหารที่เขาต้องรอไปอีกเกือบ 1 ปี  ถ้าเขาจับได้ใบแดง  เขาต้องเป็นทหาร 2 ปี เต็มอย่างแน่นอน มากกว่านั้น เมื่อจับได้ใบแดงและมีคำสั่งให้เข้าประจำการในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งมหาวิทยาลัยยังไม่มีการจัดสอบปลายภาค หมายความว่าเขาต้องขาดเรียนและขาดสอบ หรือต้องดรอปการเรียนเพื่อไปเป็นทหาร 

ประการที่สี่ การเปิด-ปิดภาคการศึกษาตามระบบอาเซียนในภาคเรียนที่ 2 เริ่ม เดือน มกราคม-พฤษภาคม ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีวันหยุดเยอะมาก โดยเฉพาะเดือนเมษายน มีช่วงวันหยุดวันสงกรานต์ที่ยาวนาน นักศึกษาส่วนใหญ่จะทยอยเดินทางกลับบ้านเพื่อไปหาพ่อแม่กันก่อนที่จะหยุดยาวเพราะกลัวการจราจรที่ติดขัด และนักศึกษาจะกลับมาหลังช่วงสงกรานต์ เพราะมหาวิทยาลัยมีจัดการสอบมิดเทอมในช่วงนั้นซึ่งพวกเขาต้องเผชิญกับการสภาพรถติดและการเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุที่มีจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว หรือนักศึกษาบางคนเลือกเดินทางกลับมาเรียนหลังจากวันหยุดยาวหลายวันเพราะหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพจราจรติดขัดและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดยาว ทำให้เขาต้องขาดเรียนหลายวัน

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายของนักศึกษาในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากค่าไฟฟ้าหอพักภายนอกที่พวกเขาเช่าอยู่นั้นมีราคาค่าไฟหน่วยละ 7-8 บาท ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าพื้นฐานประมาณหน่วยละ 2-4 บาท เพราะขึ้นกับช่วงเวลาว่ามีการใช้ไฟฟ้ามากน้อยเพียงใดในประเทศ ในช่วงฤดูร้อนถึงแม้จะเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเวลาเท่าเดิมแต่สิ่งที่พบคือ ราคาค่าไฟนั้นเพิ่มสูงมากขึ้นเนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องทำงานหนักขึ้น มากกว่านั้น ยิ่งอากาศร้อนโดยเฉพาะในภาคอีสานที่ตอนกลางวันมีอุณหภูมิสูงประมาณ 40 องศา และตอนกลางคืนอุณหภูมิประมาณ 34-37 องศา นักศึกษาจึงจำเป็นต้องเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศมากขึ้น เพื่อระบายความร้อนทำให้ห้องเหมาะแก่การพักผ่อนและการทำงาน สิ่งเหล่านี้ยิ่งเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าให้นักศึกษาต้องแบกรับภาระ

ประการที่ห้า เวลาในการเตรียมตัวสอบของนักศึกษาลดลง เมื่อสถาบันอุดมศึกษามีการตกลงว่าจะปรับเปลี่ยนให้กลับมาเปิด-ปิดภาคการศึกษาแบบปกติ สถาบันการศึกษามีวิธีการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกันไป มหาวิทยาลัยบางแห่งนั้นมีการปรับเปลี่ยนแบบรวดเดียว กล่าวคือ ปิดภาคเรียนที่ 2 ตามระบบอาเซียนในเดือนพฤษภาคม และกลับมาใช้ระบบการเปิด-ปิดการศึกษาแบบเดิม คือ กลับมาเปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนมิถุนายน

ผลที่ตามมา คือ นักศึกษามีช่วงเวลาปิดเทอมที่สั้นมาก นักศึกษาบางคนที่ต้องหางานทำช่วงปิดเทอมที่บ้านมีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลงเพราะต้องกลับมาเรียนทำให้เขาขาดรายได้ไป มหาวิทยาลัยบางแห่ง ใช้วิธีการย่นเวลาระบบการศึกษา กล่าวคือ มีการเลื่อนเปิดเทอมให้เร็วมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2558 เปิดเทอมวันที่ 3 สิงหาคม เมื่อ พ.ศ.2559 เปิดเทอม วันที่ 1 สิงหาคม เมื่อ พ.ศ.2560 เปิดเทอม วันที่ 7 สิงหาคม ใน พ.ศ.2561 เปิดเทอม 1 สิงหาคม เมื่อ พ.ศ.2562 วันเปิดภาคการศึกษา คือ 24 มิถุนายน  เพราะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้การเปิด-ปิดภาคการศึกษาแบบเดิม ใน พ.ศ.2563 ตามเดิมต้องเปิดภาคการศึกษาที่ 1 คือ วันที่ 22 มิถุนายน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เลื่อนไปเปิดการศึกษาช่วงเดือนกรกฎาคมแทน และในปีการศึกษาล่าสุด พ.ศ.2564 กลับมาเปิดการศึกษาวันที่ 14 มิถุนายน และดำเนินการเรียนการสอนตามระบบเวลาเหมือนในรูปแบบก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบอาเซียน

อย่างไรก็ตามเมื่อมหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนระบบเวลาการเปิด-ปิดภาคการศึกษากลับมาเป็นแบบเดิม นอกจากมหาวิทยาลัยจะเลื่อนการเปิดเทอมให้เร็วขึ้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ใน พ.ศ.2561-2562  มีการลดเวลาการสอบมิดเทอมในทั้งสองภาคการศึกษาเหลือเพียง 6-7 วัน

ก่อนหน้านั้นนักศึกษาจะมีช่วงเวลาสอบมิดเทอมประมาณ 10-12 วัน ตั้งแต่ พ.ศ.2563 นักศึกษามีช่วงเวลาสอบประมาณ 10-12 วันเหมือนเดิม คำถามที่ถูกถามขึ้นในหมู่นักศึกษาที่เรียนหนังสืออยู่ในช่วงนั้นคือความยุติธรรมที่มีต่อพวกเขา ทำไมพวกเขาจึงมีเวลาเตรียมสอบมิดเทอมน้อยกว่านักศึกษาที่เรียนในช่วงก่อนหน้า นักศึกษาที่เรียนในช่วงเวลานั้นต้องสอบติดกันในแต่ละวัน ยิ่งนักศึกษาบางคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพในตอนกลางคืนยิ่งประสบปัญหาหนักเพราะว่าเขาต้องสอบติดต่อกันหลายวันไม่มีเวลาพัก บางคนต้องลางานทำให้ขาดรายได้ไป

หลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่าทำไมนักศึกษาเหล่านั้นไม่เตรียมตัวก่อนหน้านั้น แต่ผมอยากให้มองอีกมุมคือ เป็นความผิดหรือความโชคร้ายของเขาหรือที่ต้องมาเรียนในช่วงนี้หรือเป็นเพราะระบบการบริหารและการจัดการที่ทำให้เขาต้องมีชีวิตเป็นแบบนี้  ทั้งที่รุ่นพี่และรุ่นน้องของเขาได้รับเวลาในการเตรียมตัวมากกว่าเขา มากกว่านั้นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนอย่างมาก เวลาที่เพิ่มมากขึ้นในการให้เขาเตรียมตัวเพื่อสอบนั้นมีค่ากับเขาอย่างมาก

ประการสุดท้าย การฝึกงานของนักศึกษา นักศึกษาบางท่านที่ต้องการไปฝึกงานตามสถานศึกษา นักศึกษาที่ต้องการไปเป็นครูเพื่อฝึกสอนในโรงเรียนนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเวลาการเปิด-ปิดเทอมของมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนนั้นต่างกัน โรงเรียนจะเปิดเทอมช่วงพฤษภาคม แต่ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่สถาบันอุดมศึกษากำลังจะปิดเทอมใหญ่ ผลที่ตามมา คือ ต้องรอให้เปิดเทอมในช่วงสิงหาคม นักศึกษาถึงจะลงทะเบียนเรียนและไปฝึกงานตามหลักสูตรได้ 

กล่าวโดยสรุป 6 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการเปิด-ปิดภาคเรียนให้เป็นแบบระบบอาเซียน ส่งผลให้นักศึกษาในอีสานและนักศึกษาทั่วประเทศจำนวนมากเท่าใดที่ต้องได้รับผลกระทบจากนโยบายของผู้ที่มีอำนาจโดยเฉพาะทางด้านการเรียน การสูญเสียโอกาสและทางเลือกในชีวิต และต้นทุนของนักศึกษาที่เรียนในช่วงเวลาดังกล่าวต้องแบกรับไว้ ผลกระทบที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผมได้พูดคุยกับนักศึกษาและได้รับฟังปัญหาของเขาในฐานะอาจารย์ ผมคิดว่ายังมีผลกระทบอีกมากที่เกิดขึ้นกับพวกเขาซึ่งเป็นผลมาจากการจัดระบบการศึกษาที่ผิดพลาดและไม่ดูความเป็นจริงของสังคมไทย ที่สำคัญความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีแม้คำขอโทษจากผู้มีอำนาจหรือความรับผิดชอบใดๆ ให้กับนักศึกษาที่สูญเสียประโยชน์เหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ดูเหมือนว่า นักศึกษาไทยเป็นเหมือนหนูทดลองของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ

image_pdfimage_print