ศาตราจารย์ประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายในหัวข้อ  “ประวัติศาสตร์อีสานที่เป็นของตัวเอง (Autonomous History of Isaan) เป็นไปได้หรือไม่” ในงานเปิดตัวกลุ่ม Isaan Study Group  แนะ อีสานต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของตัวที่ไม่เอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ชี้ซีรีส์กบฏผีบุญเป็นการเริ่มต้นที่ดี ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองท้องถิ่น 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 The Isaan Record ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเสวนาออนไลน์ในโครงการเครือข่ายทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในภาคอีสานครั้งที่ 1 หัวข้อประวัติศาสตร์อีสานกับการต่อสู้จากอดีตถึงปัจจุบัน 

โดยธงชัย วินิจจะกูล กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์อีสานที่เป็นของตัวเอง (Autonomous History of Isaan) เป็นไปได้หรือไม่” กล่าวว่า วันนี้กำลังจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน คือ ตนกำลังจะพูดถึงสิ่งที่ผู้จัดงานเสวนาครั้งนี้ได้ลงมือทำแล้ว หมายถึงถ้าใครดูอีสานเรคคอร์ดในช่วงที่ผ่านมาเขามีซีรีส์เรื่องกบฏผีบุญ เห็นว่าเป็นซีรีส์ที่ดีมากๆ คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิจัยที่อ่านยาก แต่สามารถพูดถึงประวัติศาสตร์ในแบบที่ตนเห็นว่าเป็นตัวของตัวเอง

เริ่มต้นจากเอาอีสานเป็นศูนย์กลางการมองปัญหา การมองประเด็นนั้นๆ  และเป็นสิ่งที่ตนจะพูดถึงในวันนี้  ไม่ทราบว่าซีรีส์นี้มีความเป็นมาอย่างไร แต่ถ้าขออนุญาตเดาด้านหนึ่งน่าจะมาจากความอึดอัดคับข้องใจที่อีสานต้องเผชิญกับการที่กรุงเทพฯ บังคับกะเกณฑ์หรือต้องยึดเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอยู่เรื่อยในหลายๆ เรื่อง แน่นอนรวมถึงเรื่องอำนาจ  ทั้งการกำหนดงบประมาณ การจัดการท้องถิ่นที่เป็นตัวเอง กรุงเทพฯ ยังยึดไว้อยู่เยอะ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารปี 2549 และ2557 ที่ดึงหมุนเข็มนาฬิกากลับในเรื่องอำนาจการปกครองท้องถิ่น  ในขณะที่อีสานกำลังไปได้สวยในเรื่องการพัฒนาตลอดช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นความอึดอัดคับข้องใจ 

ธงชัย กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขบวนการต่อต้าน ต่อสู้ อย่างน้อยที่สุดต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นตัวนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะในขบวนการนี้มีกลุ่มจากทางอีสานที่มีรูปร่างชัดเจน อย่าง กลุ่มดาวดิน และกลุ่มอื่นๆ  ไม่ใช่ทุกอย่างมาจากกรุงเทพฯ อย่างเดียว การเคลื่อนไหวในอีสานเรียกว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง อยากจะเดาว่า 2 แหล่งนี้ ทำให้ความสนใจว่าขบวนการหรือการลุกฮือการต่อต้านของประชาชนต่ออำนาจที่มาจากส่วนกลางมันเคยมีมาแล้วอย่างไร เราจะเห็นได้จากในซีรีส์กบฏผีบุญดังกล่าว 

ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับ Autonomous History ขอแปลว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเอง อยากจะเล่าถึงความเคลื่อนไหวในวงการประวัติศาสตร์ที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 40-50 ปีก่อน สิ่งที่อีสานศึกษาต้องการจะเขียนประวัติศาสตร์เป็นตัวของตัวเองมันมีความถูกต้องมีความชอบธรรมในทางวิชาการ มีคอนเซ็ปต์ที่รองรับว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ การถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็นของตัวเอง ประวัติศาสตร์จากข้างล่าง ประวัติศาสตร์จากคนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง คนที่มีสถานะรอง เหล่านี้มีนัยยะเชิงวิธีวิทยา และนัยเชิงประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่คนทำในระดับท้องถิ่นทำเป็นระดับย่อยลงไป แต่ในทางประวัติศาสตร์และวิธีวิทยา มีการถกเถียงกันว่า ทำไมต้องจัดให้เป็นสเกลย่อยของชาติ ทำไมไม่ทำให้เป็นตัวของตัวเอง คือเป็นศูนย์กลางการมองประวัติศาสตร์อย่างเป็นตัวของตัวเองไม่ได้หรือ  ซึ่งท้องถิ่นในที่นี้สามารถทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยไปกว่าประวัติศาสตร์ของชาติก็ได้ และไม่ได้หมายถึงกำลังปฏิเสธประวัติศาสตร์ชาติ  

ธงชัย กล่าวว่า ขอขยายความว่า Autonomous ในแง่นี้ รู้ว่าภาษาไทย พอเจ้าหน้าที่รัฐได้ยินคำนี้จะตกใจกันใหญ่ โดยเฉพาะคำว่า Autonomy ของอีสานว่าเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน ฟังดีๆ ขอย้ำอีกครั้งว่า อย่ามาหาเรื่องกัน Autonomous History ในที่นี้มาจากภาษาอังกฤษซึ่งเกี่ยวข้องกับบทความของจอห์น สเมล นักวิชาการ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ตั้งแต่ปี 1961 เขาไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกดินแดนเลย แต่พูดถึงความพยายามหาจุดยืนมุมมองประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องดินแดนทั้งสิ้น เมื่อมาใช้กับอีสานมันจึงอ่อนไหวสำหรับคนที่มักจะเข้าใจผิดและมักจะหาเรื่องในทางที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไร 

ธงชัย กล่าวว่า Autonomous History จุดประสงค์ใหญ่คือการตั้งคำถามขยับศูนย์กลางการมองปัญหา พวกเราทุกคนโดยเฉพาะในวงวิชาการน่าจะเคยได้ยินคำว่า Eurocentric คือ การเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง  ในกรณีอีสานหรือประวัติศาสตร์ของไทยเราก็ Bangkok centricism คือ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางที่ทำโดยไม่รู้ตัว ตนตั้งคำถามว่าเราสามารถจะเขียนประวัติศาสตร์โดยที่ขยับศูนย์กลางออกจากกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ มาเป็น Isaancentric ได้ไหม มีด้านดีมีข้อเสีย ข้อควรระวังอะไรบ้าง เปลี่ยนจุดยืนการมองประวัติศาสตร์เสีย แทนที่จะมองจากกรุงเทพฯ กลับมามองในพื้นถิ่นของอีสานเอง 

เพราะเชื่อว่า ถ้าขยับศูนย์กลางการมองปัญหามาอยู่ที่อื่น เราจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์จากมุมใหม่ อย่างเช่น ซีรีส์ชุดกบฏผีบุญที่เดอะอีสานเรคคอร์ดได้ทำหลายตอน ส่วนใหญ่ ถือว่าใช้ได้และดีทีเดียว ที่สำคัญ คือ จะจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องอะไรสำคัญหรือไม่ต่างจากกรุงเทพฯ จัดลำดับไว้ ถ้าเราจัดตั้งวาระและคำถามต่างกันผลงานศึกษาประวัติศาสตร์มันมักจะออกมาต่างกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกว่า ของกรุงเทพฯ ผิดหมด อย่างน้อยที่สุดเราสามารถที่จะพูดได้และโอกาสที่จะต่างกันมีสูงมากและปล่อยให้กรุงเทพฯ เขาเป็นของเขาไป ให้คนตระหนักถึงความต่างโดยที่ไม่ต้องบอกว่ากรุงเทพฯ ผิดหรือถูก การเขียนประวัติศาสตร์ที่มี Isaancentricism ไม่ได้การันตีว่าคุณทำไม่ผิด คนจากพื้นถิ่นไม่ได้การันตีว่าคุณนั้นถูก หรือดีกว่า การศึกษาทุกอย่างมีทั้งดีและห่วยได้เหมือนกันหมด 

กลุ่ม Isaan Study Group เกิดจากการรวมตัวกันหลากหลายอาชีพ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และเรียนรู้เรื่องราวในภูมิภาคอีสาน

ธงชัย กล่าวอีกว่า  ถ้าหากเราคิดถึงประวัติศาสตร์อีสานที่เป็นของตัวเองมันควรจะเป็นอย่างไร ในแง่หนึ่งคำว่าอีสานเป็นคำที่ขัดแย้งในตัวเองมาก  เพราะคำว่าอีสานเป็นคำเรียกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการระบุภูมิศาสตร์ตำแหน่งแห่งที่ผู้คน สังคม โดยมองจากกรุงเทพฯ ดังนั้นการบอกประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองของอีสานมันจึงขัดแย้งในตัวเอง มีอย่างที่ไหนจะศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองของภูมิภาคที่ถูกระบุว่าอยู่ตรงไหนก็ต่อเมื่อมองจากกรุงเทพฯ เท่านั้น พูดง่ายๆ ถ้าคุณยืนอยู่อีสานคุณไม่เรียกตัวเองว่าอีสาน คุณต้องเรียกตัวเองว่าตรงนี้เป็นศูนย์กลาง

การเรียกตัวเองว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องหมายความว่าเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของใคร สมมติว่าฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เราเรียกว่าอีสานปัจจุบัน ทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งประเทศลาว ก็ต้องเป็นภาคใต้ของเวียงจันทน์ ไม่ใช่จะหาเรื่องว่า เราควรจะเป็นของลาว ตนต้องการจะลองให้คิดพลิกมุมเปลี่ยนทิศก็จะเจอ เพราะอย่างน้อยประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่ปัจจุบันเรียกว่า อีสานเป็นเวลาหลายร้อยปีมันมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับทิศเหนือของภูมิภาคที่ปัจจุบันเรียกว่าอีสาน 

“ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคโบราณมาถึงยุคสมัยผนวกอีสานให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามในสมัย ร.5 อีสานมีความผูกพันไม่ใช่เฉพาะทางวัฒนธรรม ภาษา เท่านั้น แต่ยังผูกพันในเชิงชีวิตและทางเศรษฐกิจด้วยกับศูนย์กลางที่ไมใช่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ที่เรียกว่ากรุงเทพฯ สิ่งที่เขาผูกพันมากกว่าคือผูกพันกับศูนย์กลางอำนาจซึ่งอยู่ทางทิศเหนือที่เรียกว่าเวียงจันทน์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอีสานที่เรียกว่าพวน อยู่ทางทิศตะวันออกของอุบลฯ ที่เรียกว่าจำปาศักดิ์ เหล่านั้นเป็นยูนิตทางวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันกว่าตรงนั้นฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เรียกว่าอีสานในปัจจุบันกับกรุงเทพฯ กับศูนย์กลางทางตะวันตกเฉียงใต้ ของอีสาน ดังนั้นการศึกษาอีสานมันจึงขัดแย้งในตัวเอง เท่ากับบอกว่ามาศึกษาถึงภูมิภาคซึ่งกำหนดมาแล้วว่าใช้สายตากรุงเทพฯมอง ทั้งที่ในความเป็นจริงภูมิภาคตรงนั้นฝั่งขวาแม่น้ำโขง สามารถจะมองจากทิศอื่นก็ได้ และสามารถจะมองออกจากตรงนั้นสู่ทิศต่างๆ ก็ได้” ธงชัยกล่าว

ธงชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมางานวิจัยและวิทยานิพนธ์จำนวนมากทำการค้นคว้ามาอย่างดี หลักฐานต่างๆ ใช้ได้แต่กรอบมโนทัศน์ยังอาศัยกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอยู่จำนวนมากและหลายอันหลายชิ้นก็อธิบายตรงๆ คือ อธิบายความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ เพื่อจะอธิบายว่าในที่สุดอีสานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอย่างไร อันนี้เท่ากับการมองประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรงว่ามันจะต้องจบลงท้ายด้วยการที่อีสานกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเสมอ และกรุงเทพฯ ทำให้อีสานเจริญรุ่งเรืองหรือการกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอีสานได้เจริญรุ่งเรืองอย่างไร เป็นการมองประวัติศาสตร์ในเส้นเดียวและมาจบลงท้าย ณ ปัจจุบัน ทั้งที่ย้อนอดีตกลับไปอีสานมีอดีตที่เป็นไปได้หลายทาง อย่างน้อยที่สุดมาถึงสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์เมื่อปี 1829 อย่างไรก็ตามงานที่เอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด แต่ก็มีปัญหาคือไม่ได้เอาคนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง

“ดังนั้นอยากจะเห็นอีสานที่เป็นตัวของตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ ขอย้ำว่าศึกษาความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ก็ได้แต่เป็นความสัมพันธ์ในแง่และจากจุดยืนที่เอาคนพื้นถิ่นอีสานเป็นศูนย์กลาง” 

ธงชัย ระบุอีกว่า  ในปัจจุบันตนกล้าบอกว่าคนใช้คำว่าอีสานเป็นคำจำกัดความอีกแบบหนึ่ง คือ เป็นเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์พูดถึงตัวเอง พูดถึงความเป็นอีสานอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กำหนดมาจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งของลาวอีกแล้วถึงแม้จะมีรากมีจุดร่วม และถึงแม้จะมีรากและจุดร่วมกับทางภาคกลางกรุงเทพฯ ก็ตาม แต่อีสานได้พัฒนาในความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาพอสมควร จนกระทั่งคำว่าอีสานกลายเป็นชื่อ มากกว่าที่จะเป็นการบอกถึงมุมมองที่มากจากกรุงเทพฯ พูดง่ายๆ ว่าอีสานไม่ได้เป็นชื่อภูมิภาคที่มองมาจากกรุงเทพฯ อีกต่อไปแล้ว อีสานกลายเป็นชื่อของตัวเราคนอีสาน ความหมายที่มันมีกำเนิดจากการเป็นทิศหนึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ถูกกำหนดมาจากกรุงเทพฯ มันได้ผ่านพ้นไปแล้ว นั่นเท่ากับว่าอีสานความหมายเริ่มขยับกลายเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองแล้ว คนที่อยู่ในฝั่งขวาของแม่น้ำโขง หรือลุ่มน้ำโขง ชี มูล ต้องตอบตัวเอง ตนตอบให้ไม่ได้ว่าอยู่ในภาวะนี้หรือยัง 

ธงชัย กล่าวต่อว่า คิดว่าคนในภาคอีสานปัจจุบันไม่มีใครคิดเรื่องแยกดินแดนบ้าบอแล้ว แต่เราต้องการเพียงแค่ว่าไม่ใช่ทุกอย่างกำหนดจากกรุงเทพฯ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ก็ยังกำหนดจากกรุงเทพฯ ว่า คิดต่ออดีตอย่างไร ตนเข้าใจพวกเราคงต้องการคิดจากอดีตของอีสานเอง เพราะอีสานได้กลายเป็นอัตลักษณ์อีกแบบหนึ่งแล้ว ถึงแม้ว่าแต่เดิมมันเคยมีความผูกพันกับลาวกับกรุงเทพฯ มามากหรือน้อยก็แล้วแต่ ถ้าหากว่า ทำให้อีสานปัจจุบันเป็นชื่อเพื่อบอกอัตลักษณ์อย่างหนึ่ง แล้วเก็บคำนี้ไว้ หรือจะเปลี่ยนเป็นประวัติศาสตร์กลุ่มโขง ชี มูล ศึกษาอะไรก็แล้วแต่ตามใจคุณ Autonomous History มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในระดับต่าง ของระดับย่อยระดับใหญ่ ความสัมพันธ์ไม่ใช่ต้องขึ้นต่ออย่างเดียว อาจจะเป็นอิสระหรือเป็นตัวของตัวเองก็ได้ 

ธงชัย กล่าวต่อว่า คิดว่าประวัติที่เป็นตัวของตัวเองคือเคลื่อนศูนย์กลางออกจากกรุงเทพฯ จะแง่ไหนก็มีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง ประวัติศาสตร์จากคนชั้นรอง คนสถานะรอง คนต้อยต่ำทั้งหลาย เป็นการเคลื่อนจุดยืนในการมองปัญหาทั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนจุดยืนในการมองปัญหา ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนทางพื้นที่ ระหว่างกรุงเทพฯ กับอีสาน จุดยืนในทางชนชั้น จุดยืนในทางสถานะของคนในสังคม ในความเห็นตนสมควรจะต้อนรับทั้งนั้น สร้างความแตกต่างหลากหลายให้เราได้เรียนรู้ได้เข้าใจคนในอดีต ตนเชื่อในมรดกของอดีตเหล่านั้นยังตกทอดมาจนถึงปัจจุบันด้วย ไม่มากก็น้อยในแง่ต่างๆกัน เพราะที่ผ่านมาในกรณีของอีสานเราอยู่กับประวัติศาสตร์ที่ยึดความสัมพันธ์กับกรุงเทพมากไป ทำให้ด้านอื่นถูกทำให้เป็นรอง ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐอยู่ภายใต้สงครามเย็น กลัวการมองประวัติศาสตร์จากมุมของอีสานจากพื้นถิ่นว่าจะเป็นเสมือนประวัติศาสตร์การแบ่งแยกดินแดน ตนเชื่อว่าปัจจุบันความมั่นคงของรัฐเขาเลิกกลัวเรื่องนี้แล้ว อีสานชีวิตเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่กับประเทศไทย ซึ่งมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแล้ว เพียงแต่ว่าไม่จำเป็นเลยที่การเขียนประวัติศาสตร์เราต้องยึดอยู่อย่างนั้นอย่างเดียว เราสามารถเปิดให้เข้าใจคนอีสานรู้จักตัวเองมากขึ้น น่าจะเป็นไปได้ 

“ผมเสนอว่า ประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวของตัวเองของอีสานเป็นไปได้ พวกคุณเริ่มทำแล้ว เอาเข้าจริง สิ่งที่ผมพยายามทำเพียงแค่ขยายว่า มันสามารถมีแง่มุมได้อีก แล้วทำให้เราเข้าใจหลักคิดของเรื่องพวกนี้มากขึ้น ไม่ว่า ในทางคอนเซ็ปต์ในทางทฤษฎีในทางปรัชญา มันสามารถเกิดประวัติศาสตร์แบบนี้ได้ แล้วไม่ใช่แค่ในประเทศไทย กระแสเหล่านี้เป็นกระแสของคนพื้นถิ่น ของคนท้องถิ่น ของคนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก แม้ในจีนก็เริ่มกระแสพวกนี้ เขาอยากจะมองปัญหาที่ไม่ต้องกำหนดมาจากศูนย์กลางของจักรวรรดิจีนเสมอได้ไหม เริ่มมีกระแสตรงนี้มากขึ้น แล้วมันไม่ได้ทำลายรัฐประชาชาติ มันกลับทำให้รัฐประชาชาติร่ำรวยทางวัฒนธรรมมากขึ้นด้วยซ้ำไป หวังว่ารัฐไทยจะไม่คิดสั้นหรือมองในแง่ร้ายอยู่เรื่อย ควรจะส่งเสริม ควรจะให้คนในพื้นถิ่นทำเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ผมว่าจะเป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย”ธงชัย กล่าว 

image_pdfimage_print