อัยการ ศรีดาวงศ์ Citizen Reporter of The Isaan Record เรื่องและภาพ

หนองคาย – เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน จัดเสวนาโต๊ะกลม “ความรู้ ฤๅ อำนาจ ในการจัดการทรัพยากรอีสาน” ซึ่งเป็นการเสวนาเพื่อศึกษาปัญหาและถอดบทเรียนสิ่งที่เกิดจากแผนโครงการพัฒนาภาคอีสานที่จัดทำโดยภาครัฐมาตลอดหลายสิบปี ซึ่งในระยะแรกของแทบจะทุกโครงการนั้นขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ กว่าประชาชนจะรู้สึกตัวว่าได้รับผลกระทบ โครงการก็ดำเนินไปจนเกือบจะแล้วเสร็จหรือแล้วเสร็จไปเสียแล้ว เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสานจึงได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่ว่าจะต้องมีการถอดบทเรียนเพื่อที่จะระงับโครงการในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

โดยภายในวงเสวนาได้มีการเชิญอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้บรรยายด้วยซึ่งเริ่มต้นด้วยหัวข้อ เหลียวหลังแลหน้า ขบวนการจัดการทรัพยากรในอีสาน โดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การที่ชุมชนมีส่วนร่วม มีสิทธิในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ สิทธิชุมชนจะนำไปสู่สิทธิในการตัดสินใจและสิทธิในการมีชีวิตอยู่ โดยระดับพื้นฐานคือร่วมใช้ประโยชน์ และขั้นสูงสุดคือร่วมพัฒนา และเราควรศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน ควบคุมและกำหนดอนาคต สร้างวุฒิภาวะ ความเป็นพลเมือง อย่าให้ตกอยู่ในสภาพ รัฐบงการความคิดควบคุมปัจจุบัน ทำลายอนาคตประชาชน” พร้อมกับเล่าย้อนประวัติศาสตร์อีสาน จากอดีตถึงปัจจุบันและท้าวความไปถึงอนาคตท่ามกลางสถานการณ์ที่มีแผนโครงการพัฒนาอีสานเต็มไปหมดทั้งเรื่องเขื่อน สถานีระบายน้ำ โรงงานน้ำตาล โรงงานไฟฟ้าชีวมวล

ดร.เลิศชาย ศิริชัย อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ให้ความเห็ว่า “ปัจจุบันผู้ปกครองใช้ชุดความคิดรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งมาในรูปแบบโครงการพัฒนาภาคอีสานในด้านทรัพยากร และพบว่าเป็นไปในรูปแบบที่รวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น ซ้ำยังกีดกันการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน”

ส่วนด้านอาจารย์ฐากูร สรวงค์ศิริ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.อุดรธานี ได้ให้ความเห็นว่า ความเป็นรัฐไทยที่เป็นรัฐรวมศูนย์ ผู้ปกครองด้อยค่าประชาชน คิดแทนประชาชนโดยการสร้างโครงการในนามของการพัฒนาเข้ามายัดเยียดกับประชาชน โดยที่ประชาชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและตัดสินใจเลย ใช้โรงการพัฒนาเป็นลู่ทางในการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นของเอกชนชั่วคราวผ่านการสัมปทาน จนเกิดการไล่ที่ในโครงการต่างๆ และที่ดินทำกินเดิมก็ได้รับผลกระทบซ้ำซาก และไม่มีการเยียวยาอย่างจริงจัง จึงตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้ไหม ที่ชุมชนและชาวบ้านจะเข้าไปมีส่วนในการจัดการร่วมกันกับทางภาครัฐ ผ่านกติกาที่ตกลงกันเพื่ออยู่ร่วมกัน

ทางด้านอาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ จากสาขาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มรภ.อุดรธานี ให้ความเห็นว่า ความรู้กับอำนาจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นกลไกที่กำหนดทิศทางของประเทศ หากแต่มีเพียงความรู้ แต่ไร้อำนาจ ความรู้นั้นๆอาจไม่ถูกนำมาใช้ ในขณะเดียวกัน หากมีแต่เพียงอำนาจแต่ขาดความรู้ ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายผ่านการใช้อำนาจโดยขาดซึ่งความรู้ความเข้าใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ปรากฎอยู่ในสภาวะปัจจุบัน ที่รัฐพยายามบริหารจัดการทรัพยากรโดยขาดความเข้าใจ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ แม้กระทั่งนโยบายที่รัฐพยายามมอบให้กับประชาชนก็ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ และโครงการที่เป็นปัญหาคือโครงการเมกะโปรเจ็คอย่าง โครงการโขง ชี มูล ซึ่ง เมื่อเป็นโครงการใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างมหาศาล ทำให้ประชาชนต้องติดอาวุธทางความรู้ ผนีกกำลังของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจนก่อเกิดเป็นอำนาจ เพื่อจะไปต่อสู้กับหน่วยงานรัฐ และชี้แจงว่า ตนเองได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ และรัฐเองกํต้องรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ปัญหาทั้งมวลจึงอยู่ตรงที่ว่า ความรู้ของรัฐหรือของชุมชนมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

ด้านอาจารย์ ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรยายในหัวข้อแผนที่ทางวัฒนธรรมกับกระบวนการค้นหาความรู้นิเวศวัฒนธรรม กล่าวว่า

“กระบวนการทางวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เมื่อรัฐมองไม่เห็นความหลากหลายทางสังคม รัฐและทุน ร่วมมือกันผ่านการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายทุนย่อมหาประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐไม่ได้ หากรัฐไม่ให้ความร่วมมือ จึงเกิดการผนึกกำลังอย่างหนาแน่นระหว่างทุนและรัฐ ผิดกับภาคประชาสังคม ที่ยังขาดความเหนียวแน่น จึงขาดพลังที่จะทัดทานทุนและรัฐ”

ดร.มาลี ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า เพื่อที่จะสร้างความเหนียวแน่นในชุมชน การทำแผนที่เชิงวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญและมีความหมายมากกว่า ภาพวาดธรรมดา การสร้างประวัติศาสตร์ชุมชนให้เกิดความรักในท้องถิ่น สำนึกที่มากกว่าการสร้างแผนที่โดยขาดความเข้าใจและความเป็นมา บอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์และทรัพยากรที่มีหรือเคยมีในท้องถิ่น ผนวกกับจินตนาการและความทรงจำของคนในท้องถิ่น ร่วมกันวาดภาพแผนที่ของชุมชนขึ้นมา ให้ความสำคัญกับกระบวนการของชาวบ้าน

“ลำพังแผนที่ทางวัฒนธรรม ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ จะเปลี่ยนแปลงได้ต้องอาศัยพลังอื่นๆ ต้องมีสำนึกร่วมกันอย่างสูง ซึ่งมีความสำคัญที่จะใช้ต่อสู้กับรัฐที่ใช้อำนาจจัดการกับความหลากหลาย มองแม่น้ำเป็นเพียงแม่น้ำที่ไม่มีอะไร นี่คือสิ่งชุมชนต้องมีความตระหนักและสำนึกร่วมกันว่าแนวคิดและการใช้อำนาจของรัฐในการจัดการความหลากหลายนั้นไม่ถูกต้อง”

ตามมาด้วย อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายผ่านโปรแกรม Zoom ในหัวข้อ “พื้นที่ปฏิบัติการทางสังคมของประชาชน”

“จากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การทำงานด้านพื้นที่ประสบปัญหาในการพบปะพูดคุย เนื่องจากหลายต่อหลายพื้นที่ก็มีความสุ่มเสี่ยง ทำให้การเคลื่อนไหวจำเป็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแม้จะเป็นตัวช่วยได้ดี แต่ก็ยังถือว่ามีข้อจำกัดอยู่มากแต่ถึงกระนั้น เราไม่ต้องการให้สังคมติดกับอยู่กับวังวนเดิมๆ การเมืองภาคประชาชนควรจะต้องมีความหวังหล่อเลี้ยงอยู่เสมอๆ”

“โลกในปัจจุบันล้วนแต่เป็นไปในความไม่แน่นอน และปัญหาคือรัฐกลับยังคิดอยู่บนพื้นฐานเดิมๆคือ คิดว่าแผนของตนนั้นแน่นอน ไม่แปรผันตามสถานการณ์ในแต่ละวัน จนเกิดเป็น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเพียงดำเนินมาไม่กี่ปีก็มีปัญหาอย่าง Covid-19 เสียแล้ว ถือว่าเป็นโจทย์ที่สั่นคลอนหลักการคิดของรัฐว่า หากไม่คำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบันทันด่วน มุ่งแต่จะยึดยุทธศาสตร์ชาติ โดยไม่สนใจคนตัวเล็กตัวน้อยนั้น รัฐบาลนั้นอาจจะขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศในสักวันก็ได้” สุริชัย กล่าว 

นอกจากนี้ยังมี อาจารย์ ดร. มนตรี พิมพ์ใจ และ อาจารย์นิรันดร คำนุ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บรรยายผ่านโปรแกรม Zoom ถึงความเป็นมาและการใช้ระบบสารสนเทศ (GIS) เพื่อการสนับสนุนงานนิเวศวิทยาวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ และนำเสนอความสำคัญของ GIS ว่า

ตัว GIS เป็นการจัดเก็บข้อมูลเพื่อความรวดเร็ว และแม่นยำ ซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งที่ไกลตัวมาก และถูกใช้อย่างจำกัดในหน่วยงานรัฐ แต่ว่าปัจจุบันเริ่มมีการตื่นตัวของภาคประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับเรื่องที่ดินทำกินที่ได้รับผลกระทบ เกี่ยวโยงกับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และ GIS เป็นการรวบรวม วิเคราะห์ นำเสนอข้อมูล บนระบบคอมพิวเตอร์

เสร็จสิ้นการเสวนาผู้เข้าร่วมได้สรุปการประชุมและกำหนดข้อเสนอร่วมกันภายในเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน ซึ่งไดกำหนดข้อเสนอร่วมกันจำนวน 6 ข้อดังนี้

1.ศึกษาระเบียบของชลประทานว่าด้วยการสร้างเขื่อน กระบวนการแก้ไข/การจ่ายค่าเยียวยาชดเชย โดยให้ความรู้แก่ภาคประชาชน

2.จัดทำหลักสูตร(พรบ.น้ำ,ชลประทาน,มติครม.,พื้นที่ชุ่มน้ำ) องค์ความรู้(เพิ่มระยะเวลา,เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้แก่เยาวชนและคนรุ่นใหม)

3.ยกระดับคณะทำงาน ผ่านตัวแทนแต่ละพื้นที่และกลุ่มที่มีการขับเคลื่อนที่ชัดเจน

4.จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแต่ละโครงการ

5.การจัดทำฐานข้อมูเชิงลึก

6.จัดเวทีสาธารณะ สู่พี่น้องประชาชน

image_pdfimage_print