ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่อง 
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

ข้างถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ ก่อนถึงอำเภอศรีขรภูมิ มีร้านพรีเวดดิ้ง ทาสีฟ้าชื่อร้าน “ยาหยี รับจัดงานแต่งงาน” เป็นบ้านชั้นเดียวขนาดเล็ก เต็มไปด้วยชุดวิวาห์ ดอกไม้ และอุปกรณ์สำหรับตกแต่ง 

“สวัสดี ค่ะ เชิญนั่งก่อน” สุดสาคร สหุนาฬุ หรือ ยาหยี เจ้าของบ้านกล่าวตอนรับขณะที่เราไปพบเธอโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า

สุดสาคร สหุนาฬุ หรือ ยาหยี อดีตข้าราชการครู

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ 

ยาหยี เกิดและเติบโตที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ อายุ 60 ปี เป็นคนไทยเชื้อสายจีนจากทั้งแม่และพ่อ มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ชาย 3 คน และ หญิง 6 คน โดยยาหยี เป็นลูกคนกลาง 

ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด มีคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ 2 คน คือ เธอที่ร่างเป็นชาย แต่ใจเป็นหญิงและน้องสาวคนสุดท้อง พักตร์วิไล สหุนาฬุ หรือ “ไก่” ซึ่งเรียกตัวเองว่า ทอม  

ภาพถ่ายครอบครัว “สหุนาฬุ” ความทรงจำวัยเยาว์ของ ยาหยี และ ไก่  เครดิตรูปภาพ : ครอบครัวสหุนาฬุ

เธอเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่า ครอบครัวของเธอมีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในละแวกนี้ มี 4 เพศ คือ ชาย หญิง ทรานเจนเดอร์ชาย และทรานเจนเดอร์หญิง 

“เป็นกะเทยมันไม่ใช่เป็นโรคภัย ที่จะเอาไปรักษาแล้วหาย มันเป็นจิตวิญญาณ”

 เธอกล่าวเมื่อถูกถามถึงความหลากหลายทางเพศ ขณะนั่งกินส้มตำเป็นอาหารเที่ยง ก่อนที่เธอจะเดินทางไปงานศพพ่อของเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกันกับเธอในตัวอำเภอที่ห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร 

ร้านพรีเวดดิ้งของ ยาหยี ที่เป็นจุดศูนย์รวมเพื่อรับฟังปัญหาของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ความทรงจำเมื่อครั้งวัยเยาว์

“ความรู้สึกตั้งแต่เล็กจนโต เราก็มีความรู้สึกว่าเราก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง แม้ว่าร่างกายเราเป็นผู้ชาย แต่จิตวิญญาณเราเป็นผู้หญิง ” ยายี เล่าด้วยแววตาที่เปร่งประกายและรอยยิ้ม

“สมัยก่อนสังคมยังไม่ยอมรับคนที่เป็นเกย์ ตุ๊ด กะเทยในสมัยเด็กเราก็ไม่รู้ว่าเราคือเพศอะไร เห็นแต่คนอื่นล้อว่า “กะเทยๆ” เราก็เลยนิยามตัวเองว่าเราคือกะเทย บ้านไหนมีลูกเป็นกะเทย เขาถือว่าเป็นเรื่องประหลาด ยิ่งคนจีนด้วยถ้ามีลูกเป็นกะเทย เขาจะไม่ให้ลูกเขาแต่งเป็นผู้หญิง เพราะว่าถือว่ามันไม่ดีต่อวงศ์ตระกูล ” เธอเล่าถึงเรื่องราวในอดีตที่สังคมและครอบครัวยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก  

อย่างไรก็ตามแม้ว่า แม่ของเธอจะมีเชื้อสายจีนและพ่อของเธอจะรับราชการครู แต่พวกเขาไม่เคยห้ามการแสดงออกของเธอเลย 

“คิดว่าพ่อ แม่ พี่น้องเราเขาคงดูออกแหละว่าเราเป็นเพศอะไร เพราะเขาเลี้ยงเรามา แต่เขาไม่พูดและไม่เคยห้ามเลยนะ”ยาหยีกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ในวัยเด็ก ยาหยี ชอบเล่นกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย ชอบเอาเสื้อผ้าของพี่สาวมาใส่ แต่ด้วยสังคมภายนอกที่ไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ เธอยังไม่กล้าแสดงตัวเองและแต่งตัวเป็นผู้หญิงได้อย่างที่ใจเธออยากเป็น เธอเรียนจบครูและทำงานรับราชการครูในโรงเรียนใกล้บ้าน

ถึงแม้เธออยากแต่งเป็นผู้หญิง แต่ด้วยทำงานรับราชการและสังคมในสมัยก่อนยังไม่เปิดรับ เธอก็ได้แต่งหน้าเล็กน้อยและแอบใส่ชุดผู้หญิงในที่ลับตาคน

ยาหยีและไก่ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในครอบครัวทั้งหมด 9 คน 

เช่นเดียวกับผู้เป็นน้อง พักตร์วิไล สหุนาฬุ หรือ ไก่ ผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ทอม” เล่าให้ฟังว่าในอดีตสังคมยังไม่รู้จัดความหลากหลายทางเพศ จะเรียกผู้ที่ไม่ใช่เพศสภาพว่า กะเทย 

ไก่ เองก็ค้นพบตัวเองเมื่อยังเด็กว่าเขา ไม่ใช่ผู้หญิงและก็ไม่ใช้ผู้ชายด้วยในเวลานั้นไม่ได้มีคำว่า ทอม เหมือนทุกวันนี้ เธอก็ไม่รู้ว่าจะเรียกนิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร 

“แต่ก่อนยังไม่มีคำอธิบายว่าสิ่งที่ฉันเป็นเรียกว่าอะไร ตอนนั้นตัวฉันเองก็ไม่รู้และไม่มีใครเรียกคนแบบฉันว่าเป็นทอม เขาเรียกว่าเป็นกะเทยหมดเลย ทั้งผู้หญิงที่ห้าวๆ และผู้ชายที่ตุ้งติ้ง” พักตร์วิไล กล่าว 

ไก่และยาหยี ทั้งสองผิดต่างเรื่องเพศสภาพออกไปจากพี่น้องทั้ง 9 คน แต่ครอบครัวต่างเข้าใจ ยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ โดยเฉพาะแม่

ไก่เล่าว่ามีคนในหมู่บ้านถามแม่ว่า “เลี้ยงลูกผู้ชายยังไงให้เป็นผู้หญิง ลูกผู้หญิงกลายเป็นผู้ชาย” และแม่ของเขาตอบกับอย่างเรียบง่ายว่า “ฉันก็เลี้ยงตามปกติธรรมดา” นั้นคือความทรงจำวัยเด็ก ที่ผู้เป็นแม่ยอมรับในความหลากหลายทางเพศ 

ลาออกจากครูเปิดตัวตน “เจ๊ใหญ่แห่งศรีขรภูมิ”

เธอเดินไปหยิบวิกผมที่เธอจะใส่ไปงานศพของพ่อเพื่อนในวันนี้ มาทดลองสวมใส่ที่ศรีษะ ขณะที่ใบหน้าของเธอเต็มไปด้วยสีสันจากเครื่องสำอาง ปากสีแดงและขนตาปลอม

เธอ กลับมานั่งที่เก้าอี้ตัวเดิม แล้วเล่าให้ฟังว่า ในตอนที่เธอรับราชการครู สังคมไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศเลย สิ่งที่เธอทำคือใช้ความสามารถให้มากกว่าคนทั่วไปเพื่อให้สังคมข้าราชการยอมรับ ทั้งขยันทำงาน ทุ่มเทเพื่อโรงเรียนที่เธอสอน 

และเมื่อเวลามาถึง เธอ ได้ลาออกจากข้าราชการครูเมื่อปี 2543 โดยเหตุผลสำคัญคืออยากแต่งตัวเป็นผู้หญิงใช้ชีวิตอย่างที่ใจเธอต้องการ   

“หลังลาออกจากอาชีพครู รู้สึกเป็นอิสระ ไม่มีหน้ากาก อยากจะทำอะไรก็ทำ เราจึงลุกขึ้นมาแต่งหญิง แล้วรู้สึกว่าฉันทำแล้วฉันสวย เพื่อนฝูงเห็นก็ชมว่าสวยขึ้น มันเป็นอย่างที่ใจเราอยาก” เจ้าของร้านพรีเวดดิ้งกล่าวถึงชีวิตใหม่ของเธอ

 ร้านพีเวดดิ้งแห่งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นที่รอให้คู่บ่าวสาวมาใช้บริการเท่านั้น แต่เธอยังใช้ร้านแห่งนี้เป็นพื้นที่โอบอุ้มเพื่อนพ้อง ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่บอบช้ำ ทุกข์ใจจากครอบครัว หรือสังคมรอบข้างเสมอ เธอพร้อมที่จะรับฟังทุกคนพร้อมให้คำปรึกษาต่อผู้มาเยือน จนเธอกลายเป็นเจ๊ใหญ่แห่งศรีขรภูมิ 

ยาหยี ทามกลางเพื่อนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่รวมกันเป็นกลุ่มชุมชน ภายในงานศพพ่อเพื่อน

ถึงเวลาก่อนบ่ายโมง เธอแต่งตัวขับรถออกไปยังวัดที่จัดงานศพพ่อเพื่อนเธอ ที่วันนี้กลุ่มความหลากหลายทางเพศศรีขรภูมิ ร่วมช่วยจัดงาน

ในศาลาวัดผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มของเพื่อนยาหยี กำลังเสริฟน้ำ และตอนรับผู้ที่เข้างาน พอถึงพิธีรำหน้าศพ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ได้ทำหน้าที่ รำส่งวิญญาณของผู้วายชน  

เพื่อนของยาหยีเล่าว่า เธอเหมือนเจ๊ใหญ่ ที่คอยช่วยเหลือทุกคน เป็นคนมีความรู้ บุกเบิกสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในอำเภอนี้ เป็นที่พึ่งของคนที่ประสบปัญหาการยอมรับของคนในสังคมและครอบครัว เพื่อโอบรับความแตกต่าง และปลอบประโลมความเจ็บปวดของสังคมเหยียดหยาม

สังคมผู้หลากหลายทางเพศ ศรีขรภูมิ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการมีพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ได้แสดงศักยภาพ ความสามารถ และเป็นที่ปรึกษาซึ่งกันและกันได้ เพื่อเปลี่ยนไปแปลงไปสู่สังคมที่เท่าเทียมในทุกมิติ 

image_pdfimage_print