นักกิจกรรมทางการเมืองอย่าง “วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง” หรือ  “เซฟ ขอนแก่นพอกันที” ไม่ได้นับแล้วว่า ตัวเองถูกฟ้องกี่คดีแล้ว โดยระหว่างที่พักรักษาตัวเพราะติดโควิด-19 จากการบริหารงานที่ล้มเหลวจากรัฐทำให้มีเวลาคิดมากขึ้นว่า คนหนุ่มอย่างเขาต่อสู้ไปเพื่ออะไร  

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง เรื่อง    

นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นที่ทราบกันว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ยอมจำนนกับโครงสร้างที่กดทับเอาไว้ทำให้ไม่ได้ปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองออกมาตามที่ควรจะเป็น 

เยาวชนคนหนุ่มสาวกับการลุกออกมาสู้ ไม่ใช่เพียงแค่คิดว่า จะสู้ก็ลุกขึ้นมา แล้วสู้ได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องเผชิญนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คดีความ และเวลาชีวิต

ครอบครัว แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากลุกออกไปเผชิญอันตราย ออกจากบ้านอันแสนอบอุ่นและปลอดภัย แต่สิ่งที่สังคมเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ผลักหลังให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้กล้าที่จะบอกพ่อและแม่ว่า 

“พ่อครับ แม่ครับ ถึงเวลาของผมแล้วที่จะต้องทำหน้าที่กำหนดอนาคตของตัวผมเอง” 

การกล้าที่จะบอกผู้ปกครองว่า ออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น นักกิจกรรมหลายคนถูกกดดันจากครอบหลายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเสมือนเขาทำผิดมาชั่วชีวิต แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งนั้นที่เขากำลังพยายาม คือ การกำหนดชีวิตของเขาเอง 

เขาฝันอยากจะเห็นสังคมเท่าเทียมกัน เขามีความฝันอยากจะเห็นตัวเองได้รับการศึกษาที่ดี มีความฝันที่อยากจะเห็นพ่อกับแม่ของเขาได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐ 

สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่า เป็นสิ่งที่นักกิจกรรมที่เป็นเยาวชน คนหนุ่มสาวใช้เหตุผลในการที่จะบอกผู้ปกครองและก้าวข้ามกับดักนั้นออกมา

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น และนักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที รายงานตัวต่ออัยการพร้อมเพื่อนนักกิจกรรมก่อนส่งฟ้องศาล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 กรณีจัดกิจกรรม “อีสานบ่ย่านเด้อ”

คดีความ เมื่อออกมาจากบ้านอันปลอดภัยก็มาเจอขวากหนามที่ทิ่มแทงชีวิตเขาด้วยคดีความอันโหดร้ายและอยุติธรรม ต้นทุนของการเป็นนักกิจกรรมนั้น คดีความ คือ หนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาแปรผันไปจากประชาชนผู้บริสุทธิ์กลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองที่รัฐตีตราว่า เป็นบุคคลผู้ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง  

หากนักกิจกรรมโดนคดีความหนึ่งคดีแล้วต้องเสียเวลาไปสถานีตำรวจ 2 ครั้ง ไปอัยการ 2 ครั้ง และไปศาลอีกไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง รวมแล้วหนึ่งคดีความเสียเวลาที่จะไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือตอบสนองความต้องการในเชิงปัจเจกชนถึง 10 วัน 

ไม่มีเหตุผลเลยที่เยาวชนคนหนุ่มสาวจะต้องใช้เวลา 10 วันของ 365 วันในการขึ้นศาลเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องความเป็นธรรม เพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องความเป็นปกติให้กับบ้านเมืองเท่านั้น

เวลาใช้ชีวิต แน่นอนเมื่อก้าวออกมาจากบ้านแล้ว ถูกดำเนินคดีแล้ว สิ่งต่อมา คือ เวลาในการใช้ชีวิตที่ควรจะเป็นเวลาที่พวกเขาควรได้ทำในสิ่งที่ชอบ แต่กลับกลายเป็นว่า ต้องสูญเสียเวลาเพื่อเรียกร้องให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เรียกร้องความปกติในสิ่งที่มันไม่ปกติของบ้านเมือง 

การเป็นนักศึกษา นอกจากการเรียนหนังสือแล้ว ก็ยังต้องทำกิจกรรมแล้ว ยังต้องขึ้นศาลเพราะถูกดำเนินคดีจากรัฐ นี่คือสิ่งที่ทำให้เยาวชนคนหนุ่มสาวสูญเสียโอกาสที่จะได้ปลดปล่อยศักยภาพในการพัฒนาประเทศในการตอบสนองความต้องการในชีวิตของพวกเขา

ผมเชื่อว่า ต้นทุนเหล่านี้ไม่ใช่ต้นทุนที่พวกเขาคิดว่า เป็นราคาที่พวกเขาจะต้องจ่าย แต่ผมเชื่อว่า ทุกคนมีต้นทุนที่ต้องจ่ายกันอยู่แล้ว

ตรงกันข้ามหากคุณไม่ออกมาเรียกร้อง สิ่งที่คุณจะได้รับก็คือเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การบริหารจัดการของรัฐที่ล้มเหลว ซึ่งก็เป็นต้นทุนที่คุณจะต้องจ่ายเช่นเดียวกัน 

แต่ผมเลือกที่จะจ่ายต้นทุนด้วย ความกังวลของครอบครัว การถูกดำเนินคดีจากรัฐ และเวลาส่วนตัว เพราะเห็นว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องแลกมาและประชาธิปไตยจะคืนเสรีภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคน 

หมายเหตุ : วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น และนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มขอนแก่นพอกันที เขาเขียนบทความนี้ระหว่างพักรักษาตัวหลังจากติดเชื้อโควิด -19 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขณะนี้ไม่มีเชื้อและกลับบ้านแล้ว 

image_pdfimage_print