ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 The Isaan Record ลงพื้นที่ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ หลังศาลฎีกาตัดสินจำคุก 3 ผู้ต้องหา โดยไม่รอลงอาญา ในคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง

แดดเปรี้ยงกลางเที่ยงวัน เราตระเวนหาบ้านของ สุเนตร์ แท่นทอง ภรรยาของ สมพิตร แท่นทอง ผู้ถูกกุมขังด้วยโทษจำคุก 10 เดือน 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา กระทั่งพบบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้สภาพเก่าที่ สุเนตร์ มาพักรักษาตัวโรคมะเร็งกับพ่อและแม่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านซับหวายมากนัก

–   ภรรยา “สมพิตร แท่นทอง” ร่ำไห้ หลังจำคุก ชาว จ.ชัยภมิ โดยไม่รอลงอาญา

ใต้ทุนบ้านมีผู้คนกำลังนั่งคุยกัน 5-6 คน คล้ายกับร่วมทานข้าวกลางวันร่วมกัน เมื่อเราถามว่าบ้านหลังนี้ใช่บ้านของ “สุเนตร์ “ ภรรยาของ “สมพิตร” หรือไม่ ทุกคนพยักหน้าแล้วตอบ ใช่  

สิ้นเสียงคำตอบรถกระบะบรรทุกโลงศพสีขาวเคลื่อนเข้ามาหน้าบ้าน เรากำลังงุนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็มีเสียงบอกเราว่า “สุเนตร์ตายแล้ว เมื่อกี้เอง นอนอยู่ในมุ้งกลางบ้าน คงไม่ได้ให้สัมภาษณ์แล้ว”

สุเนตร์ แท่นทอง ภรรยาของ สมพิตร แท่นทอง ร้องไห้ หลังจากทราบว่า สามีถูกตัดสินใจจำคุก 10 เดือน 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา เครดิตภาพ มูลนิธิมนุษยา 

ไม่มีแม้คำร่ำลา เมื่อสามีติดคุก

ภายในบ้าน แว่น มั่นกลาง ผู้เป็นแม่ นั่งร้องไห้ปาดน้ำตาอยู่ข้างศพลูก ที่มีมุ้งและผ้าห่มขาวปกคลุมร่างกาย 

ก่อนที่เหล่าบรรดาญาติๆ จะนำโรงศพเข้ามา ผู้เป็นแม่ปาดน้ำตาครั้งแล้วครั้งเล่า พลางพูดกับเราว่า “ลูกสาวไปสบายแล้ว”

บริเวณหน้าบ้าน เพชร มั่นกลาง ผู้เป็นพ่อ กำลังง่วนอยู่กับการจัดแจงเตรียมงานศพลูกสาว เมื่อทุกอย่างดูเรียบร้อยขึ้น เราจึงเริ่มถามไถ่

“ตั้งแต่ผัว (สมพิตร) เข้าคุกไป อาการสุเนตร์ก็แย่ลงเรื่อยๆ วันนี้เห็นบอกว่าเหนื่อย เลยจะขึ้นรถพาไปหาหมอที่โคราช แต่พอขึ้นรถไปเรียกก็ไม่ตอบ เลยให้หมออนามัยมาดู หมอบอกว่าตายแล้ว” ผู้เป็นพ่อเล่าย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราวสองชั่วโมงก่อนหน้า 

สุเนตร์ เสียชีวิตในวัย 56 ปี หลังจากสามี (สมพิตร) ติดคุกได้เพียง 21 วัน ก่อนหน้านั้นเธอตรวจพบโรคมะเร็ง ปากมดลูก จากนั้นประมาณกลางปี 2563 อาการก็ทรุดหนักลง เนื่องจากสามีที่เป็นคนดูแลต้องเข้าเรือนจำในครั้งแรกหลังศาลชั้นต้นตัดสิน ก่อนได้รับอุธรณ์ในเวลาต่อมา

ตั้งแต่สามีต้องเข้าเรือนจำ สุเนตร์ ยังไม่ได้ติดต่อสื่อสารหรือเยี่ยมยามถามข่าวแม้สักครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในเรือนจำรุนแรง ทำให้สมพิตรต้องกักตัว จวบจนวันตายสุเนตร์ยังไม่ได้คุยกับสมพิตรเลย มีเพียงบทสนทนาก่อนที่สมพิตรจะไปฟังคำพิพากษาเท่าทั้นที่คงนับได้ว่าเป็นคำลาว่า “เดี๋ยวก็ได้กลับมา” 

ประมวณคดีชาวบ้านซับหวายถูกดำเนินคดีจากอุทยานแห่งชาติไทรทอง

ไม่มีที่ดิน แม้สิ้นชีวา 

ตามคำฟ้องของอุทยานฯ ระบุว่า สมพิตร-สุเนตร์ครอบครองที่ดิน 2 แปลง แปลงแรกมีจำนวน 10 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา และเป็นที่สอง 11 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา ซึ่งได้รับส่งต่อจาก เพชร-แว่น มั่นกลาง เป็นมรดกของครอบครัว ทั้งสองได้ทำไร่มันสําปะหลังและปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล มากว่า 20 ปี

จนกระทั่งการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 แล้วออกนโยบายทวงคืนผืนป่า ผ่านคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 ทำให้พื้นที่ทับซ้อนในความครอบครองของสมพิตรและสุเนตร์ ถูกคำสั่งดังกล่าวให้ไล่ออกจากพื้นที่ 

“ที่ดินฝืนนี้ พ่อเป็นคนบุกเบิกทำไร่มากว่า 40 ปีแล้ว ก่อนที่จะให้สุเนตร์ต่อ เพื่อเป็นมรดก โดยให้ใช้ชื่อของ สมพิตร (ลูกเขย) เราเคยจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ไป 3-4 หมื่น บอกว่าเราจะออกโฉนดให้ แต่ที่ไหนได้ลูกเขยกลับต้องติดคุก” เพชร มั่นกลาง เล่าถึงความเป็นมาของที่ดินผืนดังกล่าว 

“พอสุเนตร์ป่วยหนัก เขาก็อยากได้โฉนดที่ดิน ให้ลูกเพื่อเป็นมรดกก่อนตาย จนตายไปแล้วก็ยังไม่ได้” เพชร กล่าวถึงลูกสาวและผืนดินด้วยน้ำตาคลอเบ้า 

เพชร (ช้าย) แว่น (ขวา) มั่นกลาง พ่อและแม่ของสุเนตร์ กำลังเศร้าโศกหลังการจากไปของลูกสาว ที่ลูกเขยยังอยู่ในเรือนจำเพราะทำกินในที่ดินมรดก

ทวงคืนผืนป่านายทุน แต่เหยียบซ้ำคนจน

การออกคำสั่งคสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่าเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร เป็นไปตามนโยบายแผนแม่บทแก้ไขปัญหาของการบุกรุกป่าไม้ทรัพยากรของรัฐที่เกิดจากนายทุน แม้ว่าตามคำสั่ง 66/2557 จะระบุว่า ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ 

แต่ผลของนโยบายดังกล่าวกลับมีผลตรงกันข้าม จากรายงานผลการศึกษามาตรการทวงคืนผืนป่าของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch เมื่อปี 2562 เพียงปีเดียวพบว่า มีการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่มีพื้นที่ทับซ้อนกว่า 1,003 คดี ทั่วประเทศ 

นิตยา ม่วงกลาง หนึ่งในผู้ต้องหาคดี “ทวงคืนผืนป่าซับหวาย” กล่าวว่า ครอบครัวของสมพิตรและสุเนตร์ เป็นข้อชี้ชัดแล้วว่า คำสั่งที่ 66/2557 ที่ระบุว่า ให้ละเว้นคนจนนั้น ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ไม่ทำเลย คนจนก็คงถูกเหยียบย่ำด้วยกฎหมายต่อไป โดยที่ยังไม่เห็นคนรวยหรือนายทุนถูกดำเนินคดีเลย” 

งานศพของคนจน ไร้ชื่อในโฉนดที่ดินสยาม 

เสียงประทัดดังเป็นสัญญาณการเคลื่อนศพผู้วายชนม์ หลังทำพิธีกรรมทางศาสนาเพียง 1 คืน เพราะไม่มีเงินในการจัดงานศพมากกว่านี้ โดยวันรุ่งนี้ต้องทำพิธีเผาส่งดวงวิญญาณตามความเชื่อของศาสนาพุทธ 

ก่อนเคลื่อนศพไปยังธรรมสถาน “แว่น” แม่ของสุเนตร์ (ผู้ตาย) เคาะโรงศพเพื่อบอกกับร่างอันไร้วิญญาณของลูกสาวว่า “ไม่ต้องทนทุกข์ ไม่เจ็บป่วย ทรมานอีกแล้วนะ” ก่อนจะร้องไห้ด้วยความโศกศัลย์ 
ขบวนแห่ศพเคลื่อนออกไปนำหน้าด้วยพระสงฆ์ ต่อด้วยรถกระบะสีบรอนซ์บรรทุกโรงศพของสุเนตร์ ซึ่งรถคันนี้เป็นน้ำพักน้ำแรงของ สมพิตร ที่รับจ้างทำงานก่อนสร้างและทำไร่ซื้อมาในสภาพมือ 2 ที่ตั้งใจไว้ว่า จะนำมาไว้รับ-ส่งภรรยาไปหาหมอ ซึ่งเป็นเสมือนทรัพย์สมบัติของครอบครัวที่มีไม่กี่ชิ้น และคงเป็นการใช้งานครั้งสุดท้าย เพราะขาดการชำระติดต่อกันมาแล้ว 3 งวด ไม่ช้าเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์คงต้องยึดรถไปตามสัญญา

สิ้นเสียงสวดมนต์ส่งวิญญาณของพระสงฆ์ ควันดำพวยพุ่งออกจากเมรุ ร่างของสุเนตร์ถูกเผา ไหม้คงเหลือแต่เถ้าถ่าน ในขณะที่ “สมพิตร” ยังไม่รับรู้ถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของภรรยา และไม่มีแม้คำอำลาหรือการสบตาในการลาจากครั้งนี้ 

สุเนตร์ แท่นทอง ตายไปโดยที่ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดินประเทศไทย

ส่วนสมพิตรยังคงอยู่ในเรือนจำชัยภูมิ โดยที่ยังเฝ้ารอการเยี่ยมเยียนจากภรรยาที่ไม่มีวันได้เห็นหน้ากันอีกชั่วนิรันดร์  

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง : 

“คำสั่งจากเบื้องบน” ทวงคืนผืนป่าชาวไร่มันสำปะหลังชัยภูมิ 15 ราย

ทวงคืนผืนป่าซับหวาย : มรดกรัฐประหาร ที่ยังซ้ำร้ายคนจน

ศาลชัยภูมิสั่งจำคุกคดีรุกป่า “ปัทมา โกเม็ด” บ้านซับหวาย โดยไม่รอลงอาญา

ภรรยา “สมพิตร แท่นทอง” ร่ำไห้ หลังจำคุก ชาว จ.ชัยภมิ โดยไม่รอลงอาญา

สุวลี โพธิ์งาม : ชะตาชีวิตหลังถูกจำคุกคดีบุกรุกป่าซับหวาย กับการตกงานจากวิกฤตโควิด-19

ขอสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารกลับคืนให้ชาวบ้านซับหวาย ชัยภูมิ

ภาคประชาสังคม 226 ทั่วโลก ร้องรบ.ไทยรับรองสิทธิในที่ดินชุมชนบ้านซับหวาย ชัยภูมิ

image_pdfimage_print