คนรุ่นใหม่โหยหาการเรียนรู้ข้อมูลประวัติศาสตร์มากขึ้น วิทยากร โสวัตร จึงไม่รอช้า ย้อนรอยการตระเตรียมสังหารกบฏผู้มีบุญบ้านสะพือ จ.อุบลฯ ซึ่งเป็นคำสั่งจากรัฐสยามให้ปราบปรามเสียสิ้น เป็นที่มาของการยิงปืนใหญ่และการตัดหัวประจาน พร้อมกับนำตัวไปคุมขังเป็นจำนวนมาก
วิทยากร โสวัตร เรื่อง
ต้องขอบคุณทีมงานและพื้นที่การสื่อสารของ The Isaan Record ที่ทำให้เรื่องราวของขบวนการผู้มีบุญหรือผีบุญที่ถูกเก็บงำมาเนิ่นนานทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อคนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงและเขมรสูง (ต่อมาถูกเรียกว่าอีสาน) กระจายออกไปสู่การรับรู้ในวงกว้างของคนในสังคม ยิ่งมาในช่วงที่ ‘คนรุ่นใหม่’ หันมาให้ความสนใจ ‘สืบสวน’ ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ซึ่งเป็นกระแสหลักจึงถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่ดีมากๆ
บทความนี้จะไม่มาเล่าซ้ำในเรื่องราวของผีบุญ แต่จะเจาะลงรายละเอียดของวิธีการที่ศูนย์กลางอำนาจสยามหรือรัฐสยามในขณะนั้นกระทำต่อกลุ่มคนที่ต้องการปลดปล่อยตนเองออกจากอำนาจที่กดขี่ ทั้งสองอำนาจ คือ ฝรั่งเศสและสยาม โดยเรียกตัวเองว่า ขบวนการผู้มีบุญ แต่ทันทีที่ถูกเรียกจากทางการว่า ขบถและเปลี่ยนวาทกรรมจากผู้มีบุญเป็นผีบุญ/ผีบาปผีบุญ/ผีบ้าผีบุญ แล้ว นั่นก็หมายถึงการสร้างความชอบธรรมในการปราบหรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือเท่ากับเป็นการเซ็นใบอนุญาตให้ฆ่าได้นั่นเอง เพราะสถานะของผู้ก่อการเหล่านั้นไม่ใช่คนอีกต่อไปและวิธีการแบบนี้เองที่รัฐสยามหรือรัฐไทยใช้กับประชาชนมาทุกยุคทุกสมัย
การเตรียมการ
วันที่ 3 เมษายน 2445 (นับตามปฏิทินปัจจุบัน) มีโทรเลขจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ส่งตรงถึงกรมดำรงราชานุภาพที่กรุงเทพฯ ว่า “…ขอทหารดีๆ รีบไปช่วยเร็วๆ อีกสัก ๔๐๐” นั่นเพราะว่า ทหารในเมืองอุบลราชธานีถูกใช้ไปสกัดจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ จนหมดสิ้นแล้ว
และเรื่องนี้ถึงขั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงวิตกอย่างยิ่ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนยุทธนาธิการจัดทหารมณฑลนครราชสีมาไปปราบขบถถึง 4 กองพัน (10 กองร้อย) ซึ่งเป็นกองทหารที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น โดย 2 กองพันยกเข้าไปเพื่อปราบขบถในมณฑลอีสาน และอีก 2 กองพันเตรียมพร้อมอยู่ที่เมืองนครราชสีมาและหนุนเข้าไปช่วยแบบรักษาระยะ ทหารทุกคนได้รับจ่ายปืนคนละ 1 กระบอก กระสุนคนละ 100 นัด และเสบียงติดตัวไปได้ 5 วัน และยังโทรเลขให้ทางมณฑลอีสานคอยจ่ายเสบียงให้ตามรายทางอีกด้วย
ชั่วโมงแห่งการฆ่า
ตามที่ เติม วิภาคย์พจนกิจ ได้เขียนพรรณนาไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน ของเขาที่คนอ้างอิงถึงมากที่สุด (แต่ผมมองว่าเป็นเสียงของทางการที่ทรงพลังที่สุด) ว่า —
“ครั้นรุ่งขึ้นของวันที่ 4 เมษายน เวลาประมาณ 09.00 น. พวกผีบุญยกกองจะไปตีเมืองอุบลฯ ตามทางที่นายร้อยเอกหลวงชิตสรการซุ่มปืนใหญ่และดักกองทหารพลางไว้นั้น หลวงชิตสรการสั่งให้ทหารปืนเล็กยาวหมวดหนึ่งออกขยายแถวยิงทำเป็นต้านทานไว้แล้วทำเป็นถอยมา ล่อพวกผีบุญให้มาตามทางที่พลางไว้นั้น พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ นายร้อยเอกหลวงชิตสรการก็สั่งให้ยิงปืนออกไป 1 นัด โดยตั้งศูนย์ให้ลูกปืนใหญ่นั้นเลยข้ามพวกผีบุญไปก่อนและเพื่อเป็นสัญญาปีกซ้ายขวาให้รู้ตัว พวกผีบุญเห็นลูกปืนใหญ่มิได้ถูกพวกของตนเป็นอันตราย ก็ยิ่งกำเริบเสิบสานเต้นแร้งเต้นกาพากันคิดว่า องค์มั่นนี้วิเศษแท้สมเป็นผู้มีบุญจริง กระสุนปืนใหญ่จึงได้คลาดแคล้วไป แล้วก็พนมมือโห่ร้อง “ซ่า ซ่า (สาธุ)” แสดงความยินดีพร้อมกับวิ่งกรูเข้าต่อสู้ทหาร นายร้อยเอกหลวงชิตสรการจึงสั่งให้ปืนใหญ่ยิงออกไปนัดที่ 2 เล็งกระสุนปืนให้ตกระหว่างกลางไพร่พลพอดี คราวนี้กระสุนระเบิดถูกพวกผีบุญหัวเด็ดตีนขาดล้มตายระเนระนาด ส่วนพวกทหารปืนเล็กสั้นยาวและปีกซ้ายขวาก็พร้อมกันระดมยิงโห่ร้องซ้ำเติมเข้ามาอีก พวกผีบุญที่ตามหลังก็ชะงัก และปืนใหญ่ได้ยินซ้ำไปอีกเป็นนัดที่ 3 ถูกพวกผีบุญล้มตายลงประมาณ 300 คนเศษ พวกที่เหลือตายก็แตกฮือหนีเอาตัวรอด ไม่มีใครคิดจะอยู่สู้ ส่วนองค์มั่นผีบุญ (หรือท้าวธรรมิกราชปลอม) มีผู้เห็นเดินประนมมือเสกเป่านุ่งขาวมากลางพล ขณะเกิดการต่อสู้กันทั้งสองฝ่าย เมื่อปืนใหญ่นัดที่ 3 ยิงไปแล้วเห็นท่าไม่ได้การ เลยปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีเอาตัวรอดไปกับพวกราว 10 คน ทหารและกำลังเมืองได้พยายามติดตามจับตัวอย่างกวดขันแต่ไม่ทันและไม่ทราบหลบหนีไปทางใด…”
หนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน เล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2513 ถ้าถือเอาตามที่บันทึกไว้ว่าเป็นผลงานที่ค้นคว้ามา 20 ปี ก็เริ่มที่ปี 2493 ซึ่งห่างจากปีเกิดเหตุ 28 ปี ซึ่งถือว่า ไม่ไกลมากนัก แต่ในวันที่เกิดเหตุนั้น (5 เมษายน 2445) ได้มีโทรเลขของพันตรีหลวงสรกิจ ผู้บัญชาการทหารมณฑลอีสาน กราบทูลกรมหมื่นนครไชยศรีสรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ (ที่เติม วิภาคย์พจนกิจ ไม่ได้อ้างถึง) ว่า
“…สู้รบกันเป็นเวลา ๔ ชั่วโมง พวกผีบุญแตกหนีไป ถูกฆ่าตาย ๒๐๐ คนเศษ บาดเจ็บ ๕๐๐ คนเศษ และจับเป็นได้ ๑๒๐ คน ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้รับอันตราย เพราะใช้ปืนใหญ่ (ยิง ๔ นัด) และปืนเล็กยิงตลอดเวลา…”
และตามคำบอกเล่าของชาวบ้านสะพือ กองผีบุญตั้งอยู่ที่เนินโพธิ์หุบนาบ้านสะพือที่แวดล้อมไปด้วยต้นตาลใหญ่เหมือนกำแพง กองทหารของทางการต่างหากเข้ามาตั้งกองประชิดอยู่อีกฝั่งลำห้วย และยิงปืนใหญ่จากตรงนั้น ซึ่งตรงกับข้อมูลชั้นต้นอีกชิ้นหนึ่งของบุคคลผู้อยู่ในเมืองอุบลราชธานีและในช่วงเวลาเดี่ยวกับเหตุการณ์ คือพระญาณรักขิต (ต่อมาได้เป็นที่พระอุบาลีคุณูประมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) พื้นเพเป็นคนบ้านหนองไหล อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี) ถวายรายงานกรมหลวงสรรพสิทธิ์ฯ ซึ่งเติม วิภาคย์พจนกิจ ไม่ได้เอามาใช้เลย (อาจจะด้วยไม่รู้เพราะค้นคว้าไม่ละเอียดหรือละเว้นที่จะกล่าวถึงเพื่อปิดบังความโหดเหี้ยมของเจ้านายคือศูนย์กลางอำนาจรัฐสยาม นี่ก็น่าใคร่ครวญอยู่) หนังสือรายงานนั้นมีความตอนหนึ่งว่า —
“กำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายขบถเป็นชาวบ้านธรรมดา เมื่อกองทัพฝ่ายรัฐบาลยกเข้าประชิดแล้ว ปรากฏว่าพวกเขาเตือนกันว่า “ใครอย่ายิง อย่าทำอะไรหมด ให้นั่งภาวนา ฝ่ายเราก็ยิงแต่ข้างเดียว”
คือ เขายอมแล้ว นั่งลงอย่างสันติวิธีแล้ว ซ้ำยังหลับตาภาวนา – แล้วยิงทำไม ?!
นอกจากพระญาณรักขิตผู้นี้จะชี้ให้เห็นความรุนแรงโหดเหี้ยมของการฆ่าครั้งนี้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว ท่านยังบันทึกถึงสาเหตุแห่งการเกิดการก่อขบถครั้งนี้อย่างเข้าใจสภาพความเป็นจริงและราษฎรและชี้ถึงความบกพร่องของทางข้าราชการเอง ซึ่งเติม วิภาคย์พจนกิจ ละเลยที่กล่าวถึงอีกเช่นกัน และผู้เขียนประวัติศาสตร์อีสานคนนี้ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้กับกรณีเขียนถึงผู้มีบุญบ้านหนองบักแก้ว จังหวัดเลย (ลองหาอ่านบทความ เจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว ของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และประนุช ทรัพยสาร เปรียบเทียบดู)
ถ้าใครอยากอ่านน้ำเสียงแบบสลิ่มที่พูดถึงคนเสื้อแดงที่ถูกฆ่าก็ให้หาอ่านหนังสือเรื่อง เกร็ดประวัติศาสตร์อีสาน ผีบ้า ผีบุญ ของ คำพูน บุญทวี ก็จะเห็นน้ำเสียงตัวแทนรัฐสยามหนักข้อเข้าไปอีก ซึ่งคนภาคอีสานที่มีหัวใจเป็นธรรมอ่านแล้วอาจจะรับไม่ได้เลย
ลงพื้นที่ร่วมกับทีมงาน The Isaan Record นักวิชาการและผู้สนใจประวัติศาสตร์อีสาน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
การจัดการศพของขบถผีบุญ
เนื้อหาในส่วนนี้เป็นการบันทึกจากคำบอกเล่าของคนในบ้านสะพือ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ซึ่งผมได้ลงพื้นที่กับทีมงาน The Isaan Record กลุ่มปฏิบัติการทางศิลปะของ ดร.ถนอม ชาภักดี และกลุ่มอีสานศึกษาของอาจารย์ ม.อุบลฯ
“ศพคนตายอยู่ในหลุมขนาดใหญ่ น่าจะใช้ทหารและพวกขบถที่จับได้ขุด จากนั้นก็ตัดหัวศพ โยนร่างไร้หัวลงในหลุมทับๆ กัน แล้วก็พูนดินกลบเพื่อไม่ให้มีกลิ่นเมื่อศพเน่า เพราะคนหลายร้อยตายกองกันแบบนี้ทนกลิ่นไม่ไหวแน่ๆ จากนั้นก็เอาหัวที่ตัดมาเสียบไม้ ปักไว้รอบๆ หลุมนั่นแหละ แล้วก็เอาต้นไผ่มาปักลำปลูกไว้รอบๆ หลุม มันมีหลายหลุมนะ น่าจะตายเยอะมากๆ หรือไม่ก็พวกที่เจ็บๆ ปางตายก็คงถูกฆ่าทิ้งเลย ตรงไหนที่เป็นบวกๆ เป็นหลุบเป็นหลุมก็คงทิ้งศพทับกลบฝัง หัวก็ตัดเอามาเสียบรอบๆ หลุมแบบเดียวกัน”
“เสียบไว้ทำไม?” ผมซัก
“เพื่อให้ญาติที่ตามหามาดูให้รู้ว่า ญาติตัวเองที่เป็นขบถถูกฝังไว้ที่นี่”
“คิดว่ามีเหตุผลอื่นไหม อย่างเช่น เป็นกลอุบายให้รู้ว่า ใครเป็นญาติผีบุญแล้วจะได้ตามตัว” ผมถามต่อ
“เป็นไปได้ บางทีพ่อก็คิดแบบนั้น เพราะว่ามีการไล่ล่ากันมากและต่อเนื่องเป็นเดือน หหลังจากการปราบตรงจุดนี้แล้ว เด็กและผู้หญิงคนเฒ่าแตกออกจากบ้านหนีไปอยู่ในวัดฝั่งนอกบ้านโน้น เพราะกลัว และถ้าอยู่ในวัดเขาจะไม่ฆ่า หลายคนที่อยู่ในขบวนแตกหนี วิ่งไปทางตะวันออก ตรงนั้นมีดงยาง ใบหล่นทับสูงท่วมเอว ก็มุดเข้าไป ทหารก็ขี่ม้าตามไปถึงตรงนั้นไม่เห็นคนก็สักหอกลงไปตรงนั้น ใครไม่โดนก็รอดไป ใครโดนก็ต้องเงียบไว้ ถ้าร้องหรือขยับตัวก็ถูกจับถูกฆ่า บางคนจากหมู่บ้านนี้ หนีไปไกลถึงบ้านแพง นครพนม ตัวเองไม่เคยได้กลับมา บอกแต่กับเพื่อนไว้ว่า ตัวเองมาจากไหน พอตาย เพื่อนก็เก็บงำไว้ รอจนรุ่นหลานเหลนถึงได้บอก และจึงพากันมาตามหาญาติที่หมู่บ้านสะพือนี้—“
ผมไม่อยากเล่าบันทึกปากคำอะไรมากไปกว่านี้ – ขอโทษด้วย,
ยังไม่เท่านั้น ขบถที่จับได้ถูกใส่ขื่อคานำตัวไปที่ทุ่งศรีเมือง ในตัวเมืองอุบลฯ เพื่อฟังคำพิพากษาของตุลาการที่ถูกตั้งขึ้น เรื่องราวตรงนี้ เติม วิภาคย์พจนกิจ บันทึกไว้ชัดเจน
“คณะตุลาการพิจารณาเป็นสัตย์ฐานกบฏก่อการจลาจลภายใน จึงพร้อมกันพิพากษาเป็นเอกฉันท์ตัดสินประหารชีวิต แล้วนำความขึ้นกราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน เพื่อฟังกระแสรับสั่งต่อไป พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน จึงมีกระแสรับสั่งให้เป็นไปตามคำพิพากษาของคณะตุลาการพิจารณาความผีบาปผีบุญนั้นทุกประการ แต่โปรดให้นำตัวผู้ถูกประหารไปประหารชีวิตเสียบประจารไว้ ณ ที่เกิดเหตุทุกแห่งที่จับมาได้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อแผ่นดินสืบไป”
จำที่ผมลงข้อมูลการเข้ามาของกองทหารจากนครราชสีมา ๔ กองพันได้ไหม?
นั่นแหละ ในวันเวลาเดียวกันนั้น ก็ถูกส่งออกไปทั่วแผ่นดินที่ราบสูง โดยเฉพาะมณฑลอีสานและอุดร ขณะเดียวกันก็เร่งฝึกตำรวจภูธรขึ้นที่อุบลฯ (น่าจะเป็นที่แรกในสยามประเทศด้วย) สำหรับภารกิจกวาดล้างผีบุญและควบคุมคนอีสาน สร้างความตื่นกลัวให้กับประชาชนชาวอีสานอย่างยิ่ง แม้แต่บันทึกปากคำชาวบ้านของพระฝ่ายธรรมยุต (กมโลภิกขุ) ที่เป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐยังสะท้อนไว้ในการสืบค้นหาประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เกี่ยวเนื่องกับภูหล่น อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลฯ
“สมัยนั้นชาวบ้านตื่นกลัวเรื่องผีบาปผีบุญกันมาก เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองออกตามจับผู้ต้องสงสัยไปตามหมู่บ้านต่างๆ บางวันชาวบ้านจึงออกไปรวมกันอยู่กับหลวงปู่มั่นที่กุดเม็ก บ้านคำบง เป็นจำนวนมากเพื่อความอบอุ่นใจ”
เพื่อจะจบบทความนี้ ผมอยากยกอีก 2 กรณี เพื่อสะท้อนความโหดเหี้ยมทารุณของศูนย์กลางอำนาจรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปีเดียวกันกับผีบุญเมืองอุบลฯ แต่ 2 กรณีที่ว่านี้ไม่ได้มีลักษณะต่อต้านอำนาจรัฐ เพียงแต่เป็นที่นิยมบูชาของประชาชนก็ยังถูกฆ่าล้างอย่างโหดเหี้ยม
ที่กาฬสินธุ์ มีกบฏผีบุญผู้หญิงชื่อยายหย่า ยายหยอง อ้างตัวเป็นพระศรีอาริย์กลับชาติมาเกิด ทำพิธีเสี่ยงทายให้โชคลาภแก่ประชาชนที่มาขอเสี่ยงทาย เมื่อมีคนมาหามากเข้าๆ ชื่อเสียงก็ไปถึงทางการ ก็ถูกจับตัดหัว เสียบประจารไว้กลางทุ่งศรีเมือง เมืองกาฬสินธุ์ เรื่องนี้สมัยผมเป็นเด็กก็ได้ฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่
และกลุ่มจารย์เข้ม บ้านมาย เมืองสกลฯ ตั้งตัวเป็นท้าววิษณุกรรมเทวบุตร ก็ไม่มีหลักฐานว่า ต่อต้านอำนาจรัฐแต่อย่างใด จารย์เข้มหรือผู้มีบุญบ้านมาย ทำแค่เสกเป่าน้ำมนต์รักษาคนป่วย แต่ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2445 เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาจับข้อหาที่จารย์เข้มฆ่าผู้ที่อ้างตนว่า เป็นผู้มีบุญอีกคนตามที่ท้าทายกันไว้ว่า ใครแพ้จะโดนอีกฝ่ายตัดหัว แต่เจ้าหน้าที่กลับยิงจารย์เข้ม พร้อมทั้งลูกศิษย์และชาวบ้านราวๆ 100 คน ขณะที่จารย์เข้มนั่งภาวนาแกว่งเทียนไปมาและบอกแก่ชาวบ้านว่า อาวุธของเจ้าหน้าที่จะไม่เป็นอันตราย แต่จะกลับไปถูกเจ้าหน้าที่เอง
แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ได้ยิงจารย์เข้มกับชาวบ้านตายถึง 48 คน แล้วเอาศพโยนลงบ่อน้ำแล้วกลบบ่อน้ำนั้นเสีย !
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด
ร่วมระดมทุนเพื่อทำข้อมูลและทำบุญใหญ่เพื่อผีบุญได้ที่เว็บไซต์ GoFundMe
หรือ ธนาคารกรุงเทพเลขที่ 521-440-5925 บัญชี มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน