ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

ใต้ทุนบ้านครึ่งปูน-ครึ่งไม้ ที่ชั้นสองยังสร้างไม่เสร็จ บ้านหลังนี้แม้ร่มรื่น ด้วยประดับตกแต่งด้วยต้นไม้นานาชนิด แต่บางต้นเริ่มแห้งเหี่ยวและมีหญ้าขึ้นแซมระหว่างกระถาง บ่งบอกการขาดการดูแลมาได้สักระยะ 

“ต้นไม้ของปัทมา (ภรรยา) เขาชอบต้นไม้ ได้เงินเดือน อสม.ก็ชื้อมาเก็บ ขอมาบ้าง วันที่จะไปฟังคำตัดสิ้น เขาก็เอาบัวรดน้ำก่อนไป แต่เหี่ยวหน่อยผมก็ไม่ค่อยได้รดน้ำ” 

อำพล แก้วจริง สามีของ ปัทมา โกเม็ด เล่าถึงที่มาต้นไม้ของภรรยา หลังจากการตัดสินของศาลจังหวัดชัยภูมิที่มีคำพิพากษาจำคุก 8 เดือน ปรับ 250,000 บาท ในคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง 2 แปลง แปลงแรกจำนวน 11 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา และ  แปลงที่สอง 15ไร่ 83 ตารางวา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็ทำให้ปัทมายังไม่หวนกลับมาบ้านอีกเลย 

พื้นที่ทำมาหากิน ทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงต้องติดคุก

ปัทมา โกเม็ด วัย 48 ปี ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว  ถูกดำเนินคดีความหลังจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการรัฐประหารปี 2557 พร้อมกับชาวรวม 14 คน รวม 19 คดี เมื่ออุทยานแห่งชาติไทรทองยื่นฟ้องในคดีบุกรุกพื้นที่ป่าเมื่อปี 2558 

จากศาลชั้นต้น ปัทมา ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท ครั้งนั้นเธอถูกจำคุกแล้ว 2 สัปดาห์ และได้ประกันตัวออกมาสู้คดี ในชั้นอุธรณ์ศาลตัดสินจำคุด 8 เดือนชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท  

“ตอนที่อ่านคำพิพากษา มีการระบาดของโควิด เขาเลยไม่ให้เราเข้าไปฟังด้วย ปัทมา เป็นคนสุดท้ายที่ศาลอ่าน ทุกคนก็ตัดสินรอลงอาญา พอมาถึงปัทมาก็ไม่มีคำว่าลงอาญา เขาก็จับเข้าห้องขังทันที ไม่ได้ลากันเลย” อำพล กล่าวถึงวันที่ภรรยาติดคุก 

ปัทมา โกเม็ด (เสื้อส้ม) ผู้ต้องขังจากโทษบุกรุกฝืนป่าไทรทอง ลูกสาวเสื้อดำ และสามี อำพล แก้วจริง (เสื้อฟ้า)


ไม่มีแม่บ้าน ทำให้ครอบครัวไร้คนดูแล 

อำพล และปัทมามีอาชีพ ทำไร่สวน ในพื้นที่ราว 20 กว่าไร่ของพวกเขา ปลูกพืชหมุนเวียน อย่าง มันสําปะหลัง เมื่อปักตอเสร็จแล้ว ระหว่างรอผลผลิต อำพลก็ต้องออกไปทำงานก่อสร้างหรือรับจ้างรายวันด้านการเกษตร เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และส่งลูกที่กำลังเรียนอยู่ ม.4 ส่วนปัทมา ทำหน้าที่แม่บ้านและ อสม.ประจำหมู่บ้าน 

“พอไม่มีปัทมามันก็ไม่รู้จะทำยังไง มืดแปดด้านเลย เราเองก็มีแค่อาชีพรับจ้าง ตอนนี้ต้องทำเองทุกอย่าง หาเงินส่งลูกเรียนด้วย ดูแลพ่อของเขาด้วย ซึ่งป่วยเรื้อรัง ต้องส่งข้าวส่งน้ำ ทำความสะอาดทุกวัน” อำพล กล่าว 

บ้านของปัทมาและอำพล เป็นบ้านครึ่งปูน – ครึ่งไม้ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ และมีรถอีแต๋นมือสองจอดอยู่ใต้ถุน เพื่อใช่ขนพืชผลทางการเกษตร 

การมีรถไถเป็นของตัวเองทำให้ถูกตีความว่า “เป็นนายทุน” ทำให้ปัทมาถูกดำเนินคดี ไม่เข้าข้อยกเว้นของคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 ว่าด้วยนโยบายทางคืนผืนป่า ที่ให้การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ 

ขาดคนดูแลพ่อที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง

ในวันที่ The Isaan Record ลงพื้นที่ (2 มิถุนายน 2564) บ้านซับหวาย เป็นวันเดียวกันที่เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอหนองบัวระเหว เข้ามาในพื้นที่ตามหนังสือขอพักโทษปัทมาและผู้ถูกจำคุก ที่ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด 

ห่างจากบ้านปัทมาไปอีกราว 300 เมตร บ้านสองชั้นหลังเก่า มีผนังกั้นเพียง 1 ด้าน รัตน์ โกเม็ด ชายชราอายุ 76 ปี พ่อของปัทมา ใช้ชีวิตใต้ถุนบ้านเพียงลำพัง พร้อมกับมุ้งหนึ่งหลัง ไม่มีแม้แต่พัดลม 

รัตน์ ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมาได้ 5-6 ปีแล้ว ต้องเจาะคอและเจ้าถุงขับถ่ายของเสีย ทำให้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ในภาวะปกติ ปัทมาผู้เป็นลูกสาวจะมาคอยดูแล ส่งน้ำส่งข้าว และทำความสะอาดเปลี่ยนถุงขับถ่ายให้พ่อ

การยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือของชาวบ้าน ส่งผลให้ฝ่ายปกครองจากจังหวัดชัยภูมิ นำโดย สาธิต หาญรบ ปลัดอำเภอหนองบัวระเหว ลงพื้นที่ 

ก่อนการมาถึงของปลัด ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และนายกอบต. ต่างกันมารอต้อนรับอย่างหนาตา 

เมื่อปลัดอำเภอมาถึง ได้สอบถามกับ รัตน์และอำพล เกี่ยวกับการถูกคดีความ เพื่อหาทางช่วยเหลือ โดยอาจจะให้ทุนการศึกษา และให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข 

“เดี๋ยวเมียก็ได้ออกมาแล้ว แปบเดียว 8-9 เดือน ปีใหม่ สงกรานต์ อายุเยอะขึ้นนิดหน่อย เมียก็ได้ออกมาแล้ว” ปลัดอำเภอ พยายามพูดปลอบใจ

เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐใช้เวลาถามไถ่เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะถ่ายรูปรวมหมู่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมาเยือน 

จากนั้นผู้คนเต็มลานบ้านก็หายไปเหลือเพียงรัตน์และอำพลเท่านั้น

จึงได้เวลาที่ลูกเขยจะถามสอบถามถึงอาหารมื้อเช้าที่เขาหอบหิ้วมาให้ พร้อมทั้งถามถึงอาหารมื้อเย็นที่พ่อตาอยากกิน 

ที่ดินตรงนั้น อยู่มา 40 ปี แล้วก่อนมีอุทยานฯ 

“อยู่ที่ดินตรงนั้นมาตั้งนานแล้ว 40 กว่าปีแล้วก่อนจะสัมปทานป่าไม้ ก่อนจะมีอุทยาน ปัทมาก็คลอดตรงนั้น”รัตน์ กล่าวถึงที่ดินมรดกที่ยกให้ลูกสาว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกสาวต้องติดคุก ก่

รัตน์ ในวัย 76 ปี ยืนยันว่าที่ดินดังกล่าว เขาเป็นคนบุกเบิกทำกินมานานแล้ว เมื่อการสำรวจแต่ละครั้งเขาก็ทำตามขั้นตอน ของเจ้าหน้าที่ แต่ด้วยความที่อ่านหนังสือไม่ออกจึงทำให้เขาคิดว่า อาจจะไม่ได้เซ็นเอกสาร หรือตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของตัวเอง ทำให้ที่ดินดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยาน 

“อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ดูตามเขา นาย (ข้าราชการ) บอกอะไรเราก็ทำตามหมด แต่อยู่ดีๆ ก็มาบอกว่า เราทำผิดกฎหมาย บุกรุกที่ดินรัฐ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง ยึดที่คืนก็ไม่ว่า แต่เอาคน (ปัทมา) ไปขังแบบนี้มันเป็นตาหน่าย” รัตน์ พูดด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา ประกอบกับการเจาะบริเวณลำคอทำให้เสียงออกผ่านช่องคอเห็นถึงความยากลำบากในการพยายามสื่อสาร   

อำพล แก้วจริง สามีของ ปัทมา โกเม็ด ต้องแบกรับภาระหลายอย่างหลังจากศาลฎีกาตัดสินจำคุกภรรยา

อยากบอก “ปัทมา” ว่าไม่ต้องเป็นห่วง

เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์แล้ว ที่อำพลไม่ได้คุยกับปัทมา หลังถูกเจ้าหน้าที่ศาลจับเข้าห้องขัง 

“ก่อนไปฟังคำตัดสิน เราต้องอยู่ข้างนอก ได้กอดก่อนเข้าไป หลังจากนั้น เขาก็ถูกพาตัวไปห้องขังก็ได้แต่ตะโกนบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง มันเป็นกระจกกั้น ไม่รู้เขาจะได้ยินเราไหม”อำพลเล่าถึงวินาทีที่คดีรุกป่า พรากภรรยาไปต่อหน้าต่อตา 

“เป็นห่วงมาก เขาไม่ให้เยี่ยมเลย เนื่องจากสถานการณ์โควิด ต้องกักตัว 20 วัน ถึงจะได้เยี่ยมทางไลน์ (แอฟพิเคชั่น) ได้ ยิ่งได้ข่าวว่า มีการระบาดใหญ่ในคุกเราก็ยิ่งเป็นห่วง” เขากล่าวด้วยนำเสียงสั่นเครือ 

“ตอนนี้อยากบอกเขาว่า ไม่ต้องเป็นห่วง ผมดูแลพ่อ ดูแลลูกเอง รักษาตัวเอง ไม่ต้องคิดมาก ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้เขาออกมา ” อำพลกล่าวพร้อมน้ำตา

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง : 

“คำสั่งจากเบื้องบน” ทวงคืนผืนป่าชาวไร่มันสำปะหลังชัยภูมิ 15 ราย

ทวงคืนผืนป่าซับหวาย : มรดกรัฐประหาร ที่ยังซ้ำร้ายคนจน

ศาลชัยภูมิสั่งจำคุกคดีรุกป่า “ปัทมา โกเม็ด” บ้านซับหวาย โดยไม่รอลงอาญา

ภรรยา “สมพิตร แท่นทอง” ร่ำไห้ หลังจำคุก ชาว จ.ชัยภมิ โดยไม่รอลงอาญา

สุวลี โพธิ์งาม : ชะตาชีวิตหลังถูกจำคุกคดีบุกรุกป่าซับหวาย กับการตกงานจากวิกฤตโควิด-19

ขอสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารกลับคืนให้ชาวบ้านซับหวาย ชัยภูมิ

ภาคประชาสังคม 226 ทั่วโลก ร้องรบ.ไทยรับรองสิทธิในที่ดินชุมชนบ้านซับหวาย ชัยภูมิ

image_pdfimage_print