การแก้ไขปัญหาโควิดที่ล้มเหลวของรัฐทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แถมยังซ้ำเติมประชาชนด้วยการผลักภาระให้พื้นที่ต่างจังหวัดเป็นศูนย์รองรับผู้ป่วยอย่างไร้มาตรการรองรับ ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาซ้อนปัญหาอย่างยากจะแก้ไข ปฐวีย์ โชติอนันต์ ชวนสำรวจความผิดพลาดของรัฐบาล

ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

นับตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 กรมควบคุมโรครายงานว่า ประเทศไทยตรวจพบมีผู้ติดชื้อโควิดรายใหม่มากขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,002 คน ผู้ที่ติดเชื้อรุนแรง 3,786 คน และมีผู้เสียชีวิต 3,610 คน   สำนักข่าวรายงานถึงเหตุการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดนอนตายกลางถนน มีประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้ารักษาพยาบาลและมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่มาจากมาตราการล็อคดาวและควบคุมสถานการณ์โควิดของรัฐ สถานการณ์ดังกล่าวนี้ตรงข้ามกับปีที่แล้วที่ประเทศไทยนั้นได้รับการยกย่องจากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization) ว่าเป็นประเทศที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

จากสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มมากขึ้น รัฐได้มีออกแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิดให้เดินทางกลับไปรักษาที่บ้านเกิดของตนเองเพื่อกระจายผู้ที่ติดเชื้อโควิดไปรักษาในจังหวัดภูมิลำเนาของตน เนื่องจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯไม่สามารถที่จะรองรับผู้ป่วยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความแออัดซึ่งจะนำสู่การเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ

แนวทางการส่งผู้ติดเชื้อโควิดให้กลับมารับรักษาตัวที่ภูมิลำเนานั้น ได้รับการตอบรับจากสาธารณสุขของจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ในภาคอีสานมี 14 จังหวัด ประกอบด้วย สุรินทร์ มหาสารคาม อุบลราชธานี หนองคาย ศรีสะเกษ อุดรธานี ยโสธร นครราชสีมา สกลนคร เลย กาฬสินธุ์ นครพนม ขอนแก่น และชัยภูมิ ที่พร้อมรับผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาในจังหวัดได้ในทันที 

การบริหารจัดการผู้ป่วยโควิดของรัฐไทยรอบนี้กลับถูกตั้งข้อสังเกตและคำถามอย่างมากจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องรับผู้ติดเชื้อโควิดเข้ามารับการรักษาดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง การให้ผู้ติดเชื้อโควิดเดินทางกลับมารักษาตัวที่ต่างจังหวัดเป็นการเคลื่อนย้ายประชาชนครั้งใหญ่แต่ไม่มีการควบคุมการแพร่ระบาด กล่าวคือ ผู้ที่ติดเชื้อโควิดต้องหาทางเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรับการรักษาด้วยตนเอง หรือพยายามประสานงานกับทางภาคประชาสังคมของแต่ละจังหวัดในการส่งรถตู้มารับตัวไปรักษาเพราะเขาเหล่านั้นเชื่อว่าเขาจะได้รับการรักษาเมื่อมาถึงภูมิลำเนาของตนเอง กรมควบคุมโรคเพียงแค่ออกประกาศแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ติดโควิด 19 ที่ต้องการกลับภูมิลำไว้ 7 ประกา

  1. โทรประสานศูนย์รับคนกลับบ้านของจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุข
  2. เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น ผู้ขับรถหากไม่เคยติดเชื้อจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  3. เตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ รวมทั้งถุงขยะส่วนตัว
  4. เตรียมยาให้พร้อมทั้งยาบรรเทาอาการป่วยโควิด 19 และยารักษาโรคประจำตัว
  5. จัดเตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอตลอดการดินทางไม่ควรแวะสถานที่อื่นระหว่างทาง
  6. เตรียมหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดการเจ็บป่วย หรือมีเหตุฉุกเฉินขณะเดินทาง
  7. เตรียมผลตรวจโควิด 19

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าผู้ที่ติดเชื้อไม่มีรถส่วนตัวเดินทางมาจะทำอย่างไร ต้องใช้รถสาธารณะทั่วไปเดินทางมากับคนปกติที่ไม่ติดเชื้อเพื่อมารับการรักษาที่จังหวัดภูมิลำเนา หรือผู้ที่ติดเชื้อที่มีรถส่วนตัวต้องเดินทางร่วมกับญาติ หรือเพื่อนที่ไม่ติดเชื้อเพื่อมารับการรักษา มันจะไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อให้กับคนที่ไม่ติดหรือ ยกตัวอย่างเช่น ระยะทางจากกรุงเทพฯ มาอุบลราชธานี 500 กว่ากิโลเมตร การเดินทางใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง นี่คือช่วงเวลาที่ผู้ติดเชื้ออยู่ร่วมกับคนไม่ติดเชื้อในรถคันเดียวกัน มากกว่านั้น ช่วงเวลาที่รัฐประกาศให้คนที่ติดเชื้อเดินทางมารับรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ตรงกับช่วงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศคบ.) ชุดใหญ่ ประกาศให้มีการปิดเมืองกรุงเทพฯและจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง ยิ่งส่งผลให้มีคนตกงานและเดินทางกลับภูมิลำเนามากขึ้นและมีแนวโน้มที่ผู้ติดเชื้อกับผู้ที่เดินทางกลับมีโอกาสใกล้ชิดกันมากขึ้นทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า ทำไมออกมาตรการให้คนเดินทางมารับการรักษาที่ต่างจังหวัดแล้วทำไมรัฐไม่เตรียมรถมาส่งผู้ป่วยด้วย แต่ผลักภาระให้เขาต้องเดินทางเอง

ประการที่สอง ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเตียงและเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด รัฐมีการจัดพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วย ดังต่อไปนี้ 1.ผู้ป่วยที่มีอาการหนักให้รับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด หรืออำเภอ 2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักให้มารับการรักษาในบริเวณโรงพยาบาลสนามตามที่จัดไว้ในแต่ละหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามการที่รัฐประกาศให้ผู้ติดเชื้อเดินทางกลับมารักษาที่ภูมิลำเนาเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

แม้ว่าสาธารณสุขจังหวัดแต่ละแห่ง (สสจ.) จะประกาศว่า พร้อมรับผู้ป่วย แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาต่างจังหวัดเพื่อรับการรักษานั้นกลับต้องพบกับปัญหาการจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย ทั้งเตียงที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาและการบริหารจัดการที่ล่าช้าในการนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ผลที่ตามมา คือ ผู้ป่วยบางคนต้องนอนกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้กับคนที่บ้าน เพราะอย่าลืมว่าไม่ใช่บ้านของทุกคนจะมีพื้นที่ว่างให้ผู้ป่วยกักตัวได้ เนื่องจากเหตุผลทางด้านการเงินของครอบครัวหรือการให้ผู้ป่วยไปนอนที่เถียงนาตามคำแนะนำของโฆษก ศคบ. เพื่อแยกตัวผู้ป่วยออกจากหมู่บ้านและให้มีคนส่งข้าวและส่งน้ำให้ผู้ป่วยตามเวลา คำถามสำคัญที่ถูกถามจากประชาชนคือ ให้ท่านโฆษกฯ ไปอยู่จะเอาไหม เพราะเถียงนาเป็นพื้นที่ใช้ในการพักเพื่อหลบแดดหรือหลบฝนชั่วคราวของชาวนาเท่านั้น ยิ่งช่วงนี้อากาศในภาคอีสานบางวันร้อนจัด บางวันฝนตกหนัก การแนะนำให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือผู้ป่วยไปกักตัว 14 วันนี่มันเหมาะสมแล้วหรือ

ประการที่สาม ปัญหางบประมาณในการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลและจังหวัด ประชาชนรับรู้กันทั้งประเทศว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาทเพื่อนำมาใช้แก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและควบคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่พบในเรื่องการบริหารจัดการผู้ป่วยโควิดของแต่ละจังหวัด คือ การเปิดรับบริจาคจากประชาชนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย 

จากแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดและการรับการรักษาจากเจ้าหน้าที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า การที่จังหวัดต้องเปิดรับความช่วยเหลือนั้นเพราะเห็นว่าจังหวัดอื่นมีการเปิดรับเหมือนกัน อีกทั้งต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพี่น้องผู้ป่วยชาวอุบลราชธานีที่เดินทางกลับมา ทางจังหวัดประกาศว่ามีประชาชนบริจาคเข้ามาประมาณสามแสนบาท แต่ทางเรายังไม่สามารถใช้เงินได้เพราะติดระเบียบราชการต้องตรวจสอบก่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับทางจังหวัดไม่เพียงพอหรืออย่างไร ทำไมถึงต้องมาเปิดรับบริจาคกับประชาชนอีก และที่สำคัญคือ เมื่อก่อนรับบริจาคทำไมถึงไม่จัดการแก้ไขปัญหาระเบียบราชการให้เรียบร้อยเนื่องจากรัฐบาลให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดในจังหวัด

ประการที่สี่ การส่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกมารับการรักษาที่ต่างจังหวัดเริ่มสร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนในพื้นที่และทำให้คนในพื้นที่ที่จะเปิดรับให้มีการตั้งเตียงภาคสนามมีความขัดแย้งกัน ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นหลายคนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งเตียงภาคสนามเพราะกลัวว่าเชื้อโควิดจะแพร่มาสู่ตนเองและครอบครัวเพราะที่ผ่านมาเมื่อมีผู้ป่วยโควิดเข้ามาอยู่ในจังหวัดเพิ่มขึ้นส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดของแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นตาม 

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 1-14 กรกฎาคม 2564

จากตารางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ห้วงวันที่ 1-14 กรกฎาคม 2564 ในช่วงนับตั้งแต่วันที่ 7-14 กรกฎาคม 2564 เราจะพบว่าหลายจังหวัดมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมีสาเหตุมาจากผู้ป่วยที่เดินทางกลับมารักษาตัวและได้แจ้งกับทางจังหวัดไว้ กับอีกส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการติดเชื้อในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้มีผลทางจิตวิทยาอย่างมากสำหรับคนในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเพียงแค่ 1 ครั้ง ประกอบกับยิ่งมีข่าวว่าวัคซีนที่ได้รับไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ก็ยิ่งสร้างความกลัวขึ้นไปอีก

ผลที่ตามมา คือ เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการใช้พื้นที่เป็นที่รองรับผู้ป่วยนั้นเห็นได้ชัดจากการประท้วงของนักศึกษาราชภัฏร้อยเอ็ดที่ออกมาประท้วงไม่ให้มีโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัย เพราะกลัวจะเกิดการแพร่ระบาดและนักศึกษาก็ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน การประท้วงที่ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี มีชาวบ้านประมาณ 30 คน ออกมาประท้วงเจ้าหน้าที่ไม่ให้สร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เพราะกลัวการแพร่ระบาดของโรค หรือประชาชนบางหมู่บ้านปฏิเสธไม่ให้ผู้ติดโควิดเข้ามาพักในหมู่บ้านของตนและรังเกียจผู้ติดเชื้อ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ กลัวติดเชื้อโรค จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ กำนันและผู้ใหญ่บ้านต้องเรียกชาวบ้านเพื่อมาทำประชาคมและทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

กราฟฟิคแสดงการยกระดับพื้นที่สถานการณ์โควิด 19 เครดิตภาพ ศบค.

ประการที่ห้า การบริหารจัดการโควิดของรัฐไทยที่ผ่านมาเน้นการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางแต่กระจายปัญหาให้กับท้องถิ่น กล่าวคือ นับตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิดระบาดในประเทศไทย รัฐบาลได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินมาโดยตลอด อำนาจในการบริหารงานถูกรวมศูนย์ไปที่นายกรัฐมนตรีและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นไปอย่างมีเอกภาพ แต่สิ่งที่พบคือ เมื่อรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยเฉพาะการควบคุมการระบาด มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มสูงขึ้น มี 13 จังหวัดที่ได้รับการยกระดับให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 53 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุม และ 1 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (โปรดดูรูปภาพ ยกระดับพื้นที่สถานการณ์โควิด 19)

สิ่งที่รัฐทำ คือ การกระจายความรับผิดชอบมาให้แต่ละจังหวัดช่วยแบกรับปัญหา แต่รัฐไม่ได้กระจายอำนาจ เงินและงบประมาณมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้เมื่อมีผู้ป่วยในท้องถิ่นมากขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ทั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดและการช่วยเหลือประชาชนที่ติดโรคดังกล่าวเพราะว่าผู้นำท้องถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ย่อมเข้าใจลักษณะของพื้นที่และความต้องการของคนในพื้นที่มากกว่าข้าราชการจากส่วนภูมิภาค 

ประการสุดท้าย ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาช่วยทำหน้าที่แทนรัฐ เมื่อการบริหารจัดการผู้ป่วยโควิดของรัฐเกิดปัญหา ตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อในต่างจังหวัดมีเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งหลายจังหวัดจากที่เคยเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสีเหลืองได้กลายเป็นสีแดงหรือสีแดงเข้ม คือ เฝ้าระวังสูงสุด กิจกรรมหลายอย่างต้องถูกล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อโควิดยังมีความต้องการเดินทางเข้ามารับการรักษาตัวมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือ มีภาคประชาชนที่ยังพอมีแรงและกำลังทรัพย์ได้เข้ามาช่วยกันในการจัดหารถเพื่อรับผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาในจังหวัด ระดมทุนกันสร้างเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ที่ติดเชื้อได้รับการรักษา 

ความพยายามของรัฐไทยในการทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดให้ได้รับการรักษานั้นเป็นเรื่องที่รัฐควรทำ แต่มาตรการที่รัฐออกมาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษานั้นได้ถูกตั้งคำถามอย่างมากจากคนในสังคมโดยเฉพาะวิธีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การจัดพื้นที่ให้ผู้ที่ติดเชื้อได้รับการรักษา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงการที่รัฐรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการโควิดไว้อย่างมากแต่ไม่สามารถสกัดการแพร่กระจายได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนในสังคมอดคิดไม่ได้ว่า “ยิ่งรัฐพยายามแก้ไขปัญหากลับยิ่งสร้างปัญหามากกว่าเดิม”

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print