ในราวป่าชุมชนโคกยาว บ้านไม้สองชั้นมุงด้วยสังกะสี ไร้คนดูแล หลัง สุภาพ คำแหล้ เสียชีวิตไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งสามี เด่น คำแหล้ ได้หายตัวไป ในปี 2559 โดยที่ทั้งคู่ยังไม่ได้มีโฉนดที่ดินเป็นชื่อตัวเองในการต่อสู้มากว่า 20 ปี
ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ
ต้นเดือนมิถุนายน ฤดูฝนหอบหิ้วความชุ่มฉ่ำ พร้อมเมฆฝนครึ้มปกคลุม พายุแรกของปีกำลังมา สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เต็มไปด้วยสีเขียว แต่งแต้มเป็นฉากหลังชุมนุมเล็กๆ กลางหุบเขา บ้านทุกหลังดูเหมือนจะมีผู้อาศัยพักพิงอยู่ ยกเว้นบ้านไม้สองชั้นหลังหนึ่ง ที่เงียบสงัด หญ้าถูกฝนใหม่กำลังแตกกอขึ้นลานบ้าน
หลังวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 บ้านหลังนี้ก็ไร้ผู้ดูแล เมื่อ “สุภาพ คำแหล้” สิ้นลมด้วยโรคมะเร็งในวัย 67 ปี นำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจของชาวบ้านโคกยาว ที่ขาดผู้ร่วมการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทางต่อสู้เพื่อ “โฉนดชุมนุม”
นับเป็นพายุลูกล่าสุด ก่อนเข้าฤดูฝนปีนี้ หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน ปี 2559 “เด่น คำแหล้” ประธานโฉนดที่ดิน สามีของสุภาพ ได้หายตัวไปอย่างลึกลับหลังเข้าไปหาของป่า
บ้านของ ” เด่น – สุภาพ คำแหล้ ” ในวันที่ไร้ซึ่งคนดูแล
เด่น – สุภาพ คำแหล้ ในความทรงจำ
“แต่ก่อนเดินผ่านไปผ่านมาก็เห็นภาพ (สุภาพ คำแหล้) นั่งอยู่ไต้ถุนบ้าน ก็ได้เรียกหากัน ชวนกันมากินข้าว พูดคุย แต่ตอนนี้ไม่อยู่แล้ว บอกไม่ถูกเหมือนกัน วังเวง ก็ได้แต่คิดถึง เหมือนขาดครอบครัวไปครอบครัวหนึ่ง ขาดความอบอุ่นแบบเดิม” สมนึก เกศขุนทศ อายุ 68 ปี เพื่อนบ้านเล่าเมื่อถูกถามถึง เด่น – สุภาพ คำแหล้
สมนึก เล่าต่อว่า ในการต่อสู้ครั้งแรก เด่น คำแหล้ ได้รวบรวมสมาชิกของหมู่บ้านเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจาการถูกไล่ที่ จนได้แต่งตั้งเป็นประธานโฉนดชุมชน นับว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของการต่อสู้เลยก็ว่าได้ มีอะไรก็จะเรียกเด่นก่อนเพื่อน แต่การหายไปเมื่อปี 2553 ก็ใจหายแล้ว พอมาปีนี้ ภาพ ก็ได้จากไปอีก ก็ทำใจยากเหมือนกัน
สมนึก เกศขุนทศ อายุ 68 ปี เพื่อนบ้านของ เด่นและสุภาพ
เช่นเดียวกับ อำนวย พิมพ์โนนทอง ผู้อาวุโสของหมู่บ้านวัย 88 ที่เห็นเรื่องราวของ เด่น-สุภาพ มาตั้งแต่ตั้งรกรากในพื้นที่ก่อนประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติซำผักหนามเมื่อปี 2516 ที่เห็นทั้งคู่เป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อที่ดินของชุมชนโคกยาว
“ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เด่นออกจากป่า (คอมมิวนิสต์) ก็มาเจอสุภาพ แล้วอยู่กินด้วยกันตรงนี้ ตั้งแต่ก่อนประกาศเขตอุทยาน (อุทยานภูซำผักหนาม) แล้วก็อยู่มาเรื่อยๆ ถูกไล่ ถูกจับ ก็ไม่ไปไหน เด่นก็รวบรวมคนในชุมชนหาทางต่อสู้เพื่อได้ที่ดินตรงนี้”อำนวยเล่าถึงประวัติของทั้งสองคน
“ ตอนที่เด่นหายไป ก็เหมือนเราขาดผู้นำไป ก็พยายามสู้กันต่อ สุภาพก็ขึ้นมาเป็นคนสู้ต่อด้วย ไม่มีสองคนนี้ ตอนนี้เราก็ต้องสู้กันเอง สู้ไปด้วยกัน เพราะเราไม่มีที่ดินจะทำมาหากิน”ผู้อาวุโสของหมู่บ้านกล่าวด้วยความรู้สึกเจ็บปวด
อำนวย พิมพ์โนนทอง ผู้อาวุโสของหมู่บ้านวัย 88 ของชุมชนโคกยาว ที่ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน
พื้นที่ทับซ้อนโคกยาว
สาเหตุที่ชุมชนโคกยาวมีความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินนั้นเกิดขึ้นหลังจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติซำผักหนาม เมื่อปี 2516 กระทั่งช่วงปี 2528 ได้มีโครงการสัมปทานปลูกป่าทดแทนพื้นที่ในชื่อ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักสัตว์” และให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยรับปากว่า จะหาพื้นที่ทดแทน แต่พื้นที่ที่จัดสรรนั้นมีเจ้าของอยู่แล้ว ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง และได้กลับเขามาในพื้นที่ตามเดิม
ต่อมาเมื่อปี 2539 – 2542 เด่น คำแหล้ ได้รวบรวมชาวบ้านเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกินด้วยการชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอคอนสารหลายครั้ง กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาการถือครองที่ดินป่าไม้ระดับอำเภอขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ต่อมาได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านในพื้นที่ อ.คอนสาร ที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.) และเข้าร่วมเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) โดยมีข้อเสนอให้ยกเลิกสวนป่ามาจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้าน กระทั่งปี 2553 ครม.มีมติเห็นชอบให้ชาวบ้านโคกยาวเข้าใช้ประโยชน์จากสวนป่าได้ และดำเนินโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนจำนวน 830 ไร่
แต่ปัญหาในพื้นที่ก็ยังไม่จบ เมื่อปี2554 ชาวบ้านรวม 10 คน ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัว และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม มีการแยกสำนวนฟ้อง ออกเป็น 4 คดี
เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานสนธิกำลังเข้าไล่รื้อและติดประกาศให้ชาวบ้านโคกยาวออกจากพื้นที่ หลังจากคณะรัฐประหาร 2557 ประกาศนโยบายทวงคืนฝืนป่า ภาพ : สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
แต่ระหว่างการสู้คดีอยู่นั้น ได้เกิดการรัฐประหารปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ได้ออกคำสั่งที่ 64 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ พร้อมกับประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน หรือ นโยบายทวงคืนฝืนป่า ทหารจึงสนธิกำลังเข้ามาในพื้นที่อีกครั้ง
เดือนเมษายน 2559 เด่น คำแหล้ ได้หายตัวไป หลังจากเข้าไปหาของป่าในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านที่ต้องเสียผู้นำไป
ต่อมากรกฎาคม 2560 สุภาพ คำแหล้ ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน และได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ขณะที่สามียังหายตัวไป จนถึงเดือน มกราคม 61 จึงได้รับอิสรภาพ
สุภาพ คำแหล้ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำอำเภอภูเขียว เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2561 หลังรับโทษจำคุก 6 เดือนในคดี พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
เด่น คำแหล้ กับการหายตัวไปที่ยังไม่คลี่คลาย
เด่น คำแหล้ หายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 หลังจากบอกภรรยาและเพื่อนบ้านว่า จะเข้าป่า หาของป่า เพื่อให้ภรรยานำไปขายที่ตลาดทุ่งลุงลายตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาค่ำเด่นก็ยังไม่กลับบ้าน ชาวบ้านโคกยาวได้ออกตามหา และได้ยินเสียงปืนดังกังวานในราวป่า 1 นัด
จากนั้นไม่นานสุนัขที่ไปกับเด่นกลับมาพร้อมกับร่องรองการถูกทำร้ายที่ขาและหลัง
วันต่อมาชาวบ้านในเครือข่ายปฎิรูปที่ดินอีสานปูพรมหากันอย่างถ้วนทั่ว แต่ไม่พบร่องรอยของเด่น
กระทั่งเวลาล่วงผ่านไปเกือบ 1 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ได้พบชิ้นสวนกระโหลกมนุษย์ กางเกงและสิ่งของเครื่องใช้ในป่าใกล้ลำน้ำพรม ซึ่งสุภาพและชาวบ้านโคกยาวเชื่อว่าเป็นของเด่น
ต่อมาผลตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เผยดีเอนเอว่า มีความเชื่อมโยงกับครอบครัว เด่น คำแหล้
แม้ว่าคดีการหายตัวไปของเด่นจะเป็นที่สนใจของสังคมและได้รับการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่กระนั้นคดีความยังไม่คืบหน้า และใบมรณะบัตรของเด่น คำแหล้ ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้
สุภาพ คำแหล้ ภรรยานายเด่น คำแหล้ ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เร่งรัดตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าในการการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการหายตัวไปของสามี
เด่น – สุภาพ คำแหล้ กับที่ดินของคนชายขอบ
“ชีวิตของทั้งคู่สะท้อนการจัดการปัญหาที่ดินด้วยความเป็นอำนาจนิยมของผู้ปกครองประเทศนี้ คิดบนพื้นฐานของการผูกขาด รวมศูนย์อำนาจไว้ที่หน่วยงาน แถมยังตัดตอนกระบวนการส่วนร่วมด้วยนโยบายจากรัฐประหาร”ปราโมทย์ ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าว
ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า กรณีพื้นที่ทับซ้อนโคกยาว เป็นผลพวงมาจากนโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัย ที่ผลมาถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ประกาศเขตพื้นที่อุทยาน จนมาถึงนโยบายทวงคืนฝืนป่า อีกทั้งการตัดตอนขั้นตอนมีส่วนร่วมของชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ ด้วยคำสั่งจากคณะรัฐประหารหลายครั้ง ทำให้การแก้ปัญหานี้ไม่ยอมจบสักที
“รัฐประหาร 2557 รัฐบาลก็ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 64 กับ 66/2557 ว่าด้วยเรื่องการปราบปรามการบุกรุกการทำลายทรัพยากรป่าไม้เป็นด้านหลัก ถึงแม้ว่าคำสั่งที่ 66 จะไปยกเว้น สำหรับคนจน คนด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ แต่ว่าหลักเกณฑ์มันก็เป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ได้คุ้มครองสิทธิ์ ชาวบ้านโคกยาวก็ถูกปิดหมายบังคับให้ออกจากพื้นที่ ในวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2557 ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าสวนแห่งชาติ มาตรา 25”
ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวอีกว่า จากตัวอย่างข้างต้นมันสะท้อนว่า การแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนด้วยความคิดแบบเดิม จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าภาครัฐยังมีความคิดแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์อยู่ แม้จะมีมติ ครม. ปี 2553 ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ แต่ก็ยังมีการเข้าไปจับกุมชาวบ้านอยู่ ทำให้ปัญหามันไม่จบ
ปราโมทย์ ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) องค์กรภาคประชาชนที่เข้าไปช่วยเหลือด้านข้อมูลและแนวทางต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านโคกยาว
ความหวังจะมีโฉนดชุมชน ความฝันของชาวโคกยาว
นโยบายหนึ่งที่เป็นเหมือนแสงสว่างของการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนคือ “โฉนดชุมชุน” ที่ผ่านการรับร่างจากคณะรัฐมาตรีเมื่อปี 2553 ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนและหน่วยงานของรัฐตกลงเขตแดนใช้ประโยชน์ของชุมชนนั้นได้ โดยที่ไม่ได้ให้สิทธิชื้อขาย
ปราโมทย์ กล่าวว่า กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านก็ยังดำเนินการมาเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันมีการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ เพราะว่าพื้นที่ๆ อยู่ในความรับผิดชอบกำกับดูแลของกรมป่าไม้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นของกรมอุทยานฯ โดยหน่วยการจัดการต้นน้ำทุ่งทุยลายเป็นผู้กำกับดูแลในพื้นที่
เขาบอกอีกว่า ข้อสรุปคือให้มีการจัดพื้นที่ให้กับประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 830 ไร่ โดยจำแนกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นป่าชุมชน 500 ไร่ ส่วนที่สองจัดสรรให้กับประชาชนจำนวน 16 ครอบครัวจำนวน 330 ไร่ แต่ว่าวันนี้ก็ยังมีข้อติดขัดอยู่ในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่จากกรมอุทยานมากรมป่าไม้ ในขณะเดียวกันกรมป่าไม้เองก็อ้างเงื่อนไขในเรื่องระเบียบกฎหมายที่อาจจะเป็นข้อจำกัดในการปลดล็อคปัญหา
“เรามีความหวังกับโฉนดชุมชน ที่ชาวบ้านจะเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นการหาทางออกให้ชาวบ้าน ได้มีสิทธิที่ดินของตัวเอง แม้ว่าบางส่วนจะไม่ได้พื้นที่เดิม แต่ชาวบ้านจะยังพอมีหลักประกันที่ดินของครอบครัวเขาได้” ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าว
ดูเหมือนผู้เฒ่าวัย 88 อย่าง อำนวย จะดูมีความหวังกับโฉนดชุมชน ที่เขาได้ร่วมสู้กับชาวโคกยาวมากว่าครึ่งชีวิต โดยเขาบอกว่า “คงเป็นสิ่งเดียวที่อยากได้ให้ลูกหลานไว้ก่อนตาย”
บรรยากาศชุมชนโคกยาว ที่มี 16 ครอบครัว ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ทำกิน โดยก่อนหน้านี้เคยมีถึง 35 ครอบครัวอยู่ที่นี่ แต่จากนโยบาย”ทวงคืนฝืนป่า” ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าขึ้นมาทำกิน
การต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนโคกยาววันที่ไร้ผู้นำ
ชื่อของ เด่น – สุภาพ เป็นเหมือนภาพจำของการต่อสู้ในชุมชนโคกยาว แม้วันนี้จะไม่มีคนทั้งสอง ทว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินยังคงดำเนินต่อไป โดยก่อนหน้านี้เคยมีถึง 35 ครอบครัวอยู่ที่นี่ แต่จากคำสั่งไล่รื้อ ถูกจับ จำคุก ทำให้ทุกวันนี้เหลือเพียง 16 ครัวเรือนที่ยังใช้ชีวิตอยู่
“การหายไปของ พ่อเด่น แม่ภาพ เหมือนกับเราขาดผู้นำ ขาดผู้ร่วมต่อสู้ แต่ตอนนี้กำลังจะสานต่อ ด้วยการรวบรวมความรู้ ความกล้า ให้เหมือนกับพ่อเด่น แม่ภาพ” เอกวิน เกศขุนทศ วัย 48 ปี ชาวบ้านโคกยาว กล่าว
เอกวิน กล่าวต่อว่า วันนี้ทุกคนที่โคกยาวยังคงต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ดินของตัวเองต่อไป แม้ว่าระหว่างทางจะมีคนยอมแพ้ แล้วออกจากพื้นที่ ไม่กล้าเข้ามาอีก เพราะกลัวกฏหมาย แต่ที่เหลืออยู่ก็คงต้องสู้ต่อไป
เอกวิน เกศขุนทศ วัย 48 ปี และลูก ชาวบ้านโคกยาว คนรุ่นใหม่ที่รับไม้ต่อจาก เด่น – สุภาพ คำแหล้ ต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินของตัวเอง
“เราต้องสู้ต่อ สู้ไปจนกว่าจะได้สิทธิที่ดินของตัวเอง เพราะเราไม่มีพื้นที่แล้ว เกิดอยู่ที่นี่ เราไม่เคยบุกรุกป่าเลย เราอยู่มานานแล้ว เราแค่ขอที่ดินของเราให้ส่งต่อเป็นหลักประกันลูกหลานเราแค่นั้นเอง”
บ้านไม้สองชั้น บุผนังด้วยสังกระสีเก่าๆ ของเด่นและสุภาพ ข้าวของเครื่องใช้ จาน ชาม ยังวางอยู่บนชั้น ราวกับว่าบ้านหลังนี้ยังมีคนอยู่ แม้เวลาผ่านไป 1 เดือน ที่บ้านไร้คนเหลียวแล หลังการจากไปของสุภาพ
ในห้องนอนยังมีรูปทั้งคู่แขวนไว้ข้างฝา เป็นเพียงสัญลักษณ์ว่า ครั้งหนึ่งคู่ชีวิตทั้งสองได้อยู่ร่วมกันที่นี่ ในราวป่าที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีความปราณีของกฎหมาย และไม่มีโฉนดที่ดินระบุชื่อของ เด่น – สุภาพ คำแหล้
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง :