กว่า 40 ปี ที่ชาวบ้านบ่อแก้ว ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ได้กลับเข้ามาแต่งแต้มเขาหัวโล้นให้เป็นสีเขียวอีกครั้ง โดยการปลูก กล้วย มะพร้าว สารพัดพืชท้องถิ่น ถูกบรรจงปลูกลงบนฝืนดิน ด้วยสองมือ ขุดจอบเสียม ตอนรับฤดูฝน ทั้งที่ฉากหลังยังเป็นป่ายูคาลิปตัส ที่เกิดจากสัมปทานการปลูกไม้เศรษฐกิจของภาครัฐ
ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ
กว่า 40 ปี ที่ชาวบ้านบ่อแก้ว ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ได้กลับเข้ามาแต่งแต้มเขาหัวโล้นให้เป็นสีเขียวอีกครั้ง โดยการปลูก กล้วย มะพร้าว สารพัดพืชท้องถิ่น ถูกบรรจงปลูกลงบนฝืนดิน ด้วยสองมือ ขุดจอบเสียม ตอนรับฤดูฝน ทั้งที่ฉากหลังยังเป็นป่ายูค่าคาลิปตัส ที่เกิดจากสัมปทานการปลูกไม้เศรษฐกิจของภาครัฐ
ไล่รื้อ เพื่อประกาศฯ และสัมปทานของภาครัฐ
ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นหนึ่งในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของภาครัฐ ทำให้ชาวบ่อแก้วไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของตัวเอง หลังจากถูกให้ออกจากพื้นที่ เนื่องจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 และการเข้ามาสัมปทานพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ามาปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร เมื่อปี 2521 ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่
“ก่อนการประกาศพื้นที่เขตอุทยาน และสัมปทานพื้นที่ของ (อ.อ.ป.) ปลูกสวนป่าคอนสาร ชาวบ้านตรงนี้ก็อยู่กันหลายครอบครัว เป็นชุมชนใหญ่ พ ประกาศเสร็จเขาก็ไล่เรา ไล่ให้ออกจากที่ดินที่เราเคยอยู่เคยกิน” นิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว เล่าถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ดินทับซ้อน
นิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว ใช้เวลากว่า 40 ปีเพื่อต่อสู้ให้ได้ที่ดินทำกินของตัวเองคืนจากการขับไล่ของภาครัฐ
นิด เล่าต่ออีกว่า สมัยก่อนยังไม่มีการรางวัดที่ดินให้ประชาชนอย่างเป็นระบบ ทุกคนจึงเข้ามาจับจองที่ดินทำกินกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ตา ยายแล้ว อยู่มาวันหนึ่งภาครัฐก็เข้ามาบอกว่า ที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เขตอุทยานฯ เมื่อปี 2516 เราก็ขยับกันหาที่ทำกินใหม่ พอมาปี 2521 ก็ให้ย้ายออกไปอีก เนื่องจากรัฐให้สัมปทานพื้นที่ อ.อ.ป.
“ตอนนั้นเราต้องหนีกันไปอีก ไม่รู้จะไปเอาที่ดินตรงไหน ใครไม่ไปจากที่ดินเดิมก็โดนใส่ร้าย หาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง บางคนโดนเอาระเบิดมาฝังกลางลานบ้าน แล้วให้ตำรวจมาจับ” ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว เล่าถึงเหตุการณ์การขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่
สวนป่าคอนสาร ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร เมื่อปี 2521 ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่
กว่า 40 ปี เส้นทางถามหาความยุติธรรม
ข้อมูลจากเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน พบว่า ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 277 ราย ได้ถือครองทำประโยชน์และพบหลักฐานการครอบครองในที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496
“ในช่วงแรกหลังการถูกไล่ออกจากพื้นที่ ชาวบ้านก็ไม่ได้รวมกลุ่มเรียกร้องกัน เพราะเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ” นิด เล่าถึงการเรียกร้องที่ดินทำกิน
นิด กล่าวต่อว่าเวลาต่อมาได้มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน เมื่อปี 2541 ชาวบ้านได้รวมตัวประท้วงด้านหน้าสำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) คอนสาร ที่อยู่หางออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อเสนอข้อเรียกร้องคืนที่ดินทำกิน เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน กระทั่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในสมัยนั้นมารับเรื่อง
“แต่เรื่องมันก็ไม่จบ ยังต้องต่อสู่อีกเรื่อยๆ เขาบอกว่า เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” นิด กล่าวด้วยความคับแค้นใจ
นิด เล่าต่อว่า หหลังจากนั้นชาวบ้านบ่อแก้ว ได้เรียกร้องอีกหลายครั้ง ทั้งการประท้วงหน้าอำเภอ ไปเรียกร้องที่กรุงเทพฯ แต่ไม่เป็นผล
ทางเข้าชุมชนบ่อแก้วและสัญลัญไม้สามแท่งเพื่อเป็นตัวแทนการต่อสู้
กระทั่ง วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านบ่อแก้ว ได้เข้าไปอยู่อาศัยเพื่อทวงคืนพื้นที่จากการทำสัมปทานของสวนป่าคอนสาร ประมาณ 98 ไร่
เหตุแห่งการเข้ายึดที่ดินทำกินนั้นเกิดขึ้นจากเพราะการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐที่เป็นไปอย่างล่าช้า
ก่อนหน้านั้นชาวบ้านเรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารแล้วให้จัดสรรที่ดินให้ผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชนและในระหว่างการแก้ไขปัญหาก็ขอให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น
กระทั่งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 อ.อ.ป.กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ นิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน กล่าวหาว่า กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้
ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างและออกนอกพื้นที่ภายใน 30 วัน
หลังจากนั้นวันที่ 4 กุมภาพันธ์- 16 มีนาคม2554 ชาวบ้านได้เดินรณรงค์จากบ่อแก้ว เข้าสู่ กทม. เพื่อเรียกร้องต่อคณะรัฐมนตรี ให้ อ.อ.ป.ถอนการบังคับคดีและเร่งประกาศพื้นที่ให้เป็นโฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ทำให้เกิดการประชุมร่วมของหลายภาคส่วน โดยมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป.นำมาสู่ข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. อ.อ.ป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี 2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน อ.อ.ป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3.การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ อ.อ.ป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ตกเป็นจำเลยได้ฎีกา โดยที่ภาครัฐไม่ได้มีการทำตามข้อตกลงร่วม
ปิดประกาศให้ชาวบ้านบ่อแก้วออกจากพื้นที่ตามนโยบาย 64 / 2557 คำสั่งคณะรัฐประหาร
เครดิตภาพ :เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน
รัฐประหาร เปิดทาง“ทวงคืนผืนป่า”
หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2553 โดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” เพื่อไล่รื่อที่ดินป่าจากนายทุน
ชุมชนบ่อแก้วก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 57 เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ เข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ให้ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน
แต่ชาวบ้านยังยืนยันจะอยู่ในพื้นที่ ทำให้มีการไล่รื้อสิ่งปลูกสร้างและผลอาสิน ของชาวบ้านจากกองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
แต่ชาวบ้านยืนยันสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่ต่อไป จนกระทั่งถึงวันพิพากษาในชั้นศาลฎีกายืนยันตามศาลชั้นต้น กรณีฟ้องขับไล่ นิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน ทำให้ชาวบ้านบ่อแก้วต้องออกจากพื้นที่
“มีหลายครอบครัวต้องออกไปจากพื้นที่ เพราะกลัวอำนาจรัฐ มีการมาไล่รื้อหลายรอบ แต่เรายังยืนยันจะอยู่ที่นี่ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่ดินของเราอย่างชอบธรรม” ประธานโฉนดที่ดิน กล่าว
ชาวบ้านบ่อแก้วถือป้ายประท้วงการทวงคืนพื้นที่จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)
โฉนดชุมชนกว่า 40 ปีที่เฝ้ารอ
ปี 2562 มีการเรียกร้องของชาวบ้านบ่อแก้วกับสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วราวุช ศิลปอาชา) ได้ลงพื้นที่ประชุมหารือกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ชุมชนบ่อแก้ว โดยให้มีการชะลอการบังคับคดีออกไปก่อน จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะมีข้อยุติ
จากสถานการณ์การปิดหมายบังคับคดี ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว นำมาสู่การติดตามและผลักดันการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งแนวทางนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ร่วมกันสำรวจพื้นที่เพื่อให้ได้ตามจำนวนเป้าหมายที่ชาวบ้านเสนอ จำนวน 812 ไร่ จนได้นำมาสู่การสำรวจพื้นที่ร่วมกัน และมติคณะกรรมการ อ.อ.ป.เห็นชอบให้คืนพื้นที่จำนวน 7 แปลง รวมพื้นที่ 366 ไร่ 78 ตรว. เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2562 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563
เสยี่ยม เดชบำรุง ประธานชุมวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ชุมชนบ่อแก้ว กับสวนพืชผักผสมผสาน บนที่ดินที่ได้รับจัดสรรตามโฉนดชุมชน
กลับสู่มาตุภูมิ หวนคืนที่ดินทำกิน
“วันที่รู้ว่า ได้ที่ดิน แม้จะเป็นโฉนดชุมชนก็ดีใจมาก บางคนได้ที่ดินที่เดิม ที่เคยถูกยืดคืนไปกลับคืนมายิ่งดีใจ เหมือนได้มรดกกลับคืนมา” เสยี่ยม เดชบำรุง ประธานชุมวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ชุมชนบ่อแก้ว กล่าวถึงการได้รับจัดสรรโฉนดชุมชน
โฉนดชุมชนบ่อแก้ว แบ่งออกเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ส่วนรวมวิสาหกิจชุมชน ตามข้อกำหนดพื้นที่โฉนดชุมชนจะไม่มีการชื้อขายได้ โดยที่ทุกคนหวังว่า จะไว้เป็นมรดกหลักประกันให้ลูกหลานในอนาคต
รื้อฟื้นฝืนดินให้กลับมาสมบูรณ์
ต้นฤดูฝนชาวบ้านบ่อแก้วกลับเข้าใช้พื้นที่ หลังจากใช้เวลาต่อสู้มายาวนานกว่า 40 ปี สวนป่าคอนสารวันนี้เต็มไปด้วยตอยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นมรดกที่ยังคงตกค้างจากการเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ของ อ.อ.ป. ซึ่งต้องใช้รถเครื่องจักรในการขุดรากถอนโคน
“พอได้ที่ดินกลับมาเป็นของตัวเองแล้ว ก็จะปลูกบ้าน ทำเกษตรผสมผสานไว้กิน ไว้ให้ลูกหลาน” สุวรรณ ศรีสวัสดิ์ ชาวบ่อแก้วเล่าถึงแนวคิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
สุวรรณ ศรีสวัสดิ์ ชาวบ้านบ่อแก้วกับที่ดินโฉนดชุมชน บนที่ดินที่เตรียมจะบ้านและพืชผัก
สุวรรณ เล่าต่อว่า การกลับมาที่ดินบ่อแก้วอีกครั้ง ต้องฟื้นฟูธรรมชาติจากการทำสวนป่าถอนตอไม้ยูคาลิปตัสและรากของมันที่หยั่งลึกออก เพราะมันทำลายจุลินทรีย์และความอุดมสมบูรณ์ในดินไปมาก วันนี้จึงต้องปลูกพืชพื้นท้องถิ่นเพื่อให้ธรรมชาติกลับมาเหมือนเดิมก่อน
แม้ว่าวันนี้ชาวบ้านบ่อแก้วจะได้โฉนดชุมชน แต่ยังมีหลายครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดสรรที่ดินตามที่ขอ ทำให้ชาวบ้านบ่อแก้วกลุ่มนี้ยังคงเดินหน้าเรียกร้องในสิทธิของพวกเขาต่อไป
“กว่า 40 ปี ที่เราต่อสู้กันมา ตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ เราได้ที่ดินกลับมา ก็หวังว่า ปัญหาที่ดินในพื้นที่อื่นๆ จะได้รับการแก้ปัญหาเหมือนกับพวกเรา” สุวรรณ ตั้งความหวัง
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง :
ชุมชนบ่อแก้วเฮ ออป.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เตรียมคืนที่ดิน 366 ไร่จัดสรรทำกิน
ชาวบ่อแก้วถกรองผู้ว่าฯ ชัยภูมิแก้ปัญหาที่ดิน
ชาวบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ ปักหมุด 3 ต้น เพื่อประกาศชัยชนะ
กัญจนา ศิลปอาชา โทรด่วนถึง รมว.ก.ทรัพฯ สั่งเลื่อนรื้อชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ