ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เป็นการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินทำกิน รวมถึงข้อพิพาท ระหว่างประชาชนและแนวเขตของรัฐ โดยประกาศจัดตั้งเครือข่ายขึ้นเมื่อปี 2549 มีวัตถุประสงค์ต่อสู้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาซ้อนทับของที่ดิน ภายใต้สโลแกน  “ปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน สร้างสังคมที่เป็นธรรม”

กว่า 15 ปี ในการต่อสู้ ปัญหาครั้งใหญ่สุดของเครือข่าย เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ออกคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557  ทำให้เกิดการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านอย่างน้อย 168 ครั้ง มีคดีอย่างน้อย 1,003 คดี

The Isaan Record พูดคุยกับ ปราโมทย์ ผลภิญโญ ที่ปรึกษาเครือข่ายคปอ. เกี่ยวกับผลพวงของนโยบายทวงคืนผืนป่า จากคำสั่งของคณะรัฐประหารและปัญหาที่พบหลังการใช้อำนาจที่ไม่ฟังเสียงประชาชน และความฝันการปฏิรูปที่ดินที่เป็นธรรม

The Isaan Record (IR) : รัฐประหาร มีผลอย่างไรต่อการแก้ปัญหาที่ดินระหว่างรัฐและชาวบ้าน

ปราโมทย์ : หลังรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ได้บริหารประเทศ ได้มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องที่ดินและทรัพยากรป่าไม้  พูดกันง่ายๆ ก็คือนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้อนุมัติคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 เมือปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2557

จากการศึกษาตรวจสอบข้อมูล ประชาชนได้รับผลกระทบสรุปได้หลักๆ อยู่ 3 ส่วน คือ 1.นโยบายนี้ชอบตัดตอนกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดิน ขอพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างแนวเขตแดนของรัฐและการที่ดินทำกินของชาวบ้าน ซึ่งในหลายกรณีมีต้นทุนเดิม มีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรับกับชาวบ้านอยู่แล้ว บางเรื่องอยู่ในขั้นของการตัดสินใจทางนโยบาย เพราะกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้ว ก็เหลือการตัดสินใจทางนโยบายเพื่อที่จะแก้ปัญหา ก็ถูกตัดตอนไป กลไกต่างๆ ในทุกระดับก็ยุติลง อันนี้ไม่เป็นลักษณะต่อยอดขยายผลจากเรื่องเดิมที่มีต้นทุนในการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว

ข้อที่ 2. นอกจากไม่ต่อยอดเรื่องเดิมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้ว นโยบายตัวนี้ก็ใช้วิธีการแบบอำนาจนิยม มากระทำกับประชาชน เช่น การตัดฟันทำลายอาสินต่างๆ ซึ่งเป็นข่าวอยู่ทั่วประเทศในช่วงนั้น เช่น การตัดยางพาราชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย ไม่ใช่นายทุน กว่าเขาจะเก็บหอมรอมริบหาเงินได้จากการลงไปทำงานภาคใต้ เพื่อมาซื้อพันธุ์ยางแล้วก็ไปลูกยางในพื้นที่ของเขา 18 ไร่ ในกรณีของ จันทรา บังหอม จ.สกลนคร แล้วก็ถูกดำเนินคดีด้วยนโยบายทวงคืนฝืนป่า ถูกตัดต้นยางทิ้ง ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ขณะที่ชาวบ้านโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ก็ถูกผลักดันออกจากพื้นที่เป็นกลุ่มแรก หลังจากดำเนินนโยบายตัวนี้ ชาวบ้านบ่อแก้ว ชาวบ้านทรายทอง จ.ชัยภูมิ ถูกหมายติดป้ายบังคับให้ออกจากพื้นที่ ชาวบ้านหมู่บ้านทรายทองถูกบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ โดยไม่สมัครใจ เพราะโดยพฤติการนั้นนำกำลังจำนวนมากเข้าไปยังพื้นที่เกษตรชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเซ็น ถ้าไม่เซ็นก็จะถูกฟ้องดำเนินคดี เป็นลักษณะแบบนี้ ภาคเหนือ ภาคใต้ เหมือนกันหมด

 3.อันนี้ก็คือผลกระทบที่มันลามไปทั่วประเทศหลังจากนโนบายทวงคืนผืนป่า ที่หนักหนาสาหัสที่สุดก็คือการฟ้องดำเนินคดีชาวบ้าน ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าหลังจากนโนบายตัวนี้ใช้บังคับ ก็จะปรากฏเห็นจำนวนสถิติ ดำเนินคดีความกับพี่น้องประชาชน เป็นจำนวนมาก ในนโยบายตัวนี้ พูดถึงว่า มีเจตนาจะดำเนินการกับนายทุน หรือว่าคนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้าไปถือครองที่ดินในเขตป่า แต่ว่าในทางปฏิบัติกลับตรงกับข้าม มาเก่งอยู่แค่กับชาวบ้าน มาบังคับเอากับชาวบ้าน ซึ่งก็เกิดผลกระทบอย่างที่ว่าไปแล้ว

IR : ปัญหาความขัดแย้งที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนที่แก้ไม่ได้

ปราโมทย์ : ปัญหาที่ดินในสังคมไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดขึ้นมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เช่นเดียวกับการเรียกร้องให้แก้ปัญหานี้ เราก็จะเห็นร่องรอยในความพยายามปฏิรูปที่ดินประเทศไทยมาตลอด ที่เห็นหลักๆ ก็มีอยู่สามช่วง คือ 1.ช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เขียนเรื่องจัดการที่ดินในสมุดปกเหลือง 2.ช่วงหลังเหตุการณ์ปี 2516 ที่มีการจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีข้อเสนอสำคัญ 9 ข้อ 

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทำกินทั้งนั้น แล้วคุณูปการจากการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ คือได้มีพระราชบัญญัติเป็นรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเมื่อปี 2518 เพียงแต่ว่า การดำเนินการตามกฎหมายนี้ ค่อนข้างที่จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือผู้ที่ผลักดันให้มีกฎหมายนี้ กลับกลายเป็นการนำที่ดินของรัฐ เช่น ป่าสงวนของชาติเสื่อมโทรมมาออก สปก. แทนที่จะไปเอาพื้นที่เอกชนทั้งทีถือครองที่ดินขนาดใหญ่ แล้วก็เอามาจัดสรรให้กับคนจนหรือว่า ชาวบ้านที่มีที่ดินหรือไร่ทำกินไม่เพียงพอ และ 3.คือช่วงที่เรียกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวร่วมสมัย หลังปี 2530 ก็มีการเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องที่ดินมาตลอดมา ในช่วง 30 กว่าปีมานี้ ขบวนประชาชนที่ต่อสู้ไม่ว่า จะเป็นในภาคอีสานในช่วงแรกๆ สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สมัชชาคนจน กระทั่งวันนี้ปัญหาที่ดินไม่มีความคืบหน้าไป ยังเป็นปัญหาเดิมๆ  ซ้ำซากอยู่ 

“มันสะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้าง กฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินยังหล้าหลัง ยังมีลักษณะอำนาจนิยม แล้วก็ผูกขาดรวมศูนย์การจัดการ ใว้ในพื้นที่หน่วยงานเหมือนเดิม”

ทั้งๆ ที่เรามีข้อเสนอมาตลอดว่า จินตนาการของการสร้างความเป็นธรรม ในการถือครองที่ดินก็เป็นการกระจายถือครองที่ดิน ให้เกิดความเป็นธรรมอันนี้ คือ ความประสงค์หรือเจตจำนงค์ของชาวบ้านประชาชนที่เคลื่อนไหวผลักดันเรื่องที่ดินมาตลอด 

“การแก้ปัญหาตามโครงสร้างแบบแผนจะถูกตัดตอนด้วยการรัฐประหาร ในช่วงที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ชอบจะมีโครงการแปลกๆ แล้วก็สร้างผลกระทบต่อประชาชน”

อย่างเช่น ช่วงหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (รสช.) นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ก็มีการดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายใน 352 ป่าสงวนแห่งชาติในภาคอีสาน มีการผลักดันอพยพชาวบ้านประชาชนออกจากพื้นที่อยู่อาศัย ที่อยู่ทำกิน จนเกิดการเดินขบวนใหญ่ของคนอีสาน แล้วก็ยกเลิกโครงการได้เมื่อเดือนกรกฎา 2535 

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม  2557 เหมือนกัน ก็เกิด “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ซึ่งรากฐานความคิดวิธีการ ก็ไม่ต่างจากโครงการ คจก.ในสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หน่วยงานที่เข้ามาดำเนินนโยบายก็เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ประกอบส่วนกับกระทรวงทรัพยากร ในการกำกับบริหารนโยบาย เนื้อหาเจตนารมณ์เป้าหมายของโครงการก็เหมือนกัน วิธีการก็เหมือนกัน ใช้วิธีการแบบอำนาจนิยม ไม่เปิดพื้นที่ของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอะไรเลย 

อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นว่า ในช่วงบรรยากาศการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะเกิดนโยบายลักษณะอำนาจนิยม แล้วก็บังคับขู่เข็ญเอาที่ดินเอาทรัพยากรไปจากประชาชน”

นโยบายทวงคนผืนป่าจากคณะรัฐประหารปี 2557 ส่งผลให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดีกว่า 1,003 คดี

IR : อะไรที่เป็นแนวคิดแบบอำนาจนิยมของรัฐไทย ในการจัดการที่ดิน 

ปรโมทย์: ตัวอย่างเช่น วิธีคิดเรื่องเขตแดน การกำหนดเขตของรัฐไทย เป็นปัญหามาตลอด คิดบนพื้นฐานของการผูกขาด รวมศูนย์อำนาจไว้ที่หน่วยงาน 

ตามระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐไทย ที่จำแนกเป็น 2ส่วน คือ 1.กรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐ และ 2.กรรมสิทธิ์เอกชน

กรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐ ก็ให้รัฐหน่วยงานของรัฐกำกับดูแลที่ดินประเภทนั้นๆ กำกับดูแลอย่างเด็ดขาด พื้นที่ป่าไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยานทรัพยากรทางทะเลยชายฝั่ง ซึ่งก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงความคิดนี้ ดำรงมาตลอด พอความคิดนี้มันฝั่งรากอยู่กับระบบราชการ การออกแบบวิธีการก็เป็นเครื่องมือ ใช้ความคิดนี้เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีเครื่องมือใหม่ๆ เช่น แผนที่ออโต้ ซี ตั้งแต่ปี 2545  ระบบ GIS เป็นต้น 

ข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ก็เป็นไปเพื่อรับใช้วิธีคิดที่มีลักษณะอำนาจนิยมนี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราะจะเห็นว่า มีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นต่างๆ อยู่ทั่วไป แล้วก็แก้ไม่ได้นอกจากว่า มีบางกรณีแก้ได้ตามรายกรณีไป หรือว่าบรรเทาสถานการณ์ไป บางครั้งบางคราว แต่ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง ยังไม่สามารถแก้ไขได้

IR : การถือครองที่ดินตอนนี้ ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือในนายทุนเป็นส่วนใหญ่ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร 

คือมันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนแน่ๆ เพราะว่าจากตัวเลขมีคนจนที่ไม่มีที่ทำกินหรือที่ทำกินไม่เพียงพอประมาณ 1 ล้าน 5 แสนครอบครัว ในขณะที่กลุ่มตระกูลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้ถือครองที่ดิน 2 – 6 แสนไร่ ซึ่งมันถือว่าเป็นลักษณะที่เป็นช่องว่างสูงมากๆ 

แนวโน้มในอนาคตก็จะมีช่องว่างถือครองที่ดิน ที่กว้างขึ้นไปอีก เพราะว่าระบบเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ กลายเป็นว่า บางคนมีก็ฉวยโอกาสสร้างทรัพย์ สร้างรายได้ให้ตัวเอง ในสถานการณ์ประชาชนเกิดวิกฤต อย่างเช่น ภาวะโรคระบาดโควิด ในปัจจุบัน

“ ในอนาคตก็จะเป็นปัญหาช่องว่างในการถือครองที่ดินก็จะเป็นช่องว่างใหญ่ขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน สุดท้ายคนที่จะกลายเป็นแรงงาน ไร้ที่ดินก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหลักประกันและคุณภาพชีวิตก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ”

“สิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของชาวบ้านก็คือ ต้องการบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย”

IR : ความฝันของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินอีสาน คือ อะไร 

ปราโมทย์ :  คือสิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของชาวบ้านก็คือ ต้องการบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย คำว่าประชาธิปไตยมันมี 2 ส่วน ก็คือประชาธิปไตยในทางการเมือง รูปแบบการปกครอง และ ประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจ ก็คือ ความเท่าเทียมเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ 

ถ้าในกรณีที่ดิน ชาวบ้านคุยกันว่า “การบุกรุกที่ดิน” คือ การปฏิรูปถือครองที่ดินและระบบการผลิตที่เป็นธรรม และยั่งยืนด้วยประชาชน ไม่ใช่แค่เพียงออกเอกสารสิทธิ์ตามนิยามแคบๆ ของหน่วยงานเท่านั้น 

การปฏิรูปที่ดิน เราวางนิยามไว้แบบนี้ เพราะที่ดินเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบการผลิตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอย่างแน่นอน จะปลูกจะสร้างอะไรต่างๆ ก็ปลูกอยู่บนดิน เราจะเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ชาวบ้านเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่พึ่งพาการผลิตภายนอกทั้งนั้น แม้แต่แรงงาน ค่าจ้าง ปุ๋ย ยา พันธุ์พืช อะไรต่างๆ การขนส่ง สุดท้ายชาวบ้านก็มีความเสี่ยงที่จะมีภาระหนี้สิ้นเกิดความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน 

เราคิดว่าการบุกรุกที่ดิน ในความหมายนี้ มันกินความหมายไปถึงการปฏิรูป ระบบการผลิตทางเศรษฐกิจด้วย โดยมีที่ดินเป็นพื้นฐาน พลังการผลิตสำคัญ ดังนั้นการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจก็ต้องมีการปฏิรูปที่ดิน ภายใต้นิยามความหมายตัวนี้ แล้วเราก็จะผลักดัน เช่น การบริหารจัดการที่ดิน โดยใช้ระบบรวมหมู่ มีปัจจัยของชาวบ้านประชาชน มีองค์กรมาบริหารจัดการที่ดิน มาบริหารจัดการร่วม ไม่ใช่ลักษณะการบริหารจัดการแบบปัจเจก ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นเงื่อนไขความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกรด้วย 

แล้วก็หลังจากนั้นมันต้องยกระดับจากการบริหารจัดการไปสู่การผลิต แล้วก็การแปรรูป การตลาดจะจัดการยังไง ซึ่งอันนี้ก็มีความพยายามในหลายพื้นที่ ที่เรากำหนดเป็นพื้นที่ต้นแบบเช่น ชาวบ้านบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ หรือว ชาวบ้านดอนฮังเกลือ จ.ร้อยเอ็ด กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังหรือทำตลาดของเครือข่ายมากขึ้น 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง :

ปิดตำนาน 40 ปี การทวงคืนผืนดินของชาวบ่อแก้ว

สิ้น “เด่น – สุภาพ คำแหล้” ชุมชนโคกยาว ไร้ทางไป ในสิทธิที่ดินทำกิน

ซีรีส์ชุดทวงคืนฝืนป่าไทรทอง (1) – จากศาลชั้นต้นถึงชั้นฎีกา โทษที่ชาวบ้านซับหวายสมควรต้องรับ ?

ทวงคืนผืนป่าซับหวาย : มรดกรัฐประหาร ที่ยังซ้ำร้ายคนจน

image_pdfimage_print