กระแสข่าวมีผู้ร่วมขบวนของ “จัน คนเขมร” กว่า 6,000 คน ทำให้ เมืองขุขันธ์ ทำให้กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงเมืองอุบลรีบโทรเลขบอกให้บางกอกส่งคนมาหนุน ซึ่งต่อมาได้สั่งตัดหัวเสียบประจานที่เมืองขุขันธ์

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่อง 

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 

ขุขัน (เขียนตามเอกสารสมัย ร.5) หรือ ขุขันธ์ เป็นหัวเมืองใหญ่ด้านเหนือเทือกเขาพนมดงรัก มีบริเวณเมืองในสังกัดครอบคลุมพื้นที่ส่วนด้านล่างของจังหวัดศรีสะเกษถึงบางส่วนของอุบลและสุรินทร์

เมื่อมีการจัดตั้งระบบจังหวัด ปี 2459 ขุขันธ์ได้เป็นตัวตัวจังหวัด กระทั่งปี 2481 จึงย้ายตัวจังหวัดไปที่เมืองศรีสะเกษ เพราะขุขันธ์อยู่ใต้เมืองศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟถึง 50 ก.ม.

ทว่าในยุคอดีต ขุขันธ์ คือ ที่ตั้งเมืองเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อกับเมืองมโนไพร ด้านใต้เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตกัมพูชาและพุ่งตรงไปยังเสียมเรียบ

เรื่องกบฏผู้มีบุญ ถูกรายงานไปยังบางกอกเป็นครั้งแรกจากมณฑลอีสานที่อุบล เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2444 ว่า มีเหตุการณ์ร้ายแรงกำลังจะเกิดขึ้นที่เมืองขุขันธ์

ขณะที่มณฑลอุดรรายงานไปยังบางกอกในวันถัดมา (27 กุมภาพันธ์) ว่าประชาชนคนมณฑลอุดรเดินทางไปยังเมืองเสลภูมิ ร้อยเอ็ด เพื่อไปเอาหินแฮ่ (ก้อนกรวด หรือ หินลูกรัง) มาบูชาเพื่อจะกลายเป็นเงินเป็นทองตามลายแทงถึงวันละ 300-400 คน (นงลักษณ์, น.78-79)

ทั้งยังรายงานด้วยว่า ชาวบ้านในทั้งสามมณฑลภาคอีสานได้ฆ่าเป็ดไก่หมูที่มีในบ้าน เพราะไม่เช่นนั้นหินแฮ่ก็จะไม่เป็นเงินเป็นทองตามวันเวลาที่ระบุไว้

รายงานจากอุบล โทรเลขจากกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เจ้านายผู้เป็นข้าหลวงต่างพระเนตรของรัชกาลที่ 5 

มีศูนย์บัญชาการที่เมืองอุบล สำเร็จราชการเหนือหัวเมืองในมณฑลอีสาน (คลอบคลุมพื้นที่กว่าครึ่งภาคอีสาน ปัจจุบันเป็นจังหวัดอุบล อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ) โดยแบ่งออกเป็น 4 “บริเวณ” (อาณาเขตภายใต้เมืองใหญ่ ได้แก่ บริเวณอุบล บริเวณร้อยเอ็ด บริเวณสุรินทร์ และบริเวณขุขันธ์) ไปยังกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทยที่บางกอก

รายงานว่า “มณฑลอีสานกำลังแตกตื่นผู้มีบุญทุกแห่งทุกหนทุกตำบล”

กรมขุนสรรพสิทธิ์ประเมินว่า เรื่องผู้มีบุญครั้งนี้น่าจะขยายใหญ่โตขึ้น ซึ่งใช้คำว่า “เปนข้างโจรขึ้นใหญ่โต”

ทั้งนี้ “ทางฝ่ายลาว” คือ คนลาวในมณฑลอีสานตามที่บางกอกเรียกนั้น เหตุการณ์ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ “แต่ทางฝ่ายเขมร” นั้น คือ คนเขมรในมณฑลอีสาน กรมขุนสรรพสิทธิ์คิดว่า น่าจะมีการ “ปล้นเมือง” ขุขันธ์ในสองวันข้างหน้า

การประหารชีวิตด้วยวิธีการตัดคอ ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีข้าราชการแต่งชุดเต็มยศและประชาชนมายืนล้อมดูเป็นพยาน ภาพนี้ ไม่ทราบสถานที่ วันเวลา และเหตุการณ์

กรมขุนสรรพสิทธิ์รายงานว่า เพราะ จัน หรือ “ตัวอ้ายบ้าผู้มีบุญนั้น” เป็นลูกพระยาขุขันธ์ที่สิ้นไปแล้ว ส่วนพระยาขุขันธ์คนปัจจุบันที่ชื่อ “เทยิ่ง” นั้น ดูจะกลัวเกรง “ครั่นคร้าม” ผู้มีบุญนั้นเสียแล้ว เพราะ “คนบ้านทั้งปวงก็ตื่นเข้าผู้มีบุญ” ในรายงานกล่าวว่า มีผู้เข้าร่วมถึง 6,000 คน (นงลักษณ์, น.90; สุมิตรา, น. 51-52)

ดังนั้นกรมขุนสรรพสิทธิ์ก็ขอให้ทางบางกอกสั่งการให้ทหารจากโคราช “สัก 100 คนโดยเร็วที่สุด” เดินทางมาช่วยปราบ “ตัวอ้ายบ้าผู้มีบุญนั้น” ที่เมืองขุขันธ์

วันเดียวกันนั้น กรมขุนสรรพสิทธิ์มีโทรเลขฉบับที่ 2 ถึงกรมหลวงดำรง อย่างสั้นๆ ว่า ขอให้ระงับการส่งกองกำลังทหารมาช่วยปราบที่เมืองขุขัยธ์ โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจมีการประเมินสถานการณ์ใหม่ 

หลังจากแตกตื่นตกใจไปตามแบบโทรเลขฉบับแรก เพราะภายใต้บัญชาของตนเองก็มีทหารสมัยใหม่จากบางกอกพร้อมอาวุธปืนยาวที่อุบลอยู่แล้ว 200 คนและมีทหารคนพื้นเมืองฝึกหัดอีกกว่า 300 คน รวมแล้วกว่า 500 คน (สุมิตรา, น. 53) แล้วทำไมจึงไม่ส่งทหารจากอุบลไปปราบเอง

ทว่าโทรเลขฉบับแรกที่มีไปยังกรุงเทพ กล่าวว่า จันผู้มีบุญมีสมาชิกถึง 6,000 คน ก็คงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องเรียกประชุมนายทหารและเสนาบดีผู้รับผิดชอบระดับสูง เพื่อสั่งการรักษาความสงบและการปราบปรามทันที

โดยสั่งเตรียมทหารบางกอกพร้อมอาวุธที่โคราช 200 คน พร้อมจัดส่งเงินเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้า 5,000 บาท (สุมิตรา, น. 57)

ด้านอุบล ทหารบางกอกประจำการที่เมืองนี้ หน่วยใต้บัญชาการของนายร้อยเอกหลวงชิตสรการ ได้สั่งให้นายร้อยโทหวั่น มีร้อยตรีเจริญ และร้อยตรีอินเป็นผู้ช่วย นำกำลังพลทหาร 36 คน ไปปราบจันผู้มีบุญที่ขุขันธ์ พร้อมทั้งได้กำลังจากกรมการเมืองและราษฎรขุขันธ์อีกจำนวนหนึ่ง (นงลักษณ์, น.117)

13 มีนาคม 2444 หรือ 15 วัน หลังจากโทรเลขรายงานฉบับแรกถึงจันผู้มีบุญเมืองขุขันธ์ กองกำลังทหารบางกอกพร้อมอาวุธปืนสมัยใหม่ภายใต้บังคับบัญชาของนายร้อยโทหวั่น ก็สามารถฆ่าจันและพรรคพวกอีกราว 10 คน ส่วนสมาชิกอื่นๆ ก็แตกกระเจิงไป

นายร้อยโทหวั่นสั่งตัดหัวจันเขมรผู้มีบุญกลับมายังเมืองขุขันธ์ด้วย ซึ่งเป็นไปได้แบบที่อื่นๆ คือ ปักหัวเสียบไม้ไว้ที่หน้าเมืองเมืองขุขันธ์ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จในการปราบผู้มีบุญที่เมืองนี้ (นงลักษณ์, น.90; สุมิตรา, น. 53-54 )

การปราบด้วยการสังหารที่เมืองขุขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองแรกสุดของการปราบผู้มีบุญ นับจากนี้ไปผู้มีบุญที่จับได้จะถูกทหารบางกอกฆ่าตัดหัวเสียบประจานอีกหลายแห่งต่อมา จนถึงกรณีทุ่งสังหารบ้านสะพือ อุบล เมื่อ 4 เมษายน 2445 หรือในช่วงราวหนึ่งเดือนของการปราบปรามผู้มีบุญลาวเขมรอีสาน

อ้างอิง

สุมาตรา อำนวยศิริสุข. กบฏผู้มีบุญในมณฑลอีสาน พ.ศ.2444-2445. สารนิพนธ์มานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524.

นงลักษณ์ ยิ้มศิริ. ความสำคัญของกบฏหัวเมืองอีสาน พ.ศ.2335-2445. วพ. ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524.

หมายเหตุ : ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

ร่วมระดมทุนเพื่อทำข้อมูลและทำบุญใหญ่เพื่อผีบุญได้ที่เว็บไซต์ GoFundMe หรือ ธนาคารกรุงเทพเลขที่ 521-440-5925 บัญชี มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนอีสาน

image_pdfimage_print