ครอง จันดาวงศ์ ขณะถูกนำตัวเข้าหลักประหาร เครดิตภาพ : เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม
วิทยากร โสวัตร เรื่อง การผลักให้ผู้คิดต่างจากรัฐเป็นศัตรูของชาติ คอมมิวนิสต์ หรือ แบ่งแยกดินแดน คือ สิ่งวิธีการที่ทางการใช้จัดการ “ครูครอง จันดาวงศ์” โดยมีหลักฐานเพียงการ “เชื่อว่า” เท่านั้นเอง
วิทยากร โสวัตร เรื่อง
บทความนี้ผมจะใช้หนังสือ ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร? ของ คมสรรค์ มาตุคาม เป็นตัวปูพื้นให้เห็นวิธีการของรัฐไทยในการใช้ฆ่า ครูครอง จันดาวงศ์ นักต่อสู้หัวก้าวหน้าและนักการเมืองชั้นนำของอีสานรุ่นต่อจาก “สี่รัฐมนตรีอีสาน” (เตียง ศิริขันธ์, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล) ที่ถูกฆ่าตายไปก่อนหน้า
วิธีการศึกษาของผมก็คล้ายๆ กับวิธีการของกรณีขบวนการผู้มีบุญ กล่าวคือ การตรวจสอบ/วิเคราะห์เอกสารทางการ (เพราะเรื่องราวจริงๆ หรือเรื่องราวจากปากคำของคนที่ถูกกระทำนั้นถูกปิดและปล่อยให้เลือนหายไป) ซึ่งเอกสารเหล่านี้ครั้งหนึ่งก็ได้ทำหน้าที่ตอบสนองเจตจำนงของรัฐไทยได้เป็นอย่างดี คือ ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นไปตามข้อเขียนเหล่านั้น จนเกิดทัศนคติเชิงลบต่อคนหรือกลุ่มคนที่รัฐไทยมองว่าหรือต้องการให้มีสถานะเป็น “ศัตรู”
แต่เมื่ออ่านเอกสารทางการเหล่านั้นหรือเรื่องที่เป็นตัวแทนของทางการดีๆ เราจะเห็น “ใบหน้าที่แท้จริง” ของรัฐไทยในระหว่างบรรทัดนั้นด้วย นั่นคือ ความเหี้ยมโหด ทารุณ มองคนไม่เท่ากันและไม่อยากให้มีความเท่ากัน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของทัศนคติที่รัฐส่วนกลางไทยมีต่อคนอีสานและอาจรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ด้วย
ตรงนี้เองที่เราจะเชื่อมโยงสายธารการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
จุดที่สะกิดใจผมให้กลับมาอ่านพินิจหนังสือเรื่องนี้ก็คือ ในงาน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ สว่างแดนดิน 31/05/2021 ที่ทีม ดร.ถนอม ชาภักดี จัดรำลึกถึงการจากไปของครูครอง จันดาวงศ์ ที่ศูนย์การเรียนรู้ครอง จันดาวงศ์ อำเภอสว่างแดนดิน ในงานนั้นลุงวิทิต จันดาวงศ์ ลูกชายของครูครอง จันดาวงศ์ ผู้ที่เป็นนักต่อสู้ไม่ต่างจากพ่อ เล่าว่า
“ผมบ่ฮู้จักวันเดือนปีเกิดของพ่อผมเลย จนได้มาอ่านหนังสือ ‘ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร?’ จังได้ฮู้ว่าพ่อเจ้าของเกิดวันเดือนปีหยัง ผมกะแปลกใจว่า เขาฮู้ได้จังใด๋” ประโยคสุดท้ายลุงวิทิต พูดยิ้มๆ และน้ำเสียงเหมือนจะหัวเราะ
ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเขียนและพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2521 ห่างจากปีที่ครูครอง จันดาวงศ์ ถูกยิงเป้าเกือบ 20 ปี ซึ่งในตอนนั้นชื่อของครูครอง จันดาวงศ์ เป็นชื่อ “ต้องห้าม” และเป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือพิมพ์มากถึง 5,000 เล่ม (ผมสืบค้นไม่ได้ว่ามีการพิมพ์กี่ครั้ง) และอยู่ในช่วงที่มีการสู้กันอย่างหนักของรัฐบาลไทยกับฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในเขตภูพาน ซึ่งเป็นไปได้ว่า หนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่ในพื้นที่อีสานมากที่สุด
สมมุติฐานนี้ของผมจะนำไปสู่ประเด็นที่ว่า นี่เป็นการสร้างความชอบธรรมของฝ่ายอำนาจรัฐที่จะฆ่าครูครอง จันดาวงศ์ เป็นการ “ล้อมจับ” ด้วยหลักฐานทางการ (ย้ำนะครับว่า ทางการ ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ) ก่อนที่จะนำครูครอง จันดาวงศ์ เข้าสู่หลักประหารและยิงเป้า
เริ่มจากการบอกว่า ครูครอง จันดาวงศ์ เป็นคอมมิวนิสต์ – – –
“ในวงการราชการหลายแห่งในสมัยต่อมาเชื่อกันว่า นายครอง จันดาวงศ์ เริ่มมีหัวเอนเอียงไปในทางนิยมคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ครั้งที่เขาได้เข้าไปมีบทบาทในขบวนการเสรีไทย โดยเชื่อกันว่า งานเสรีไทยครั้งนั้นนับเป็นก้าวแรกของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินการในประเทศไทย ที่แฝงเข้ามาในรูปของขบวนการที่ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ เพื่อให้เห็นว่าขบวนการเสรีไทยนั้นเป็นพวกที่ต่อต้านทหารญี่ปุ่นเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง”
ข้อความย่อหน้าแรกในหน้า 24 มันชัดเจนเลยว่า ทางการรัฐไทยนำโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้นพยายามดิสเครดิตขบวนการเสรีไทยอย่างเอาการเอางานและทำกันตลอดมาเช่นเดียวกับที่ทำกับคณะราษฎร 2475 และนี่ก็เป็นการเปิดหน้ากากของรัฐไทยว่า ทำไมประเทศไทยจึงถูกทำให้เฉไปจากเจตนารมณ์ของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มากขนาดนี้ และยังเป็นมรดกเฮงซวยในจินตนาการและความคิดของพวกสลิ่มมาจนทุกวันนี้
ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีเสรีไทย แล้วประเทศไทยเกิดแพ้สงครามขึ้นมา เท่ากับการเสียเอกราช แบบนี้คนพวกนี้จะว่า อย่างไร จะเอาวาทกรรมที่ว่า ประเทศไทยไม่เคยเสียเอกราชให้เกิดความภูมิใจและอวดกับประเทศอื่นอย่างไร?
นี่จึงเป็นความทุเรศของความขัดแย้งทางตรรกะของคนพวกนี้ คือ พวกเขาทำทุกอย่างแบบไม่เลือกวิธีการหรือความสมเหตุสมผลอะไรเลยในการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง
อีกมุมหนึ่ง ในกรณีที่ยังให้เครดิตขบวนการเสรีไทย นี่ก็เท่ากับว่าเป็นการกล่าวร้ายและตัดขบวนการเสรีไทยอีสานออกจากความชอบธรรมของการต่อสู้กอบกู้บ้านเมืองจากภัยสงคราม
หนังสือ ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร? เขียนโดย คมสรรค์ มาตุคาม
ดูย่อหน้าถัดไป – – –
“แต่จากหลักฐานบางแห่งแสดงว่า นายครองเริ่มมีความนิยมชมชอบในลัทธิคอมมิวนิสต์มาก่อนหน้านั้นแล้ว กล่าวคือ หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศเวียตนามแล้ว โฮจิมินห์ ผู้นำชาวญวนได้หาทางกอบกู้เอกราชของชาติเรื่อยมา ในการนี้ระหว่างปี พ.ศ.2471 โฮจิมินห์ได้เดินทางเข้ามาดำเนินการในประเทศไทย แล้วไปอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ พิจิตร อุดรธานี และสกลนคร เป็นต้น ระหว่างที่อาศัยอยู่ทางจังหวัดสกลนครนั้น โฮจิมินห์เปิดโรงเรียนสอนลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นที่คุ้มวัดพระธาตุเชิงชุมและที่บ้านนาอ้อย ลูกศิษย์คนสำคัญของโฮจิมินห์ในครั้งนั้น มีนายเตียง ศิริขันธ์ กับ นายครอง จันดาวงศ์ รวมอยู่ด้วย แสดงว่า นายครองเริ่มมีความนิยมชมชอบในลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ระยะที่เขามีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น”
ถ้าจะสรุปกันง่ายๆ แบบนี้ แล้วคนที่ลงเรียนวิชาทฤษฎีการเมือง (ซึ่งต้องมีเรื่องที่ว่าด้วยคอมมิวนิสต์) หรือแม้แต่คนที่สนใจใคร่รู้ความรู้ต่างๆ อ่านค้นคว้าเรื่องพวกนี้จะไม่เข้าข่ายเดียวกับครูครอง จันดาวงศ์ ที่มีโอกาสที่รัฐไทยจะฆ่าทิ้งง่ายๆ หรือ?
ข้อกล่าวหาต่อมา คือ กบฏแบ่งแยกดินแดนและกบฏภายในราชอาณาจักร โดยเรื่องนี้หนังสือเล่มนี้พยายามเชื่อมโยงกับเตียง ศิริขันธ์ ในช่วงที่รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยถูกรัฐประหาร เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 และคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (เหมือนช่วงที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในค่ายทหารไม่มีผิด) ต่อมานายเตียง ศิริขันธ์ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลเผด็จการอุ้มหายไปเผาทิ้งที่ป่าเมืองกาญจน์แล้ว และในทางการเมืองนายเตียง ศิริขันธ์ก็เป็นฝ่ายตรงข้ามกับพวกเผด็จการมาโดยตลอด
“โดยนายเตียงยืนยันกับนายปรีดีว่า ตนพร้อมที่จะต่อต้านรัฐบาลอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะมุ่งสู่ภาคอีสานเพื่อประกาศยกภาคนั้นขึ้นเป็นอิสระทันทีหากมีการต่อต้านเกิดขึ้นในพระนคร แต่ช่วงนั้นบังเอิญนายปรีดีได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเสียก่อน…นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกและอาวุธสมัยเสรีไทยตั้งกองกำลังคุมเชิงรัฐบาลอย่างท้าทายอยู่บนเทือกเขาภูพาน เป็นแผนที่จะยึดภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคแล้วตั้งเป็นรัฐอิสระขึ้น ระยะนี้เองที่นายครอง จันดาวงศ์ ได้เข้าร่วมมือกับนายเตียงด้วย โดยเข้ารับหน้าที่เป็นฝ่ายจัดหาอาวุธ ในการนี้นายครองเดินทางไปพูดปราศรัยตามหมู่บ้านต่างๆ ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของเศษเหล็กและเศษแก้วว่าเป็นของหายาก ขอให้ช่วยกันเก็บรวบรวมเอาไว้ เพื่อจะจัดส่งไปให้ทางกรุงเทพฯ ใช้ทำลูกระเบิดไว้ใช้ในยามจำเป็น ครั้งนั้นนายครองรวบรวมเศษเหล็ก เศษแก้ว ไว้ได้เป็นจำนวนมาก…
“ตอนปลายปี พ.ศ.2495 นั้น แม้จะมีข่าวว่า นายเตียงเสียชีวิตไปเพราะภัยทางการเมือง ทำให้นายเตียงต้องหลุดพ้นไปจากวิถีทางการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งนายครองเองก็เพิ่งหลุดจากข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนฯ แต่นายครองก็มิได้ย่อท้อ ยังคงยึดมั่นต่อสู้ตามอุดมการณ์ของตนต่อมา ซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองของนายครองดังกล่าวนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าก็เป็นไปตามแผนการเดิมของนายเตียงนั่นเอง นั่นก็คือการจะแยกภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกไปจากประเทศไทยไปตั้งเป็นรัฐอิสระ”
ที่หนังสือเล่มนี้ในฐานะกระบอกเสียงของรัฐไทยลากโยงมาถึงเรื่องนี้ก็เพื่อ “ชี้เป้า” ให้เข้าข่ายความผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ใช้อยู่ในตอนนั้นคือฉบับที่ 7 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มาตรา 1 ที่ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้…”
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เวลาจะชี้ข้อกล่าวหาจะอ้างอิงด้วยคำว่า วงการราชการหลายแห่ง มีผู้ตั้งข้อสังเกต ซึ่งนอกจากจะระบุตัวตนไม่ได้แล้ว มันยังทำให้เห็นว่า เป็นคนในวงการราชการเองนั่นแหละที่ให้ข้อมูลแบบนี้ และข้อมูลก็ยังใช้คำว่า เชื่อว่า และไอ้คำว่า “เชื่อ” นี่มันไม่ได้มาจากการพิสูจน์ทราบอะไร มันเป็นแต่เพียงความคิดความเชื่อเท่านั้น แต่ในประเทศนี้กับกฎหมายบางมาตรา แค่นี้มันก็สามารถใช้จับกุมคุมขังและฆ่าคนได้
หนังสือยังระบุอีกว่า หลังจากนั้นตำรวจก็ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้อย่างใกล้ชิด และต่อมาไม่นานเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายควง อภัยวงศ์ ทางราชการก็ได้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยถึงความเป็นไปของทางภาคอีสานโดยขบวนการกบฏแบ่งแยกดินแดนนี้ (แถลงการณ์การนี้ค่อนข้างยาว หาอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้ และถ้าอยากรู้ว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ในแถลงการณ์นั้นเป็นเท็จที่กล่าวร้ายคนอีสาน (เสรีไทยอีสาน) ก็ให้อ่านข้อมูลในหนังสืออนุสรณ์งานศพของนายฟอง สิทธิธรรม มีนายทหารท่านหนึ่งเปิดเผยข้อมูลนี้)
และประกาศที่ว่าถูกเผยแพร่ซ้ำๆ ซึ่งกลายเป็นการทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจแบบนี้ไปโดยปริยาย ซึ่งประกาศที่ว่านั้น ต่อมาภายหลังเมื่อมีการศึกษาค้นคว้ามากขึ้นๆ เราก็จะพบความจริงว่ามันเป็นการใส่ร้ายป้ายสี แต่อยากหมายเหตุตรงนี้ไว้ว่า ถึงกระนั้นไอ้มลภาวะทางจินตนาการและความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ปัจจุบันยังมีคนเอามาใช้ “เล่นงานคนอีสาน” เล่นงานแม้กระทั่งคนที่สนใจค้นคว้าหาความจริงในเรื่องนี้ และที่เลวร้ายที่สุด เสือกมีคนจำนวนมากเชื่ออีก (ไม่ยอมตรวจสอบข้อเท็จจริง) และที่เลวร้ายที่สุดของที่สุด ก็คือมีคนอีสานจำนวนหนึ่งเชื่อและกลายเป็นลิ่วล้อการกล่าวร้าย ทำลายกันของคนแบบนั้นด้วย
ผมอยากสรุปตรงนี้ในกรณีนี้ แบบมองในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือข่าวสารจากทางการของรัฐไทยในเรื่องนี้มันคือโซ่ตรวนมัดมือครูครอง จันดาวงศ์ ลากเข้าสู่หลักประหาร มันคือผ้าดำมัดตาครูครอง จันดาวงศ์ให้ติดกับหลักประหาร และเป็นผ้าดำผืนหนามัดเงื่อนตายปิดปากประชาชนจนเรื่องราวของครูครอง จันดาวงศ์ และเหล่านักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ความเท่าเทียมของคนอีสานเป็นเรื่องต้องห้ามและปล่อยให้หายเลือนหายไปต่อหน้าคนในยุคนั้น จนคนในยุคนี้แทบจะประติดประต่อเรื่องราวแทบไม่ได้
แต่บังเอิญว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นภายหลัง (แต่เนื้อหามันได้บอกถึงสภาพการณ์ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดีถึงวิธีการฆ่าคนอีสานในยุคสมัยใหม่ของรัฐไทย เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างจากยุคผีบุญเลย) มันจึงทำหน้าที่อยู่อย่างหนึ่งในยุคสงครามเย็น นั่นคือเป็นเอกสารอ้างอิงให้คำสั่งประหารชีวิตครูครอง จันดาวงศ์ ของจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความชอบธรรม
และรัฐไทยก็ใช้วิธีนี้สืบต่อกันมากับประชาชนที่เห็นต่าง จะต่างแค่ว่าจะใช้ก่อนหรือหลังการฆ่าเท่านั้น
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด
อ่านบทความที่เกี่ยวเนื่อง ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (15) – วิธีการฆ่าคนอีสานของรัฐสยาม : ผีบุญ